Search
Close this search box.

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน PEOPLE-DRIVEN SUCCESS เพราะ People + Place = Profit

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน PEOPLE-DRIVEN SUCCESS

เพราะการจัดพื้นที่สำนักงานที่ดี มีผลต่อวัฒนธรรมองค์กรและประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยเหตุนี้ Skooldio และ Paperspace จึงร่วมกันจัดงาน PEOPLE-DRIVEN SUCCESS เพื่อค้นหาเคล็ดลับสร้าง People + Place = Profit 

งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 31 ก.ค. 2567 เวลา: 14:00 – 17:00 น. ณ Skooldio Office ชั้น 20 MBK Tower โดยเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน จาก 3 ผู้บริหารองค์กรชั้นนำ ประกอบด้วย

  • คุณ รัชนี แสนศิลป์ชัย, CEO, Rabbit Cash
  • ดร.ต้า – วิโรจน์ จิรพัฒนกุล, Co-Founder & Managing Director, Skooldio
  • คุณ สมบัติ งามเฉลิมศักดิ์, Co-Founder & Chief Experience Officer, Paperspace Asia

พี่ ๆ HR และเหล่า Management จะสามารถสร้างผลกระทบ (Impact) อะไรให้กับองค์กรผ่านพื้นที่ (Space) ได้บ้าง ? อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้จากบทความนี้

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน PEOPLE-DRIVEN SUCCESS ๅ

People: Leading High Performing Team Silicon Valley Style

ครั้งหนึ่ง ดร.ต้า – วิโรจน์ จิรพัฒนกุล Co-Founder & Managing Director, Skooldio เคยทำงานใน Silicon Valley เพื่อตอบโจทย์คนเป็นพันล้านคนผ่านเทคโนโลยี ซึ่งเขาเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีและ Data เป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องคนเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เขาให้ความสนใจ วันนี้เขาจึงมาพูดเรื่อง “คน” ไม่ใช่เรื่อง “Data” เหมือนที่พูดอยู่เป็นประจำ

เขาบอกว่า สมัยก่อนผู้นำมักเป็นคนที่เก่งที่สุดเพราะทำงานคนเดียว แต่ปัจจุบันต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและการทำงานร่วมกับคนอื่นให้ได้แล้ว เพราะทุกวันนี้เราอยู่ในยุค People Centric Leadership ที่ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับพนักงาน หลายครั้งที่อำนาจในการเลือกจะตกไปอยู่ฝั่งพนักงานมากกว่า ฉะนั้นหน้าที่ผู้นำจึงต้อง Empower ความสำคัญของพนักงาน, Insprise สร้างแรงบันดาลใจ และ Unleash ปลดล็อกความสามารถพนักงานให้ได้

เขายกตัวอย่าง Amazon มีแนวคิดว่าอยากเป็น “นายจ้างที่ดีที่สุดในโลก” ซึ่งนอกเหนือการให้ความสำคัญทางรายได้องค์กรแล้ว ยังให้ความสำคัญกับความสำเร็จส่วนบุคคลของพนักงานด้วย แม้ว่าความสำเร็จนั้นอยู่กับองค์กรเดิมหรือองค์กรอื่น เช่น พนักงานรุ่นใหม่อาจอยู่กับเรา 2 ปี แต่เราจะทำอย่างไรให้ 2 ปีนั้น พนักงานปลดล็อกศักยภาพให้กับเรามากที่สุด

ด้วยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเหล่านี้ องค์กรก็จะสามารถสร้างทีมที่ทุกคนฟังและเชื่อใจกันได้ (Trust) ซึ่งจะช่วยให้เกิดทีมที่มีความหลากหลายและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ แต่เดิมการดูแลพนักงาน เรามักเรียงลำดับตามทฤษฎี Maslow’s Hierarchy Of Needs ที่เริ่มต้นตอบสนองจากฐานล่าง (อย่างความต้องการทางด้านร่างกาย) ขึ้นไป เช่น เงินตอบแทน (Compensation) ความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) การรวมกลุ่ม (Inclusion) และตำแหน่งงาน (Job Title) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดคือการบรรลุ Self-Actualization  หรือก็คือการทำงานที่ท้าทายและมีความหมาย (Challenging Meaningful Work) นั่นเอง

ปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานบรรลุ Self-Actualization ได้แก่:

  • Autonomy: พนักงานมีอิสระในการทำงานหรือไม่ ?
  • Mastery: พนักงานสามารถพัฒนาความชำนาญของตนเองได้หรือไม่ ?
  • Purpose: งานที่ทำไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่หรือไม่ ?

หัวหน้าต้องสื่อสารสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจน และให้สอดคล้องกับเป้าหมายส่วนบุคคลของพนักงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มความมุ่งมั่นในการทำงาน

ทั้งนี้เพื่อให้ Drive Results ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกอย่างต้องสอดคล้อง (Alignment) กัน เช่น ถามใครก็ตามในองค์กรต้องตอบได้ว่า “เป้าหมายขององค์กรคืออะไร ?” ทุกคนในทีมต้องตอบตรงกันหมด 

และเมื่อเกิดการผิดพลาดขึ้น เราควรมีการค้นหาสาเหตุของปัญหาอย่างรอบคอบผ่านการทบทวนโดยไม่กล่าวโทษใคร (Blameless Postmortems) สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราควรทำเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตภายในทีม

ท้ายที่สุดการสร้างทีม เริ่มจาก Recruitment ควรจ้างคนที่มีความต้องการเรียนรู้ (Learning Animals) มากกว่าคนที่รู้ทุกอย่างแล้ว เราต้องการคนที่เปิดรับการเรียนรู้และพร้อมจะพาเราไปสู่เรื่องใหม่ ๆ ไม่ใช่คนที่มีความรู้เต็มแก้ว

และ Retention สร้างโอกาสงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายส่วนบุคคล (Personal Goal) ของพนักงาน ไม่ใช่เพียงการหาคนมาเติมเต็มตาม JD แต่ควรหางานที่เหมาะสมกับความสามารถของพนักงานแทน และเมื่อพนักงานเชี่ยวชาญในงานใดแล้ว ควรให้พวกเขาได้รับความท้าทายใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อคงไว้ซึ่งแรงจูงใจ (Motivation) ในการทำงานต่อไป

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน PEOPLE-DRIVEN SUCCESS :.webp

Place: Empowering People Through Workplace Design 

ปัจจุบันหลายบริษัทค้นพบว่า ออฟฟิศไม่ใช่เพียงสถานที่ทำงาน แต่ยังเป็นตัวดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถอย่าง Talent

ทั้งนี้ คุณ สมบัติ งามเฉลิมศักดิ์ Co-Founder และ Chief Experience Officer ของ Paperspace Asia เล่าถึง “พัฒนาการของสถานที่ทำงาน” ในช่วงเวลาต่าง ๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมปี 1760 ที่มีการเกณฑ์คนเข้ามาทำงานในโรงงานมาก ๆ ผ่านมาถึงปี 1900 เริ่มมีการออกแบบเป็น Taylorist office ที่แบ่งโต๊ะตามงานที่ทำ ต่อมาในปี 1939 มีการพัฒนาเป็น Open-Plan Office ที่เน้นความแสงสว่างของออฟฟิศและการจัดเก็บเอกสารอย่างเป็นระเบียบ และเป็นช่วงที่องค์กรเริ่มใส่ใจในเรื่องของความเป็นอยู่ (Well-being) ของพนักงานแล้ว

ต่อมาในปี 1964 มีการคิดค้น Action Office ที่เน้นการออกแบบตามหลักการ ergonomic แต่กลับไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนถึงปี 1980 มีการออกแบบออฟฟิศในรูปแบบ Cubicle Farm ที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง ทว่ากลับทำลายความพึงพอใจของพนักงานลงต่ำมาก เพราะเป็นแบ่งห้องทำงานแบบบล็อก ๆ กั้นฉากเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “คอก”​ กระทั่งในปี 2000 มีการพัฒนาเป็น Activity Based Workplace ที่มีพื้นที่ตรงกลางให้พนักงานสามารถทำงานได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะประจำ

แต่สุดท้ายทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อเกิด COVID-19 ทำให้เกิดออฟฟิศในรูปแบบใหม่จากการทำงานระยะไกล (Remote Work) บางงานที่ต้องทำออนไลน์ไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น การระดมสมอง ทำให้การกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเพื่อพบปะพูดคุยยังคงสำคัญ องค์กรจึงต้องหาคนที่สนใจเข้าออฟฟิศมาเป็นแชมป์เปี้ยนในการสร้างวัฒนธรรมในสถานที่ทำงาน

คุณสมบัติยกตัวอย่างโปรเจกต์ออกแบบออฟฟิศที่เคยร่วมงานมา เช่น

  • Airbnb: ไม่มีโต๊ะประจำ ทำให้ออฟฟิศเหมือนบ้าน มีห้องประชุมเหมือนห้องรับแขก และมีพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดวัน
  • TDRI: จากออฟฟิศคล้ายราชการ สู่การรีโนเวตออฟฟิศใหม่โมเดิร์น โปร่งใส ใช้แสงสว่างและวัสดุสีขาว พร้องทั้งจัดเอกสารงานวิจัยใหม่ตามความบ่อยในการใช้งาน
  • Group M: บริษัทขนาดใหญ่ที่มีบริษัทลูกจำนวนมากแต่กั้นห้องเป็นส่วน ๆ ก็ทำการรื้อผนังแบ่งห้องออก เพื่อให้พนักงานเห็นกันมากขึ้น รวมทั้งยังมีพื้นที่ครัวกลางจุดเดียวเพื่อให้ทุกบริษัทมาเจอกัน
  • Rabbit Cash: โจทย์คือต้องไม่มีห้องผู้บริหาร จึงเน้นพื้นที่กลางสำหรับ Townhall ลดจำนวนห้องริมหน้าต่างออกเพื่อดึงแสงสว่างเข้ามาตรงกลางได้โดยจรง และมีพื้นที่หลากหลายให้ทำงาน
  • Bear House: ออกแบบออฟฟิศให้เหมือนคาเฟ่ มีของขบเคี้ยว และห้องประชุมที่จำลองมาจากร้านชานมไข่มุกสาขาแรก
  • Google Thailand: สร้างบรรยากาศให้เกิดแรงบันดาลใจ โดยใส่ความเป็นไทยจากแม่น้ำเจ้าพระยาพาดผ่านหัวในห้อง มีแสงที่เลียนแบบพระอาทิตย์ขึ้นและตก และโลโก้ที่อยู่ใจกลางแผนที่กรุงเทพตามผนัง
  • The Standard: ปรับออฟฟิศเป็นเสมือนบาร์ เน้นเป็นพื้นที่สังสรรค์ เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่ามาหาเพื่อน มากกว่าแค่มาทำงาน

จะเห็นได้ว่าในการออกแบบสถานที่ทำงานจะมี 4 Workstyles ที่มีสัดส่วนต่างกัน คือ

  • Focus: พื้นที่สงบ ไว้สร้างสมาธิในการทำงาน
  • Collaborate: พื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกัน
  • Solutioning: พื้นที่สำหรับวางแผนกลยุทธ์และระดมสมอง
  • Networking: พื้นที่สำหรับการปฏิสัมพันธ์และพบปะพูดคุย

ฉะนั้น การออกแบบออฟฟิศที่เหมาะสม จะต้องคำนึงถึงวิธีการทำงานของพนักงานแต่ละงาน  แต่ละวัน และแบ่งสัดส่วนตามความต้องการทั้ง 4 สไตล์นี้ตามโจทย์ของแต่ละองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

พราะการออกแบบออฟฟิศที่ดีจะช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรและกำหนดทิศทางการทำงานของพนักงานได้

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้ออฟฟิศเป็นมากกว่าแค่ที่ทำงาน แต่เป็นพื้นที่ที่พนักงานรู้สึกมีความสุข และสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมานั่นเอง

สรุปทุกเรื่องที่ HR ควรรู้จากงาน PEOPLE-DRIVEN SUCCESS ฟ

Profit: The Economic Resilience Equation (People + Place = Profit)

ปิดท้ายด้วย Panel Discussion จากทั้ง 3 ท่านคือ คุณรัชนี แสนศิลป์ชัย, CEO, Rabbit Cash – แรบบิท แคช,​ดร.ต้า – วิโรจน์ จิรพัฒนกุล, Co-Founder & Managing Director, Skooldio และ คุณสมบัติ งามเฉลิมศักดิ์, Co-Founder & Chief Experience Officer, Paperspace Asia

ประเด็นแรกที่ทั้งสามท่านได้แชร์ คือเรื่องราวประสบการณ์ส่วนตัวในการทำงานและการบริหารองค์กร โดย คุณรัชนี เล่าว่า สมัยก่อนการโปรโมทพนักงานเป็นผู้บริหารจะต้องเพิ่มห้องทำงานเสมอ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว เธอได้ลดจำนวนห้องผู้บริหารออกไป และเพิ่มพื้นที่สำหรับพนักงานมากขึ้น ทั้งยังปรับให้ Rabbit Cash เป็นออฟฟิศแบบสมัยใหม่ มีพื้นที่ตรงกลางให้พนักงานทุกคนมาเจอกัน เพราะการออกแบบออฟฟิศที่ดีจะช่วยดึงดูดผู้มีความสามารถได้ โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานเทคที่แต่ละองค์กรพยายามแย่งตัวกัน หากองค์กรมีออฟฟิศที่น่าเข้าทุกวัน พนักงานจะอยากอยู่ออฟฟิศนั้นเอง ออฟฟิศจึงควรทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน สบายใจ และมีอิสระในการทำงาน ที่สำคัญคือการนั่งฟังพนักงานคุยกันอย่างเปิดใจ จะทำให้เราเปิดตามากกว่าแค่การนั่งในห้องทำงานด้วย

ทั้งนี้ คุณสมบัติ เน้นย้ำว่า แต่ละบริษัทมี DNA ที่แตกต่างกัน การออกแบบออฟฟิศที่ตอบโจทย์ DNA นั้นจะช่วยสร้างวัฒนธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศเหมือนกลับออฟฟิศอื่น แต่เราต้องหาสัดส่วนสไตล์ให้เหมาะสมกับรูปแบบงานและวัฒนธรรมขององค์กรเรา เหมือนที่ ดร.ต้า ต้องการออฟฟิศเปิดกว้างที่ช่วยลดช่องว่างในการสื่อสาร ไม่ได้ลงทุนในเฟอร์นิเจอร์ แต่ลงทุนในเครื่องฉายภาพคุณภาพ เพื่อสอดคล้องกับธุรกิจองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการเทรนนิ่ง เป็นต้น

ขณะที่ Remote Work เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมาก โดย คุณรัชนี กล่าวถึง Rabbit Cash ที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่น แต่เน้นผลลัพธ์เป็นหลัก การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญและการทำงานจากบ้านควรเป็นทางเลือกที่ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดย คุณสมบัติ มองว่า หาามีการทำงานแบบออนไลน์และออฟไลน์ในเวลาเดียวกันไม่ดีเท่าที่ควร การทำงานในออฟฟิศจะช่วยให้เกิดพลังและสมาธิมากกว่า หากองค์กรสร้างพื้นที่ให้เหมาะสม และ ดร.ต้า ที่ Skooldio ให้พนักงานเข้าทำงานที่ออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ โดยใครจะเข้าวันไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหางานและวัตถุประสงค์ของงานในแต่ละวัน

ประเด็นสุดท้าย หากพูดถึงการวัดผลความสำเร็จของการออกแบบออฟฟิศ คุณรัชนีบอกว่าวัดเป็นตัวเลขได้ยาก แต่สามารถวัดง่าย ๆ จากความอยากเข้าออฟฟิศมาเจอเพื่อนร่วมงานของพนักงาน เพราะการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีจะช่วยเพิ่ม Trust ในทีมได้ ขณะที่ คุณสมบัติ เล่าว่า มีเคสหนึ่งที่พนักงานยื่นใบลาออกไปแล้ว แต่หลังรีโนเวตออฟฟิศ พนักงานคนนั้นขอคืนใบลาออกก็มี แสดงให้เห็นว่าออฟฟิศที่ดีสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานได้ ปิดท้ายที่ ดร.ต้า กล่าวว่า หลังรีโนเวต สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความพอใจและกระตือรือร้นของพนักงานในการถ่ายรูปวันแรกที่เข้าออฟฟิศ

ฉะนั้น การออกแบบสถานที่ทำงานที่ดี ไม่เพียงแค่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังช่วยสร้างสรรค์วัฒนธรรมองค์กรและเพิ่มความพึงพอใจของพนักงานได้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพลงปรับเปลี่ยน Place เพิ่มความสำคัญของ People แล้ว Profit ก็จะตามมา ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน

ผู้เขียน

Picture of Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง