Nap at Work : นอนหลับเรื่องใหญ่ เลิกง่วงแล้วมางีบหลับในที่ทำงานกันเถอะ

HIGHLIGHT

  • วัยทำงานส่วนใหญ่นอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น มีวิจัยพบว่าคนไทยถึง 61% มีอัตราการนอนน้อยกว่าวันละ 6 ชั่วโมง
  • การนอนน้อยหรือพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงานจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • เมื่อ HR เห็นพนักงานงีบหลับในที่ทำงาน อย่าพึ่งเข้าไปต่อว่า แต่ให้รีบพูดคุยและถามก่อนเลยว่าสาเหตุของการงีบหลับคืออะไร มีส่วนใดที่เป็นข้อผิดพลาดขององค์กรหรือไม่ เพื่อที่จะได้ปรับปรุงนโยบายและวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของทุกฝ่าย ต้องคิดเสมอว่าการรับผิดชอบเรื่องสมดุลชีวิตของพนักงานเป็นหน้าที่ขององค์กรเช่นกัน
  • องค์กรหลายแห่งเริ่มอนุญาตให้พนักงานงีบหลับในที่ทำงานแล้ว แต่ต้องไม่รบกวนคนอื่น ทั้งในแง่ของภาพลักษณ์และเรื่องเสียงรบกวน โดยระยะเวลาที่เหมาะสมคือประมาณ 20 นาทีต่อวัน
  • องค์กรระดับโลกมีการว่าจ้างที่ปรึกษาด้านการนอน (Sleep Consultant) และมองว่าที่ปรึกษาด้านนี้มีราคาถูกกว่าที่ปรึกษาทางธุรกิจอื่น ๆ แต่สามารถทำให้พนักงานทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
  • HR ต้องลบความเชื่อเดิม ๆ และเปิดรับทุกความเป็นไปได้ เพื่อหาสวัสดิการที่เหมาะสมกับพนักงาน และสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรมากที่สุด

เรามักได้ยินคนที่ประสบความสำเร็จบอกว่าการนอนหลับเยอะเกินไป เป็นรากฐานของความล้มเหลว ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ก็อย่าลืมว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะนำปัญหาตามมาเช่นกัน และอาจเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพแล้ว ยังไม่มีทางเลยที่คนง่วงนอนจะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม 

แนวคิดนี้ทำให้องค์กรหลายแห่งเลือกที่จะสร้างห้องพักผ่อนขึ้นมาโดยเฉพาะ ให้พนักงานได้มีพื้นที่สำหรับผ่อนคลายจากความเครียดและความเหนื่อยล้าในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานที่หนักขึ้นต่อไป

การงีบหลีบในที่ทำงาน (Nap at Work) มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และการอนุญาตให้พนักงานพักผ่อนจะช่วยให้องค์กรได้ประโยชน์อะไรบ้าง HR หาคำตอบได้เลยที่บทความนี้

ทำไมเราถึงควรนอนหรืองีบหลับในออฟฟิศ

การพักผ่อนให้เพียงพอเป็นรากฐานของทุกเรื่อง เพราะการตื่นเช้ามาอย่างสดใส พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ตรงหน้า จะช่วยให้เราเรียนรู้และเกิดพัฒนาการได้มากกว่าวันที่เรารู้สึกเหนื่อยล้าและอยากจะนอนต่อ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกวันที่เราจะนอนหลับได้อย่างเต็มที่ อาจด้วยปัจจัยภายในอย่างเรื่องสภาพร่างกาย ความเจ็บป่วย ความเครียด  หรือปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องงานที่หนักเกินไปจนต้องทำงานจนดึกดื่น เป็นต้น

อย่าลืมว่าเครื่องมือขับเคลื่อนธุรกิจของทุกองค์กรคือมนุษย์ ดังนั้นทุกคนต้องการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อรักษาสมดุลชีวิต และช่วยให้ทั้งตนเองและองค์กรได้ประโยชน์ไปพร้อม ๆ กัน นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้องค์กรชั้นนำระดับโลกเริ่มให้ความสำคัญกับห้องพักผ่อนมากขึ้น  เพราะหากดูจากผลสำรวจล่าสุดที่ออกมาแล้ว จะพบว่าคนส่วนใหญ่ในวัยทำงานมีระดับการนอนต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น ในประเทศอังกฤษเมื่ออัตราการนอนอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 49 นาที ในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 31 นาที ในญี่ปุ่นอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 22 นาที และในเมืองไทยมีคนกว่า 61% ที่มีอัตราการนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง 30 นาที

