กลับมาอีกครั้งกับงาน CIS 2024 – Corporate Innovation Summit ที่ RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรจัดขึ้นทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเน้นความสำคัญของการนำนวัตกรรมล้ำยุคมาใช้ในการทำงาน เพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด และการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน
สำหรับงานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม “Redefining Growth and Sustainability in the AI Era” เพื่อค้นหาว่าในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังตื่นตัวกับการพัฒนาของ AI คนทำงานอย่างเราควรต้องเรียนรู้และปรับตัวอย่างไร จึงจะเอาตัวรอดได้อย่างมั่นคง
HREX ได้เข้าร่วมงานนี้ด้วยในฐานะ Media Partner สำหรับใครที่พลาดการร่วมงาน เราขอสรุปสาระน่ารู้ที่คนทำงาน โดยเฉพาะ HR จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ ดังต่อไปนี้
Contents
CIS 2024 Welcome Speech
นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ หรือ หมอคิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อร่วมตั้ง RISE กล่าวเปิดงานว่าหลังจากจัดงานครั้งแรกเมื่อปี 2019 ก็เกิดเรื่องน่าสนใจขึ้นมากมายบนโลก ตั้งแต่เรื่องร้ายแรงอย่างโรคโควิด-19 มาจนถึง AI ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก หรือแม้กระทั่งเรื่องน่ารัก ๆ อย่าง ‘หมูเด้ง‘ ที่โด่งดังในโลกโซเชี่ยลมีเดียก็เช่นกัน
ปรากฏการณ์หลังสุดนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีเรื่องที่ดึงดูดความสนใจของคนทั่วโลกได้เสมอ นอกจากการเป็นประเทศที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยว ความไวรัลของ ‘หมูเด้ง’ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากพลังของเทคโนโลยีที่ลบเส้นแบ่งพรมแดนออก แล้วช่วยให้เชื่อมทุกคนทั่วโลกเข้ามาหาประเทศไทยได้ง่ายขึ้น
แต่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีสูงขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับการเกิดของเด็กที่ลดน้อยลงทุกที ไม่เพียงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจในไทย แต่ยังรวมถึงทั้งเอเชียและโลก และหากเกิดขึ้นแบบนี้ต่อ คนที่จะมาขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่อไปจะไม่เหลือเลย
หมอคิด เล็งเห็นว่าการเอาเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI มาใช้งานเพื่อเพิ่ม Productivity จะเป็นทางออกที่ช่วยให้ไทยกลายเป็น Growth Engine นำมาซึ่งการเติบโตครั้งใหม่ของประเทศไทยได้ โดยมีกลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่มที่หากนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คือ อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ภาคการเกษตร (Agriculture) และธุรกิจสายสุขภาพ (Healthcare) ก็จะสร้าง New S-Curveใหม่ให้ประเทศได้
อย่างไรก็ตามอีกสิ่งที่หมอคิดเน้นย้ำก็คือ การเติบโตที่ดีนั้นก็ควรจะนำมาซึ่งความยั่งยืนด้วย
Rise จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อหวังว่าจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในด้านบวก ทำให้ทุกคนตระหนักเรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ และเน้นย้ำความสำคัญของความยั่งยืน ที่ผ่านมา Rise ทำงานร่วมกับองค์กรหลากหลายรูปแบบทั่วโลก มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมหาศาล การจัดงานครั้งนี้ขอเพียงช่วยให้ลดการใข้คาร์บอนทั่วโลกได้เพียงแค่ 1% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนมีพลังพร้อมสู้ต่อ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นสืบไป
The State of Global Deeptech: A TDK Ventures Perspective
คุณนิโคลัส ซาวอจ (Nicolas Sauvage) President จาก TDK Ventures มาเล่าถึงสถานการณ์ความสนใจใช้งานเทคโนโลยี Deeptech ที่กำลังได้รับความนิยมในระดับโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคน และผู้ที่สนใจด้านเทคโนโลยีจำเป็นต้องรู้จักและตระหนักอย่างยิ่ง
