อีกวันกับงาน Work Life Festival 2024 มหกรรมเพื่อช่วยคนทำงานหาสมดุล 4 ด้านระหว่าง Work-Wealth-Health-Fun สำหรับงานวันที่ 2 นี้ทุกเวทียังคงอัดแน่นไปด้วยเสวนาที่น่าสนใจเช่นเคย และสามารถเข้ามาฟังในงานได้แบบฟรี ๆ
ส่วน HREX ยังคงปักหลักอยู่ที่เวที Skill Force Stage เพื่อสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจเช่นเคย ถ้าใครพลาดงานวันนี้ไป มาอ่านสรุปเรื่องที่น่ารู้ได้เลยในบทความนี้
Contents
1. Own Your Pathway
คุณสุดคนึง ขัมภรัตน์ นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวว่าเมื่อพูดถึงการวางแผนอาชีพ ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่มีใครจะรู้เส้นทางอาชีพเราได้ดีกว่าตัวเราเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องเข้าใจโลก เข้าใจธุรกิจ เข้าใจความเปลี่ยนแปลงด้วย จึงจะรู้ว่าควรบริหารจัดการตัวเองอย่างไร ควรเดินหน้าไปทางไหน และที่สำคัญต้องเข้าใจตัวเองด้วยว่ามีจุดเด่นหรือจุดแข็งอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อเติบโตในเส้นทางอาชีพอย่างที่ต้องการ
คุณสุดคนึงเล่ากรณีของตัวเธอเองว่า ในอดีตเธอไม่ได้วางแผนเส้นทางอาชีพไว้แต่แรก เมื่อก่อนเธอเอาแต่เรียนหนังสืออย่างเดียว ไม่เคยทำกิจกรรม ทำให้เธอไม่เข้าใจโลก ยังไม่เข้าใจวิถีการทำงาน รวมถึงไม่เข้าใจว่ามีงานเกี่ยวกับ HR ด้วย
แต่พอได้เปลี่ยนมาทำงาน HR โดยบังเอิญหลังทำงานด้านกฎหมาย ทำให้เธอพบว่านี่คืองานที่มีคุณค่า มีความหมาย และที่สำคัญเธอรู้สึกด้วยว่าตัวเองทำงานนี้ได้ดีกว่าที่คิด ทำให้เธอมองเห็นเส้นทางที่จะเดินและเติบโตต่อ นำมาสู่การได้รับโอกาสเป็นนายกสมาคม PMAT ในปัจจุบัน ทำงานเพื่อสังคม เพื่อพัฒนาแวดวง HR ให้ดียิ่งขึ้น
คุณสุดคนึง แนะนำว่านอกจากหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ ต้องดูความชื่นชอบของตัวเองด้วยว่า ชอบทำอะไรแล้วมีความสุข จะยิ่งทำให้เราทำงานและมีชีวิตที่เปี่ยมสุขมากขึ้น และเมื่อนั้นโอกาสที่จะเบิร์นเอาท์ก็จะน้อยลงด้วย
อีกสิ่งที่ต้องวิเคราะห์ก็คือ มีองค์กรไหนที่ต้องการคนมีทักษะอย่างเราบ้าง หากหาเจอ เราจะเดินไปได้ถูกทาง และเติบโตได้อย่างสง่างาม
ปัจจุบัน ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แม้จะเป็นวิกฤติ แต่ก็เป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโต สภาพเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เทคโนโลยีล้วนมีผลกระทบต่อประเทศและโลกอย่างมาก เราอยากเลือกทำงานอะไร หากคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านเหล่านี้ จะเป็นการเตรียมพร้อมตัวเองให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และบางทีเราอาจไม่ได้ทำงานแค่ที่ไทย แต่เราอาจเติบโตไปทำงานในระดับโลก ในต่างประเทศก็เป็นได้ หรือหากใครไม่อยากทำงานประจำ โอกาสที่จะเติบโตทางอาชีพจากการเป็นฟรีแลนซ์ก็มีเช่นกัน
ทุกโอกาสรอคอยเราอยู่ อยู่ที่ว่าตัวเราเองนั้นจะมีความพร้อมที่จะรับโอกาสนั้นหรือไม่ อย่าปล่อยให้ใครมากำหนดชีวิตของเรา แต่ต้องเป็นตัวเราเองที่ควบคุมชีวิตของตัวเอง
สุดท้ายคุณสุดคนึงฝากให้ทุกคนคิดว่า เรามีสิ่งเหล่านี้หรือไม่
- Knowledge ความรู้ลึกในสิ่งที่ทำ นอกจากรู้แล้วต้องสามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจง่าย
- Skill นอกจากรู้แล้ว ต้องทำทักษะนั้นให้เป็น
- Attitude มีทัศนคติที่ดี มีมุมมอง วิธีคิดต่อเรื่องต่าง ๆ บนโลกที่ดี
- Behavior นิสัยที่ดี ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย
และถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้ เราจะไม่ต้องกลัวการตกงานอีกเลย
2.The Future of Work in 2025: เติบโตอย่างไรให้โดดเด่นและตรงใจองค์กรยุคใหม่
คุณนภัส ศิริวรางกูร Managing Director จาก Hewitt Consulting กล่าวว่าโลกอนาคตภายหน้า คนทำงานทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Future Leader ในอนาคตต้องมี 5 คุณสมบัติดังต่อไปนี้
1.Energy Multiplier
ส่งต่อพลัง ต่อยอดรอบด้าน เป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นหลังจากผ่านวิกฤติโควิด-19 เมื่อมีคนลาออกจำนวนมาก คนเหนื่อยล้าในการทำงาน ในการปรับตัวกับวิถีการทำงานใหม่ และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในองค์กร และมีคนที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพน้อยลง คนต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น ดังนั้นทางออกก็คือ องค์กรจึงต้องการคนที่ส่งพลังด้านบวกให้คนรอบข้าง ช่วยเหลือคนรอบข้าง ช่วยต่อยอดด้านดี ๆ ให้คนรอบข้างได้ โดยไม่ทำให้พลังงานลดลง
2.Culture Adaptability
ปรับตัวเก่ง ใครรที่เคยทำงานแบบเดิม ๆ โดยไม่เรียนรู้สิ่งใหม่จะอยู่ไม่ได้อีกต่อไป องค์กรต้องการคนที่สามารถปรับเปลี่ยน ปรับตัวไปตามสถานการณ์และบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องปรับตัวตาม เรียนรู้ในทุก ๆ วัน หมั่นติดตามกระแส
3.Awareness
เปิดใจ รู้เขา รู้เรา เป็นปัจจัยสำคัญมาก เราต้องตระหนักรู้ตัวเองว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร ต้องพัฒนาอะไรต่อบ้าง เราอาจขอฟีดแบ็คจากผู้อื่นด้วยก็ได้ จะได้รู้ว่าควรเติบโตอย่างไร
4.Humility
ปลดอีโก้ เพื่อก้าวกระโดด มีจุดไหนที่ยังไม่รู้ ก็หมั่นเรียนรู้ และอ่อนน้อมถ่อมตน เพื่อที่เราจะได้พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
5.Embrace Full-Spectrum Experience
สั่งสมชัยชนะ และเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ ชัยชนะเป็นเรื่องที่ดี น่าภาคภูมิใจ แต่หากเราไม่เคยพ่ายแพ้ เราจะไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้เรียนรู้สิ่งล้ำค่าจากสถานการณ์นั้น แล้วนำมาปรับใช้เพื่อก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่งได้เลย บางองค์กรเลือกที่จะแต่งตั้งคนที่ทำงานโครงการใหญ่ผิดพลาดให้ขึ้นเป็นผู้นำ เพราะมีโอกาสสูงที่เขาจะนำบทเรียนครั้งนั้นมาใช้เพื่อพาองค์กรก้าวไปสู่ชัยชนะ ขณะที่คนที่ทำอะไรก็สำเร็จตลอด หากเผชิญวิกฤติและปัญหา อาจไม่รู้ว่าควรแก้ไขอย่างไร
การมี 5 สิ่งนี้จะทำให้เราได้ขยาย Capacity เพื่อรองรับบทบาทสำคัญที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตได้ และจะทำให้เราทำงานสำคัญ ๆ ได้ดีขึ้นแน่นอน
3.How to Be the Best Boss & a Good Citizen During a Work Hard Crisis
คุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO จาก Srichand และ CEO กับ Founder จาก Mission to the Moon เล่าถึงวิธีการบริหารจัดการตัวเองของผู้นำ หรือ Self Control ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนเป็นผู้นำ โลกนี้มีหลายสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น การเมือง สิ่งที่คนอื่นเขาคิดถึงเรา เป็นต้น ถ้าเรารู้ว่าอะไรที่ควบคุมไม่ได้ เราไม่ต้องไปควบคุมมัน
แต่สิ่งที่เราต้องโฟกัสก็คือ สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีไม่กี่อย่างนั่นคือการกระทำ คำพูด และพฤติกรรมของเราเอง ถ้าเราเข้าใจ 3 สิ่งนี้ มันจะเสริมสร้างพลังในการทำงานของเราได้มหาศาล
ถ้าอยากเป็นผู้นำที่ดีต้อง Be Comfort with Discomfort หรือรู้สึกโอเคกับความไม่โอเค เพราะผู้นำจะต้องเจอกับสถานการณ์ที่ ‘ไม่โอเค’ อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะทางจิตใจ เขาเปรียบเปรยถึงการวิ่งมาราธอนว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยจู่ ๆ ก็ออกไปวิ่งออกกำลังกาย 42 กิโลเมตรโดยไม่ได้เตรียมพร้อมอะไรมาก่อน แม้จะทำได้สำเร็จ แต่มีข้อน่ากังวลมากมาย เพราะหากผิดพลาดเพียงนิดเดียว ร่างกายอาจไม่สามารถวิ่งได้หรือเดินได้ตามปกติอีกเลย
แต่นั่นก็เป็นบทเรียนให้เขาเรียนรู้ว่า ถ้ากลัวการทำอะไรสักอย่าง เราจะก้าวข้ามสิ่งนั้นไปไม่ได้เลย วันนั้นถ้าเขาได้คำเตือนมาก่อน เขาน่าจะวิ่งไม่จบแน่นอน ทำให้เขาเรียนรู้ว่าถ้าเราอยากทำอะไรเพื่อเปลี่ยนโลก เราต้องหาให้เจอก่อนว่าขีดจำกัดของเราอยู่ตรงไหน แล้วเมื่อนั้นเราจะสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดแล้วสร้างสรรค์สิ่งที่ดี สิ่งที่มีคุณค่าได้
สุดท้ายนี้คุณรวิศทิ้งท้ายว่า มนุษย์เรามีความกลัวห้อมล้อมอยู่ในทุกการกระทำ คนเป็นผู้นำมีเรื่องน่ากลัวให้ต้องตัดสินใจเสมอ เช่น จะพาธุรกิจก้าวไปทางไหน จะบริหารทีมอย่างไร จะไล่คนออกอย่างไร แต่สิ่งที่ผู้นำต้องไม่ลืมทำก็คือ จงมีเมตตากับทุกคน เพราะเราไม่รู้เลยว่าคนในทีมกำลังต่อสู้และเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ สิ่งที่เราทำได้คือมีเมตตากับเขา แล้วชีวิตเราจะเดินไปอย่างสงบ
และผู้นำที่มีเมตตาจะประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำที่ดี
4.Modern Client Service Skills: The Foundation for Success
คุณรัสรินทร์ อัศววิภาโรจน์ Chief Enterprise Officer จาก Explainer, Like Me กล่าวถึงทักษะที่ต้องมีสำหรับการทำงานกับลูกค้า เพื่อที่จะได้ทำงานและสร้างสรรค์คุณค่าที่ตอบโจทย์กับลูกค้า และนำมาซึ่งการเติบโตขององค์กร
ที่ผ่านมา หลายคนอาจคิดว่างาน AE นั้นมีหน้าที่แค่ต้องประสานงานกับลูกค้า ดูแลลูกค้า ซึ่งจริง ๆ แล้วงานเหล่านี้ถือเป็นงาน AE ยุคเก่า แต่ในปัจจุบัน งาน AE เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมคน ความต้องการ และตลาดที่เปลี่ยนไป คนทำงานก็ต้องเปลี่ยนอย่างมากเพื่อที่จะทำงานนี้ และสร้างสรรค์คุณค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ตลอดมา ‘ความเร็ว’ คือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และนับวันก็ยิ่งต้องการเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เธอตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทุกคนทำให้ลูกค้านั้นยังเร็วไม่พออีกเหรอ
คำตอบที่เธอพบก็คือ ไม่ว่าจะเร็วแค่ไหน สิ่งที่ AE ต้องสร้างให้ลูกค้าให้ได้คือ TANGIBLE Outcome หรือการทำให้คนหันมาซื้อสินค้าแบรนด์ลูกค้ามากขึ้น เปลี่ยนใจจากแบรนด์อื่นมากขึ้น โดยต้องไม่ลืมการสร้างคุณค่าให้กับองค์กรนั้น ๆ ด้วย
สิ่งที่ AE ต้องมีคือความเข้าใจโจทย์ลูกค้า ความต้องการลูกค้า รู้ว่ากลยุทธ์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคืออะไร วิเคราะห์ข้อมูลเป็น รู้ว่าชุดข้อมูลที่มีจะนำไปสู่การตัดสินใจที่แม่นยำอย่างไร เพื่อให้ข้อมูลและคอยเตือนลูกค้า พร้อมทั้งสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนให้ลูกค้าได้ อาจต้องคิดเชิงกลยุทธ์ด้วย
