Search
Close this search box.

สรุปทุกเรื่องที่ผู้นำต้องรู้จากคลาสเรียน Manager of the Future 4

สรุปทุกเรื่องที่ผู้นำต้องรู้จากคลาสเรียน Manager of the Future 4

ชั้นเรียน Manager of the Future ที่จัดขึ้นโดย Disrupt Technology Venture ผู้มีประสบการณ์บ่มเพาะผู้นำธุรกิจมากกว่า 3,000 คนทั่วประเทศไทย ดำเนินมาถึงคลาสที่ 4 แล้ว และครั้งนี้ก็ยังคงมีบทเรียนที่สำคัญและน่าสนใจต่อผู้นำแน่น ๆ ถึง 2 บทเรียน

HREX สรุปเรื่องราวที่น่าสนใจมาให้ HR และผู้นำองค์กรทุกท่านได้อ่านกันแล้ว ติดตามได้ในบทความนี้เลย

Manager of the Future ต้องแบ่งงานเป็น สื่อสารเป็น สร้างแรงจูงใจเป็น

สรุปทุกเรื่องที่ผู้นำต้องรู้จากคลาสเรียน Manager of the Future 4

สำหรับคลาสเรียนแรกนี้ ได้รับเกียรติจากคุณอิง – ดาริน สุทธพงษ์ CEO จาก Hato Hub, อดีต Lead UX Designer Amazon E-Commerce มาเล่าถึงประสบการณ์การเป็น Manager ที่ผ่านการลงมือทำมาอย่างโชกโชน ทั้งเรื่องที่ดี และเรื่องที่ผิดพลาดให้กับผู้เรียนได้รับรู้ร่วมกัน

ดาริน เริ่มจากการเล่าว่า สิ่งที่ยากและท้าทายเกี่ยวกับการเป็น Manager นั้นมีอยู่ 2 อย่างหลัก ๆ ด้วยกันคือ เราจะสร้างทีมอย่างไร และวัฒนธรรมแบบไหนที่ใช่สำหรับองค์กรของเรา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนภายเรือไปในทิศทางเดียวกัน 

คีย์ของการเป็น Manager ที่ดีมี 3 อย่างคือ แบ่งงานให้เป็น (Delegation) สื่อสารให้เป็น (Communication) และสร้างแรงจูงใจให้เป็น (Motivation) 

เริ่มจาก การแบ่งงาน (Delegation) นั้น มี 6 ระดับดังนี้ ซึ่งแต่ละระดับ จะมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไป

  1. Do as I say การบอกให้คนทำตามคำสั่ง 1 2 3 4 วิธีนี้เหมาะกับงานที่มีกรอบเป๊ะ ๆ ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เช่น ให้ไปซื้อซองเอกสารตราม้าขนาด 9×12 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ข้อดีคือ เราจะได้ของตามที่สั่ง แต่บางทีคนที่เราสั่ง ต้องดูด้วยว่ามีความสามารถไหม และคนสั่งต้องละเอียดพอ แต่คนสั่งจะเหนื่อยมาก
  2. Look Into This for Me วิธีนี้เหนื่อยน้อยกว่าแบบแรก แต่ก็ยังเหนื่อย นั่นคือการให้คนในทีมไปดูของ ไปค้นหาข้อมูล ไปตรวจสอบให้หน่อยว่าของแบบนี้ดีไหม ลดระดับความเป๊ะของการสั่งงานลงมาบ้าง ซึ่งเหมาะกับงานที่เรารู้ว่าเราสนใจเรื่องนี้ แล้วให้คนในทีมไปหาข้อมูลเพิ่มเติม
  3. Give Me Your Advice, I’ll Decide วิธีนี้คือการขอคำแนะนำจากผู้อื่น ให้อิสระผู้อื่นในการนำเสนอสิ่งที่ดี แล้วค่อยมาเลือกทีหลังว่าจะเอาแบบไหน แต่ก็จะเริ่มมีความเสี่ยงว่า ของอาจไม่ได้ตามที่ต้องการเป๊ะๆ แต่แลกมากับความเชื่อใจในตัวผู้อื่น 
  4. Explore, Decide, and Check Back With Me วิธีนี้จะให้สิทธิ์คนในทีมเลือกและตัดสินใจเยอะมาก จากนั้นค่อยมาบอกว่าสิ่งที่เลือกไปเป็นอย่างไร อาจดูเป็นการให้อิสระขั้นสุด แต่ Manager จะยังแอบติดตามผลงานอยู่ใกล้ ๆ
  5. Explore and Decide, Within These Time Limits วิธีนี้จะให้อิสระบนกรอบกว้าง ๆ อยากทำอะไร ทำไปเลยขอเพียงอยู่ในข้อกำหนดนี้ เช่น ซื้อวัสดุอะไรก็ได้ ราคาต่อชิ้นไม่เกิน 100 บาท แต่ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท
  6. Just Get it Done ให้อิสระขั้นสุด จะทำอะไรก็ได้ แต่ขอให้มันเสร็จ ให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นจริง

จากทั้ง 6 ข้อนี้ จะเห็นได้ชัดว่าข้อที่ 1 ผู้สั่งการจะไว้ใจพนักงานน้อยที่สุด ส่วนข้อที่ 6 นั้นคือการไว้ใจมากสุด การจะรู้ว่าควรสั่งการแบบข้อไหนมีหลายปัจจัยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับงานที่แตกต่างกัน แต่ทุกการตัดสินใจนั้นมีความเสี่ยงเสมอว่า สิ่งที่ได้มานั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจริง ๆ นำมาสู่ข้อต่อไปที่ Manager ต้องมี

นั่นคือรู้วิธีสื่อสาร (Communication)

ผู้ที่เป็น Manager จะต้องสื่อสารให้ชัดเจน เปลี่ยนสิ่งนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรมให้ได้ และจะเป็นจุดที่แตกต่างของทีมที่ประสบความสำเร็จ กับทีมที่ล้มเหลวด้วย

“ทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุด ไม่ใช่ทีมที่มีคนเก่งเยอะที่สุด เราไม่ได้ต้องการคนเก่งระดับ ไลโอเนล เมสซี่ ทั้งทีม แต่เราต้องการการสื่อสารที่ดีต่างหาก” คุณดารินเน้นย้ำ

และการสื่อสารที่ดีนั้นหมายความว่าอะไรบ้าง อาจมี 3 สิ่งนี้ที่ต้องให้ความสำคัญ

  1. Energy ยิ่งสื่อสารกันเยอะ โอกาสจะประสบความสำเร็จย่อมมีมากกว่าการไม่เคยสื่อสารกัน หรือสื่อสารกันน้อย อย่าลืมว่าไม่เคยมีคนในองค์กรลาออกเพราะคุยกันเยอะไป มีแต่ลาออกเพราะไม่ค่อยได้คุยกัน ไม่เข้าใจกัน ดังนั้น สื่อสารกันเยอะ ยิ่งดีกว่าการไม่คุยกันเลย
  2. Engagement นอกจากการให้คุยกันเยอะ ๆ แล้ว สิ่งสำคัญก็คือต้องคุยกันครบในทีมเยอะทุกคน ไม่คุยกับแค่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น
  3. Exploration ต้องหมั่นสื่อสารข้ามทีมด้วย ไม่จับกลุ่มกันแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การลองไปคุยกับทีมที่ทำงานอีกแบบ ทำงานที่เราไม่คุ้นชินบ้าง อาจช่วยให้ได้แนวคิดที่น่าสนใจกลับมาก็ได้ และจะช่วยลดปัญหาการเมืองภายในได้มหาศาล

แล้วจะสื่อสารกันเรื่องอะไรดี ? คำตอบก็คือ 2 เรื่องนี้

  1. Expectation สิ่งที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร ? ผู้นำจะต้องหาทางอธิบายเรื่องยาก เรื่องที่จับต้องไม่ได้ ให้ทุกคนเข้าใจชัดที่สุด และยิ่งตำแหน่งสูง ความคาดหวังก็ยิ่งสูง ต้องหาคำมาสื่อสารให้ชัดเจนว่า สิ่งที่อยากให้ทำมีหน้าตาอย่างไร 
  2. Guidance แล้วจะทำอย่างไรถึงจะดี ? ก็ต้องหมั่นให้ฟีดแบ็ค ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์นั่นเอง

ทั้งนี้ Manager ต้องทำให้คนในทีมรู้สึกว่า การให้ฟีดแบ็คคือการให้ของขวัญ อย่าทำให้เหมือนเป็นการดุด่า อย่าบอกเขาว่า “คุณไม่รู้เหรอว่าทำแบบนี้จะไม่ดี ?” ให้พลังในทางลบ และเมื่อให้ด้วยความหวังดี คนในทีมก็พร้อมที่จะตอบสนองสิ่งดี ๆ กลับคืนเสมอ 

สุดท้ายคือการสร้างแรงจูงใจ (Motivate) ถ้าไม่จูงใจคน ก็จะเหมือนการปลูกดอกไม้ที่ไม่ใส่ปุ๋ย ทำให้คนไม่มีกำลังใจทำงาน 

การสร้างแรงจูงใจก็ง่ายมากนั่นคือ เราต้องรู้ก่อนว่า อะไรคือ Need ของคน ๆ นั้น คนในทีมมีความต้องการอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้รดน้ำเขาได้ถูก เราใส่ใจคนที่เก่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยคนไม่เก่ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนที่จะไปบริหารจัดการใครได้ ก่อนจะไปสร้างแรงจูงใจให้ใครได้ ผู้นำ-Manager นั้นจะต้อง ‘เก่งตน’ เสียก่อน นั่นคือบริหารจัดการตัวเองเราเองให้ได้ก่อน รู้จุดแข็ง-จุดอ่อนตัวเองก่อน รวมถึงรู้ว่าเราจะชาร์จพลังอย่างไรเมื่อร่างกายและจิตใจ ‘เบิร์นเอาท์’ 

มิฉะนั้น ต่อให้ทำงานดีแค่ไหน คนอื่นในทีมก็จะไม่รู้สึกเชื่อมโยงไปกับคุณ 

Manager of the Future ต้องรู้วิธีโค้ชคนให้เป็น

สรุปทุกเรื่องที่ผู้นำต้องรู้จากคลาสเรียน Manager of the Future 4

สำหรับ Session ต่อมา ได้รับเกียรติจากคุณ ยูกิ ปลิดา โคยาม่า Certified Coach จากสถาบัน ICF และ Business Development & Project Manager จากทาง Disrupt มาแชร์เรื่อง Coaching For Development ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอมีประสบการณ์โดยตรงนั่นเอง

คุณยูกิ เริ่มจากอธิบายว่า อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าการโค้ชชิ่ง (Coaching) ? หลายคนมักเข้าใจผิดว่าหมายถึงการเป็นไลฟ์โค้ช สอนการใช้ชีวิตตามแบบที่เห็นกันทั่วไป แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะมีความลึกซึ้งมากกว่านั้น โดยโค้ชสามารถแบ่งได้เป็น 3 รุ่นแบบดังนี้

  1. Sport Coaching โค้ชนักกีฬา จะสนใจว่าจะทำอย่างไรให้คนมี Performance ที่ดี สามารถดึงสักยภาพนั้นออกมาได้ดีที่สุด ถ้าเป็นโค้ชฟุตบอล ก็ต้องทำให้นักกีฬาเตะบอลเก่งขึ้น เป็นต้น
  2. Human Potential Movement การโค้ชรูปแบบนี้ จะเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ให้ผู้คนสามารถทำสิ่งที่เหนือกว่าศักยภาพตัวเองได้
  3. Maximizing Human Capital การโค้ชแห่งยุคอนาคต เป็นการกระตุ้นการคิดของคน ดึงศักยภาพที่มีอยู่ให้ออกมามากที่สุด ทำให้คน ๆ นั้นอินกับสิ่งที่ทำอยู่จริง ๆ

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการโค้ชยังมีอีกว่า หลายคนจะชอบสับสนกับคนอื่น ๆ ดังนี้กระบวนการ

  • Mentoring หมายถึง การบอกให้ทำตามสเต็ป 1 2 3 4 ทำแบบนี้อย่างไร แก้เรื่องนี้อย่างไร เน้นโฟกัสที่การแก้ปัญหา
  • Counselling หมายถึง การสนใจการแก้ปมในอดีต ปัญหาในอดีต วิธีนี้จะไม่ได้สนใจที่อนาคตมากนัก
  • Consulting เน้นการบอกว่า เพราะอะไรถึงเกิดปัญหานี้ แล้วจะแก้อย่างไรได้บ้าง เน้นโฟกัสที่ปัญหาเป็นหลัก
  • Coaching จะเน้นการถาม และโฟกัสวิธีการแก้ปัญหาเป็นหลัก คนเป็นโค้ชจะไม่บอกคำตอบในทันที แต่จะช่วยให้อีกฝ่ายได้คิด ได้รู้คำตอบด้วยตนเอง 

สิ่งสำคัญของการโค้ชนั้น อยู่ตรงที่โค้ชไม่มีทางรู้เรื่องราวดีกว่าคนที่โดนโค้ช (Coachee) หรือลูกค้า แต่โค้ชต้องเชื่อว่าทุกคนมีสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการพิชิต และเชื่อใจว่าทุกคนมีศักยภาพกันทั้งนั้น เชื่อว่าคนเราไม่สามารถอยู่ในคอมฟอร์มโซนได้ตลอดไป แต่จะต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่สบายใจ และเรียนรู้ที่จะเติบโตขึ้นนั่นเอง

สำหรับหลักการโค้ชนั้น มีอยู่เพียง 3 อย่างด้วยกันได้แก่

1. Listening with Heart 

คนเป็นโค้ชต้องสนใจฟังคนที่ถูกโค้ชจริง ๆ ไม่แค่ได้ยินมันเข้าหู แต่เราฟังเพื่อโต้ตอบมากกว่าฟังเพื่อเข้าใจ ซึ่งมี 4 ระดับ ได้แก่

  • Attending Listening การฟังอย่างตั้งใจ ส่งสัญญาณว่าฟัง
  • Accurate List ฟังแล้ว สามารถอธิบายถึงสิ่งที่ฟังต่อได้ว่าหมายถึงอะไร
  • Empathic ฟังแล้วมองเห็นอารมณ์ และความรู้สึกของผู้ฟังด้วย
  • Generative ฟังขั้นลึกซึ้ง ทำความเข้าใจ สร้างสมมติฐานออกมาได้ว่าฟังแล้วไปทำอะไร

การโค้ช ถ้าเราไม่สามารถจับอารมณ์ได้ จะทำให้เกิดการโค้ชที่ผิดวิธี ดังนั้นต้องทำยังไงจึงจะตีความคำพูดนั้นให้ออก  และที่สำคัญ ถ้าโค้ชพูดน้อยกว่า Coachee ล่ะก็ จะเป็นตัวชี้วัดว่า การโค้ชจะออกมาดีมากกว่าการที่โค้ชเองพูดเยอะ

2. Shifting Mindset 

หรือการปรับมุมมอง ไม่ใช่การปรับมุมมองที่มีต่อผู้อื่น แต่ต้องปรับที่ตัวเราเองด้วย

หมายความว่าต่อให้เขาพูดไม่รู้เรื่อง โค้ชก็ต้องหาวิธีฟังให้ได้

3. Powerful Questions 

รู้จักตั้งคำถามที่ทรงพลังออกมา โดยยึดหลักที่เรียกว่า GROW Model

  • Goal ตั้งคำถามถึงเป้าหมายก่อนเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด ถ้าเขาไม่รู้ตั้งแต่แรกว่าอยากได้อะไร จะไม่สามารถก้าวต่อไปได้ ดังนั้นต้องแน่ใจว่าเข้าใจเป้าหมายของผู้รับการโค้ชจริง ๆ 
  • Reality สำรวจความจริงให้ครบถ้วน ก่อนตั้งคำถามที่ชวนให้ตระหนักถึงความจริงที่เกิดขึ้นว่า มีอะไรเป็นอุปสรรคบ้าง
  • Options คำถามกระตุ้นความคิด ให้เกิดแนวทางหรือวิธีการใหม่ด้วยตัวเอง หากไม่มีข้อจำกัด คุณจะทำอะไรบ้าง ?
  • Will ตั้งคำถามที่ทำให้เกิดการตัดสินใจเลือกทางเลือกใดกับตัวเอง เช่น อะไรคือสิ่งแรกที่จะลงมือทำจริง ๆ หลังจากนี้ ? เป็นต้น

อีกสิ่งที่คุณยูกิเน้นย้ำก็คือ เวลาตั้งคำถาม อย่าลืมถามเพื่อ Expand the Mind หรือช่วยให้เขาได้สำรวจตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้

  1. Positive Impact คำถามที่ทำให้เขาเห็นมุมมองเชิงบวกของปัญหา
  2. Understanding คำถามที่ช่วยสร้างความเข้าใจในตัวเขาเอง
  3. Significance คำถามวัดความสำคัญ อาจใช้ในกรณีที่เขายังไม่ได้แสดงออกว่ามันสำคัญกับเขาจริงหรือไม่ อย่างไร

แต่เมื่อพูดถึงการตั้งคำถาม ก็จะมีหลายคนกังวลไม่น้อยว่า เราควรจะถามอะไรดี ใช้คำพูดอย่างไรดี กลัวจะถามออกไปแล้วเป็นคำถามที่แย่ แต่คุณยูกิตอบว่า คำถามที่อาจเหมือนถามแล้วจี้ใจคนฟังที่สุดนั้น ก็อาจยังไม่ใช่คำถามที่แย่ที่สุด 

เมื่อเทียบกับ “คำถามที่ไม่ได้ถามออกไป”

ดังนั้น หากมีคำถามอะไรที่อยากถามจริง ๆ ก็อย่ากลัวที่จะถามออกไป เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าการที่ไม่ได้ถามออกไป แล้วมันไม่สามารถช่วยอะไรผู้ที่รับการโค้ชได้เลย

คอร์สเรียน Manager of the Future รุ่นที่ 2 เปิดรับสมัครแล้ว เริ่มเรียนวันที่ 5 ก.ค. – 2 ส.ค. 2567 สามารถสมัครได้ทางลิงก์นี้ https://forms.gle/tPeRmed8XsffdFYk7

5 เหตุผลที่ควรใช้ Disrupt Corporate Program เทรนนิ่งยุคใหม่ ที่ช่วยเปลี่ยนผ่านองค์กรอย่างแข็งแกร่งจากภายใน

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง