Search
Close this search box.

โรงงานปิดตัว: ภัยคุกคามหรือโอกาสใหม่ของ Recruitment Agency ?

HIGHLIGHT

  • Recruitment Agency หรือบริษัทจัดหางาน ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ ในการสรรหาบุคลากร ไม่แพ้แรงงาน ผจญกับความท้าทายในการหางานครั้งใหม่
  • เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2024 มีโรงงานปิดกิจการกว่า 600 แห่ง เฉลี่ยต่อเดือนปิด 113 แห่ง มีคนตกงานคิดเป็นจำนวนมากกว่า 15,000 คน แนวโน้มการปิดตัวของโรงงานยังเพิ่มขึ้นตลอดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • แต่ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส Recruitment Agency เองจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องรักษาลูกค้าเดิม มองหาลูกค้าใหม่ พยายามค้นหาว่ามีอะไรที่สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้มากที่สุดบ้าง ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าและพาร์ทเนอร์คิดถึงและเลือกใช้บริการเสมอ
  • หากมี Data เยอะและสามารถเปลี่ยนเป็นอินไซต์ได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อ Recruitment Agency ในการสรรหาพนักงานที่ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้ามากเท่านั้น
  • ขณะเดียวกัน แรงงานที่ Open Mindset เปิดกว้าง พร้อมเรียนรู้และปรับตัวรับสิ่งใหม่ ๆ จะทำให้เป็นพนักงานที่โดดเด่นที่ใคร ๆ ก็จะต้องการตัว

โรงงานปิดตัว: ภัยคุกคามหรือโอกาสใหม่ของ Recruitment Agency ?

ตั้งแต่ปลายปี 2023 จนมาถึงปี 2024 การทยอยปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย ถือเป็นข่าวใหญ่ที่ผู้คนในแวดวงการหางานต่างหวาดเกรง เพราะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งแรงงานและภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ Recruitment Agency ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ต้องปรับตัวอย่างมากในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนนี้

สถานการณ์นี้ยังบ่งชี้ว่า ประเทศไทยจากที่เคยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งในเรื่องการสูญเสียตำแหน่งงานและความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงาน 

HREX จึงขอถือโอกาสนี้พาทุกท่านไปสำรวจถึงผลกระทบการปิดตัวโรงงานที่เกิดขึ้นต่อ Recruitment Agency มาดูกันว่าท่ามกลางช่วงเวลาสุดวิกฤติ บริษัทจัดหางานสามารถเปลี่ยนให้เป็นโอกาสได้อย่างไร ?

อดีตอันรุ่งโรจน์ของว่าที่เสือผงาดตัวที่ 5 แห่งเอเชีย

ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยคือหมุดหมายสำคัญที่อุตสาหกรรมการผลิตระดับโลกไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ล้วนเลือกเข้ามาลงทุน เลือกเป็นฐานการผลิตแหล่งสำคัญในภูมิภาค การเปิดโรงงานในช่วงนั้นนำมาซึ่งการจ้างคนไทยให้ช่วยผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์หลายต่อหลายชนิด

อุตสาหกรรมที่พึ่งพาไทยมีแทบทุกอุตสาหกรรม แต่สายที่โดดเด่นเห็นจะหนีไม่พ้นยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดย 5 ปัจจัยหลัก ๆ ที่นักลงทุนมองเห็นจากประเทศไทยก็คือ

  1. รัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดประเทศและส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติอย่างจริงจัง
  2. ประเทศไทยมีแรงงานจำนวนมากและค่าแรงไม่แพงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
  3. ไทยมีทำเลที่ตั้งเหมาะสมสำหรับการเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถขนส่งสินค้าง่าย โดยเฉพาะทางเรือ
  4. ไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว เช่น ถนน ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม
  5. ไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองค่อนข้างสูง ณ ช่วงนั้น 

เหตุผลเหล่านี้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น จนเกือบสอดแทรกขึ้นไปเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 แห่งเอเชีย เทียบชั้นสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน ได้อย่างสูสี 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยไม่สามารถก้าวไปเป็นเสือตัวที่ 5 แถมยังเผชิญสถานการณ์ขาลง นอกจากจะไม่สามารถดึงดูดนักลงทุน ดึงดูดอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ในต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตมากเท่าแต่ก่อนแล้ว แต่ยังปิดโรงงานแล้วพาย้ายถิ่นฐานการผลิตไปอยู่ประเทศอื่นเสียอีก โดยเฉพาะเวียดนาม ที่ใช้มาตรการจูงใจด้านภาษี และข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area หรือ FTA) มาเป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดโรงงานจากทั่วโลกให้มาเปิดกิจการที่นี่

สถิติน่าใจหาย คนไทยตกงานเพราะโรงงานปิด

ตัดภาพมาปลายปี 2023 มาจนถึงช่วงกลางปี 2024 มีรายงานว่า โรงงานอุตสาหกรรมปิดกิจการในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากหลายกรณี ทั้งความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน ทำให้เป็นตัวเลือกให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศแทนเพราะถูกกว่า

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์เต็ม ๆ เมื่อกระแสการผลิตรถไฟฟ้า EV มาแรงกว่ารถสันดาป หรือรถที่ใช้น้ำมัน ทำให้โรงงานค่ายญี่ปุ่นต้องปรับกลยุทธ์เรื่องการจ้างคน เพื่อให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจกับประเทศจีนที่พัฒนาด้านนี้จนขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้

จากการสืบค้นข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า ตลอดปี 2023 มีโรงงานปิดกิจการทั้งหมด 1,377 แห่ง เฉลี่ยต่อเดือนปิดไป 111 แห่ง

และหากนับเฉพาะเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2024 หรือ 5 เดือนแรกของปีนี้ มีโรงงานปิดกิจการแล้ว 567 แห่ง เฉลี่ยต่อเดือนปิด 113 แห่ง ซึ่งอยู่ในแนวโน้มที่สูงขึ้น และมีคนตกงานแล้วคิดเป็นจำนวน 15,342 คน

สถิติจากกรมโรงงานฯ ยังระบุอีกว่า การปิดโรงงานเพิ่มขึ้นถึง 40% จากเดือนกรกฎาคม 2566 ถึง มิถุนายน 2567 มีตำแหน่งงานหายไป 80% จากช่วงเวลาเดียวกัน และมีคนตกงานมากกว่า 51,500 คน

โรงงานปิดตัว: ภัยคุกคามหรือโอกาสใหม่ของ Recruitment Agency ?

ข้อมูลอีกด้าน โรงงาน(จีน)เปิดเพียบ 

แม้สถิติข้างต้นจะชี้ตรงกันว่ามีโรงงานปิดกิจการเยอะมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีสถิติอีกด้านให้ดูประกอบด้วยว่า จริง ๆ แล้วจำนวนโรงงานที่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยนั้นมีเยอะกว่าโรงงานที่ปิดตัวลงเสียอีก

BT Times รายงานว่าหากนับย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา มีโรงงานเปิดใหม่ประมาณ 11,800 แห่ง เฉลี่ยแล้วเปิดใหม่ปีละ 2,360 แห่งเลยทีเดียว มากกว่าโรงงานปิดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด 

แต่ BT Times ก็ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ถึงโรงงานจะเปิดตัวเยอะกว่าแต่หากไล่ดูแต่ละปีดี ๆ จะพบว่าโรงงานที่เปิดใหม่นั้นมีจำนวนน้อยลงทุกปี และอัตราส่วนของการปิดกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แนวโน้มที่เป็นบวก สอดคล้องกับสกู๊ป ไขปริศนา เปิด-ปิดโรงงาน ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า “ภาพรวมการเปิดโรงงานยังมีจำนวนมากกว่าการปิดโรงงาน แต่พลวัตการเปิดและปิดเปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่ลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา”

และเนื่องจากโรงงานที่มาเปิดใหม่นั้นมีข้อมูลว่าเป็นโรงงานจากประเทศจีนไม่น้อย โดยเฉพาะโรงงานผลิตรถไฟฟ้า EV ซึ่ง ดร.สาโรจน์ วสุวานิช รองประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.ไทยซัมมิทกรุ๊ป และกรรมการและประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.ไทยซัมมิท ฮาร์เนส ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ ถึงการที่ทุนจีนมีการเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยว่า ทุนจีนที่ทำ EV ไม่ต่างทัวร์ศูนย์เหรียญ