คุณนิโคลัส บรรยายโดยเน้นไปที่บริบทในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับ TDK โดยเฉพาะ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
- TDK เป็นองค์กรที่พยายามเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เสมอ นอกจากเพื่อจะได้ใช้งานมันอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อีกเหตุผลสำคัญก็คือ เพื่อที่จะไม่โดนสิ่งใหม่ ๆ เหล่านั้นมาล้มล้างแล้วกลืนหายไปในอนาคต (Disruption)
- เวลา TDK จะลงทุนศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง TDK จะใช้หลักการแบบ Deep Dive นั่นคือพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง จากนั้นจะพัฒนา Key Insight หรือ KPI เพื่อหาให้เจอว่าในอนาคตเราจะได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้อย่างไร และหากการศึกษาเรื่องนี้จนพบว่าเป็นไปได้จริง จะทำให้องค์กรก้าวไปสู่จุดไหน ผู้คนจะจดจำได้อย่างไรในอนาคต
- หนึ่งในเรื่องที่ TDK ศึกษามาตั้งแต่แรกก็คือ เทรนด์การใช้รถ EV และพวกเขาค้นพบมานานแล้วว่า เทรนด์นี้จะเข้ามาแทนที่รถยนต์สันดาปแน่นอน และพวกเขายึดผลลัพธ์ที่ได้นี้มาปรับใช้กับการประเมิน ศึกษา คาดการณ์เทรนด์อื่น ๆ ด้วย
- แต่คุณนิโคลัสยืนยันว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม มนุษย์ย่อมไม่สามารถทำนายอนาคตได้แบบเป๊ะ ๆ ถึงกระนั้นเราทุกคนสามารถฝันได้ว่าอยากเห็นหรืออยากเป็นอะไรในอนาคต และไม่ว่าเราจะฝันไว้ว่าอย่างไร การลงมือปฏิบัติของเราในวันนี้จะเป็นตัวตัดสินว่า โลกที่เราอยากเห็นว่าเกิดขึ้นในอนาคตนั้น มันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
- ดังนั้น อย่าหยุดอยู่กับที่ แล้วจงเดินหน้า พัฒนาต่อไป
Shaping Tomorrow: How AI is Transforming a Tech Unicorn to the New Frontier
ใน Session นี้ คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ Managing Director จาก Grab Thailand มาเล่าถึงการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ AI มาช่วยยกระดับ Grab ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนอย่างไรได้บ้าง โดยมีคุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว TODAY ทำหน้าที่เป็นพิธีกร
สำหรับสาระสำคัญของ Session นี้มีดังต่อไปนี้
- เวลา Grab Thailand จะนำเทคโนโลยีอะไรก็ตามมาใช้ จะพิจารณาก่อนเสมอว่า เทคโนโลยีนั้น ๆ ตอบโจทย์ Company Vision อย่างไรบ้าง มันจะช่วยแก้ปัญหาให้องค์กรได้อย่างไร โดยเฉพาะปัญหาที่มีผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายของ Grab Thailand นำโดย ลูกค้า ไรเดอร์ เป็นต้น
- ในช่วงแรก ๆ Grab เผาเงินเยอะมากเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความโดดเด่นกว่าคู่แข่ง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งปัญหาที่เจอคือ จะหาวิธีอย่างไรให้ ไรเดอร์ มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่บริษัทก็ยังสามารถอยู่ได้
- Grab นำ AI มาใช้งานหลายอย่าง เริ่มจากการสร้าง GrabMap หรือแผนที่เวอร์ชั่นของตัวเองขึ้นมา ทำให้ไม่ต้องใช้แผนที่ของแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ โดยแผนที่ของ GrabMap นั้นมีรายละเอียดมากกว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่ของไรเดอร์ได้มากกว่า ซึ่งทำให้ลูกค้าได้รับของ ได้รับอาหารเร็วขึ้น และทำให้ ไรเดอร์ สามารถได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย
- ผลอย่างเป็นรูปธรรมของการใช้ GrabMap ไรเดอร์ใช้เวลาน้อยลง 20% ในการค้นหาทางไปร้านอาหาร และมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยแล้วที่ 30,000 บาทเลยทีเดียว