พนักงานทุกคนจึงควรมีโอกาสพักผ่อนให้มากขึ้น เพราะความง่วงไม่ใช่หลักฐานที่บอกว่าพนักงานเอาเวลาไปเที่ยวเล่นตอนดึก หรือไม่ดูแลตัวเองให้เหมาะสมกับหน้าที่ แต่ความง่วงอาจเกิดจากความเหนื่อยล้าหลังการประชุมอย่างหนักหน่วงในช่วงกลางวัน ซึ่งหากได้งีบหลับ พักสายตาสัก 20 นาที ก็จะทำให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่ ให้ผลดีกว่าการมุ่งทำงานทั้งวันโดยไม่ยอมพักผ่อนเลยด้วยซ้ำ

การนอนน้อยส่งผลต่อการทำงานอย่างไร ?

การนอนน้อยเป็นพื้นฐานสำคัญของปัญหาสุขภาพที่ต่อยอดไปเป็นอันตรายอื่น ๆ อีกมากมาย ในเบื้องต้นหากคุณพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง, ปัญหาหัวใจ และเสียสุขภาพจิตจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้  อีกอย่างเมื่อร่างกายไม่พร้อม ก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพราะสมองไม่สามารถสั่งงานได้ในระดับปกติ ยิ่งหากคุณทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร การพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้คุณมีโอกาสเจออุบัติเหตุซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิต

ในแง่ของพัฒนาการ การนอนน้อยจะทำให้คุณไม่สามารถจำเนื้อหาที่กำลังศึกษาได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถนึกในสิ่งที่เคยทำเป็นประจำได้ โดยมีผลวิจัยที่เปรียบการทำงานเหมือนกับการเรียนหนังสือในโรงเรียน และพบว่าคนที่นอนน้อยมีผลการเรียน รวมถึงพัฒนาการน้อยกว่าคนที่นอนเต็มอิ่ม ขณะที่การงีบหลับเพียงไม่กี่นาทีจะช่วยให้ร่างกายของเราพร้อมรับมือกับเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น โดยผลวิจัยเดียวกันได้ทดลองให้คุณครูเลื่อนคลาสเรียนออกไปนิดหนึ่ง เพื่อให้คนที่ตื่นเช้าได้มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น ก่อนพบว่าช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพดีขึ้นจริง

Gallup เผยว่า คนที่นอนน้อยหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ มีโอกาสขาดงานโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้าในอัตรา 2.29 วันต่อเดือน ขณะที่พนักงานทั่วไปจะมีอัตราอยู่ที่ 0.9 วันต่อเดือนเท่านั้น ที่สำคัญพนักงานที่นอนน้อยจะเกิดความเครียดเป็นพิเศษ ซึ่งจากจุดนี้อาจทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกหรือเปลี่ยนงานได้เลย 

HR ควรทำอย่างไรหากเห็นพนักงานงีบหลับในออฟฟิศ

แม้การงีบหลับจะยังเป็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในหลายองค์กร แต่หากเราพบเห็นพนักงานมีพฤติกรรมแบบนี้ ก่อนที่จะรู้สึกว่าพนักงานทำไม่ถูกต้อง หน้าที่ของเราคือการหาคำตอบให้ได้ว่าสาเหตุของการงีบหลับคืออะไร เพราะบางทีมันอาจเกิดจากการวางแผนงานที่ไม่รัดกุมขององค์กรเองก็ได้ ดังนั้นหากเรามองเรื่องนี้ด้วยสายตาที่เป็นกลาง ก็อาจทำให้เราสามารถคิดค้นนโยบายใหม่ ๆ ที่ตอบสนองการใช้ชีวิตของพนักงานได้ดีกว่าเดิม

นี่คือกลยุทธ์เบื้องต้นเมื่อเห็นพนักงานงีบหลับในออฟฟิศผู้อ่านสามารถนำไปทำตามได้เลย

พยายามหาสาเหตุด้วยความเป็นกลางที่สุด

แม้เราจะพอคาดการณ์ได้ว่าพนักงานงีบหลับเพราะอะไร แต่สิ่งสำคัญในฐานะของคนบริหารงานบุคคลคือการไม่ด่วนสรุปเด็ดขาด เพราะหากพนักงานไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด นอกจากจะทำให้เราวางแผนงานผิดพลาดแล้ว ยังทำให้พนักงานรู้สึกแย่กับความไม่เป็นธรรมอีกด้วย 

การงีบหลับในที่ทำงานอาจสะท้อนให้เห็นว่าพนักงานมีปัญหาครอบครัวที่บ้าน, มีสภาพร่างกายไม่แข็งแรง, เจอกับสภาวะเครียดบางอย่างจนนอนไม่หลับในเวลาปกติ หรือเป็นไปได้ไหมว่าพนักงานกำลังเจอสภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) จากงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ

การตั้งคำถามแบบนี้จะทำให้เราย้อนกลับมาสังเกตุวิธีทำงานของตนเอง เพราะหากค้นพบว่าองค์กรมีปัญหา การรีบแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ จะเป็นแนวทางที่ช่วยให้พนักงานคนอื่นไม่ต้องรู้สึกแย่ตามกันไป

เหตุนี้องค์กรจึงต้องมีวัฒนธรรมของการสื่อสาร เพื่อให้พนักงานสามารถพูดคุยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างสบายใจ และการรับรู้ข้อมูลอย่างครบถ้วนชัดเจนนั้นจะทำให้เราหาแนวทางแก้ไขที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายได้โดยแท้จริง

อย่ารีบต่อว่าหรือให้บทลงโทษโดยทันที

องค์กรสามารถส่งใบเตือนได้หากเป็นความผิดครั้งแรก และร่วมพูดคุยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ให้คิดเสมอว่าหากเราทราบเหตุผลจากพนักงานแล้ว องค์กรควรจะเข้าไปสนับสนุนและช่วยหาทางออกเท่าที่ทำได้ โดยไม่เสียระบบการทำงาน เพราะหากทราบเหตุผลแล้ว แต่ไม่คิดจะแก้ไข จะทำให้พนักงานไม่เชื่อมั่น และไม่กล้าบอกความรู้สึกอีกเลย

กลยุทธ์นี้จะช่วยให้พนักงานมีความสุขและเคารพทีมมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามไม่ว่าปัญหาคืออะไร แต่พฤติกรรมทั้งหมดของพนักงานก็ต้องสอดคล้องกับความรับผิดชอบ หากพนักงานทำผิดครั้งแล้วครั้งเล่า องค์กรก็สามารถพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมได้เลย

วิธีงีบหลับในเวลางานแบบมีมารยาท ไม่รบกวนคนอื่น

หลังจากที่เราทราบกันแล้วว่าการพักผ่อนให้เพียงพอและการงีบหลับระหว่างวันจะช่วยให้เรามีทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานที่ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะเปิดรับ หรือพร้อมปรับตัวกับการงีบหลับในที่ทำงาน พนักงานจึงต้องศึกษาวิธีที่จะทำให้ตนได้พักผ่อนแต่ไม่เสียมารยาทหรือรบกวนคนอื่นเช่นกัน 

ดังนั้นหาก HR โอเคกับการงีบหลับ HREX.asia ขอเสนอสถานที่ง่าย ๆ เหมาะ ๆ ดังนี้ 

งีบหลับในรถยนต์

การงีบหลับในรถเป็นวิธีพื้นฐานที่มีความเป็นส่วนตัวและเป็นบริเวณที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย เนื่องจากมีความคุ้นเคยคล้ายกับบ้าน ในที่นี้ต้องแน่ใจว่ารถได้จอดอยู่ในบริเวณที่ไม่พลุกพล่าน หรือเป็นที่สังเกตของพนักงานคนอื่น ต้องตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยกับการตั้งนาฬิกาปลุกให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้ออกจากออฟฟิศมานานเกินไป 

เพื่อความชัวร์ คุณสามารถเขียนโน้ตเล็ก ๆ แปะไว้บนโต๊ะทำงานว่า “ไปธุระ หากมีเรื่องด่วนให้ติดต่อ (เบอร์โทรศัพท์)” แค่นี้ก็สามารถงีบหลับได้อย่างสบายใจแล้ว 

งีบหลับในห้องประชุม

ห้องประชุมเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี เพราะมีความเป็นส่วนตัวสูง ยิ่งบางออฟฟิศจะมีห้องประชุมย่อย ๆ ให้พนักงานใช้อยู่เต็มไปหมด เราสามารถเลือกสักห้องหนึ่งเพื่องีบหลับได้เลย ในที่นี้แนะนำให้งีบใกล้กับประตู เวลามีคนเผลอเปิดหรือเคาะจะได้รู้ตัว ไม่หลับเพลินจนเสียงานเสียการ ที่สำคัญอย่าลืมเช็คตารางก่อนว่ามีพนักงานคนอื่นต้องใช้ห้องประชุมหรือไม่ หากมีก็ให้เปลี่ยนไปงีบหลับที่อื่น อย่าทำให้เพื่อนร่วมงานลำบากเด็ดขาด

งีบหลับในห้องน้ำ

หากห้องน้ำในออฟฟิศของคุณมีขนาดใหญ่ รองรับการใช้งานของพนักงานหมู่มากได้ การงีบในห้องน้ำก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่การงีบหลับในนี้ต้องกังวลเรื่องกลิ่น และไม่เหมาะกับคนที่นอนกรน เพราะห้องน้ำส่วนใหญ่มักมีประตูปิดเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

จะเห็นว่าคอนเซปต์ของเรื่องนี้ คือเราควรหาที่งีบหลับที่เป็นส่วนตัว ให้เราสามารถใช้เวลาอันสั้นเพื่อพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องแน่ใจว่าเป็นช่วงที่ไม่มีงานอื่นซ้อนทับ และต้องเตรียมตัวเสมอหากมีเรื่องด่วนที่จำเป็นต้องเข้าไปแก้ไข เพราะถือว่าเป็นการพักผ่อนในเวลางาน ไม่ใช่การลาหยุดแต่อย่างใด

ทั้งนี้หากองค์กรของคุณให้ความสำคัญกับการให้สวัสดิการเพื่อพักผ่อนจริง ๆ ก็สามารถนำ Nap Pod อุปกรณ์ที่ช่วยให้การงีบหลับในที่ทำงานคล่องตัวยิ่งขึ้นมาใช้เหมือนเหล่าแบรนด์ระดับโลก หรือใช้วิธีที่ง่ายกว่าอย่างการจัดทำห้องสำหรับพักผ่อนโดยเฉพาะก็ได้เช่นกัน

Nap Pod อุปกรณ์มาแรงที่องค์กรต้องมี (ถ้าซื้อไหว)

อุปกรณ์เครื่องนี้เป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ขนาดยักษ์ที่ให้พนักงานล้มตัวลงนอนได้ในบรรยากาศที่เหมาะสม ทั้งเรื่องของแสงสว่าง, อุณหภูมิ และความเงียบ ข้อดีของมันคือจะช่วยให้พนักงานนอนหลับอย่างเต็มอิ่มในระยะเวลาที่เหมาะสม แถมในสายงานบางประเภทที่พนักงานต้องทำงานล่วงเวลา การได้นอนแบบสบาย ๆ จะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง มีพลังสร้างสรรค์ แถมยังช่วยให้มีสติ ไม่เกิดอันตรายขณะทำงานอีกด้วย

Nap Pod ยังมีระบบตั้งเวลาปลุกที่ดีต่อสุขภาพจิตมากกว่าการใช้นาฬิกาเตือนเสียงดัง ที่อาจนำให้ตกใจ ไม่ทันตั้งตัว โดยเครื่องนี้จะใช้วิธีการสั่น หรือใช้เสียงเพลงที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วว่าจะช่วยให้คนตื่นอย่างช้า ๆ ซึ่งเสียงเพลงตรงนี้จะช่วยให้คนหลับได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เพราะคงไม่ดีแน่หากเรามีเวลาว่างประมาณ 30 นาทีแต่ได้นอนจริง ๆ เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

บริษัทที่ใช้เครื่องมือนี้ เช่น Google, Facebook หรือแม้แต่ The National Health Service (NHS) จากสหราชอาณาจักรก็ตาม

แต่อุปกรณ์ชิ้นนี้มีราคาสูงถึงหลักแสนบาท ดังนั้นหากองค์กรอยากเริ่มมีสวัสดิการเพื่อการพักผ่อนโดยไม่ต้องลงทุนมากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องมือราคาสูง แต่สามารถเริ่มจากการสร้างสถานที่ง่าย ๆ ขึ้นมาให้พนักงานได้ใช้ โดยสามารถดูตัวอย่างได้จากบริษัทเหล่านี้

องค์กรระดับโลกที่มีนโยบายให้พนักงานสามารถงีบหลับระหว่างวัน (Nap Time Benefit)

หากคุณยังไม่แน่ใจว่าการปล่อยให้พนักงานงีบหลับในที่ทำงานจะมีผลดีจริงหรือไม่ เราขอแนะนำเรื่องราวจากห้าองค์กรที่มีชื่อเสียงด้านสวัสดิการเพื่อการพักผ่อน รับรองว่าเป็นชื่อที่ทุกคนรู้จักกันดีแน่นอน

จะมีบริษัทไหนบ้าง ไปดูกันเลย !