“เพราะจีนที่มาตั้งโรงงาน เอาเครือข่ายที่ผลิตชิ้นส่วนเข้ามาทั้งหมด ไม่ซื้อกับบริษัทคนไทยเลย ต่างกับบริษัทญี่ปุ่นที่ยังแบ่งให้คนไทยบ้าง แต่ว่าจีนไม่แบ่งเลย รวมถึงธุรกิจอื่นที่จีนเข้ามาเช่นเดียวกัน”

อีกประเด็นที่หลายคนเป็นห่วงก็คือ แม้จะมีโรงงานจากจีนมาตั้งในประเทศไทยเยอะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการจ้างงานคนไทยที่ตกงานจากการปิดโรงงานอื่น ๆ เข้าไปทำงานด้วย โดยพบกรณีของโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี ขึ้นป้ายป้ายภาษาจีนประกาศรับสมัครแรงงานต่างด้าว แต่ไม่รับแรงงานไทย ซึ่งในเวลาต่อมานาย สุครชัย วิไลลักษณ์ตระกูล รักษาการจัดหางานจังหวัดปราจีนบุรี ได้ออกมาปฏิเสธว่าการรับแรงงานต่างด้าวก่อนคนไทยนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามอีกปัญหาที่หากใครเข้าไปทำงานในโรงงานจีนได้ ก็อาจต้องเจอคือปัญหานายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง โดยเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีข่าวว่าแรงงานชาวเมียนมา จำนวนกว่า 700 คน ในโรงงานอุตสาหกรรมนิคมโรจนะ รวมตัวกันประท้วงแสดงความไม่พอใจที่เจ้าของโรงงานชาวจีนไม่จ่ายค่าแรงมา 2 เดือนแล้ว

นับเป็นปัญหาที่ยังต้องจับตามองต่อไป

โรงงานปิดตัว: ภัยคุกคามหรือโอกาสใหม่ของ Recruitment Agency ?

อยากรอดในยุคโรงงานปิด Recruitment Agency ต้องเปลี่ยนวิธีเข้าหาลูกค้า

นอกจากคนธรรมดาจะหางานยาก อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเยอะไม่แพ้กันก็คือ Recruitment Agency หรือบริษัทนายหน้า ช่วยสรรหาบุคลากรป้อนไปให้บริษัทต่าง ๆ ที่จะหาคนมาเติมเต็มคนในองค์กรลูกค้ายากขึ้นด้วย

HREX สัมภาษณ์คุณ วีรวัฒน์ ขัติยะ Recruitment Consultant จาก บริษัทจัดหางาน Reeracoen Eastern Seaboard Recruitment ถึงประเด็นนี้ เขายอมรับว่าได้รับผลกระทบมากทีเดียวเพราะที่ผ่านมาค่อนข้างใกล้ชิดกับลูกค้าในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาป ซึ่งถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ แต่เมื่อโลกกำลังเข้าสู่เทรนด์ยานยนต์สมัยใหม่ที่เป็นรถไฟฟ้า และมีกลุ่มธุรกิจจีนเข้ามามีบทบาทในพื้นที่แทน ส่งผลให้ลูกค้าจากโรงงานสัญชาติญี่ปุ่นเติบโตได้น้อยลง

“ลูกค้าเก่าที่ทำงานร่วมกันมานาน เราจะรู้สไตล์ รู้ความต้องการของเขาดี แต่สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ เขาสามารถจ้างงานน้อยลง จากที่เคยได้ลูกค้าจากบริษัทกลุ่มหนึ่งบ่อย ทุกวันนี้อาจไม่ได้ลูกค้าจากกลุ่มดังกล่าวมากอีกแล้ว และแต่ละบริษัทจะใช้ 2-3 เอเจนซี่ช่วยหาพนักงาน หมายความว่าอัตราการแข่งขันจะเพิ่มขึ้นด้วย”

คุณวีรวัฒน์ยืนยันว่าคนทำงานใน Recruitment Agency เองก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นกัน ด้วยการลองหาลูกค้าและพาร์ทเนอร์ใหม่ ๆ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลา แต่หากสร้างความผูกพัน ทำให้เขามองเห็นว่าบริษัทจัดหางานพร้อมเป็นพันธมิตรที่ดีต่อเขาได้อย่างไร จะช่วยให้ก้าวข้ามอุปสรรคไปได้

“ลูกค้าต้องการบริการราคาถูก แต่คุณภาพดี ดังนั้นเราจะหากลยุทธ์อะไรมาเสนอให้ลูกค้าใหม่ได้ เราต้องรีเสิร์ชมาประมาณหนึ่งเหมือนกัน หาว่าเขาเป็นใคร หาว่าจะเข้าหาเขาได้อย่างไร จะดึงดูดเขาอย่างไร ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่ายังต้องการเราด้วย และไม่ใช่แค่เข้าไปนำเสนอบริการด้านการสรรหาบุคลากรเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องทราบปัญหา หรือ pain point ที่แท้จริงของลูกค้าแต่ละบริษัทให้ได้ เพื่อที่จะช่วยแก้ไขปัญหาร่วมกันกับลูกค้าให้ได้ตรงจุดมากที่สุด

“เราต้องเป็นฝ่ายให้ข้อมูลเขาก่อน อะไรที่เราสามารถสนับสนุนเขาก่อนได้ โดยเฉพาะเรื่องที่องค์กรใหม่ ๆ อาจไม่รู้ เช่น เรื่องกฎหมาย หรือกระบวนการทำงานในไทย ถ้าเราช่วยเหลือเขาก่อน จะทำให้ลูกค้ามองเห็นความพยายามและตั้งใจที่จะเป็นพาร์ทเนอร์กับเขา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการคุยกันแค่ 1-2 อาทิตย์ แต่เราต้องเรียนรู้กันไปยาว ๆ

“การทำงานของเราก็ต้องเปลี่ยนไป เราอาจอยู่นอกเวลางานแล้ว แต่ก็ต้อง Flexible ได้ หากเขาต้องการความช่วยเหลือนอกเวลางาน แล้วเราสามารถช่วยเขาได้ ต่อจากนั้นเวลาเขาต้องการอะไร เขาจะคิดถึงเราเป็นอันดับแรก ๆ ครับ”

อนาคตของการสรรหา และทางรอดของ Recruitment Agency

แม้สถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบันดูจะเป็นช่วงขาลง มีโรงงานปิดตัวลงไปเยอะ แต่ในความคิดของคุณวีรวัฒน์ยังพอมองเห็นหนทางว่า อย่างน้อย 5 ปีต่อจากนี้ ธุรกิจการจ้างงานโดย Recruitment Agency จะยังไปได้ต่อ แต่การแข่งขันที่ยิ่งสูงขึ้นจะคัดกรองให้เหลือแค่บางองค์กรเท่านั้นที่อยู่รอด

และกุญแจสู่ความสำเร็จก็คือ การมี Data หรือข้อมูลในมือที่สามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

“ความท้าทายที่ Recruitment Agency ทุกเจ้าต้องเผชิญคือ ยุคนี้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้สมัครงานเองได้ เราจะทำอย่างไรให้เขามองเห็นความสำคัญในการหาคนผ่านเรา ธุรกิจของ Recruitment Agency มีเราเป็นคนกลาง มีลูกค้า มีแคนดิเดตคนหางาน ถ้าองค์กรไหนสามารถครอบครองข้อมูลของ 2 ส่วนนี้มากที่สุด นำมาพัฒนาหาอินไซต์ได้เร็วที่สุด จะยิ่งได้เปรียบ

“เราต้องสร้างจุดแข็ง ประกาศจุดยืนว่า เราถนัดตรงไหน โดดเด่นตรงไหน และเมื่อต้องการพนักงานกลุ่มนี้ ลูกค้าและพาร์ทเนอร์จะคิดถึงเราก่อนครับ” เขาสรุป 

โรงงานปิดตัว: ภัยคุกคามหรือโอกาสใหม่ของ Recruitment Agency ?

แรงงานเองก็ต้องปรับตัว คนหางานอย่าอยู่เฉย ถึงเวลา Open Mindset

การที่โรงงานปิดกิจการ นอกจากผลกระทบต่อ Recruitment Agency แล้ว คนที่จะได้รับแรงกระแทกเต็ม ๆ ก็คือแรงงานที่จะตกงานจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเงิน ต้องปากกัดตีนถีบ หากใครสู้ชีวิตหน่อยก็ต้องย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ที่มีโอกาสจ้างงานมากกว่า ซึ่งก็ไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะได้งานใหม่เสมอไป

และหากไม่สามารถหางานใหม่ได้ทันที ทักษะที่พวกเขามีก็จะยิ่งล้าสมัย พวกเขาจะรู้สึกว่ามีคุณค่าน้อยลง เกิดความเครียดมากขึ้น และอาจนำมาสู่ปัญหาสังคมอีกมากมายได้ตามมา

Recruitment Consultant จากบริษัทจัดหางาน Reeracoen Eastern Seaboard Recruitment อธิบายว่า สถานการณ์ตอนนี้ผู้คนจะเปลี่ยนงานค่อนข้างยาก เพราะกังวลเรื่องความมั่นคงกันเป็นหลัก และถึงจะมีคนว่างงานเยอะ แต่ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการก็มีน้อยด้วย จึงไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถหางานง่ายขึ้นแต่อย่างใด 

“พอตำแหน่งงานน้อยลง มีคนหางานเยอะขึ้น จะมีแต่พนักงานที่มีศักยภาพเท่านั้นที่ได้รับการจับตามอง คนที่ไม่โดดเด่นจริง ๆ จะหางานยากครับ”

ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณวีรวัฒน์มองว่าปัญหาเรื่องการจ้างงานและการปิดโรงงานเกินอำนาจหรือขอบเขตที่คนตัวเล็ก ๆ จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ แต่เขาเชื่อว่าสิ่งที่คนทำงาน และคนหางานทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ การปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ตของตัวเอง เพื่อโอบรับวิกฤตินี้แล้วเปลี่ยนมันให้เป็นโอกาส

“การย้ายไปทำงานอีกธุรกิจไม่ได้ยากครับ มีแรงงานไทยย้ายจากโรงงานญี่ปุ่นไปอยู่โรงงานจีนที่มาเปิดในไทยเสมอ หากมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการ แต่แน่นอนว่าวัฒนธรรมองค์กรระหว่างจีนกับญี่ปุ่นก็จะแตกต่างกันด้วย ดังนั้นต้องมีแนวคิดเปิดกว้าง Open Mindset พร้อมเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ วัฒนธรรมองค์กรใหม่ ๆ ใครที่ยัง Fixed Mindset ยึดถือแต่การทำงานเฉพาะในโรงงานญี่ปุ่น ไม่อยากปรับตัว จะพลาดโอกาสมหาศาล”

หา Recruitment Agency ที่ใช่ ผ่าน HREX ได้แล้ววันนี้

ยิ่งโรงงานปิดตัวมากเท่าไหร่ ความท้าทายในการสรรหาพนักงานก็มากขึ้นเท่านั้น

หากองค์กรไหนต้องการตัวช่วยจาก Recruitment Agency ที่โดดเด่น เพื่อสรรหาพนักงานระดับ Talent มาช่วยยกระดับองค์กร ให้เกิดความมั่นคงและเป็นเลิศทางธุรกิจ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นหาจากที่ไหนดี สามารถมาค้นหา Recruitment Solution ผ่านแพลตฟอร์ม HR Products & Services ของ HREX ได้เลย ที่นี่เรารวบรวม “คนกลาง” สำหรับช่วยมองหาพนักงานทุกรูปแบบตั้งแต่พนักงานปฏิบัติการ ไปจนถึงผู้บริหารองค์กรไว้ให้ได้เลือกใช้บริการจากทั่วประเทศแล้วทางลิงก์นี้

หรือหากใครอ่านแนวคิดของคุณวีรวัฒน์ แล้วสนใจอยากใช้บริการ Reeracoen Recruitment ในการสรรหาพนักงานล่ะก็ สามารถติดต่อขอใช้บริการผ่าน HREX ได้เช่นกัน ทางลิงก์นี้

All HR Solutions! มาค้นหา HR Products and Services กับ HREX กันเถอะ

บทสรุป

การปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมในไทย เป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสที่ทั้งแรงงาน รวมถึงบริษัทจัดหางานต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลกและเทคโนโลยี

แรงงานต้องถือโอกาสนี้เปิดใจรับโอกาสใหม่และพร้อมปรับตัว ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว ขณะที่ Recruitment Agency จะต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกและสร้างจุดแข็งที่ชัดเจนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้ได้

และสุดท้าย ผู้ที่ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะมีโรงงานปิดตัวลงไปอีกมากแค่ไหน ก็จะสามารถฝ่าฟันทุกความท้าทาย และเป็นผู้นำในตลาดแรงงานไทยที่พาร์ทเนอร์ให้ความไว้วางใจ

Sources:

 

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง