Search
Close this search box.

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน Thailand HR Day 2024 วันที่ 1

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน Thailand HR Day 2024 วันที่ 1

ช่วงปลายปีมาถึงทีไร สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) จะจัดงานใหญ่นั่นคือ Thailand HR Day ขึ้น เพื่อให้ HR เข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาตัวเอง พัฒนาองค์กร และปูทางไปสู่การทำงานในปีต่อไปที่กำลังจะมาถึง 

สำหรับงานในปีนี้ ยังคงอัดแน่นไปด้วยเนื้อหางานเสวนาที่น่าสนใจ จากวิทยากรมากความสามารถเช่นเคย HREX มีโอกาสได้เข้าฟังงานเสวนานี้ด้วย จึงขอสรุปไฮไลท์สำคัญที่ HR ควรรู้มาให้ HR ท่านที่พลาดงานนี้ไปได้อ่าน ตกผลึก แล้วนำไปปรับใช้ในองค์กรต่อไป

ถ้าพร้อมแล้ว ติดตามสาระสำคัญของงานได้เลยในบทความนี้

Thailand HR Day 2024 Welcome Speech: High-Performing Business Leaders & HR: Speed, Purpose and Performance

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน Thailand HR Day 2024 วันที่ 1

คุณสุดคนึง ขัมภรัตน์ นายกสมาคม PMAT กล่าวเปิดงานว่า มีความตั้งใจที่จะยกระดับวิชาชีพ HR และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เสมอมา เพราะทุนมนุษย์สำคัญต่อองค์กรและประเทศมาก และเธอเชื่อมั่นว่า คนไทยเรามีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น ๆ การจัดงานนี้จะช่วยให้ HR เข้าถึงองค์ความรู้ที่สำคัญได้ แล้วเมื่อมีความรู้แล้ว ก็จะสามารถผลักดัน สร้างผลกระทบด้านบวกให้องค์กรได้

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ๆ องค์กรต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว และองค์กรที่มีกลยุทธ์ เทคโนโลยีจะช่วยให้ปรับตัวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าใคร การทำงานต่อจากนี้ Agile คือเรื่องที่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าสำคัญต่อองค์กร แต่เหนืออื่นใด HR ก็ต้องอย่าลืม Empower คนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

อีกสิ่งที่คุณสุดคนึงเน้นย้ำก็คือ องค์กรไหนไม่มี Purpose ในการทำงานที่แน่ชัด จะสู้กับคู่แข่งในระยะยาวยาก ถ้าองค์กรอยากประสบความสำเร็จ การสื่อสารเรื่อง Purpose สื่อไปถึงพนักงานได้ จะช่วยให้เขาเข้าใจงาน เข้าใจเป้าหมาย เข้าใจองค์กร จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจ ที่นำไปสู่ความต้องการแข่งขัน และทำให้การทำงานมีความหมาย

นอกจาก HR ที่สำคัญแล้ว ผู้นำก็สำคัญในการบริหารคน บริหารองค์กร HR ต้องจับมือและร่วมงานกับผู้นำอย่างใกล้ชิด หาวิธีสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับพนักงาน ทำให้พวกเขามองเห็นจุดหมาย และความหมายในการทำงาน เพื่อจะได้สร้าง Contribution ดี ๆ ให้กับองค์กรต่อไป

HR ต้องไม่ลืมพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง องค์กรที่มองว่าการพัฒนาคนเป็นเรื่องของการลงทุน ไม่ได้มองว่าเป็นแค่ค่าใช้จ่าย องค์กรนั้นจะสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้อย่างแข็งแกร่ง และก้าวเติบโตได้อย่างมั่นคงแน่นอน

Al-Powered Leadership: Navigating Business, People, and Technology in 2025

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน Thailand HR Day 2024 วันที่ 1

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ViaLink และกรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา มาร่วมพูดคุยกันว่าผู้นำในยุค 2025 จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของ AI ทำให้คนทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน

เพราะทุกวันนี้ Gen AI ฉลาดขึ้นกว่าเดิมมาก แม้มันอาจยังไม่ได้ฉลาดขั้นสุด มันยังมีข้อผิดพลาดในการทำงาน และมีงานหลายประเภทที่ไม่เก่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะ AI แต่ละแบบไม่ได้สร้างมาเพื่อทำงานทุกอย่าง หากมีการให้งานคนละแบบกับที่มันถนัด มันก็จะให้ข้อมูลที่ผิดออกมาได้ 

ทั้งนี้ คนทำงานจำนวนมากน่าจะใช้งาน AI กันอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีคำถามว่าเราควรใช้งาน AI อย่างไรจึงจะมีประโยชน์ต่อองค์กร โดยดร.สันติธาร สรุปออกมาว่ามี 4 เรื่องด้วยกันที่ AI ช่วยสร้างประโยชน์ และยกระดับองค์กรได้ดังนี้

  1. Automation ทำให้มีเวลามากขึ้น ลดการทำงานเอกสารซับซ้อน
  2. Augmentation เป็นเพื่อนคู่คิด สามารถให้คำปรึกษาทางธุรกิจได้
  3. Inclusion ขยายขอบเขตให้ทั่วถึง
  4. Innovation ทำให้เราค้นพบ พัฒนานวัตกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้น

ดร.ณภัทร เสริมว่า อีกสิ่งที่เราต้องคำนึงก็คือการเกิด AI Agent ที่สามารถทำงานเหล่านี้ และฉลาดด้วยที่สามารถประมวลข้อมูลจนรู้ได้ว่า งานไหนควรทำอะไร งานไหนควรใช้อะไร ซึ่งจริง ๆ เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน แต่นี่คือจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเดี๋ยวจะมี AI ที่ทรงพลังยิ่งกว่าตามออกมา และมันจะมาเร็วกว่าที่คิด ทำให้คนทำงานแต่ละสายต้องพลิกแพลงวิธีการทำงานอย่างเร่งด่วน หากไม่อยากถูก AI มาแทนที่

ทั้งนี้ หาก HR อยากเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ก็สามารถนำ AI มาช่วยได้ AI ทำให้ HR ไม่ต้องเสียเวลาทำงาน Admin แบบเดิม ๆ ที่หมดเวลาไปกับงานเอกสาร HR ยังใช้ AI ช่วยสรรหาบุคลากรได้ด้วยการช่วยคัดเลือกเรซูเม่ HR สาย L&D สามารถวิเคราะห์ข้อมูลพนักงานแต่ละคนได้ว่า ควรพัฒนาทักษะอะไรจะเหมาะสมที่สุด ไปจนถึงการเอาข้อมูลมาใช้ทำนายความพึงพอใจเพื่อลด Turnover ลง เป็นต้น

คุณสันติธาร ย้ำว่าเราไม่ควรมอง AI เป็นแค่เครื่องมือ แต่ควรมองเป็นเพื่อนร่วมงาน ที่ทำงานร่วมกับเรา เป็นทีมเดียวกับเรา เราต้องรู้จักสอนงาน AI ให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตามถึงใช้ AI ก็ต้องมีการตรวจสอบข้อมูล ตรวจผลงานของมันอยู่ดี

หากจะมีข้อกังวลเรื่องการใช้งาน AI ก็คือ หากนำ AI ไปใช้ในบางงาน อาจทำให้ศักยภาพของเราด้อยลง เช่น หากนำไปใช้ในงานเขียนบทความ เขียนหนังสือ ซึ่งดร.สันติธาร รู้สึกจริง ๆ ว่าตอนที่เขาใช้ AI ช่วยเขียนบทความ แล้วเขาค่อยทำหน้าที่บรรณาธิการตรวจงาน เขากลับรู้สึกว่ายิ่งทำแบบนี้ยิ่งเขียนงานได้ด้อยลง 

ซึ่งดร.ณภัทร เห็นด้วยเพราะการเขียนเป็นเรื่องที่ต้องผ่านการตกผลึกจึงจะเขียนและเรียบเรียงออกมาดีได้ การพึ่งพา AI จะทำให้งานเขียนขาดวิญญาณ ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นก่อนใช้งาน AI เราควรคำนึงว่างานไหนมีความละเอียดอ่อน งานไหนควรเป็นงานที่คนทำ และงานไหนเป็นงานที่ AI ช่วยได้

นอกจากนั้น ดร.สันติธาร ได้ให้หลักโมเดล PR.I.D.E. ที่สามารถเปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นคนใช้ AI แบบ Smart User ได้ โดยมีหลักการดังต่อไปนี้

  • PR – Proficiency มีความคุ้นชิน คุ้นเคยกับ AI รู้ว่าควรเขียน Prompt อย่างไรมันจึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • I – Immunity รู้จุดอ่อนของ AI ว่ามันทำอะไรได้ ไม่ได้ ต้องใช้ให้เหมาะสมกับหน้าที่ของมัน
  • D – Deep Thinking / Domain Knowledge ค้นหาและเข้าถึงองค์ความรู้ ทักษะที่จำเป็น เช่น การคิด การวิเคราะห์ การเขียน เพื่อทำให้ความเป็นมนุษย์ยังมีค่า 
  • E – Empathy อย่าลืมมีความเห็นอกเห็นใจในกันและกัน ให้เวลาและโอกาสผู้อื่นในการปรับตัว พัฒนา ใครที่ดูท่าไม่ไหว ก็ต้องช่วยเขาให้เร็วที่สุด

ไม่ว่าอย่างไร คนก็ยังสำคัญเสมอ ปัญญาบางส่วนอาจอยู่กับมนุษย์ ปัญญาบางส่วนอาจอยู่กับ AI เราเพียงต้องหาให้เจอว่าปัญญาไหนอยู่กับใคร และงานไหนเหมาะกับใคร

“การรู้ AI รู้ I Am ใช้ปัญญา สร้างปัญญา” ดร.สันติธารทิ้งท้าย

Purpose & Business Leaders: 2025 CEO Challenges on Generations and Sustainability

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน Thailand HR Day 2024 วันที่ 1

คุณอัฐ ทองแตง ประธานคณะผู้บริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล และคุณโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมบรรยายถึงความท้าทายที่คนเป็น CEO ต้องเผชิญ เมื่อโลกการทำงานมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการมีแรงงานหลากหลายเจนเนอเรชั่น ทำให้ต้องทำความเข้าใจคนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจตามมา

การเสวนาครั้งนี้ยังได้ ดร.ภีรตา ภักดีสัตยพงศ์ Partner จากบริษัท PwC ประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณอัฐ กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงที่ซึ่งสร้างผลกระทบหลากหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ซึ่งเปิดโอกาสให้ยกระดับโรงพยาบาลได้ดีกว่าที่คิดผ่านการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีมาช่วยเสริมศักยภาพพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการประเมินสุขภาพด้วยข้อมูลเชิงลึก หรือการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่าน e-learning ที่ช่วยให้บุคลากรมีความรู้และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

ขณะที่คุณโชติพัฒน์ เสริมว่าความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือเทคโนโลยี Data Analytics ช่วยให้ธุรกิจประกันภัยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ผ่านการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าถูกต้องและรวดเร็วขึ้น เช่น นำข้อมูลอุบัติเหตุของรถแต่ละรุ่นมาวิเคราะห์ ไปจนถึงสถานที่ที่มักเกิดอุบัติบ่อย ๆ มาวิเคราะห์ ช่วยปรับปรุงการให้บริการอย่างตรงจุดและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้มหาศาล

ทั้งนี้ บทบาทของผู้นำในยุคปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง ผู้นำไม่ได้มีหน้าที่แค่สั่งการ แต่ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงานตระหนักถึงเป้าหมายขององค์กร และสนับสนุนพวกเขาให้พัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน การ Empower พนักงานจะช่วยให้องค์กรมีความพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อทุกคนในองค์กรมีความเข้าใจที่ตรงกันและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนเรื่องการบริหารจัดการคนจากหลากหลาย Generation คุณโชติพัฒน์เน้นว่าการทำงานยุคนี้ต้องมีความยืดหยุ่น การอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ หรือมีเครื่องมือเทคโนโลยีให้ใช้งานอย่างเหมาะสม จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจ และช่วยเพิ่มความผูกพันระหว่างพนักงานกับองค์กรได้ดี ขณะที่คุณอัฐให้ข้อมูลเพิ่มว่า คนรุ่นใหม่ให้คุณค่าด้าน Passion มากกว่าความเชื่อดั้งเดิม ดังนั้นผู้นำต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายขององค์กรกับเป้าหมายส่วนตัวของพนักงานรุ่นใหม่ จึงจะช่วยให้พวกเขามีแรงผลักดันและทำงานได้ดีขึ้น

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับความแตกต่างเป็นหัวใจสำคัญของการรวมพลังคนหลากรุ่นในองค์กร ผู้นำต้องเข้าใจและยอมรับว่าคนแต่ละรุ่นมีมุมมองที่แตกต่างกัน หากองค์กรยังตั้งคำถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงคิดหรือทำไม่เหมือนคนรุ่นก่อน แสดงว่าองค์กรยังไม่ยอมรับพวกเขาอย่างแท้จริง สิ่งที่องค์กรต้องทำคือการสร้างความเข้าใจร่วมกัน และรวบรวมความหลากหลายมาเป็นจุดแข็งในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างคน เช่น โรงพยาบาล ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นและความสบายใจให้กับผู้ป่วย

ผู้นำต้องเป็นต้นแบบในการสร้างการเปลี่ยนแปลง หากผู้นำเองไม่กล้าลงมือทำ ไม่กล้าเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เสียเอง ก็ไม่สามารถคาดหวังให้ทีมปฏิบัติตามได้ เมื่อผู้นำแสดงให้ทีมเห็นว่า มีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาองค์กร และพร้อมที่จะลงมือทำเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง แล้วเมื่อนั้นการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงองค์กรจะไปถึงความสำเร็จได้

Making Your Teams, Culture & Purposes Irresistible: Embracing Speed, Flexibility, and Change

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน Thailand HR Day 2024 วันที่ 1

คุณจอช เบอร์ซิน (Josh Bersin) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลระดับโลก มาบรรยายถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 นั้นจะท้าทายองค์กรทุกมิติ ตั้งแต่การจัดการคนหลายรุ่น ไปจนถึงการนำ AI มาใช้เพื่อสร้างประสิทธิภาพ องค์กรต้องเผชิญกับความคาดหวังที่สูงขึ้นจากพนักงานยุคใหม่ ขณะที่ตลาดแรงงานและโครงสร้างองค์กรเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การเพิ่ม Productivity ในองค์กรโดยพึ่งพาการจ้างงานที่น้อยลง ที่เผชิญความท้าทายเพราะพนักงานรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ต้องการงานที่มีความเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งแตกต่างไปจากความต้องการของพนักงานรุ่นพี่ที่อยู่ใน Gen อื่น กลายเป็นคำถามว่า HR จะออกแบบการทำงานอย่างไรให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ซึ่งจะสอดคล้องกับการสร้างความผูกพันกับพนักงานด้วย

AI จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของงาน HR อย่างลึกซึ้งในอนาคต ระบบ AI ไม่เพียงช่วยวิเคราะห์ข้อมูล แต่ยังสามารถสร้างเนื้อหาการเรียนรู้ ช่วยในกระบวนการคัดเลือกคน ช่วยสนับสนุนให้ HR มีเวลาโฟกัสกับงานวางกลยุทธ์ที่สำคัญกว่าเดิม

งาน Recruitment จะมีความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น AI สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจ้างงานได้มากขึ้นก็จริง แต่คนทำงาน Recruiter จะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในอนาคต Recruiter จะต้องเป็นที่ปรึกษาที่ช่วยองค์กรเลือกคนได้ตรงตามเป้าหมาย ไม่เพียงแค่สรรหาคนจากภายนอก แต่ยังต้องอยู่เบื้องหลังการผลักดันศักยภาพคนในองค์กรให้เติบโตด้วย

ความท้าทายอีกด้านหนึ่งคือระบบการจ่ายค่าตอบแทน ปัจจุบัน CEO กว่า 71% มองว่าการจ่ายเงินเดือน การประเมินผล และการขึ้นเงินเดือนในองค์กรมีความเป็นธรรมดีแล้ว (Pay Equity) แต่ในความจริงกลับมีเพียง 5% ที่จ่ายเงินได้อย่างเท่าเทียมจริง ๆ ระบบการประเมินผลต้องถูกออกแบบใหม่เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและลดอคติ หากทำได้ จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจของพนักงาน และกระตุ้นให้เกิดการอยากทำผลงานเพื่อพัฒนาองค์กร

และที่สำคัญที่สุด องค์กรต้องลงทุนในโปรแกรมพัฒนาผู้นำ (Leadership Development) สร้างวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงที่พร้อมรับฟังเสียงของพนักงาน ความสำเร็จในอนาคตไม่ได้วัดจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความสามารถในการสร้างความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่จะเริ่มไม่ได้หากขาดผู้นำ

ปี 2025 จะเป็นยุคที่ HR ต้องรับบทบาทมากกว่าที่เคย งาน HR ไม่ได้ดูแลพนักงานแบบแยกส่วน หรือดูแลแค่งานใดงานหนึ่งเท่านั้นอีกต่อไปในโลกที่เทคโนโลยีก้าวกระโดด ความสำเร็จขององค์กรในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการผสมผสานระหว่างความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น และความใส่ใจในตัวบุคคลอย่างแท้จริง องค์กรที่พร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและลงมือแก้ปัญหาเชิงระบบเท่านั้นที่จะสามารถยืนหยัดในตลาดที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้

HREX ปรึกษา HR Solution

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง