HIGHLIGHT
|
เป็นเรื่องปกติหากคนทำงานจะมองหาโอกาสในการเติบโต บางครั้งอาจเป็นการเติบโตจากภายในองค์กรที่กำลังทำงานอยู่ แต่บ่อยครั้งก็เลือกที่จะไปเติบโตในองค์กรอื่น ๆ แทน
แต่ทุกครั้งที่เส้นทางการทำงานกำลังอยู่บนทางแยกว่าจะเลือกเดินหน้าต่อไปทางไหน ย่อมมาพร้อมความคาดหวังจากงานใหม่ ตำแหน่งหน้าที่และโอกาสใหม่ ๆ เสมอ
ด้วยเหตุนี้บริษัทจัดหางาน Reeracoen Thailand จึงร่วมกับ HREX แพลตฟอร์มข้อมูลสำหรับทรัพยากรบุคคล ทำแบบสำรวจหัวข้อ “ประสบการณ์และความคาดหวังในการเปลี่ยนงาน” (The Survey for Candidate : Experience and Expectations in Changing Jobs) เพื่อรวบรวมข้อมูลจากพนักงานจำนวน 620 คน แบ่งเป็นคน Generation X, Y และ Z เพื่อค้นหาว่า ความคาดหวังที่ต้องการเป็นอย่างไร และองค์กรควรตอบสนองความต้องการของพนักงานในการเติบโตต่อไปอย่างไร
และนี่คือผลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้
Experience and Expectations of Gen X: ความมั่นคงต้องมาก่อน
ผู้ตอบแบบสอบถามครั้งนี้เป็นพนักงาน Gen X ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดระหว่างปี 1965-1980 จำนวน 146 คน คิดเป็น 25.16%
จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกงานใหม่สำหรับกลุ่มตัวอย่าง Gen X จำนวน 56% ตอบว่า “ความรู้สึกมั่นคงทางอาชีพ” เยอะที่สุด รองลงมาคือเงินเดือนและสวัสดิการ ตามด้วยเนื้องานและหน้าที่ที่ได้รับ ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับปัจจัยที่ช่วยเพิ่มระยะเวลาในการทำงานในองค์กร ที่เป็นเรื่อง “ความมั่นคงทางอาชีพ” มากที่สุดเช่นกันถึง 59.62%
แต่หากมีเหตุให้ตัดสินใจเลือกงานใหม่ 33% ของคนกลุ่มนี้จะตัดสินใจย้ายงานเนื่องจากไม่พอใจ “บรรยากาศในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร” มากที่สุด
Experience and Expectations of Gen Y: เงินเดือนและสวัสดิการต้องมาก่อน
สำหรับผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่ม พนักงาน Gen Y หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1981-1996 จำนวน 371 คน คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดในการตอบแบบสอบถามที่ 63.87%
จากการสำรวจพบว่า คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับ “เงินเดือนและสวัสดิการ” เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกงานใหม่ มากที่สุดถึง 55.56% รองลงมาคือ “โอกาสในการเรียนรู้” และ “ความมั่นคงทางอาชีพ” สอดคล้องกับปัจจัยที่ช่วยเพิ่มระยะเวลาการทำงานในองค์กรที่ “เงินเดือนและสวัสดิการ” มีความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ “ความรู้สึกมั่นคงทางอาชีพ” และ “Work-Life Balance” โดยปัจจัยหลังสุดนี้ เป็นความต้องการที่แตกต่างจากคนใน Gen อื่น ๆ อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้พนักงาน Gen Y ตัดสินใจย้ายงานนั้น “การได้รับผลตอบแทนน้อยเกินไป” กลับเป็นคำตอบอันดับ 2 เท่านั้น เพราะ Gen Y จำนวน 34.60% มองว่า “การขาดโอกาสพัฒนา-เติบโตทางอาชีพ” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
Experience and Expectations of Gen Z: องค์กรไหนพร้อมมอบโอกาสการเรียนรู้ องค์กรนั้นคือคำตอบ
ปิดท้ายด้วยเสียงของพนักงาน Gen Z หรือกลุ่มที่เกิดหลังปี 1997 มีผู้ตอบแทบบสอบถามทั้งสิ้น 64 คน คิดเป็น 10.81% ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนน้อยสุด แต่ก็มีแนวคิดและความคาดหวังที่น่าสนใจ
จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกงานใหม่ อันดับ 1 คือ “โอกาสการเรียนรู้” คิดเป็นโดย 77.61% ตามด้วย “เงินเดือนและสวัสดิการ” และ “โอกาสพัฒนา-เติบโตทางอาชีพ”
ส่วนปัจจัยที่ช่วยเพิ่มระยะเวลาการทำงานในองค์กรนั้้น คำตอบอันดับ 1 คิดเป็น 59.62% ตอบว่า “เงินเดือนและสวัสดิการ” รองลงมาคือ “โอกาสการเรียนรู้” และ “โอกาสพัฒนา-เติบโตทางอาชีพ”
ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกงานใหม่มากที่สุดสำหรับ Gen Z จำนวน 46.27% คือ “ขาดโอกาสพัฒนา-เติบโตทางอาชีพ” รองลงมาคือ “บรรยากาศในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร” และ “ได้รับผลตอบแทนที่น้อยเกินไป”
จะเห็นได้ว่าแม้คำตอบอันดับ 1 ทั้ง 3 หมวดนี้ของพนักงาน Gen Z จะไม่ตรงกันเลย แต่ก็มีส่วนที่ทัยซ้อนกันอย่างน่าสนใจอยู่นั่นคือ “โอกาสเรียนรู้” และ “โอกาสพัฒนา” เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญไม่น้อย ซึ่งจะนำมาสู่การลาออกทันทีหากพวกเขาตระหนักว่ายิ่งอยู่ในองค์กรนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งขาดโอกาสพัฒนาและเติบโตในเส้นทางอาชีพ ซึ่งหากองค์กรต้องการยื้อให้อยู่ต่อล่ะก็ อาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มโอกาสก็ได้ แต่ชดเชยด้วยการ “ให้เงินเดือนและสวัสดิการ” ที่สูงขึ้นแทน ถึงจะสามารถจูงใจให้ทำงานต่อไปได้
Job Board แหล่งหางานที่คนทุกเจนฯ ไว้วางใจ
จากผลสำรวจเกี่ยวกับช่องทางการมองหางานของพนักงานใน Gen X, Y และ Z พบว่า Job Board เป็นช่องทางหลักที่คนทำงานทุก Generation ใช้ในการหางาน
โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z ที่มีถึง 90.3% เลือกใช้ Job Board ในการค้นหางานใหม่เยอะที่สุด ขณะที่ Gen Y และ Gen X มีการใช้ Job Board ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันที่ 75.4% และ 74.1% ตามลำดับ
นอกจากนี้ Recruitment Agency ก็ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ Gen X (17.1%) และ Gen Y (17.7%) ใช้บ่อยพอสมควร แต่กลับมีสัดส่วนที่ลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่ม Gen Z ที่ใช้เพียง 5.8% เท่านั้น
ส่วน Social Media และ Networking เป็นช่องทางที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในการหางานของทุก Gen มีสัดส่วนต่ำกว่า 5% ซึ่งถือว่าน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าแม้สื่อสังคมออนไลน์และเครือข่ายส่วนตัวจะเป็นที่นิยมในหลายด้าน แต่เมื่อเป็นเรื่องการหางาน พนักงานทุก Gen ยังคงพึ่งพาช่องทางที่มีความเป็นทางการมากกว่า
บทสรุป
จากการสำรวจในครั้งนี้ จะเห็นได้ชัดว่าแต่ละ Generations ล้วนมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป เมื่อกล่าวถึงปัจจัยในการเลือกงานใหม่
ในขณะที่ Gen X ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาชีพมากที่สุด ส่วน Gen Y เน้นเรื่องเงิน และ Gen Z มองหาโอกาสในการพัฒนาและเติบโตทางอาชีพเป็นหลัก
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หากองค์กรไหนสามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของพนักงานแต่ละ Gen ได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้นานขึ้นและส่งผลดีต่อความสำเร็จในระยะยาวขององค์กรตามมา