HIGHLIGHT
|
ในวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 2023 HREX.asia มีโอกาสได้ร่วมงาน BIZ CUBE Chula Forum 2023 : ติดปีกทักษะรอบด้าน ทะยานสู่ระดับ TOP ในองค์กร งานเสวนาทางธุรกิจครั้งแรกของทาง BIZ CUBE Chula ซึ่งเป็นงานที่มุ่งนำเสนอความสำคัญของ 4 หัวข้อที่จะช่วยให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น ประกอบด้วย
- Data: ติดอาวุธอย่างไรให้ “ชนะ” ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล
- Marketing: เตรียมพร้อมกับการตลาดยุคใหม่ ทำอย่างไรให้รู้เท่าทันและไม่ตกเทรนด์
- Management: เคล็ดลับการที่จะทำให้คุณกลายเป็นผู้นำที่ดีขึ้น
- Life: ชีวิตแบบไหนที่เหมาะกับคุณและเส้นทางที่คุณเลือก
โดยหัวข้อที่เราจะนำมาเล่าให้ชาว HR ฟังในครั้งนี้ คือเรื่องของ ‘ข้อมูล’ (Data) อันถือเป็นบริบทพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทุกประเภท องค์กรที่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ จะรู้ว่าควรพัฒนา หรือควรแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยวิธีไหน ข้อมูลจะทำให้เราอยู่กับความเป็นจริง ไม่ได้อาศัยความรู้สึก (Gut Feeling) เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ความเข้าใจตรงนี้จะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับอนาคต และพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
สัมมนา How to Win in The World of Data ประกอบด้วย 3 หัวข้อย่อยดังต่อไปนี้
- The Next Generation of Data Skills for the future : เรียนรู้ทักษะด้านข้อมูลยุคใหม่สำหรับอนาคต โดย รศ. ดร. จันทร์เจ้า มงคลนาวิน
- Equipping Essential Skills for Working with Data Today : ติดอาวุธทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานกับข้อมูล โดยคุณพุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวช
- The Jumpstart to Mastering Data Skills : เริ่มต้นอย่างรวดเร็ว สู่การเรียนรู้ทักษะด้านข้อมูล โดยคุณธัญญ์ธนวัชร์ ปรางค์อมรกุล, คุณกษิดิศ สตางค์มงคล, คุณสรกฤช อ้นมณี
HR เรียนรู้อะไรจากสัมมนานี้ได้บ้าง หาคำตอบไปพร้อมกับเราได้เลยที่นี่
How to Win in The World of Data – BIZ CUBE Chula Forum 2023
รศ. ดร. จันทร์เจ้า มงคลนาวิน เริ่มต้นการสัมมนาด้วยการให้แนวคิดว่า Generative AI ที่คนใช้กันมาก ๆ ในปัจจุบัน ก็คือสิ่งที่พัฒนาขึ้นจากการให้ข้อมูลและฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์ไปเรื่อย ๆ จนนำไปสู่กระบวนการที่ AI สามารถเรียนรู้ได้เองและสามารถทำให้เกิดกระบวนการทำงาน หรือคำตอบที่แตกต่างจากชุดข้อมูลเดิมที่เคยให้เอาไว้ โดย Generative AI สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายหัวข้อ หลากหลายธุรกิจ และสิ่งที่จะช่วยให้เราใช้งานได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้นคือการออกคำสั่ง หรือที่เรียกว่าการเขียน Prompt นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ AI ในปัจจุบันจะเติบโตขึ้นมาก สามารถทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่เราก็ยังไม่ทราบว่าฐานข้อมูลของมันปลอดภัยดีหรือไม่ เช่นหากเราใส่ข้อมูลสำคัญของบริษัทเข้าไป แล้วข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปวิเคราะห์ต่อ ข้อมูลนั้น ๆ ก็อาจหลุดรอดไปสู่คนอื่นได้ นอกจากนี้คำตอบของ AI ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด ผู้ใช้ยังจำเป็นต้องตรวจสอบทบทวนด้วยตัวเองอีกครั้ง กลไกเหล่านี้คือคำตอบว่าเราไม่ควรคิดเรื่องการแข่งกับ AI แต่ควรคิดว่าจะอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไรมากกว่า ในที่นี้ผู้บรรยายกล่าวว่า Critical Thinking และ Innovative Thinking คือทักษะที่จำเป็นที่สุดในปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้
ขณะที่คุณพุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวช กล่าวถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานกับข้อมูลในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นวงกลม 3 ระดับ ได้แก่
- Core Skill (วงกลมด้านในสุด) คือทักษะในการทำงานปัจจุบันให้ได้ตามมาตรฐาน เช่นความรู้พิ้นฐาน (Basic) ต่าง ๆ
- Mastery Skill (วงกลมที่อยู่นอกมาอีกขั้น) คือทักษะที่ต่อยอดจากของเดิม แต่ทำได้ดีขึ้น ทำให้เราโดดเด่นกว่าคนอื่นในสายงานเดียวกัน
- Futuristic Skill (วงกลมที่อยู่ด้านนอกที่สุด) คือทักษะที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้นในอีกปีสองปีนับจากนี้
การหาคำตอบว่าเราควรเรียนรู้เรื่องอะไร ต้องเกิดจากการหมั่นศึกษาข้อมูลให้มากที่สุด เราต้องไม่เขินอายที่จะบอกคนอื่นว่าเราไม่รู้ เราจะได้มีโอกาสฝึกทักษะต่าง ๆ ให้มากขึ้น และประเด็นสำคัญที่สุดอีกอย่างก็คือการหาโค้ชที่ดี (Coaching) เพราะผู้แนะนำที่ดี คือคนที่จะผลักดันให้เราทะลุข้อจำกัดเดิมไปได้ ต้องเข้าใจว่าแม้เราจะตั้งใจแค่ไหน แต่เราก็มีความรู้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น คนที่เป็น Coach หรือ Mentor ซึ่งผ่านโลกมากกว่า จึงสามารถเปิดโลกใบใหม่ให้เรารู้ว่าควรก้าวไปในทิศทางไหน จึงเติบโตได้ง่ายและเร็วกว่าเดิม
แต่เมื่อเราทราบถึงความจำเป็นของข้อมูลแล้ว เราก็ต้องรู้ว่าจะหาข้อมูลเชิงลึก (Insight) จากที่ไหน เช่นหาจากการสอบถามคนที่อยู่มาก่อน หรือการค้นหาจากฐานข้อมูล (Database) จากนั้นเราก็เอามาพิจารณาว่าข้อมูลทั้งสองส่วนมีส่วนใดบ้างที่เหมือน – ส่วนใดที่แตกต่าง ซึ่งพอเราเอาข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน เราก็จะรู้เองว่าควรนำข้อมูลไปต่อยอดและประยุกต์ใช้อย่างไร
ผู้บรรยายแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่อง Think Like A Freak (คิดพิลึก แบบนักเศรษฐศาสตร์) โดย Steven D.Levitt, Stephen J.Dubner ซึ่งจะช่วยให้เรามีความเห็นที่กว้างขึ้นจากทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องที่ดูไร้สาระ แต่เราก็จะได้เห็นว่าเมื่อบริบทของโลกต่างกัน ความคิดเห็น, ทัศนคติของผู้คนก็จะแตกต่างกัน โดยสิ่งที่เราต้องนึกถึงเสมอเวลาจะหา Insight ก็คือเราต้องรู้จักตั้งคำถามให้ดีขึ้น เพราะหากทำได้ เราก็จะได้คำตอบที่ดีขึ้นตามมา
ความเข้าใจตรงนี้จะทำให้เราก้าวไปสู่การเป็น Data-Driven Organization อย่างแท้จริง