HIGHLIGHT
|
ละครโทรทัศน์เรื่องหนึ่งจะน่าดูหรือไม่ นักแสดงนำของเรื่องอาจเป็นแม่เหล็กที่ทำให้ผู้คนสนใจ แต่ความสำเร็จของละครสักเรื่องจะเกิดขึ้นไม่ได้หากมีแค่นักแสดงเท่านั้น เพราะยังมีคนทำงานเบื้องหลังจำนวนมากร่วมผลักดันให้การถ่ายทำเสร็จสิ้น และสามารถเผยแพร่ออกอากาศได้อย่างราบรื่น
และงานดังกล่าว ภาระหนักที่สุดจะตกอยู่ที่ใครไม่ได้อีกนอกจาก ผู้จัดละคร
ทั้งนี้ ในเมืองไทยอาจมีนักแสดงจำนวนมาก แต่นักแสดงที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดละคร และทำผลงานดี ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องอาจไม่เยอะเท่าที่ควร โดยหนึ่งในนั้นก็คือคุณ เกียรติญา สายสนั่น หรือที่ทุกคนจะรู้จักกันในชื่อของ เอ๊ะ-อิศริยา สายสนั่น นักแสดงชื่อดังผู้มีผลงานการแสดงเรื่องเด่นคือ เงาอโศก (2542), ปี่แก้วนางหงส์ (2550) สาปภูษา (2552) และปัจจุบันยังผันตัวมาเป็นผู้จัดละครให้กับช่อง 8 หลายเรื่อง นำโดย ข้าวนอกนา (2556) จนถึงเรื่องล่าสุดอย่าง เลือดกากี (2565)
ไม่เพียงแค่นั้นเธอยังเป็นอาจารย์พิเศษ บรรยายเรื่องของการจัดการถองถ่ายละครให้กับสถาบันการศึกษาหลายสถาบันด้วย
HREX.asia จึงถือโอกาสนี้พูดคุยกับนักแสดง-ผู้จัดละครมากความสามารถ เพื่อเจาะลึกว่างานของผู้จัดละครมีความท้าทายอย่างไร ถ้าอยากทำอาชีพนี้ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ซึ่งถึงแม้การบริหารงานของผู้จัดละคร อาจไม่เหมือนการทำงานในออฟฟิศตามปกติทั่วไป แต่มั่นใจได้ว่ามีแง่มุมหลายด้านที่ทับซ้อนกัน และ HR จำนวนมากสามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน
จุดเริ่มต้นของการมาเป็นผู้จัดละคร เกิดขึ้นได้อย่างไร
อิศริยา: ต้องเกริ่นก่อนว่า เราเล่นละครตั้งแต่อายุ 15 ปี เวลาอยู่ในกองถ่ายจะชอบมองคนอื่น ๆ ในกองทำงาน เราจะเห็นทุกอย่างเลยว่าในกองมีปัญหาอะไร ความสนุกอยู่ตรงที่เราจะได้ดูด้วยว่าเขาแก้ปัญหายังไง เราก็ซึมซับสิ่งเหล่านั้นมาโดยไม่รู้ตัว
จริง ๆ ไม่เคยคิดจะเป็นผู้จัดละครเลยนะ มันเป็นอาชีพที่ใหญ่เกินตัวมาก แต่พอเก็บประสบการณ์มาเรื่อย ๆ ก็มีไอเดียในหัวที่แทบไม่เคยบอกให้ใครรู้เยอะมาก ยกเว้นคุณแม่ (รพิพันธ์ สายสนั่น) อยู่มาวันหนึ่งคุณแม่อยากให้เรียนต่อปริญญาเอก (ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งมันก็เป็นความฝันของเราเหมือนกัน แต่ถ้าเล่นละครแล้วจะแบ่งเวลามาเรียนด้วยไม่ได้ คุณแม่เลยบอกว่า “งั้นหยุดเล่นละครมาเป็นผู้จัดดีไหม”
จำได้เลยว่าพูดกับคุณแม่ว่า “ถ้าเป็นผู้จัดง่าย ใคร ๆ เขาก็เป็นกันหมดแล้ว” แต่คุณแม่ยืนยันและเชื่อว่าทำได้ จากนั้นพอได้โอกาสเล่นละครให้กับอาร์เอส ทางช่อง 8 ก็ลองแย๊บ ๆ ถามผู้ใหญ่ว่าสนใจอยากเป็นผู้จัดละคร จะต้องทำอย่างไรบ้าง ผู้ใหญ่ก็ให้เราทำเรื่องมาเสนอ พอเสนอเรื่องแรก (ข้าวนอกนา) ก็ได้เลย โชคดีมาก
พอได้เป็นผู้จัดละครครั้งแรก เจอประสบการณ์อย่างไรบ้าง
อิศริยา: วันที่ได้เป็นผู้จัดละคร เราคิดว่ามีประสบการณ์เยอะนะ ทฤษฎีเราก็มี แต่ทฤษฎีก็คือทฤษฎี ประสบการณ์ที่มีก็คือประสบการณ์ในฐานะนักแสดง มันไม่สามารถเอามาปรับใช้กับการเป็นผู้จัดได้ 100%
และในวันที่ 3 ของการออกกองเท่านั้นแหละ แจ็คพอตแตกเลยเพราะต้อง ‘ยกกอง’ (เลิกถ่ายทำก่อนกำหนดในวันนั้น)
คำว่ายกกอง พูดแล้วขนลุกนะ สำหรับผู้จัดมันหมายถึงการทิ้งเงินไปเลยอย่างน้อย 2-300,000 บาท แล้วต้องยกกองวันที่ 3 ของการทำงาน ตอนนั้นยอมรับว่าประสบการณ์น้อย ตอนฟิตติ้งกองถ่ายเรื่องนั้นต้องทาตัวนักแสดงให้เป็นสีดำ เราทาผิวน้องนักแสดงที่เป็นคนผิวขาว แต่เราฟิตติ้งในห้องแอร์ พอถ่ายจริงเหงื่อออกหน้าลอกหมด เราไม่รู้จะทำยังไงดี แก้ทุกทางแล้วแก้ไม่ได้เลย จึงโทรหาคุณแม่ คุณแม่ก็บอกว่าต้องยกกอง
เวลานั้นความคิดของเราตันไปหมด ไม่ใช่แค่เรื่องเงินที่เสียไป แต่อดคิดไม่ได้ว่าอาชีพนี้จะปิดประตูตายตั้งแต่วันแรกเลยเหรอ คุณแม่บอกว่า “ให้บอกทุกคนว่าเดี๋ยววันนี้เราเลิกกองก่อน แล้วค่อยกลับมาเจอกันใหม่” ย้ำว่า “ถึงใจเสียก็ห้ามร้องไห้นะ อย่าร้องให้ใครเห็นเพราะเขาจะตกใจ มีปัญหาอะไรค่อยมาร้องกับแม่” พอกลับบ้าน เราไม่ร้องไห้เลยนะ แต่นั่งซึมคิดว่าจะทำยังไงกับชีวิตต่อดี
สุดท้ายมาประชุมกันจนพบต้นเหตุว่า รองพื้นที่ใช้แต่งหน้านักแสดงมันไม่กลบ เราก็ให้ช่างเอฟเฟกต์มาช่วย ใช้เครื่องสำอางเอฟเฟกต์แทน จำได้ว่าตอนนั้นเครื่องสำอางที่เป็นรองพื้นสีเข้ม ไปซื้อมาทุกยี่ห้อ ซื้อมาจากทุกประเทศเลย เอามาทดสอบกับตัวเอง กับคนที่ผิวใกล้ ๆ กับน้องนักแสดงถึงผ่านมาได้
ปัจจุบันทำงานเป็นผู้จัดละครมาจนถึงเรื่องที่ 14 แล้ว ยังมีเหตุให้ต้องยกกองอีกไหม
อิศริยา: ยังเจอค่ะ เพราะปัญหาให้ต้องยกกองไม่ได้มีแค่เรื่องรองพื้นนักแสดง ยังมีปัญหาสภาพอากาศที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เรายกกองน้อย เวลาเจอปัญหา เราจะแก้ปัญหาแบบมีสติ เราโชคดีที่มีคุณแม่เป็นกุนซือที่ดี แต่เราพยายามไม่ปรึกษาทุกเรื่อง ถามเฉพาะเรื่องที่จำเป็น
และไม่ใช่แค่มีคุณแม่ แต่ยังมีทีมงานที่ดี เป็นทีมเดิมเลยตั้งแต่ทำละครเรื่องแรกจนถึงเรื่องปัจจุบันคอยอยู่เคียงข้างกัน
เอาจริง ๆ บอกได้เลยว่าเป็นทีมงานชุดเดิมแทบจะ 100% เราไม่เคยให้ทีมงานคนไหนออกจากกลุ่ม เพราะจะเลือกคนทำงานที่มีความเป็นมืออาชีพ อย่างน้อยก็มีความเชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ มีความรับผิดชอบงานและมีใจรักในงานที่ทำ คุณสมบัติเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้มั่นใจว่า เขาจะไม่ปล่อยให้งานแย่แน่นอน
ในฐานะผู้จัดละคร เรามีหน้าที่รวมตัวคนที่เป็นมืออาชีพ รวมนักแสดงมืออาชีพ ดึงเสน่ห์ ดึงข้อดีของเขาออกมาให้มากที่สุด แต่เวลามีปัญหาเราจะคอยอยู่ข้าง ๆ เขา เราไม่ใช่คนชอบจ้ำจี้จ้ำไช เพราะเราไม่ชอบคนแบบนั้น ก่อนการทำงานเราจึงใช้วิธีประชุมกันก่อน รวมทุกคนทุกฝ่ายมาคุยกันก่อน วางแผนร่วมกัน อุดความเสี่ยงร่วมกัน แล้วถ้าเกิดปัญหาขึ้นจริง ๆ ตอนถ่ายทำ เราก็จะผ่านไปได้
เวลาพูดถึงการยกกอง มีสถานการณ์เหนือความคาดคิดใดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการถ่ายทำละครอีกบ้างไหม
อิศริยา: โรคโควิด-19 เลยค่ะ โหดกว่ามาก ถ้ายกกองเพราะฝนตก เช่น ฝนตกตอนบ่ายไม่ยอมหยุด อย่างน้อยช่วงเช้าเรายังทำงานได้ แต่ถ้าเป็นโควิด มาตรวจหน้ากองถ่ายแล้วขึ้น 2 ขีดปุ๊บ ถ้าวันนั้นต้องถ่ายทำฉากใหญ่ก็จบเลย
ที่ผ่านมาเคยเจอสถานการณ์นี้นะ แต่โชคดีที่ไม่ต้องยกกองบ่อย เราเป็นคนที่พยายามอุดช่องโหว่ ป้องกันความเสี่ยงให้มากที่สุด สมมติพรุ่งนี้ถ่ายละคร วันนี้จะส่งชุดตรวจโควิดให้ทุกคนตรวจก่อน พอไปถึงหน้ากองก็ให้ตรวจอีกรอบ ถ้าตรวจหน้ากองแล้วขึ้น 2 ขีด ก็เป็นเหตุสุดวิสัยที่เราป้องกันอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเราทำทุกอย่างแล้ว
ต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถคุมคนไม่ให้ไปปาร์ตี้ได้ มันคือชีวิตของเขา อันนี้พูดถึงเมื่อปลายปีที่แล้วที่โควิดระบาดค่อนข้างหนักนะ สิ่งที่ทำได้คือเชื่อใจว่าทุกคนไม่ชอบมีข้อจำกัด ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ ดังนั้นเราขอความร่วมมือดีกว่า ถ้าเขารักเรา เขาคงไม่อยากให้งานเสียหาย เพราะฉะนั้นมาร่วมมือร่วมใจกันอีกนิดนะ ดูแลตัวเองให้ปลอดภัย จะได้ปิดกล้องราบรื่น ทุกคนจะได้ไปทำงาน ไปใช้ชีวิตตามเส้นทางของตัวเองต่อ
เราเชื่อว่า มืออาชีพที่เลือกมาจะมีความเกรงอกเกรงใจคนอื่น ไม่เอาตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้เอาแค่ความสนุกของตัวเองจนพังทั้งกอง เราเชื่อว่าทุกคนรักงาน รักเพื่อนร่วมงาน ไม่มีใครอยากทำให้กระทบคนอื่นอยู่แล้ว
แต่ถึงจะเลือกทำงานกับมืออาชีพ ก็ยังให้โอกาสเด็กใหม่ คนใหม่ ๆ รวมถึงนักแสดงหน้าใหม่มาร่วมงานด้วยนะ เพราะว่ากองถ่ายควรจะต้องมีความหลากหลาย ไม่อย่างนั้นจะน่าเบื่อ
ใช้เวลานานไหมในการเรียนรู้ความเป็นมืออาชีพของการเป็นผู้จัดละคร
อิศริยา: คิดว่ามันเป็นไปโดยที่เราไม่รู้ตัวค่ะ ไม่รู้ว่าทำไมเราถึงผ่านเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่ยากลำบากมาได้ คงเพราะค่อย ๆ ปรับกันไป อย่างที่บอกว่าประสบการณ์ทำให้เรานึกออกว่า “อ๋อ ฉันเคยถ่ายละครแล้วถนนขาด น้ำท่วม ตอนนั้นเขาทำยังไงนะ” แล้วก็เอามาปรับใช้กับเรา
ถามว่านานไหมถึงจะเป็นมืออาชีพ ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบแน่ชัดนะ เมื่อสักครู่นั่งคุยกับผู้จัดละครช่อง 8 ด้วยกัน รู้สึกว่า “โห เราโชคดีมากที่เจอปัญหาน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่คนอื่นเจอ” มันเป็นข้อดีที่ค่อนข้างกลัวความเสี่ยงด้วย อะไรที่เสี่ยงว่าจะเกิดขึ้นแน่ ๆ เราจะปิดก่อนเลย นักแสดงคนนี้ขึ้นชื่อเรื่องการมากองถ่ายสาย เราก็ไม่ร่วมงานนะคะ ไว้ร่วมงานในลักษณะอื่นแทน
เมื่อต้องเป็นผู้จัดละคร คุณเรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำจากใครบ้าง
อิศริยา: จากคุณแม่ค่ะ เรียนรู้โดยที่ท่านไม่ได้ตั้งใจสอนหรอก แต่ท่านเป็นผู้นำอยู่แล้ว คุณแม่เป็นซิงเกิ้ลมัม เราเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาของเขา ลักษณะการพูด การคุยงาน แต่ไม่ได้ลอกมาทั้งหมดนะ คุณแม่จะมีความเด็ดขาดชัดเจน แต่เรายังมีความขี้กลัว ขี้กังวล ขี้เกรงใจ ไม่ชอบให้ใครมารอ ไม่ชอบให้ใครเดือดร้อนเพราะตัวเอง
แต่เมื่อถึงเวลาทำงาน ก็ต้องเปลี่ยนโฟกัสใหม่ ถ้างานไม่ดีก็ต้องติ แต่ลักษณะการติ จะชอบไปคุยกันเอง 2 คน เราเชื่อว่าในเมื่อเลือกมืออาชีพมาทำงาน ดังนั้นแค่คุยนิดเดียวก็รู้เรื่องแล้ว เหมือนเราเองถ้าทำอะไรผิด ผู้ใหญ่ของช่องพูดอะไรมานิดหน่อยก็รู้แล้ว และจะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก เพราะงานคือชีวิตของเรา เราจะไม่ยอมให้มันพลาดออกไป หรือถ้าพลาดแล้ว จะต้องไม่พลาดซ้ำ
เรายังชอบมากเวลามีคนให้ไปสอนหนังสือ หรือไปบรรยายเรื่องการทำงาน เพราะแต่ก่อนตอนเริ่มอาชีพใหม่ ๆ อยากหาคนที่เป็นไกด์ให้เราได้ เราเคยได้ไกด์ที่ดีเหมือนกัน เขาไม่ได้บอกเราหมดหรอก แต่เขาไกด์สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เราคิดต่อได้ ถ้าประสบการณ์หรือความรู้ที่เรามีสามารถช่วยใครได้ และถ้าเขาไปปรับใช้ได้จะมีความสุขมาก
สังเกตว่าคุณใช้ชื่ออิศริยา และเกียรติญา สลับกันไปในแต่ละโอกาส บ่งบอกถึงบทบาทในแวดวงละคร และบทบาทนอกเหนือแวดวงละคร ทำไมถึงต้องใช้สองชื่อสลับกันด้วย
อิศริยา: ชื่อจริงคือเกียรติญาค่ะ สมัยก่อนตอนเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ เขาไม่ให้เป็นนักแสดง โรงเรียนค่อนข้างซีเรียสมาก ตอนปิดเทอม มีแมวมองคือ พี่อุ๊บ (วิริยะ พงษ์อาจหาญ) ชวนเรากับพี่สาวไปประกวดด้วย ตอนนั้นเราเป็นเด็กเรียนหนังสือดี ทุกคนจะบอกว่าให้มุ่งเรียนอย่างเดียวไปเลย แต่คุณแม่มีความคิดไม่เหมือนคนอื่น คุณแม่บอกว่า “เรียนดีก็ต้องมีโลกอย่างอื่นบ้าง เอ๊ะ ไปประกวดเลย ถึงไม่ได้ ตกรอบกลับมาก็มีประสบการณ์”
ตอนนั้นเราคิดว่าไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดได้ก็เปลี่ยนชื่อเป็น อิศริยา ชื่อนี้ไม่มีความหมายตามพจนานุกรมด้วยนะ ตอนนั้นมันเหมือนคิดปุ๊บใช้ปั๊บ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะใช้ยาวขนาดนี้ พอประกวดที่แรกแล้วได้รางวัลเลย เป็นมิสมอเตอร์โชว์ จากนั้นก็ไปลาออกที่โรงเรียนเลย เพราะถ้าไม่ลาออกก็โดนไล่ออก แต่โชคดีที่สอบเทียบได้
ส่วนเหตุผลที่ทำไมไม่เปลี่ยนไปใช้ชื่อจริงเป็น อิศริยา เพราะชื่อเกียรติญาที่คุณแม่ตั้งให้ชื่อนี้มีความหมายว่า “ผู้หญิงที่มีเกียรติ” นี่คือชื่อของเรา เป็นชื่อที่เราชอบ เพราะเราอยากอยู่อย่างมีเกียรติ
แล้วเวลาอยู่ในกองถ่ายละคร วางตัวเองเป็นเกียรติยาหรืออิศริยา
อิศริยา: ถ้าอยู่ในวงการบันเทิงจะเป็นอิศริยา เพราะทุกคนรู้จักเราแบบนี้ตั้งแต่ตอนเข้าวงการ แต่ถ้าอยู่ข้างนอกเรายังอยากเป็นเกียรติญา ถามว่าอยากให้เปลี่ยนเป็นแบบใดแบบหนึ่งไหม ไม่เลย เพราะเรายังอยากมีโลกที่มันแตกต่างจากกัน
ความโชคดีคือวันที่อยู่ในกองถ่าย อยู่ในวงการบันเทิงเราก็เป็นแบบหนึ่ง วันที่เรียนก็เป็นอีกแบบ วันนี้เราไม่ได้อยู่ในฐานะนักแสดงอย่างเดียวแล้ว แต่อยู่ในฐานะผู้จัดละครด้วย หลายคนเคยถามว่าทำยังไงถึงมีความเป็นผู้นำ จริง ๆ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นผู้นำ แต่เราแค่ใช้ชีวิตของเราไป และมันเป็นไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เราไม่ต้องการผู้นำที่ไม่ชัดเจน ถามอะไรก็ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นเราก็จะเป็นคนชัดเจน วันที่ตัดสินใจแล้วว่าจะไปไหนหรือทำอะไร ก็จะทำให้ได้ แล้วถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ต้องห่วง เอ๊ะพร้อมรับผิดชอบทุกอย่าง
เวลาละครออนแอร์ มันอาจไม่ได้ดีที่สุดทุกเรื่อง แต่เวลามีคนชม เขาก็ชมเรา ถ้าเกิดเรื่องอะไรไม่ดี เขาก็ต้องว่าเรา เพราะทุกอย่างที่เผยแพร่ออกไปมันอยู่ในสายตาของเราหมด ตรวจทุกวินาที ถ้าหลุดออกไปก็เป็นความผิดของเราเอง แต่ก็ต้องไปสื่อสารต่อด้วยนะว่าผิดเรื่องอะไร ต้องไปบอกตำแหน่งนั้นว่า เกิดเรื่องแบบนี้นะ หลังจากนี้จะไม่มีอีกนะ ต้องแก้นะ
มีหลายคนบอกว่า “การที่เอ๊ะไม่ติน่ากลัวกว่า” แต่เราไม่ได้ตำหนิคนด้วยอารมณ์ เราพยายามใช้อารมณ์ให้น้อยที่สุด ถ้าเราไม่ชอบให้ใครมาใช้อารมณ์กับเรา เราก็อย่าใช้อารมณ์กับเขา ที่สำคัญคือทีมงานทุกคนไม่มีใครทำให้เรารู้สึกว่าชุ่ยจนต้องถอดใจ เราทุกคนต้องมีวันผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เราก็ต้องรับมือให้ได้
ในเมื่อแต่ละบทบาทต่างก็มีโลกของตัวเอง แล้วคุณมีโลกแบบไหนบ้าง
อิศริยา: ถ้าอยากดูเวอร์ชันจริงจัง ก็ต้องโลกตอนทำงานค่ะ หรือจะเป็นเวอร์ชั่นอาจารย์ด้วยก็ได้ เราไม่ใช่คนดุนะ เป็นคนเข้าใจทุกคน หวังดีกับทุกคนที่อยู่รอบข้าง อยากให้ทุกคนมีความสุข ถ้าเรียนก็อยากให้เขาได้ความรู้ที่ดีกลับไป ถ้าทำงานก็อยากให้เขาเชี่ยวชาญในงาน แล้วได้งานที่ดี
แต่ถึงเราจริงใจกับคนอื่น ก็ไม่ได้จริงจังจนลืมมองความสุข ไม่ได้เข้มงวดกับทุกคนว่าต้องทำได้อย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่ต้องการชีวิตแบบนั้น มันเครียด ไม่อยากเข้าไปกองถ่ายแล้วเจอสนามรบ เราอยากเข้าไปในกองถ่ายแล้วทุกคนสบายใจกัน ยิ้มแย้มให้กัน วันเปิดกล้องเราดีใจที่ได้กลับมาเจอกัน วันปิดกล้องเรากอดกัน แล้วกลับมาเจอกันเรื่องหน้า ถ้าเรตติ้งสูงเราก็ไชโยด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ต้องการ
ส่วนในฐานะนักแสดง เวลาอยู่ในกองถ่ายคนอื่น ก็จะรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดีเป็นพอ
คุณสมบัติของผู้จัดละครที่ดีต้องมีอะไรบ้าง
อิศริยา: สิ่งที่สำคัญมากคือต้องมีการสื่อสารที่ดี เพราะเรากำลังสื่อสารกับคนหมู่มากให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ได้รับสารเดียวกัน ถ้าสื่อสารผิดก็พังนะ เราต้องสื่อสารทุกอย่างด้วยความจริงใจและชัดเจน มันจะช่วยลดปัญหาได้ เราจะทำให้เขารู้ว่าสิ่งที่เราสื่อสารออกไป เราหมายความแบบนั้นจริง ๆ ไม่ใช่พูดมั่ว ๆ
เวลาพูดอะไรออกไป 100% มันอาจจะไม่เป็นไปตามนั้น 100% ก็ได้ เพราะอาจมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยเราก็อยากให้เป็นตามนั้น 80-90% เราจะพูดกับทุกคนว่าสิ่งที่พูดออกไป เราหมายความแบบนั้นจริง ๆ แล้วจะทำให้มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ในเรื่องของงาน แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องงานก็ตามใจเลยค่ะ
อะไรคือบทเรียนสำคัญที่สุดที่ได้จากการเป็นผู้จัดละคร
อิศริยา: ความภาคภูมิใจค่ะ ทุกคนเหนื่อยหมด ไม่ว่าจะทำงานตำแหน่งไหนหรืออาชีพอะไร แต่วันที่ละครออกอากาศ วันที่งานประสบความสำเร็จ มันน่าภูมิใจมาก เหมือนเราเป็นแค่คนตัวเล็ก ๆ แล้วทำโปรเจกต์นี้ได้สำเร็จ แค่นี้เราก็ภูมิใจแล้ว
ชีวิตทุกคนขับเคลื่อนด้วยความภูมิใจนะ ถ้าเราไม่ภูมิใจเราจะรู้สึกว่าทำ ๆ ไปเหอะ เราตื่นไปกองถ่าย ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ฝนจะตก ฟ้าจะร้องหรือไม่ แต่ไม่ต้องห่วงฉันสู้ตาย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นฉันก็จะสู้ อาจเซบ้างเล็กน้อยเวลาเจอปัญหา แต่ฉันจะต้องผ่านไปให้ได้
เป็นผู้จัดละครมา 10 ปี ยังมีอะไรที่รู้สึกท้าทายและยังไม่ได้ทำอีกบ้าง
อิศริยา: เยอะมากค่ะ ยังมีแนวละครที่เราอาจไม่ได้ทำบ่อย ๆ โดยเฉพาะละครน้ำเน่า เราไม่ได้มองว่าน้ำเน่าคือด้านลบนะ ไม่เคยดูถูกละครน้ำเน่าเลย เพราะมองว่ามันก็เป็นละครประเภทหนึ่ง แต่ถ้าจะให้มีละครน้ำเน่าอย่างเดียวก็คงน่าเบื่อ จะให้มีบู๊หมดก็คงไม่ดี มีน้ำดีหมดก็คงไม่ได้ มันควรจะมีน้ำเน่าบ้างตลกบ้างบู๊บ้าง ละครควรมีความหลากหลาย
เราทำละครมา 13-14 เรื่อง แต่ละเรื่องเปลี่ยนแนวไปเรื่อย ๆ เพราะมันสนุก ไม่ต้องทำแนวเดียวกัน แต่แนวที่ยังไม่เคยทำคือดราม่า-น้ำเน่า มีตัวละครเป็นคนดี เพราะทุกวันนี้เราเห็นข่าวหลายอย่างทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นคนดีมันดูไม่ดี การเป็นคนดีกลายเป็นคนโง่ ทำให้คนไม่อยากเป็นคนดี
แต่เชื่อไหมคะว่าละครบางเรื่อง เช่น ละครต่างประเทศ หรือละครไทยเองที่ตัวละครเป็นคนดีมีจิตใจดี บางคนอาจบอกเชย แต่เรายังเชื่อว่าความดียังมีอยู่นะ เราดูบางเรื่องแล้วเรารักตัวละครตัวนี้มาก เพราะว่าพื้นฐานของเขาจิตใจดี เราอยากให้คนดูแล้วอินเหมือนเรา เวลาเหนื่อยมาก ๆ เวลาที่มีปัญหา เราก็อินว่าเราเป็นนางเอกละครเรื่องนั้น ดูสินางเอกเขายังผ่านมาได้ เราเองก็จะต้องผ่านไปได้เช่นกัน