จริงอยู่ว่างาน AE อาจไม่ได้ลดลง แต่ถ้าทำได้จะทำให้ AE คนนั้นแตกต่างไปจาก AE โดยทั่วไปในท้องตลาด ที่ยังทำงานแบบเดิม ๆ ซึ่งโชคดีตรงที่มี AI มาช่วยงานที่ช่วยลดเวลาการทำงานลงได้เยอะมาก
แต่อย่าลืมว่า AI นั้นไม่มี Human Skill ไม่มีใครสามารถรับมือลูกค้าได้ดีเท่ามนุษย์อีกแล้ว จงใช้ AI ช่วยลดเวลาในการทำงานซ้ำ ๆ แล้วเอาไปเพิ่มความผูกพัน เพิ่มความเป็นมนุษย์ในงาน และจะทำให้ลูกค้าเห็นคุณค่าของ AE และทำให้ตัวของ AE เองมองเห็นคุณค่าของตัวเองด้วย
สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน Work Life Festival 2024: Skill Force Stage – Day 1 |
5.Leading the Future Workforce: เตรียมความพร้อมสู่โลกการทำงานแห่งอนาคต
คุณธัญจิรา พิมลแสงสุริยา Group Head of Operations จาก Slingshot Group เล่าว่าปี 2023 มีคน 4 เจนเนอเรชั่นที่ทำงานประจำอยู่ที่ 39.9 ล้านคน เมื่อมีคนทำงานมาก ก็ทำให้เราต้องยิ่งทำความเข้าใจคนอื่น ๆ มากตามไปด้วย เพื่อให้การทำงานออกมาราบรื่น และเดินไปถึงเป้าหมายได้
จากรีเสิร์ชของ Slingshot พบว่า คนแต่ละเจน โดยเฉพาะคนรุ่นใหญ่ และคนรุ่นใหม่ต่างมีความชื่นชอบในการทำงานกับผู้อื่นแตกต่างกัน ภายใต้ CARE Model หรือ
- Communication Dynamics
- Approach Success
- Reward Strategies
- Empathy and Support
โดยสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
- คนรุ่นใหญ่เวลาจะทำงานกับใคร ชอบทำงานด้วยความเป็นทางการมากกว่า เวลาประชุมก็ต้องมีความเป็นทางการ และคิดว่าไม่จำเป็นต้องให้คำชื่นชมเยอะ แต่ถ้าจะให้คำชมแต่ละครั้ง จะให้แบบยิ่งใหญ่ ส่วนคนรุ่นใหม่จะชอบการพูดคุยกันบ่อย ๆ การพูดคุยนี้ไม่ต้องประชุมเป็นทางการมากก็ได้ ส่วนคำชื่นชม ไม่ต้องคำชมยิ่งใหญ่มาก ขอแค่ชมบ่อย ๆ เยอะ ๆ เป็นพอ
- คนรุ่นใหญ่พูดถึงการเทรนนิ่งไว้ว่า สิ่งที่ผู้นำทำได้เพื่อให้เกิดการพัฒนาคือ ช่วยให้เขาเข้าถึงคอร์สการเรียนรู้ และให้อิสระเขาในการเลือกว่าอยากเรียนอะไร จากนั้นให้โอกาสเขาได้ลองเป็นผู้นำ ได้ออกไปสร้างเครือข่ายเพื่อพบเจอคนใหม่ ๆ ส่วนคนรุ่นใหม่ ต้องการการลองผิดลองถูก เพื่อหาโอกาสในการทำงานอย่างเหมาะสม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการ Networking ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการเหมือนกัน
- นอกจากนั้นยังต้องการชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ไปจนถึงความยืดหยุ่นในการทำงาน และทุกเจนยังต้องการการดูแลเรื่องสุขภาพจิต โดยที่คนรุ่นใหม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตมากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยหากเป็นไปได้ องค์กรต้องสร้างองค์กรให้มี Psychological Safety หรือมีความปลอดภัยทางใจด้วย จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรที่สุด
คนแต่ละเจนมีวิถีการพัฒนา มีความชื่นชอบที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามก็มีอีกหลายด้านที่เหมือนกัน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้นำแล้วที่ต้องจัดสรรวิถีการทำงานให้เหมาะสมและตอบโจทย์กับความต้องการของพวกเขา เพื่อทำให้สามารถทำงานและเพิ่มคุณค่าขององค์กรได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
6. Jumpstart Your ESG Skillset: เตรียมตัวให้พร้อมสู่โลกที่ยั่งยืน
คุณอนันตชัย ยูรประถม Director จาก SBDi หรือสถาบันการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน กล่าวว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นเครื่องมือในการสร้างความสำเร็จขององค์กรในอนาคต ที่ทุกคนไม่สามารถมองข้ามได้
จริง ๆ แล้วเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่องค์กรระดับโลกให้ความสำคัญมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งกลายมาเป็นเทรนด์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ พอ ESG กลายเป็นเทรนด์วงกว้าง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการผลักดันและพัฒนาคมเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความยั่งยืนด้วย และหากองค์กรไหนมีคนที่มีความรู้ด้านนี้ องค์กรทั้งหลายจะหมายตาและอยากดึงตัวไปร่วมงานด้วย
การจะทำงานด้านความยั่งยืน ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม คำนวณ Carbon Footprint เป็นขนาดนั้น เพราะบริษัทไม่ได้แค่ต้องคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ต้องการคนมาดูแลภาพรวมที่ส่งเสริมความยั่งยืน เพื่อให้ตอบโจทย์ด้านสังคมและธรรมาภิบาลด้วย โดยหลัก ๆ แล้วคนที่องค์กรต้องการมีดังต่อไปนี้
- ESG Strategist คนที่มีหัวกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อให้กลยุทธ์ตอบโจทย์กับองค์กรและสังคมไปพร้อมกันทั้งหมด
- ESG Expert ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจว่า งานส่วนไหนในภาพรวมที่มีผลต่อเรื่องความยั่งยืนขององค์กร
- ESG Activist ผู้ที่ทำโครงการ ทำงานร่วมและเชื่อมกับชุมชน ภาคประชาชน
- ESG Assessor ผู้ที่คอยประเมินผลความยั่งยืนขององค์กร คนที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับคนในทุกสายงาน
งาน ESG แทรกซึมอยู่ในทุกสายงาน ไม่ว่าจะงานด้านการตลาด, Data ไปจนถึง HR หากใครเข้าใจงานด้านนี้ รู้ว่าตัวเองมีความถนัดและความสนใจด้านนี้ สามารถประยุกต์ความรู้ด้านความยั่งยืนเข้ากับงานประจำได้ นอกจากจะได้ขับเคลื่อนโลกและองค์กรให้น่าอยู่มากขึ้น ยังจะได้โอกาสเติบโตในหน้าที่การงานมากขึ้นเช่นกัน
7.Decode the Chinese Mindset: เรียนรู้แนวคิดและทักษะที่จะผลักดันให้เราเหนือกว่า
คุณธนพร ตั้งวุฒิเวศน์ Head of Public Relations จาก Possefy Group / Oppo ประเทศไทย เล่าถึงบริบทการทำงานในบริษัทจากประเทศจีนว่ามีความแตกต่างจากบริบทของไทยหลายประการ คนส่วนใหญ่อาจชอบคิดว่าบริษัทจีนทำงานหนักมาก ซึ่งก็จริง แต่บริษัทจีนในไทยไม่ได้ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ หรือทำงานแบบ 996 เหมือนที่จีน อย่างไรก็ตามเวลาทำงานทุกคนจะมีความกระตือรือร้น และพร้อมปรับตัวตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดใหม่ ๆ
การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้การทำงานมีความกดดันสูง แต่ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือ บริษัทจีนในไทยกลับมีความเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น มีความยืดหยุ่นในวิธีการทำงานสูง ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่จำเป็น ทำให้พนักงานได้แสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่
สำหรับแนวคิดของคนจีนที่มีประโยชน์มาก ๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือ ความไม่หยุดนิ่ง เพราะคนจีนมุ่งมั่นพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ อย่าหยุดนิ่งกับสิ่งที่คิดว่าดีแล้ว เพราะสิ่งที่คิดว่าดีในวันนี้ อาจไม่ดีในอนาคตก็ได้
ส่วนแนวคิดของผู้บริหาร ก็มีความต้องการพัฒนาทักษะคนตลอดเวลาด้วย คนจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พนักงานต้องมีทัศนคติพร้อมพัฒนา พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา หากมีสิ่งนี้จะช่วยเสริมให้ตัวเองและองค์กรสามารถแข่งขันกับผู้อื่นและเติบโตไปได้ในระดับสากล
8.Global-Ready Capability เตรียมตัวสู่การเติบโตในเวทีโลก
คุณปณิดา อนุกุล Group Director – People Transformation & Talent Management จาก Minor International PCL เล่าว่าหากเราต้องการเติบโตสู่เวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง ตัวเราเองต้องมีคุณสมบัติ 3 สิ่งดังต่อไปนี้
1.Hyper Collaboration ประสานความร่วมมือกับผู้อื่นแบบสุดโต่ง ไม่แค่ตัวเราเองที่ทำงานได้ แต่คนที่ทำงานด้วยกัน คนที่อยู่รายล้อมก็ต้องสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น นำไปสู่การคิดนอกกรอบเพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยยิ่งเราคิดแตกหน่อแนวทางได้มากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น
ถ้าอยากมีสมรรถนะด้านนี้ ลองเข้าหาคนที่แตกต่างไปจากเรา หรือคนที่เราไม่คุ้นชิน ลองออกจาก Comfort Zone ไปหาคนที่ทำงานในสายอื่น ๆ ดูบ้าง เมื่อไหร่ก็ตามที่คุยกับคนด้านอื่น จะทำให้มองเห็นภาพรวมที่กว้างไกลขึ้น มีองค์ความรู้ที่กว้างขวางขึ้น
2.Leadership Ambidexterity หรือผู้นำที่ใช้มือ 2 ข้างได้ถนัด กล่าวคือคนที่คิดเป็นปฏิบัติเป็น สามารถทำงานที่ซับซ้อน สามารถปรับตัว และคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ดีกว่าผู้อื่น ไปจนถึงคนที่ไม่แค่คิดแต่กลยุทธ์ระยะยาว แต่วางแผนระยะสั้นเป็น เป็นต้น
หากในองค์กรมี Job Rotation จะช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับบริบทที่แตกต่าง สามารถปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานไปตามงานที่เปลี่ยนไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เราถนัดทั้ง 2 มือมากขึ้นตามไปด้วย
3.Global Mindset คนที่จะเติบโตในระดับโลก ต้องโอบรับความหลากหลาย ทั้งความคิด การศึกษา ประสบการณ์ ความเชื่อ จะนำมาสู่มุมมองที่หลากหลาย และจะนำมาสู่โอกาสที่หลากหลายด้วย
วันนี้เราไม่ใช่แค่ประชากรไทย แต่เราเป็นประชากรโลก การเปิดรับความแตกต่าง จะทำให้เรานำพาธุรกิจเข้าไปยืนอยู่ในระดับโลกได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเริ่มได้ง่าย ๆ เพียงแค่เปิดรับสื่อจากต่างประเทศ เปิดองค์ความรู้จากต่างชาติเพียงวันละนิดวันละหน่อย เราจะรู้ว่ามีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นบ้าง หากพาตัวเองเข้าไปทำงานท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีกลุ่มที่หลากหลายได้ จะเป็นสิ่งที่เพิ่มคุณค่าให้ตัวเราเองได้มหาศาล
สุดท้ายนี้ คุณปณิดาเน้นย้ำว่า จงอย่าทำให้ตัวเราเองมีทางเลือกเดียว แต่จงสร้างทางเลือกหลายประการ หรือสร้าง Career Lattice จักสานเส้นทางอาชีพตัวเองไม่ให้โตแค่แนวดิ่ง แต่โตในแนวราบ หมั่นเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ให้มาก จะทำให้มีมุมมองที่หลากหลาย ทำให้เราเข้าใจคนที่หลากหลาย และเติบโตในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