- Grab พยายามสนับสนุนให้พนักงานทุกคนใช้งาน AI Tools ที่มีเพื่อช่วยงาน หลังเคี่ยวเข็ญให้ใช้งาน 3 เดือนแรกพบว่า พนักงานมี Productivity เพิ่มขึ้น สามารถสร้างสรรค์งานออกมาได้เยอะขึ้นกว่าการทำงานแบบไม่ใช้ AI ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งองค์กรและตัวของพนักงานเองด้วย
- คุณวรฉัตร เผยเคล็ดลับว่า ถ้าเราเข้าใจปัญหาที่ต้องการแก้อย่างถ่องแท้ จะสามารถแก้ปัญหานั้นได้ จริงอยู่ว่า AI ช้วยให้เราพบเจอปัญหาและทางแก้ปัญหาเร็วขึ้น แต่อย่าลืมว่าบางปัญหาอาจไม่จำเป็นต้องแก้ด้วย AI ก็ได้ ดังนั้นระวังการยึดติดกับ AI มากไปจนแก้ปัญหาผิดทาง จนไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ๆ
- สุดท้าย MD ของ Grab Thailand ให้บทเรียนเกี่ยวกับการใช้ AI ที่ผู้นำควรรู้ว่า นอกจากต้องคำนึงถึง Company Vision แล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบด้วย ที่ผ่านมาจะพบเจอร้านอาหารต่าง ๆ ที่เอา AI มาใช้ตกแต่งภาพอาหารให้ดูดีเกินไปจนไม่เหมือนกับของจริงที่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Grab พยายามระวังเสมอ ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม อย่าลืมความรับผิดชอบต่อสังคม แล้วจะไปถึงเป้าหมายได้
Creating Ideas for a Sustainable Future: The Power of Creativity and Technology
คุณฮิโตชิ ฮามากุจิ Practice President / Creative Practice President จาก dentsu APAC มาบรรยายเรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ผนวกกับเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นส่วนผสมสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาสำคัญของโลก และสร้างความยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง
สาระสำคัญของ Session นี้มีดังต่อไปนี้
- ความยั่งยืน เป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะในหมู่ Gen Z เพราะพวกเขาเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตในอนาคตอย่างมีความสุข และทุกคนคาดหวังว่าองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เป็นแบบอย่างให้สังคมเอาเยี่ยงเอาอย่างด้วย
- แน่นอนว่าหลายองค์กรมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างสังคมที่ดีกว่าอย่างที่ Gen Z คาดหวัง แต่จากประสบการณ์ของคุณฮิโตชิพบว่า หลายองค์กรอาจไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ อย่างที่โฆษณาไว้
- dentsu จึงสร้างหลักการที่ชื่อว่า Growth Through Good หลักการที่นำประเด็นสังคมมาปรับมุมมองใหม่ (Reframing) โดยมี 6 ข้อปฏิบัติที่องค์กรจะต้องคำนึงและพิจารณาก่อนจะนำไปสู่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดโลกใบนี้ให้สวยงามขึ้น
- Society Values
- Policy and SDGs
- Industry Pivot
- Renewed Purpose & Business Model
- Modernised Products & Services
- Coalitions for Change
- สำหรับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ผนวกกับเทคโนโลยี สามารถทำได้หลายวิธี การทำงานนี้ในปัจจุบันง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะเพราะมี AI ช่วยงาน เราสามารถนำ AI เข้าไปช่วยออกแบบ สร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากมาย เช่น แอปพลิเคชั่น Tuna Scope ที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพปลาทูน่า โดยประมวลข้อมูลจากรูปถ่ายปลาทูน่าส่วนหางจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้แยกแยะออกว่าปลาตัวไหนได้คุณภาพ ตัวไหนไม่ได้คุณภาพ
- อีกแอปพลิเคชั่นหนึ่งที่น่าสนใจคือ Scrolling Therapy ที่ช่วยผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบริหารใบหน้า เพื่อจะได้แสดงออกทางสีหน้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะทำไม่ได้เลย หากปราศจากเทคโนโลยี AI ที่ทันสมัย
- ด้านของ Nikkei พัฒนาแอปพลิเคชั่นช่วยวัดคุณภาพของ Wellbeing เพราะเล็งเห็นว่าท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น กลับแลกมากับสุขภาพกายและใจที่ถดถอยลงของประชากร แอปฯ นี้เก็บรวบรวมข้อมูล Insight มากมายเพื่อหวังว่าจะมีผู้นำไปใช้เพื่อช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวญี่ปุ่นได้ โดยปัจจุบันหลายองค์กรในญี่ปุ่น พยายามสร้างระบบนิเวศน์ของสังคมที่ดีขึ้น ให้ตอบรับกับการมี Wellbeing ที่ดี และรัฐบาลก็ยังสนับสนุนเรื่องนี้โดยตรงด้วย
- สุดท้ายนี้ คุณฮิโตชิ เชื่อมั่นว่าทุกคนที่มาร่วมงาน CIS 2024 มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีอยู่แล้ว และหวังว่าให้ทุกคนจงมาร่วมใช้พลังของเทคโนโลยี ช่วยขับเคลื่อนโลกใบนี้ เปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีขึ้นต่อไป
The Alignment Opportunity: Nailing Both AI and Sustainability Goals with One Bullet
คุณณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Co-Founder & CEO จาก ViaLink มาบรรยายเรื่องถึงปัญหาที่คนจำนวนมากกลัวจากการใช้งาน AI ว่าจะนำมาซึ่งความยั่งยืนได้จริงหรือไม่ โดยคุณณภัทรเชื่อว่าเราสามารถใช้ AI สร้างความยั่งยืนได้แน่นอน และจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายด้วย
สาระสำคัญของการบรรยายใน Session นี้ มีดังต่อไปนี้
- ไม่ช้าก็เร็ว สิ่งของ สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ จะฉลาดกว่ามนุษย์ เพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ขอแค่มีไอเดียที่น่าสนใจ เทคโนโลยีก็สามารถช่วยต่อยอดแผนธุรกิจขนาดยาวได้แล้วในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง หรืออาจไม่ถึงด้วยซ้ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจาก Generative AI
- Alignment Problem คือสิ่งที่คนใช้งาน AI กำลังกังวลในทุกวันนี้ว่า AI จะมาแทนที่มนุษย์หรือไม่ จะกวาดล้างมนุษย์เหมือนในภาพยนตร์หลายเรื่องหรือไม่ การมี AI จะช่วยทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร และมนุษย์กับ AI เราสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ไหม เป็นต้น
- ในเชิงทฤษฎี ผู้คนวาดฝันว่าอยากใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีองค์กรอยู่เพียงหยิบมือที่ทำเช่นนั้นได้ แม้หลายองค์กรจะมุ่งมั่นทำเพื่อความยั่งยืน แต่องค์กรก็ยังขาดทรัพยากรที่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ คน วัสดุอุปกรณ์ที่คอยสนับสนุนการทำงาน ไปจนถึงแนวทางการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างความยั่งยืน เป็นต้น
- คุณณภัทร มองว่า AI และ ESG ต่างเป็นเทรนด์สำคัญของโลกที่ขาดไม่ได้ในระยะยาว แต่หลายองค์กรมองว่าเราไม่สามารถทำทั้ง 2 อย่างนี้พร้อมกันได้ จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นระหว่างการสร้างผลกำไร ทำธุรกิจให้เติบโต หรือจะรักษ์โลก โอบรับความยั่งยืน แล้วมองข้ามผลกำไรสูงสุดไป
- แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถเลือกทั้ง 2 อย่างได้ เพียงเปลี่ยนมุมมอง Alignment Problem ให้เป็น Alignment Opportunity หรือการมองปัญหาให้เป็นโอกาส เราสามารถใช้ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สามารถใช้ Data ที่มีให้เกิดประโยชน์ ในการทำธุรกิจยุคปัจจุบัน องค์กรไหนใช้ประโยชน์จาก Data ในมือได้มากที่สุด ไม่เพียงจะเป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจ ช่วยเพิ่มผลกำไร แต่ยังช่วยนำไปสู่ความยั่งยืนได้ง่ายขึ้นด้วย
- ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อพนักงานใช้ AI นอกจากจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วขึ้น มีเวลาในชีวิตมากขึ้นเพื่อที่จะเรียนรู้เรื่องที่มีประโยชน์กับตัวเอง พักผ่อน แล้วกลับมาทำงานอย่างมีความสุขต่อไป
- นี่คือโอกาสสำคัญของทุกองค์กรและของทุกคนแล้ว อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าถึงการใช้งาน AI เป็นเรื่องจำเป็น แต่เราก็ต้องมีพื้นที่ให้พนักงาน ให้คนยังอยู่ได้ด้วยเช่นกัน หากพนักงานไม่สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ความยั่งยืนที่คาดหวังจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย