HIGHLIGHT
|
ใคร ๆ ก็อยากรวย อยากมีเงินมีทองใช้ทั้งชีวิตกันทั้งนั้น แต่กว่าจะรวยได้ไม่ง่ายเลย บางคนทำงานทั้งชีวิตยังไม่พอกินพอใช้ในแต่ละวัน บางคนแม้จะมีเงินมากมายเหมือนจะรวยจริง แต่กลับเป็นหนี้ก้อนโต ไม่เคยมีเหลือเก็บ ขณะที่บางคนแม้จะไม่ได้มีเงินเดือนมากมาย แต่เก็บหอมรอมริบ และเอาเงินไปออมหรือลงทุนถูกที่จนเงินงอกเงย เพียงพอที่จะ เกษียณสำราญ (Retire Rich)
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานมีความมั่งคั่ง สามารถเอาตัวรอดได้ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร อยู่ที่การวางแผนการเงินที่ดีนั่นเอง และหาก HR สามารถช่วยเหลือพนักงานวางแผนการเงินอย่างถูกต้อง ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อองค์กรตามมาด้วย
HREX จึงขอถือโอกาสนี้พามาสำรวจกันดีกว่าว่า ทำไมการวางแผนทางการเงิน จึงช่วยให้สามารถเกษียณอย่างสำราญ และ HR จะสามารถช่วยเหลือพนักงานอย่างไรได้บ้าง เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้เงินยามแก่เถ้า
Contents
วางแผนการเงินคืออะไร ทำไมถึงสำคัญต่อการเกษียณสำราญในวันหน้า (Retire Rich)
ธนาคาร CIMB Thai นิยามความหมายของการวางแผนการเงินไว้ว่า หมายถึง “กระบวนการที่จะช่วยให้เรารู้จักสภาพการเงินของตนเอง ผ่านการกำหนดเป้าหมายทางการเงิน กำหนดแนวทางการใช้จ่ายและการลงทุน บริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้”
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การวางแผนการเงินคือวิธีที่ช่วยให้เรารู้ว่า เราควรใช้จ่ายอย่างไร เมื่อเทียบกับเงินที่ได้รับในแต่ละเดือน เราจะรู้ว่าที่ผ่านมาเราฟุ่มเฟือยไปกับสิ่งไหน และควรต้องลดรายจ่ายเรื่องอะไร ไปจนถึงการตั้งเป้าหมายเก็บออมเงิน หรือนำไปลงทุนเพื่อให้งอกเงยมากขึ้นในอนาคต เป็นต้น
การวางแผนการเงินสำคัญถึงขนาดที่ว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ระบุไว้เลยว่า การไม่วางแผนทางการคือ 1 ใน 10 นิสัยยอดแย่ทางการเงินที่เราต้องรีบแก้ไขด้วย
แล้วเราต้องคิดเรื่องวางแผนการเงินตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินหลายคน เช่น โค้ชหนุ่ม – จักรพงษ์ เมฆพันธุ์ หรือ The Money Coach พูดบ่อย ๆ ในพอดแคสต์และในคลิปทาง YouTube: The Money Coach ว่า เราควรวางแผนการเงินตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน ไม่ใช่เพิ่งเริ่มวางแผนตอนเหลืออีกไม่กี่ปีจะเกษียณอายุแล้ว
ขณะที่คุณปั้น – จิตรกร แสงวิสุทธิ์ ARTISAN MONEY ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เสริมว่าคนที่ไม่ได้วางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณ อาจไม่สามารถเกษียณอย่างสมบูรณ์ได้ เพราะหากเกษียณก็เท่ากับว่าไม่มีรายได้เข้ามาเลย ทำให้ยังจำเป็นต้องทำงานหาเงินอยู่เหมือนเดิม แต่ในช่วงนั้น สภาพร่างกายของเราจะเสื่อมลง สมรรถภาพก็เสื่อมถอยลง ไม่สามารถทำงานได้ดีเหมือนเก่า จริงอยู่ว่าบางคนอายุเยอะแล้วยังสามารถบริหารงานต่อได้ดี แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะทำแบบนั้นได้
“การเกษียณแบบมีอิสรภาพทางการเงิน หมายความว่า เรามีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย เรามีรายได้จากการที่สินทรัพย์ที่เราออมหรือลงทุนไว้สร้างกระแสเงินสดให้ แล้วมีมูลค่าเยอะกว่าค่าใช้จ่ายปัจจุบันในแต่ละเดือน ทำให้บางครั้งเราอาจสามารถเกษียณก่อนเวลา แล้วมีกินมีใช้จากรายได้เหล่านี้ได้เลย”
แล้วควรเริ่มอย่างไรจึงจะรวย มีอิสรภาพทางการเงินและเกษียณอย่างสำราญ ?
คำแนะนำก็คือ เราต้องรู้และวางแผนก่อนว่า เราจะใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายอย่างไร ต้องใช้เงินเท่าไหร่ตอนนั้น จะได้ใช้เวลาตอนนี้ทำงานอยู่หาเงินให้พร้อมใช้ในอนาคต
ทั้งนี้ เราสามารถออมเงิน หรือลงทุนจากเงินจำนวนไม่กี่ร้อยบาท หรืออาจเริ่มจากหลักสิบบาทก็ได้ ไม่ต้องรอมีเงินก้อนใหญ่แล้วค่อยเอามาลงทุนทีเดียว เพราะหากมัวแต่รอให้มีเงินก้อนใหญ่ สุดท้ายก็จะไม่ได้เริ่มออมเสียที จนเสียโอกาสที่เงินจะงอกเงยในบั้นปลาย
ปัญหาการเงินของพนักงาน (Financial Problem of Employee) เรื่องชวนปวดหัวที่ HR ไม่ควรมองข้าม |
วางแผนทางการเงินตั้งแต่วันนี้ ป้องกันปัญหาในอนาคต
ผู้คนมักคิดว่าการวางแผนการเงินเหมาะกับคนที่มีอายุเยอะ ๆ แต่อย่างที่ The Money Coach และคุณปั้น Artisan กล่าวไว้ว่า ยิ่งตระหนักรู้เรื่องนี้ตั้งแต่อายุ 20 ต้น ๆ จะยิ่งได้เปรียบกว่าใคร เพราะจะมีเวลาเยอะกว่าผู้อื่นในการเก็บเงิน และถ้าวางแผนช้าเกินไป เราอาจไม่สามารถเกษียณอย่างมีอิสรภาพได้เลย
มีเหตุผลมากมายว่าทำไมเราถึงต้องวางแผนการเงินตั้งแต่เริ่มทำงาน หรืออย่างน้อยก็ต้องเริ่มรู้เรื่องนี้บ้าง ดังนี้
1. เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
แม้หน้าที่การงานของเราจะมั่นคงในวันนี้ เราอาจได้รับเงินเดือนเป็นประจำทุกเดือน แต่ไม่มีใครรู้ว่าในอีก 1 เดือนข้างหน้า หรืออีก 10 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในแง่ร้ายที่สุด เราอาจถูกไล่ออกจากงาน หรือมีเหตุให้ต้องลาออกโดยไม่คาดคิดมาก่อน และต้องใช้เวลาหางานใหม่ ซึ่งไม่มีอะไรการันตีว่า เราจะได้งานทันทีที่ออกจากที่เก่า ซึ่งหมายความว่ารายได้ที่เคยมีจะขาดตอนทันที
หากเราวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้า อย่างน้อยใช้จ่ายอย่างประหยัด และมีเงินสำรองฉุกเฉินเหลือพอใช้ไปอย่างน้อย 3-6 เดือน จะช่วยให้ในช่วงที่ว่างงาน เราจะยังพอมีเวลา พอตั้งสติ แล้วเริ่มต้นหางานและหาเงินใหม่ โดยไม่เพิ่มระดับความเครียดให้ชีวิตเกินขีดเกินไป
2. วางแผนการเงิน ช่วยวางแผนสุขภาพ
เวลาเราพูดถึงการมีสุขภาพที่ดี เรามักจะคิดถึงแต่สุขภาพกายและสุขภาพใจ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่การมีสุขภาพการเงินที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน และเผลอ ๆ คือปัจจัยที่ช่วยให้สุขภาพกายและใจแข็งแรงด้วย
เพราะอย่างที่กล่าวไป การมีสุขภาพการเงินที่ดี จะทำให้ไม่วิตกกังวลเรื่องการเงิน ไม่เครียดเพราะไม่มีเงินใช้ และเราจะสามารถใช้เงินซื้อเวลา ซื้อความสุขทางกายและใจให้ตัวเองได้มากกว่าคนที่ไม่มีเงิน หรือบริหารจัดการเงินผิดพลาด
3. ป้องกันปัญหาเสียภาษีผิดพลาด
การวางแผนการเงินที่ดี ช่วยให้พนักงานทั้งหลายไม่มีปัญหาตอนจ่ายภาษี การรู้ว่าฐานเงินเดือนเท่าไหร่ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ หากรู้ว่าต้องเสียภาษีเท่านี้ ต้องทำอย่างไรจึงจะลดหย่อนภาษีได้ จะเป็นแต้มต่อมากกว่าคนที่ไม่รู้และไม่เคยศึกษาอย่างจริงจัง และช่วยให้ไม่ต้องมาปวดหัวทีหลังว่าต้องเสียภาษีเพิ่ม เพราะจ่ายผิด
4. ช่วยวางแผนอาชีพในอนาคตได้
มีคำกล่าวว่า ผู้คนจำนวนมากชอบใช้วิธีลาออก แล้วเปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ (Job Hopper) เพราะวิธีนี้จะช่วยเพิ่มเงินเดือนได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งแน่นอนว่ามีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่มันไม่มีความยั่งยืน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่กระโดดขึ้นไปรับเงินเดือนจนถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ความสามารถของตัวเราเองไม่เพิ่มสูงขึ้นตาม ไม่ได้พิสูจน์ตัวเองว่าคู่ควรกับเงินจำนวนนั้น สุดท้ายก็จะชนเพดาน และก็ต้องกลับมารับเงินเดือนที่น้อยลง ซึ่งสุ่มเสี่ยงว่าจะบริหารจัดการไม่ได้ เพราะไลฟ์สไตล์ในการใช้เงินไม่ได้ลดลงตามไปด้วย
การที่มีความรู้ทางการเงิน การวางแผนการเงินที่ดี จะช่วยให้เรามีสมาธิ และมุ่งมั่นกับการทำงานให้ดีที่สุด เสริมแกร่งหน้าที่การงาน จนควรค่าแก่การได้เงินเดือนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางที่ช่วยให้เกิดการเติบโตทางอาชีพได้มั่นคงที่สุด และนำมาซึ่งการเติบโตทางการเงินที่มั่นคงตามไปด้วย
5. เกษียณสำราญก่อนเวลาได้อย่างไร้ปัญหา
คนที่วางแผนทางการเงินดี แม้จะไม่ได้รวยเร็ว แต่อย่างน้อยก็จะรวย และมีอิสรภาพทางการเงินแน่นอน พอวางแผนการเงินดี ก็จะช่วยให้เกษียณก่อนเวลาได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงอายุ 60 ปีก็ได้
6. ไม่สร้างปัญหาให้กับคนอื่น
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเมื่อผู้คนบริหารจัดการเงินไม่มีประสิทธิภาพคือ ต้องไปขอยืมเงินคนอื่นมาใช้ สำหรับคนเป็นผู้ใหญ่ก็อาจจะขอยืมเงินลูกหลาน ซึ่งก็ไปสร้างผลกระทบให้พวกเขาไม่สามารถใช้เงินที่เป็นของพวกเขาเองได้อย่างเต็มที่ เกิดเป็นปัญหาในการบริหารจัดการเงินอีกต่อ และบางรายอาจฝากความหวังไว้อีกว่า คนรุ่นลูกรุ่นหลานจะต้องเป็น “เดอะแบก” คนคอยเลี้ยงดูพวกเขายามเกษียณฝ่ายเดียว จนสุดท้ายเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ ไม่สามารถแบกกันไปได้รอด
หากเราวางแผนการเงินตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะเป็นภาระของผู้อื่นน้อยลง ไม่เพียงเราจะอยู่ได้อย่างมั่นคง แต่ลูกหลานของเราก็จะสามารถตั้งหลักในอาชีพ ตั้งหลักทางการเงินได้ด้วยตัวเองเช่นกัน
“หนี้” ปัญหาสำคัญที่ทำให้การเกษียณไม่สำราญ
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้แต่ละคนไม่มีเงินพอกินพอใช้ยามเกษียณ นอกจากไม่มีความรู้เรื่องการเงินที่ถูกต้อง ไม่วางแผนการเงินแล้ว ยังรวมถึงการเป็นหนี้ด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นปัญหาที่ผูกโยงมาจากการไม่มีความรู้ทางการเงิน และการไม่วางแผนทางการเงินนั่นเอง
เพราะพอไม่วางแผนการใช้เงิน ก็จะใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เมื่อรู้ตัวอีกทีก็จะมีเงินเหลือไม่พอใช้ ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาหมุนเงินให้พออยู่รอดในแต่ละวันหรือแต่ละเดือน แล้วพอทำเช่นนั้นบ่อย ๆ ก็เกิดดินพอกหางหมู และกว่าจะแก้ปัญหาได้ก็อาจสายเกินไป
The Money Coach เคยให้ขอบเขตของการเป็นหนี้ต่อเดือนไว้ว่า เราควรมีหนี้ไม่เกิน 40% ของการใช้จ่ายในแต่ละเดือน อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าควรเป็นหนี้จนเต็มที่ขนาดนั้น อย่างน้อยยังต้องเผื่อพื้นที่เพื่อให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในแต่ละวันด้วย จนกว่าจะมีเงินเข้ามาในเดือนต่อไป
การมีหนี้คือการหยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้จ่ายก่อนในวันนี้ โดยหนี้ที่ผู้คนมักเป็นอยู่บ่อย ๆ ก็คือหนี้บัตรเครดิต การเป็นหนี้คือด้านตรงข้ามของการออมเงินที่เราจะออมเงินในวันนี้ เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในอนาคต หนี้ก้อนนี้อาจไม่ใช่ปัญหาอะไร หากรูดบัตรเครดิตแล้วจ่ายคืนเต็มจำนวนในเดือนต่อไป แต่ปัญหาคือหลายคนมักจ่ายค่าบัตรเครดิตแค่ขั้นต่ำเท่านั้น มันเหมือนจะช่วยให้ผ่อนจ่ายต่อเดือนไม่เยอะ แต่หากปล่อยไว้นาน ๆ จะเสียดอกเบี้ยสูงถึง 16% ทบต้นไปเรื่อย ๆ
และสถานการณ์ของบางคนอาจหนักยิ่งกว่าตรงที่ไปกู้นอกระบบมาเพิ่ม ทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย เพราะการต้องจ่ายดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบนั้น รวม ๆ กันแล้วอาจแพงกว่าเงินต้นที่เสียไปเสียอีก
จากข้อมูลของ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย คำนวณโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี 2565 ระบุว่า คนไทยมีหนี้สูงถึง 37% หรือคิดเป็นราว 1 ใน 3 ของประชากรไทย แถมสัดส่วนคนที่มีหนี้ก็ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย โดย 57% ของคนไทยที่เป็นหนี้ มีหนี้เกิน 100,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่ากลัวทีเดียว
ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ เมื่อเดือนเมษายน 2566 ยังพบอีกว่ามีคนที่อยู่ในวัยเกษียณเป็นหนี้ สูงและหนี้นาน ถึง 20% โดยค่าเฉลี่ยของหนี้ที่มีอยู่ที่ประมาณ 128,384 บาทต่อราย ซึ่งนั่นหมายความว่า คนที่เป็นหนี้ด้วยตัวเลขขนาดนี้ แทบจะบอกลาการเกษียณอย่างสำราญไปได้เลย
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สวัสดิการสำคัญ ช่วยพนักงานมีเงินเหลือใช้ยามเกษียณ
เวลาคนเราได้เงินเดือนมา คนจำนวนมากมักจะเอาไปใช้ทันทีโดยไม่ได้เก็บไว้ออมก่อน ทำให้สุดท้ายไม่มีเงินเหลือเก็บ ขณะเดียวกันบางคนอาจคิดว่า ไว้มีเงินเหลือในแต่ละเดือนเท่าไหร่ ค่อยเอาไปออมแทน แต่มีกี่คนกันที่จะเหลือใช้ไปจนถึงปลายเดือน
สำหรับใครที่ได้เงินเดือนมาแล้วใช้จนหมด ไม่มีเหลือเก็บ การที่องค์กรมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นสวัสดิการ ถือเป็นเครื่องมือชั้นดีทีเดียวที่ช่วยให้พนักงานเก็บเงินได้อยู่ และสามารถเข้าใกล้การเกษียณอย่างปลอดภัยมากขึ้น
เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ช่วยให้พนักงานสามารถออมเงินได้ทันทีที่เงินเดือนออก โดยจะหักออกไปตั้งแต่ตอนที่ได้เงินเดือนมา พร้อม ๆ กับการหักเงินส่วนของประกันสังคมนั่นเอง
ในหลายองค์กร พนักงานจะมีสิทธิ์สมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลักผ่านโปร ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำเต็มตัวไปแล้ว โดยพนักงานจะสามารถเลือกได้ว่าจะหักเงินเพื่อไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองไหน เป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ซึ่งสามารถเลือกได้ตั้งแต่ 3%, 5%, 10% ไปจนถึง 15% โดยเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปลงทุนให้งอกเงยต่อไป
ไม่เพียงแค่นั้น องค์กรจะช่วยสมทบเงินให้อีกด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละองค์กรจะสมทบเท่าไหร่ บางองค์กรสมทบแค่ 3% บางองค์กรสมทบในอัตราเดียวกับที่พนักงานหักออกมาจากกองทุน นั่นหมายความว่า พนักงานจะได้เงินเพิ่มขึ้นอีกนอกจากได้เงินเดือนเป็นประจำอยู่แล้ว
แต่ก็มีกติกาเหมือนกันว่า พนักงานจะได้เงินที่องค์กรสมทบให้หลังทำงานไปแล้วกี่ปี เช่น พนักงานจะได้เงินสมทบจากองค์กร 10% หลังทำงานไปแล้ว 1 ปี และจะได้ครบ 100% หลังทำงานครบ 5 ปี บางองค์กรอาจต้องรอถึง 3 ปีกว่าที่พนักงานจะได้เงินสมทบ 10% และจะได้ครบ 100% หากทำงานครบ 7 ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พนักงานจะตัดสินใจไม่หักเงินไปลงในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลยก็ได้เช่นกัน หากพบว่าเขาสามารถเก็บเงิน ลงทุนในช่องทางอื่นแล้วได้เหมาะสมกว่า
สำหรับองค์กรที่เป็นหน่วยงานราชการอาจไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ก็จะมีกองทุน กบข. หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งใช้หลักการใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ อาจไม่ใช่ทุกองค์กรที่มองเห็นความสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่เป็น Startup องค์กรเทคโนโลยี ที่พนักงานอาจเข้า ๆ ออก ๆ เป็นประจำ จนมี Turnover Rate สูง
ในความคิดของคุณปั้น Artisan Money มองกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าเป็นสวัสดิการที่มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับคนเป็นพนักงานประจำ ซึ่งทำให้คนที่เป็นฟรีแลนซ์แบบเขาอิจฉามาก ๆ ที่มีบริการช่วยเก็บเงินให้ตั้งแต่แรกแบบนี้
ไม่เพียงแค่นั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ได้ศึกษาต่อว่า เราควรเลือกลงทุนแบบไหนดี แผนความเสี่ยงที่รับได้ควรเป็นเช่นไร ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนทางการเงินในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาต่อมา
แต่ขณะเดียวกัน เขาก็เข้าใจได้หากฝั่งขององค์กรจะไม่ได้มีสวัสดิการเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน เพราะองค์กรจะมองว่านี่คือค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องจ่ายเพิ่ม และหากองค์กรไหนวางแผนการเงินไม่ดีก็อาจมีปัญหาตามมาได้
ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินก็ยังเชื่อมั่นว่า นี่คือสวัสดิการที่ดึงดูดและยังจำเป็นต้องมีอยู่ดี หากต้องการดึงดูดพนักงานมากความสามารถให้มาร่วมงานกับองค์กร เพราะอย่าลืมว่า ไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะมีคนเข้าออกอยู่บ่อย ๆ ยังมีคนอีกมากที่อยากทำงานอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งแล้วเกษียณอายุไปพร้อมกับองค์กรนั้นเลย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นเครื่องมือชั้นดีที่ช่วยให้สามารถเกษียณได้อย่างสำราญแน่นอน
อยากรวย มีเงินเก็บเพียงพอหลังเกษียณ เก็บเงินผ่านช่องทางใดได้บ้าง
นอกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เรายังสามารถออมเงิน เก็บเงิน หรือเอาเงินไปลงทุนในอีกหลายช่องทางเพื่อให้เงินเติบโตเพียงพอกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ HREX จะขอแนะนำเครื่องมือพื้นฐานคร่าว ๆ ให้ได้ลองไปพิจารณากัน ดังนี้
1. กองทุน RMF
หากไม่รู้จะเริ่มออมเงินผ่านช่องทางไหน การออมเงินในกองทุนคือวิธีที่ง่ายที่สุด และช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีทีเดียว เพราะการซื้อกองทุนคือการซื้อทรัพย์สินหลายอย่างด้วยเงินก้อนเดียว ไม่เหมือนการซื้อสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้น ที่จะได้เพียงรายตัวเท่านั้น
สำหรับกองทุนที่เหมาะสมกับการออมเพื่อเกษียณนั้น หนีไม่พ้นการซื้อกองทุน RMF หรือกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) ความพิเศษของกองทุนนี้คือ เมื่อซื้อแล้วจะไม่สามารถถอนเงินออกมาได้จนกว่าอายุ 55 ปี ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่า เงินที่ลงทุนไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เราจะไม่นำเอามากินมาใช้ก่อนจนหมดแน่นอน ที่สำคัญ เรายังเอาเงินที่ใส่เข้าไปมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยนะ
แต่ไม่ใช่ว่าจะเลือกกองทุน RMF กองไหนก็ได้นะ ต้องดูด้วยว่ากองทุนนั้นซื้อสินทรัพย์อะไร หากเลือกกองทุนที่ดี มีศักยภาพในการเติบโต มั่นใจได้ว่าเงินต้นที่ออมและลงทุนไว้จะค่อย ๆ งอกเงย ไม่ติดลบเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้เงินก้อนนี้จริง ๆ
2. ประกันบำนาญ
เช่นเดียวกับ RMF หากใครไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข. ก็สามารถมาซื้อประกันบำนาญ หรือประกันที่จะจ่ายเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนดจนถึงอายุ 55 หรือ 60 ปี ซึ่งจะจ่ายคืนให้ผู้ทำประกันในรูปแบบของบำนาญหลังเกษียณอายุ โดยสามารถปรับเลือกได้ว่า จะซื้อกี่ปี จะให้เอาเงินออกมาในปีไหน เป็นต้น
ประกันบำนาญไม่เพียงช่วยในเรื่องการออม แต่จะทำให้มั่นใจได้ว่า เมื่อยามเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล จะมีเงินมาช่วยดูแลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แน่นอน
3. ทองคำ
ทอง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกักเก็บความมั่งคั่ง (Store of Value) ที่ผ่านการพิสูจน์มายาวนานหลายพันปีว่าเชื่อถือได้ เพราะนับวันมูลค่าของทองคำจะเพิ่มสูงขึ้น แตกต่างจากการเก็บเงินสดไว้ในธนาคาร ที่นับวันก็จะยิ่งด้อยมูลค่าไปเรื่อย ๆ เพราะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยราคาทองคำ 1 บาทตีเป็นเงินบาทในปัจจุบัน มีมูลค่าเทียบเท่าเงินสด 41,000 บาทแล้ว ขณะที่เมื่อ 30 ปีก่อน หากซื้อทองคำ 1 บาท จะใช้เงินแค่ไม่กี่พันบาทเท่านั้น
การออมทองในปัจจุบันยังทำได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ต้องมีเงินก้อนในการซื้อทองคำรวดเดียว แต่เดี๋ยวนี้มีร้านทองหลายแห่ง เปิดให้สามารถออมทองผ่านแอปพลิเคชั่น หรือผ่านบล็อกเชน (Blockchain) ได้ทำให้สามารถซื้อสะสมทองคำได้เรื่อย ๆ มี 100 บาทก็ออมได้ ขอเพียงเลือกร้านที่จะออมในร้านที่เชื่อถือได้ ก็มั่นใจได้ว่าเงินที่ออมไว้จะไม่หายไปไหนแน่นอน
4.หุ้น
หลายคนมักมีความคิดว่า การลงทุนในหุ้นคือการเก็งกำไร การพนัน ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะทำให้เสียเงินไปอย่างน่าเสียดาย แต่จริง ๆ แล้ว เราสามารถซื้อหุ้นเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาว แล้วให้มันสร้างความมั่งคั่งยั่งยืนแทนเราได้
คุณ กวี ชูกิจเกษม นักสร้างอิสรภาพทางการเงิน ผู้เขียนหนังสือ เพาะหุ้นเป็นเห็นผลยั่งยืน อธิบายไว้ว่า การลงทุนในหุ้นเปรียบเหมือนกับการที่เราเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการใดกิจการหนึ่ง โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปบริหารเอง แต่มีมืออาชีพที่คอยบริหารและทำงานให้ และเมื่อบริษัทที่เราลงทุนเติบโต มีผลประกอบการดี เราก็จะได้เงินปันผลเป็นการตอบแทน
ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของตัวเราเองที่จะต้องมองหาหุ้นพื้นฐานดี หาองค์กรที่มีความแข็งแกร่ง สามารถเติบโตได้ในระยะยาว หากิจการที่สามารถฝ่าฟันวิกฤติมาได้เสมอ จะยิ่งเป็นแต้มโตให้เงินงอกเงย และมีเงินกินใช้ไปอีกนานแสนนาน
5. บิทคอยน์ (Bitcoin)
สินทรัพย์ดิจิทัล อาจดูเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ไม่เหมาะกับการเก็บเงินในระยะยาว ซึ่งบิทคอยน์ ก็ถูกมองว่าเป็นเช่นกัน เพราะความผันผวนของราคาที่พร้อมจะขึ้นและลงได้อย่างรวดเร็ว
แต่ในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยมองว่าการออมเงินในบิทคอยน์ คือแหล่งกักเก็บความมั่งคั่ง (Store of Value) ที่ดีที่สุด และสามารถเอาชนะเงินเฟ้อในระยะยาวได้ สาเหตุสำคัญก็เพราะบิทคอยน์มีจำนวนจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญฯ และเป็นจำนวนที่ไม่สามารถเพิ่มได้ เมื่อเทียบกับเงินสด หรือเงินเฟียตที่สามารถเพิ่มจำนวนได้เรื่อย ๆ จนทำให้เงินเสื่อมค่าลงในแต่ละวันอย่างรวดเร็ว นั่นทำให้บิทคอยน์มีสถานะไม่ต่างอะไรจากทองคำนั่นเอง
สุดท้ายนี้ การเก็บเงิน หรือการลงทุนในแหล่งต่าง ๆ มาพร้อมความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป สิ่งที่แต่ละคนจำเป็นต้องทำต่อจากนี้ คือการศึกษาเครื่องมือในการออม การลงทุนให้ถี่ถ้วนก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าลงทุนและเก็บออมไว้ในทรัพย์สินที่เติบโตได้ และที่สำคัญต้องอาศัยวินัยในการเก็บออมอย่างสม่ำเสมอด้วย มิฉะนั้น เมล็ดพันธุ์ที่โปรยไปในวันนี้ จะไม่สามารถผลิดอกออกผลและสร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้เลย
HR ต้องมีความรู้ทางการเงินหรือไม่ เพื่อช่วยเหลือพนักงานในองค์กร
หลายคนรู้ว่าการออมเงิน และการลงทุนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเกษียณในอนาคต แต่บ่อยครั้งหลายคนไม่ได้มองไกลไปขนาดนั้น ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ HR ในการทำให้พนักงานในองค์กรเข้าใจความสำคัญของการวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อการเกษียณในอนาคต
HREX ได้พูดคุยกับ มาดามฟินนี่ (MadamFinney) นักวางแผนทางการเงินและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินว่า สิ่งที่ HR สามารถช่วยพนักงานได้มีดังต่อไปนี้
- HR สามารถช่วยเสนอแนะนโยบายและสวัสดิการเพิ่มเติมที่เอื้อต่อการออมเงินของพนักงาน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
- HR สามารถเสนอจัดอบรมหรือให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินและการลงทุนเพื่อการเกษียณแก่พนักงาน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนเกษียณ
- HR สามารถสร้างแรงจูงใจให้พนักงานใส่ใจเรื่องการออมผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงมีช่องทางให้คำปรึกษาพนักงานที่มีปัญหาการเงินหรือมีหนี้สิน
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจแย้งว่า ลำพัง HR เองก็ไม่ได้มีความรู้ถึงขั้นสามารถไปให้คำแนะนำทางการเงินให้ใครได้เหมือนกันนะ ประเด็นนี้คุณปั้น Artisan Money เสริมว่า HR อาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเงินถึงขั้นไปสอนพนักงานเองก็ได้
“การวางแผนเกษียณ มันคือการสะกิดให้เขารู้ว่า ต้องทำเพื่อตัวเองในอนาคตอย่างไรบ้าง ทำให้เขาเข้าใจการวางแผนตั้งแต่วันนี้ อย่างน้อย HR ก็ต้องพยายามจัดหาคนที่มีความรู้เรื่องการเงิน มาให้ความรู้และสอนพนักงานให้เข้าใจในประเด็นดังกล่าวด้วย ต้องลองพยายามสื่อสารไปให้ถึงทุกคนก่อนครับ ส่วนจากนั้นเขาจะนำไปปรับใช้ต่อยอดอย่างไร ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลของเขาแล้ว”
อีกวิธีที่สามารถช่วยเหลือพนักงานได้ก็คือการหาบริการ Financial Benefit หรือสวัสดิการด้านการเงินมาใช้ในองค์กร เพื่อช่วยเหลือพนักงานในด้านต่าง ๆ โดยหาก HR องค์กรไหน ยังไม่มีบริการดังกล่าวให้กับพนักงานล่ะก็ สามารถมาค้นหา Financial Benefit ผ่าน HREX ได้เลยทางลิงก์นี้
สรุป
การใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน และการซื้อความสุขในวันนี้ให้กับตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด หากใครจะไม่เก็บเงินเพื่ออนาคตก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคน แต่อย่างน้อยการวางแผนทางการเงินไว้ให้พร้อมสำหรับยามเกษียณ ก็เป็นการป้องกันภัยที่คาดไม่ถึง และอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตที่ไร้ความแน่นอน ซึ่งการมีเงินไว้สำรอง ย่อมดีกว่าการไม่มีเงินแม้แต่นิดเดียว ขึ้นอยู่กับตัวเราเองแล้วว่า อยากให้เส้นทางในอนาคตของเราเป็นเช่นไร
Sources:
คุณจิตรกร Artisan Money มาดามฟินนี่ |