เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2024 สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ร่วมกับ บริษัท ฮิวแมน อินเทเลคชวล แมเนจเมนท์ จำกัด (HIM Co., Ltd) จัดงานเผยผลสำรวจโครงการ THAILAND PEOPLE BENCHMARKING 2024 โดยสำรวจสถานการณ์จริงในประเทศไทยเกี่ยวกับการจัดการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์กรที่ร้าน Bottomless Sukhumvit 33
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมีจำนวน 98 องค์กรซึ่งมาจาก 10 กลุ่มประเภทธุรกิจ องค์กรเหล่านี้มีรายได้รวมทั้งหมด 7.5 แสนล้านบาท และมีบุคลากรรวมแล้วทั้งหมด 95,000 คน
การสำรวจและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์จริงในประเทศไทยเกี่ยวกับการจัดการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์กร 9 ด้าน ผลลัพธ์จากการสำรวจนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การทำ HR Analytics ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับ HR นำการนำไปวางกลุยทธ์ People Management Strategies เพื่อยกระดับองค์กรต่อไป
จากผลการสำรวจดังกล่าว สามารถสรุปใจความสำคัญ 9 ด้านดังต่อไปนี้
Contents
THAILAND PEOPLE BENCHMARKING 2024: ด้านที่ 1 Recruitment & Selection
ผลสำรวจด้านการสรรหาพนักงานพบว่า เวลาเฉลี่ยในการสรรหาพนักงานใหม่อยู่ที่ 42 วัน โดยหากสรรหาเจ้าหน้าที่ธรรมดาจะอยู่ที่ 30 วัน แต่ถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูงจะใช้เวลาสรรหา 90 วัน ซึ่งองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีชื่อเสียง ไม่ได้หมายความว่าจะหาพนักงานได้ง่ายกว่าหรือเร็วกว่าองค์กรขนาดเล็กเสมอไป
และ 98% ขององค์กรจะใช้วิธีการสรรหาผ่านระบบออนไลน์ เช่น บอร์ดจัดหางาน เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และราคาถูกกว่า
THAILAND PEOPLE BENCHMARKING 2024: ด้านที่ 2 Compensation & Benefits
จากผลการสำรวจพบว่า ส่วนแบ่งงบประมาณค่าจ้างขององค์กรมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 19% ของต้นทุนรวม แต่หากแบ่งเป็นสายงานจะพบว่า โรงงานอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 11% แต่ถ้าเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป (Retail) อยู่ที่ 19% และถ้าเป็นธุรกิจบริการ เช่น ธนาคาร โรงพยาบาล จะอยู่ที่ 25%
ส่วนค่าจ้างเริ่มต้น หากใครจบปริญญาตรีสายสังคม รายได้ต่ำสุดจะอยู่ที่ 9,000 บาท และเริ่มต้นสูงสุดที่ 35,000 บาท แต่ถ้าใครจบปริญญาตรีสายเทคโนโลยี รายได้ต่ำสุดเริ่มต้นที่ 13,000 และสูงสุดอยู่ที่ 50,000 บาท บ่งชี้ว่าไม่สำคัญว่านิสิตนักศึกษาจะจบอะไรมา แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าพนักงานสามารถทำอะไรได้ และยิ่งทำได้มาก ก็จะยิ่งได้เงินเดือนมากตามไปด้วย
ขณะที่สวัสดิการ มีองค์กร 28% เท่านั้นที่ใช้ระบบสวัสดิการที่ยืดหยุ่น (Flexible Benefit) แต่ 72% ยังใช้สวัสดิการแบบอนุรักษ์นิยมแบบเดิม แสดงว่ายังมีพื้นที่อีกมากให้ HR ได้พัฒนาสวัสดิการที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของพนักงาน
THAILAND PEOPLE BENCHMARKING 2024: ด้านที่ 3 Workforce & Diversity
จากการสำรวจพบว่า อัตราส่วนการทำงานของพนักงานแต่ละระดับในองค์กร Director 1 คนจะทำหน้าที่ดูแล Manager 5 คน จากนั้น Manager 1 คนจะดูแล Supervisor 3 คน Supervisor 1 คนจะทำหน้าที่ดูแลพนักงาน 14 คน
ปิดท้ายที่อัตราส่วนของ HR 1 คนจะดูแลบุคลากร 53 คนโดยเฉลี่ย
ในขณะที่ 24% ของพนักงานในองค์กรเป็นกลุ่ม Gen Z ซึ่งมีความสำคัญต่ออนาคตขององค์กร Gen Y 52% Gen X 22% และ Baby Bombers 2% โดยจากการตีความของ PMAT พบว่าเป็นอัตราส่วนที่กำลังเหมาะสม เพราะจะคละสัดส่วนของพนักงานที่ได้เงินเดือนมากน้อยลงตัวกัน แต่หากอยากให้องค์กรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น อาจต้องเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาคนเพิ่มขึ้นด้วย
THAILAND PEOPLE BENCHMARKING 2024: ด้านที่ 4 Employee Engagement
องค์กรในไทยพยายามทำ Employee Engagement ให้ความสำคัญกับความสุขของพนักงาน จากผลสำรวจพบว่า คะแนนความพึงพอใจของพนักงานต่อองค์กรอยู่ที่ 77% ซึ่งแสดงถึงความสุขและความพึงพอใจในการทำงาน
นอกจากนั้นยังมีการประเมินสุขภาพใจพนักงานด้วย แต่ผลที่ออกมาพบว่ามีองค์กร 20% เท่านั้นมีการประเมินสุขภาพใจของพนักงานเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดี โดยมี 6% มีความเครียดสูง 2% เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และ 1% เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่เยอะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่องค์กรมองข้ามได้
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือ 52 % ไม่มีนโยบายเยียวยาบุคคลากร และ 80% ขององค์กรยังไม่เคยสำรวจพนักงานด้านนี้เลย
THAILAND PEOPLE BENCHMARKING 2024: ด้านที่ 5 Performance Management
จากผลสำรวจพบว่า 57% ขององค์กรใช้ระบบการประเมินผลงานแบบ 5 ระดับเพื่อความชัดเจนในการประเมิน ปัจจัยที่นำมาใช้ในการประเมิน อันดับหนึ่ง 95% ก็คือ KPI หรือ OKR ที่เป็นผลงานขององค์กร รองลงมาคือ พฤติกรรมในการทำงาน 91% และสถิติขาดลามาสาย 63%
THAILAND PEOPLE BENCHMARKING 2024: ด้านที่ 6 Career Management
ผลสำรวจพบว่า 8% คือภาพรวมจำนวนของบุคลากรที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง (Promotion) และ 62% ขององค์กรที่เข้าร่วมสำรวจ มีการระบุ Talent ภายในองค์กร และ Talent ที่ระบุได้คือ 9% ของบุคลากรทั้งหมด
PMAT ตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นนี้สอดคล้องเรื่องการสรรหาพนักงาน ซึ่งแต่ละตำแหน่งยังต้องใช้เวลานานกว่าจะได้พนักงานสักคน ดังนั้นหากต้องการให้มีประสิทธิภาพ ต้องให้ความสำคัญกับทั้ง 2 ด้านนี้ควบคู่กัน
THAILAND PEOPLE BENCHMARKING 2024: ด้านที่ 7 Training & Development
ผลสำรวจพบว่า 71% ของบุคลากรในองค์กรมีการจัดฝึกอบรมและพัฒนาทักษะสำหรับพนักงาน เพื่อเพิ่มความสามารถและศักยภาพ โดยเครื่องมือที่องค์กรเลือกใช้คือ การฝึกอบรมกับสถาบันอบรม (Public Training) 93%, การฝึกอบรมในห้องเรียน (in-house Training) 90% และ การปฐมนิเทศ 89%
แม้จะเป็นตัวเลขที่สูง แต่ยังมีอีกกว่า 29% ที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรมากเพียงพอ
สำหรับค่าเฉลี่ยในการพัฒนาคน 1 คนจะอยู่ที่ 5 วันต่อปีเท่านั้น
THAILAND PEOPLE BENCHMARKING 2024: ด้านที่ 8 Turnover & Absenteeism
ผลสำรวจเรื่องอัตราการลาออก เน้นเฉพาะการลาออกโดยสมัครใจ (Voluntary Turnover) โดย 3 สาเหตุหลักที่พนักงานคนไทยลาออกจากงาน คือ ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น 79%, ได้โอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น 74% และลาออกเพราะเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน 35% ทั้งนี้เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับด้าน Engagement จะพบว่า ต่อให้ Engagement สูงก็ไม่สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับการที่พนักงานจะลาออก
ส่วนอัตราการลางานจะอยู่ที่ 5% อาจดูเหมือนไม่เยอะ แต่หากนำมาคำนวณกับฐานค่าจ้างรวมจะพบว่า แต่ละปีองค์กรจะเสียเงินโดยไม่มีคนทำงานมากกว่า 2 พันล้านบาท และหากบริหารจัดการไม่ดี จะต้องเสียค่า OT เพิ่มขึ้นด้วย
THAILAND PEOPLE BENCHMARKING 2024: ด้านที่ 9 HR Tech
ผลสำรวจเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารทรัพยากรบุคคลจะพบว่า 19% ขององค์กรใช้ระบบ HRIS (Human Resource Information System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการบุคลากร โดยมี 33% ที่นำ AI มาช่วยทำงาน และ 19% ขององค์กรที่เข้าร่วมสำรวจ มีนโยบายปรับลดกำลังคนด้วยการใช้เทคโนโลยีแทนที่
สำหรับ 3 เทคโนโลยีที่ HR ใช้มากที่สุด ได้แก่ 89% ใช้โปรแกรมบันทึกเวลาเข้าออกงานหรือ Time Attendance 82% ใช้โปรแกรมคำนวณเงินเดือน Payroll System และ 62% ใช้แพลตฟอร์มการสัมภาษณ์งานระยะไกล โดยแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในงาน HR นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความตื่นตัวของสังคมไทยและสังคมโลก
HR ท่านไหนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดผลสำรวจมาอ่านเพิ่มเติมได้ทางลิงก์นี้: https://drive.google.com/file/d/1iMvSvBpn30RefgcLvc0RJ1yr5HNRAwCz/view?usp=drivesdk |