จัดต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แล้วกับงาน Thailand HR Day 2024 และเช่นเคย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ยังเชิญ Speaker ทั้งคนที่เป็น HR โดยตรง และคนที่ไม่ใช่ HR แต่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์มากเป็นพิเศษ มาบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจให้ผู้เข้าร่วมงานได้นำสาระดี ๆ ไปปรับใช้ในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานด้วย
งานวันนี้มีเรื่องอะไรสำคัญที่ HR ควรรู้บ้าง ติดตามได้จากในบทความนี้เลย
Excellence & Purpose Forum: Igniting Success with Passion for Performance & Leadership
Session นี้รวมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงกีฬาอย่าง คุณปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บุญรอดบริวเวอรี่, คุณเทนนิส – พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดหญิงทีมชาติไทย (เหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัยซ้อน) และโค้ชเช – ชัชชัย เช หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย มาร่วมกันแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคนในแบบฉบับของโลกกีฬา ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการบริหารองค์กรได้อย่างน่าสนใจ
คุณปิติกล่าวว่า นอกจากการเป็นผู้บริหารองค์กร อีกบทบาทหนึ่งของเขาคือการเป็นนักกีฬาแข่งรถ ทำให้เขารู้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาคือการทำงานเป็นทีมที่ซับซ้อน นักกีฬาคนเดียวจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากปราศจากการพึ่งพาการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เช่น นักกายภาพ โค้ช ทีมโภชนาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เป็นต้น
สิ่งนี้สะท้อนถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันในองค์กร ไม่ใช่เพียงแค่ทักษะของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ เขายังชี้ว่า ความสำเร็จเกิดจากการมีวินัยและความสม่ำเสมอ แม้จะดูเป็นกิจวัตรเดิม ๆ ที่น่าเบื่อ แต่การทำบ่อยก็ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับความเหนื่อยล้า
คุณปิติ เปรียบเปรยว่าการบริหารคนในองค์กรมีความคล้ายคลึงกับการบริหารนักกีฬา เพราะก็ต้องใช้ศาสตร์การบริหารคนไม่ต่างกับการบริหารองค์กร ดังนั้น ไม่ว่าจะแข่งขันในสนามหรือในธุรกิจ ความสำเร็จขององค์กรขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันอย่างมีกลยุทธ์ และต้องวัดผลที่ชัดเจนด้วย
ส่วนเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก เล่าถึงเส้นทางที่ยาวนานกว่า 20 ปี กว่าจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิก เธอชี้ว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก เธอเปลี่ยนความเบื่อหน่ายและอุปสรรคให้กลายเป็นความท้าทาย โดยตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบาก เช่น ความห่างไกลจากครอบครัว แต่เธอเชื่อว่าการพัฒนาตนเองในวันนี้ จะนำมาซึ่งความสำเร็จในอนาคต
ด้านโค้ชเช เสริมว่า การสร้างนักกีฬาที่แข็งแกร่งไม่ใช่แค่การฝึกทักษะ แต่รวมถึงการสร้างกำลังใจและความมั่นใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โค้ชเป็นทั้งผู้สอน ผู้สนับสนุน และเปรียบเสมือนพ่อแม่ที่ดูแลนักกีฬาในทุกมิติ รู้วิธีใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนในการบริหารนักกีฬา ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดนี้ช่วยให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้เหมือนครอบครัว และเป็นรากฐานของความสำเร็จที่ทำให้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กีฬาเทควันโดไทย สามารถผลิตนักเทควันโดเก่ง ๆ คว้าเหรียญรางวัลมาครองได้อย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ทั้ง 3 ท่านยังเน้นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา HR ต้องมีบทบาทเชิงรุกในการสนับสนุนทีมงาน และสร้างความเข้าใจร่วมกันในเป้าหมายองค์กร การสื่อสารที่ดีเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายทำงานสอดคล้องกัน
สุดท้าย การแข่งขันในธุรกิจหรือกีฬาไม่ได้วัดผลที่ชัยชนะเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงวิธีที่เราปฏิบัติตัวเมื่อแพ้หรือชนะ การมีน้ำใจนักกีฬา การเคารพกติกา และการทำงานร่วมกันคือหัวใจของความสำเร็จที่ยั่งยืน ทั้งในสนามกีฬาและในสนามธุรกิจ
Excellence & Purpose Forum: Business Leadership Success with Passion
Session นี้ได้รับเกียรติจากคุณโอม – ปัณฑพล ประสารราชกิจ หรือที่เราต่างรู้จักกันในฐานะนักร้องนำของวง Cocktail และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลง GENE LAB ภายใต้เครือ GMM Grammy มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการบริหารและความสำเร็จในหลากหลายบทบาท
คุณโอมเล่าว่า หลายคนมักคิดถึงเขาในมาดนักร้อง แต่จริง ๆ แล้วเขาทำงานหลายอย่างพร้อมกันถึง 4 บทบาท ได้แก่ การเป็นนักร้อง การบริหารค่ายเพลง การทำงานด้านกฎหมาย และการเป็นอาจารย์พิเศษ ซึ่งทำให้เขามีโอกาสสัมผัสกับคนหลากหลายรูปแบบ และได้เจอความซับซ้อนของการบริหารงาน บริหารคนด้วยตัวเอง
ในฐานะศิลปินและผู้บริหาร คุณโอมชี้ว่าดนตรีเป็นงานที่สะท้อนประสบการณ์และอารมณ์ของคนในยุคสมัยหนึ่ง การแข่งขันในวงการนี้ไม่ได้วัดผลด้วยทักษะหรือความสมบูรณ์แบบเสมอไป เพราะดนตรีเป็นสิ่งนามธรรมที่ตอบสนองความรู้สึกและรสนิยมของแต่ละคน ความสำเร็จในงานดนตรีอาจเกิดขึ้นด้วยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ความนิยมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรืออิทธิพลของสื่อ ทำให้ศิลปินไม่ใช่อาชีพที่ยั่งยืนเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ
แล้วเมื่อผันตัวมาทำงานบริหารภายใต้ GMM Grammy เขาก็พบกับความท้าทายจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จมานาน แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากลับขาดการสร้างศิลปินใหม่ ส่งผลให้เมื่อถึงจุดหนึ่งการพึ่งพาแต่ศิลปินรายเดิม ๆ จะไม่เพียงพอต่อการเติบโตขององค์กรอีกต่อไป เขาจึงรับโอกาสให้สร้างหน่วยงานใหม่เพื่อพัฒนาศิลปินหน้าใหม่ เขาได้สิทธิ์ในการบริหารอย่างอิสระ เปิดโอกาสให้เขาเน้นการคัดเลือกบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมุ่งสร้างศิลปินใหม่เพื่อเพิ่มเสาหลักขององค์กร
ผลลัพธ์คือการสร้างศิลปินใหม่ได้ถึง 4 วงในเวลา 2 ปี แม้อาจยังไม่สามารถชดเชยกับช่วงเวลา 10 ปีที่ไม่มีศิลปินใหม่ได้ แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดี
คุณโอมเน้นย้ำว่า บทบาทของ HR ที่สำคัญมากคือการเลือกบุคลากรที่เข้าใจวัฒนธรรมขององค์กร งานที่เกี่ยวข้องกับศิลปินต้องอาศัยความเข้าใจทั้งด้านศิลปะและการตลาด การสร้างสมดุลระหว่างการบริหารงานและการรักษาความเป็นพาร์ทเนอร์กับศิลปินเป็นสิ่งสำคัญ HR ยุคใหม่ต้องมีทักษะเชิงกลยุทธ์ นำมาใช้ในการสื่อสารและสนับสนุนศิลปิน เพื่อให้การทำงานร่วมกันราบรื่น ตอบโจทย์เป้าหมายของทั้ง 2 ฝ่าย
ทั้งนี้ ปัญหาที่พบก็คือ พอทดลองกับบริษัทใหม่ได้ระยะหนึ่งจนเกิดความสำเร็จ ทำให้หลายคนยึดติดกับวิธีการนั้น ๆ ทำไปเรื่อย ๆ โดยลืมคำนึงว่ามันตอบโจทย์เป้าหมายระยะยาวอยู่หรือไม่ ทางรอดที่ควรเป็นคือ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ ๆ ควรมุ่งเน้นเป้าหมาย / ผลลัพธ์มากกว่าวิธีการโดยยังไม่ต้องสนว่าตั้งเป้าแล้วจะไปถึงได้ไหม เพราะพอเรามีเป้าหมายแล้ว เราจะรู้ว่าเราต้องทำอะไรเพื่อไปถึงตรงนั้นให้ได้
ความสำเร็จในการบริหารองค์กรหรือทีมงานนั้น ไม่ได้อยู่ที่การรักษาวิธีการเดิม แต่คือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับสถานการณ์
“อย่ายึดติดกับสิ่งที่เคยสำเร็จในอดีต เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และสิ่งที่ดีที่สุดในวันนี้ อาจไม่ใช่คำตอบของอนาคต วิธีการเก่า ไม่สร้างเป้าหมาย ไม่ช่วยอะไร ตัดทิ้งแล้วหาวิธีใหม่ตราบใดที่วิธีใหม่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำอะไรผิดกฎหมาย” คุณโอม ทิ้งท้าย
Sustainable Leadership: Balancing Profit and Purpose
คุณชลลักษณ์ มหาสุวีระชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NocNoc และ ดร.ดิษฐวัฒน์ โสภิตอาภาพงศ์ Senior Head of Corporate Function Group Fujifilm Thailand มาพูดคุยและแลกเปลี่ยนถึงบทบาทหน้าที่ของผู้นำในการทำธุรกิจ ที่ไม่เพียงแค่ต้องสร้างผลกำไร แต่ยังต้องสร้างความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน
ดร.ดิษฐวัฒน์ ให้นิยาม Sustainable Leadership ว่าผู้นำที่ยั่งยืนต้องไม่เพียงแค่สนแต่การสร้างผลกำไร แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) โดยยึดหลักการ SEE – THINK – PLAN – DO เริ่มจากการมองเห็นสิ่งที่ควรทำ วางแผน และลงมือทำอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งหาทางแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทาง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
คุณชลลักษณ์ เสริมว่า ความยั่งยืนเปรียบเหมือนอากาศที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับกำไรที่เปรียบเสมือนการหายใจ หากองค์กรไม่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ลูกค้า หรือชุมชน กำไรที่ได้ก็อาจไม่มีความหมาย การตั้งคำถามว่าองค์กรของเรามี Purpose อย่างไร และเชื่อมโยงกับการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมอย่างไร เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน
ในมุมมองของ HR ทั้งสององค์กรชี้ว่า การสร้างสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งพนักงาน ลูกค้า ชุมชน และซัพพลายเออร์ เป็นสิ่งที่ท้าทาย HR จึงต้องเข้าใจบทบาทของตนเองในการช่วยองค์กรสร้าง Impact ต่อสังคมและทำให้ผู้คนรู้สึกถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่ทำ
นั่นทำให้ Fujifilm ใช้ความเชี่ยวชาญของบริษัทต่อยอดผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมด้านภาพ ฟิล์ม ไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรม Healthcare เพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาวะของผู้คนทั่วโลก โดยเป้าหมายไม่ใช่เพียงการเพิ่มกำไร แต่ยังรวมถึงการสร้างโลกที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและช่วยให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในทุกมิติ
คุณชลลักษณ์ เชื่อมั่นว่า การบริหารคนต้องเริ่มจากความเข้าใจหัวใจของตัวเองก่อน หากผู้นำไม่มีความพร้อมหรือความตั้งใจจริงที่จะดูแลคน การบริหารคนจะยิ่งยากขึ้น เมื่อเรามีความตั้งใจที่ถูกต้องแล้ว การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจึงจะเกิดขึ้น พร้อมชี้ว่าตัวเลขกำไรที่ไม่เชื่อมโยงกับคุณค่าหรือความยั่งยืน จะไม่มีผลอะไรต่อธุรกิจในระยะยาว
ผู้นำและ HR ต้องสร้างความตั้งใจจริงในการเปลี่ยนแปลงและเปิดรับความหลากหลาย เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น การพัฒนาคนในองค์กรคือกุญแจสำคัญในการสร้าง Impact ในวงกว้าง และเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับการสร้างโลกที่ยั่งยืนในทุกมิติ