HIGHLIGHT
|
แม้ Future Trends Ahead Summit 2024 จะเป็นงานแบบ Exclusive ที่เปิดให้เฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น แต่ HREX ก็ได้มีโอกาสทำสรุปมาให้ผู้อ่านได้ศึกษาเรียนรู้กันแบบเอ็กซ์คลูซีฟ โดยงานปีนี้มาในหัวข้อ Knowing The Future, Be The Winners of Tomorrow ที่จะพาคุณไปได้รู้จักเทรนด์แห่งอนาคตในหัวข้อต่างๆ ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด ผู้บริโภค การลงทุน เทคโนโลยี ความยั่งยืน การวางกลยุทธ์ การเรียนรู้ และทรัพยากรบุคคล เพื่อให้คุณไม่พลาดโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะในวันพรุ่งนี้ จากบรรดาสปีกเกอร์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ
‘โอกาสและความเสี่ยง’ เศรษฐกิจโลก 2024 โดยดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย – Kiatnakin Phatra
ผู้บรรยายใช้วิธีแบ่งเป็นหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
- เศรษฐกิจโลกกำลังจะเติบโตสวนทางกัน : เศรษฐกิจจะชะลอตัวในปี 2024 ก่อนจะฟื้นตัวในปี 2025 ขณะที่สหรัฐอเมริกายังแข็งแกร่ง แต่จีนจะชะลอตัวลงมากกว่าที่หลายคนคิด
- อัตราดอกเบี้ยโลกผ่านจุดสูงสุดและเริ่มปรับตัวลดลง : เงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับลดลงจากสูงสุดที่ 8% ลงมาเหลือประมาณ 3% ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของ FED คาดว่าจะทยอยลดลงจาก 5.5% เหลือ 4.5%
- การเมืองระหว่างประเทศเป็นประเด็นที่มีความไม่แน่นอน : ในปี 2024 จะมีการเลือกตั้งระดับชาติอย่างน้อยใน 60 ประเทศ เช่น ในไต้หวัน, อินเดีย, อินโดนิเซีย, รัสเซีย, เกาหลีใต้, สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้า, ผู้อพยพ, เงินเฟ้อ และภาษี
- เศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวช้า และจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้น : การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและส่งออกจะยังเป็นปัจจัยหนุนหลัก, นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจเพียงระยะสั้น, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังอ่อนแอ, คาดว่ากนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% นอกจากเศรษฐกิจจะแย่กว่าที่คาด จึงจะมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี อนึ่งผู้บรรยายกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำลงทุกครั้งที่มีวิกฤต และทุกครั้งจะมีการเปลี่ยนเครื่องจักรเศรษฐกิจจากการลงทุน > ส่งออก > ท่องเที่ยว ตามลำดับ โดยปัญหาที่สำคัญที่สุดอีกอย่างก็คือประชากรไทยกำลังลดลง คนจะแก่ก่อนรวย
‘Transformation องค์กรในยุค AI First ให้ก้าวกระโดดในปี 2024’ โดยคุณเรืองโรจน์ พูลผล -KBTG
ปัจจุบัน K-Bank เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มธนาคารบนโทรศัพท์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย มีผู้ใช้งานมากกว่า 22 ล้านคน ครอบคลุม Financial Transaction ถึง 35% ของประเทศไทย คิดเป็น 1.3% ของ GDP ประเทศไทย และองค์กรนี้ให้พนักงานอยู่ที่บ้านแบบ Work From Home ถึง 100% โดย KBTG เข้าใจอย่างดีว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ AI Transformation ที่เราต้องทำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานได้แล้ว และไม่ใช่แค่เรื่องของปัญญาประดิษฐ์อย่างเดียว แต่เป็นการนำ AI , Machine Learning และ Data เข้ามาใช้ร่วมกัน จะขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปไม่ได้ เพราะแม้เราจะมีเครื่องมือที่ยอดเยี่ยม แต่หากข้อมูลที่ถือเป็นรากฐาน (Foundation) ไม่มีประสิทธิภาพ เราก็จะไม่สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์มาเรียนรู้เนื้อหาที่เกิดประโยชน์ได้อยู่ดี
การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันล้วนมีเรื่อง AI เข้ามาเกี่ยวข้องในทุกเรื่อง ทุกที่ ทุกเวลา World Economic Forum เห็นตรงกันว่า AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่นำไปใช้ได้กับทุกอย่างจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา (General Purpose Technology) ไปแล้ว ดังนั้นเราสรุปได้ว่าการเติบโตของ AI ได้ก้าวเลยจุดหักศอกมาแล้ว และมันจะ “ไม่มีวันช้าลง” อีกแล้ว
AI จะกลายเป็นเรื่องของ Multi-Model มันจะมีประสิทธิภาพขึ้น, เร็วขึ้น, กินพลังงานน้อยลง โดยเฉพาะ Generative AI ที่จะก้าวไปเป็นแบบ Longtail ผู้บรรยายกล่าวว่าปัจจุบันมีการนำ AI ไปใช้กับท่าเรือแล้ว ซึ่งงานตรงนี้เคยเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนอยากไปทำ แต่ AI ก็เข้าไปช่วยได้ นอกจากนี้ Generative AI จะเข้าไปเร่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่าง ถ้าเราไม่รู้จักปรับตัว เราจะถูกทิ้งห่างได้เลย
AI จะมีประโยชน์กับ Blue Collar มากกว่า White Collar เราจะมีทักษะแค่กลาง ๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะเราสามารถถูกคนที่มีทักษะน้อยกว่าใช้ AI เป็นตัวช่วยและผลักดันตัวเองขึ้นมาจนเก่งกว่าเราได้อย่างง่ายดาย และ AI จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจที่เกี่ยวจ้องกับดิจิทัล มากกว่าธุรกิจที่เป็นแบบ Physical First กล่าวคือ AI ไม่ได้มีประโยชน์กับทุกคนแบบเท่า ๆ กัน ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละงานด้วย
โจทย์ในปีนี้ของทุกองค์กรคือการสร้าง AI Literacy แบบ 100% ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงเรื่อยไปจนถึงพนักงานระดับล่างสุด, เราต้องออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ (Redesign Business Model) แต่อย่าลืมเรื่องของ ‘Human First ก่อน AI First’ เอาแต่ให้ปัญญาประดิษฐ์ทำงานทั้งหมดโดยไม่เตรียมพนักงานให้พร้อมเลย เพราะ AI หลาย ๆ ส่วนก็ยังจำเป็นต้องให้คนคอยกำกับดูแล ทั้งนี้เพราะเราไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้แบบถูกต้องทั้งหมด แต่การทำคนให้พร้อม จะช่วยให้เราปรับตัวเข้าหาสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
ทำธุรกิจอย่างมีหัวใจ เพื่อสร้างกำไรและดูแลโลกไปพร้อมกัน โดย ผศ.ชล บุนนาค – SDG Move
การทำธุรกิจให้ยั่งยืนจำเป็นมาก ๆ สำหรับการอยู่รอด โดยเราต้องเข้าใจเรื่อง Triple Planetary Crisis ได้แก่เรื่องของภาวะโลกร้อน (Climate Change), มลพิษ (Pollutions), การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากปฏิบัติการทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ที่อาจต้องย้อนไปถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งนำไปสู่การลงนามสำคัญ เช่น Sustainable Development Goals และ PARIS2015 ที่เหล่าประเทศในสหประชาชาติให้การรับรอง ดังนั้นการทำธุรกิจในปัจจุบันจึงหลีกเลี่ยงการคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ไม่ได้อีกต่อไป
กระดุม 3 เม็ดเพื่อทำธุรกิจที่มีหัวใจ
A : Act to reduce harm
- ตรวจสอบตลอดห่วงโซ่คุณค่าว่าเราสร้างผลกระทบต่อสังคมและโลกอย่างไรบ้าง
- จัดการผลกระทบทางลบดังกล่าว
- ลดความเสี่ยง ลดต้นทุน ซึ่งอาจเพิ่มกำไรให้กับบริษัทได้ด้วย
B : Benefit Stakeholders
- สำรวจดูว่าตลอดห่วงโซ่คุณค่านั้น เราทำงานกับใครบ้าง และเราจะสร้างประโยชน์ร่วมกันคนเหล่านั้นได้อย่างไร (เช่นเกษตรกร, ผู้บริโภค, คนไร้บ้านที่ต้องการอาหาร ฯลฯ)
- อาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมประเภท CSR
C : Contribute to Solutions
- เราสามารถทำให้ธุรกิจของเรา มีส่วนในการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนได้อย่างไร
ประเทศไทยมี 6 ความท้าทายด้านความยั่งยืน ได้แก่
- ระบบการผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืน
- เศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน
- คุณภาพและความเหลื่อมล้ำของการศึกษาและสาธารณสุข
- ธรรมภาภิบาลและกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อน
- การอนุรักษณ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
- การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
‘Corporate People Development’ ทักษะสำคัญของพนักงานในศตวรรษที่ 21 โดยคุณโอชวิน จิรโสตติกุล – FutureSkill
Gartner ได้ออกมาบอกว่าทักษะที่เราต้องใช้ในงาน ๆ หนึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 10% ในทุกปี และทักษะที่เรามีใน 3 ปีที่แล้วถึง 30% จะไม่เป็นประโยชน์กับการทำงานในปัจจุบัน หมายความว่าถ้าเราเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่ได้คิดหาความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาเลย สิ่งที่เราเรียนจบมาก็อาจไม่เกิดประโยชน์กับชีวิตเลย
องค์กรในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับทักษะมากขึ้น (Skill Based Organization) ซึ่งการหางานในปัจจุบันก็มองผู้สมัครในบริบทที่สอดคล้องกับข้อมูลนี้เช่นกัน องค์กรจะเริ่มมี Internal Mobility เพื่อใช้ทักษะของพนักงานให้คุ้มค่าที่สุด ยิ่งคนมีทักษะหลากหลายก็จะยิ่งมีโอกาสทางหน้าที่การงานมากขึ้น ซึ่ง Deloitte บอกว่าคน 66% อยากทำงานกับบริษัทที่เห็นคุณค่าในทักษะของพวกเขา มากกว่าโฟกัสเรื่องของ “ดีกรี” เพียงอย่างเดียว
ผู้บรรยายยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของ Netflix ตั้งแต่การเป็นบริษัทจัดเช่าสื่อ จนมาเป็น Streaming Service ชื่อดังของโลก หรือแม้แต่ธุรกิจตัวต่อ Lego ที่หันมาจับตลาดเกมส์และภาพยนตร์ เป็นต้น นี่คือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยการปรับตัว แต่ก็มีธุรกกิจอีกมากมายที่ปรับตัวไม่ทันและล้มหายไปจากท้องตลาด
Innovation Skills คือสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญภายใน 5 ปีนับจากนี้ ประกอบด้วย 5 หัวข้อ ได้แก่
- AI / Big Data
- ความคิดเชิงวิเคราะห์
- การคิดเชิงสร้างสรรค์ Creative Thinking
- Leadership and Social Influence
- Talent Management
ผู้บรรยายเน้นย้ำว่าอาชีพทุกอย่างจะถูก Disrupt อยู่แล้ว และ Generative AI จะทำให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด งานด้านการศึกษา, งานศิลปะ, งานสร้างสรรค์ มีโอกาสถูก Automated ไม่มากก็น้อย เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน มากกว่าปล่อยให้มันกลืนกินจนต้องตกที่นั่งลำบาก
CEO For The Future เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนไป ผู้นำต้องปรับอย่างไรให้กับการเปลี่ยนแปลง โดยคุณชนาทิพย์ วูวงศ์ – Kincentric
ตัวอย่างความท้าทายใน 3 ปีที่ผ่านมาของบริษัทระดับโลก ประกอบด้วย
Netflix : กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากบริษัทคู่แข่ง ส่งผลให้ผู้สมัครลดลงอย่างมาก
Meta : เผชิญกับกระแสต่อต้านจากสังคม จากกรณีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ ส่งผลให้มูลค่าหุ้นลดลงอย่างหนัก
Tesla : โดนยอดขาย BYD จากจีนแซง
นอกจากนี้ยังรวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19, การสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน, ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์, ทัศนคติต่อการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป, สงครามแย่งชิงคนเก่ง, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและแรงกดดันทางด้าน ESG
ดังนั้น Kincentric ได้สัมภาษณ์ CEO กว่า 1,000 คนจากบริษัทชั้นนำ เพื่อหาคำตอบว่าคนที่เป็นผู้นำต้องเตรียมตัวอย่างไร และได้คำตอบว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกการทำงานได้แก่
- ขนาด, ความเร็ว, ความเชื่อมโยงของความเสี่ยง
- ความคาดหวังทางสังคมสูงขึ้น
- ลูกค้า พนักงาน นักลงทุน กล้าแสดงความเห็นมากขึ้น
- เป้าหมายของการทำงานเปลี่ยน
แล้ว CEO ยุคใหม่มีบทบาทต่างจากเดิมหรือไม่ ? ผู้บรรยายกล่าวว่ามีอยู่ 5 ประการที่ CEO ยุคใหม่ต้องทำ ได้แก่
- นิยามความสำเร็จแบบใหม่ (Redefine Success)
- สร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Engage Stakeholders)
- ขยายเครือข่าย (Build a diverse Ecosystem)
- สร้างผลลัพธ์ด้วยความยืดหยุ่นและให้อำนาจ (Agile and Empower Team)
- ตื่นตัวตลอดเวลา (Stay Alert)
คุณสมบัติที่ CEO ยุคใหม่ต้องมีประกอบด้วย
- การคิดเป็นระบบ (System Thinking) กล้าคิด กล้าเสียง กล้าตัดสินใจ และรอบคอบ
- การสำรวจตัวเองและการปรับตัว (Self Reflection and Adaptability)
- ผสมผสานระหว่างการทำกำไรและการเห็นอกเห็นใจพนักงาน (Blends Results with Empathy)
- ต้องสื่อสารให้เป็น ให้เหมาะกับผู้รับสาส์น (Communication with the Heart)
- ความสามารถในการฟื้นตัวจากความท้าทายอย่างรวดเร็ว (Resilience)