Google

นี่คือองค์กรที่ได้รับเสียงชื่นชมว่าน่าทำงานที่สุดในโลก เพราะนอกจากจะมีสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกให้พนักงานไว้ออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับมื้ออาหารแสนอร่อย และสวัสดิการอีกมากมายนับไม่ถ้วน สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุดอีกอย่างก็คือการงีบหลับและการพักผ่อนของพนักงาน

เดวิด แรดคลิฟฟ์ (David Radcliffe) ซึ่งเป็น VP of Real Estate and Workplace Services ของ Google กล่าวว่า “ออฟฟิศที่ดีจะสมบูรณ์ไปไม่ได้เลยหากปราศจากสถานที่พักผ่อนให้พนักงาน”

Google มีอุปกรณ์ชื่อว่า EnergyPod ที่ออกแบบโดยวิศวกรเฉพาะทางให้พนักงานสามารถใช้เวลา 20 นาทีเพื่อนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้ก็ยังมีห้องทำสมาธิ และนิทรรศการศิลปะย่อม ๆ ให้ทุกคนได้พักผ่อนหย่อนใจเมื่อถึงเวลาที่ต้องการอีกด้วย

Ben & Jerry’s 

แบรนด์ไอศครีมชื่อดังที่มีสาขาในเมืองไทยก็ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมากเช่นกัน พวกเขาอาจไม่ได้มีอุปกรณ์ทันสมัยแบบบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก แต่พวกเขาก็ได้สร้างห้องขึ้นมาเพื่อให้พนักงานพักผ่อนอย่างสบายที่สุด  โดยตัวแทนขององค์กรให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาต้องการให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่เอาแต่ทำงานจนเสียสุขภาพ และเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะต้องปกป้องพนักงานให้อยู่ไกลจากความเจ็บไข้ได้ป่วยทุกกรณี

นอกเหนือจากการให้ที่นอนแล้ว พวกเขายังมีคลาสออกกำลังกาย, คลาสโยคะ และพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยงของพนักงาน ให้ทุกคนรู้สึกผ่อนคลายเหมือนทำงานอยู่ที่บ้าน กลยุทธ์นี้เป็นหนึ่งในรากฐานที่ทำให้พวกเขากลายเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก

Nike

ขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์กีฬา ก็ต้องสนับสนุนให้พนักงานแข็งแรงกว่าที่อื่น และที่สาขาใหญ่ของ Nike นี่มีโรงยิมขนาดใหญ่ถึง 60,000 ตารางฟุตตั้งอยู่ ไม่ว่าคุณจะอยากเล่นกีฬาแบบไหน ที่นี่ก็มีผู้เชี่ยวชาญคอยสอน และมีอุปกรณ์ให้ใช้งานอย่างครบครันชนิดที่ว่ามาทำงานตัวเปล่าก็สามารถเดินเข้าไปเล่นกีฬาที่ต้องการได้เลย

ในด้านการงีบหลับ พวกเขามีห้องเรียกว่า Quiet Room ที่เตรียมไว้ให้พนักงานใช้พักผ่อนได้เลยโดยไม่ได้จำกัดเวลา ตราบใดที่ยังสามารถรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดีเยี่ยม

Cisco 

บริษัทเครือข่ายและไอทีระดับโลกได้ร่วมมือกับบริษัท MetroNap เพื่อออกแบบเครื่องมือสำหรับงีบหลับ โดยมีค่าใช้จ่ายสูงถึงตัวละ 13,000 ดอลลาร์ ซึ่งโครงการนี้มี “ที่ปรึกษาด้านการนอน” (Sleep Consultant) คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

แม้การซื้อเครื่องมือจะต้องใช้ต้นทุนสูงมาก แต่พวกเขามองว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดมีราคาถูกกว่าการจ้างที่ปรึกษาในด้านอื่นด้วยซ้ำ แถมการปล่อยให้พนักงานพักผ่อนด้วยการงีบหลับจะ ช่วยให้พนักงานรู้สึกมีความสุขในการทำงาน และรู้สึกว่าองค์กรใส่ใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขามากขึ้น จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สามารถช่วยพัฒนาองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม

Aetna

บริษัทผู้นำด้านการวางแผนประกันสุขภาพอย่างเอ็ทน่า ถือเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการนอนเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะมีที่พักให้พนักงานสามารถงีบหลับในสำนักงานใหญ่ได้แล้ว CEO อย่างคุณมาร์ก เบอร์โตลินี่ (Mark Bertolini) ยังได้ออกนโยบาย “จ่ายให้หลับ” คือถ้าพนักงานสามารถพิสูจน์ได้ว่านอนมากกว่าวันละ 7 ชั่วโมง ต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยมีหลักฐานวัดผลได้จริง (เช่นใช้ Smart Watch หรือการรับรองจากแพทย์) บริษัทจะให้เงินโบนัสวันละ 25 ดอลลาร์ สูงสุดไม่เกิน 500 ดอลลาร์ต่อปี !

จะเห็นว่าองค์กรแต่ละแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับการนอน  และคิดว่าการงีบหลับในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องผิด กลับกันสวัสดิการเพื่อการงีบหลับอาจดูเป็นเรื่องปลายเหตุ เพราะหากพนักงานมีอาการง่วงตลอดเวลา ก็อาจสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีปัญหากับการจัดสมดุลย์ชีวิต ดังนั้นเราต้องกลับมาทบทวนภาพรวมอีกครั้ง เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดต่อทุกฝ่าย 

ซื้อใจพนักงานด้วย Employee Benefits สวัสดิการใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ทุกคนมีความสุขยิ่งขึ้น

การหาสวัสดิการใหม่ ๆ คือวิธีที่ช่วยให้พนักงานมีความสุขและอยากอยู่กับองค์กรนานขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่พนักงานมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่าที่เคย พวกเขาก็ย่อมอยากให้องค์กรใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของตนมากขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน เหตุนี้หากเราเอาแต่ให้สวัสดิการแบบเดียวกับที่เคยให้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน Employee Benefits ขององค์กรเราก็คงไม่น่าดึงดูดมากพอ ทั้งกับพนักงานปัจจุบัน และพนักงานใหม่ที่ต้องโน้มน้าวใจให้เข้ามาอยู่กับองค์กรในอนาคต 

ดังนั้นเราจึงอยากพาทุกคนไปดูว่าสวัสดิการเพื่อการพักผ่อนที่น่าสนใจในโลกนี้ มีอะไรแปลก ๆ สนุก ๆ อีกบ้าง

สวัสดิการที่เราอยากนำเสนอในวันนี้เป็นเรื่องของบริษัทจากสวีเดนชื่อ Erika Lust Films ซึ่งเป็นบริษัทผลิตหนังผู้ใหญ่ที่มีนโยบายอยากให้พนักงานพักผ่อนอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีอยู่วันหนึ่ง ผู้บริหารเห็นว่าพนักงานดูเครียด ไม่ค่อยมีกระจิตกระใจทำงาน จึงไปปรึกษากับทีมแพทย์ว่ามีวิธีใดที่จะช่วยได้บ้าง จนได้ข้อสรุปว่าควรจัดทำห้องสำหรับ “ช่วยตัวเอง” เพราะจะทำให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายถึงขีดสุด 

วิธีใช้งานคือพนักงานจะมีเวลา 30 นาทีต่อครั้ง ในห้องที่เต็มไปด้วยสื่อกระตุ้น โดยวิธีที่ดูแปลกประหลาดนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าช่วยให้พนักงานกลับมาทำงานอย่างกระตือรือร้นได้จริง

ไม่ใช่แค่บริษัทนี้อย่างเดียว แต่ยังมีบริษัท Stripchat จากไซปรัสที่ติดตั้งแคปซูลสำหรับช่วยตัวเองในที่ทำงานโดยเฉพาะ แถมยังเปิดโอกาสให้องค์กรอื่นเช่าไปใช้งานอีกด้วย  ซึ่งไม่ว่าจะฟังแล้วดูประหลาดหรือไม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิธีดังกล่าวได้ช่วยให้พนักงานในองค์กรมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจริง

Employee Benefits คือสิ่งชี้วัความพึงพอใจของพนักงานในปัจจุบัน ดังนั้นหากคุณไม่รู้ว่าควรออกแบบสวัสดิการอย่างไร เราแนะนำให้ค้นหาไอเดียจาก HREX แพลตฟอร์มค้นหาบริการและผลิตภัณฑ์ HR ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ หรือกำลังมองหาตัวช่วยแบบไหน ที่นี่มีครบ !

บทสรุป

สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ก็คือความเชื่อบางอย่างที่เราเคยมองว่าไม่ถูกต้อง สามารถกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้องค์กรเติบโตขึ้นได้

ในอดีตเราคงมองว่าพนักงานที่งีบหลับในเวลางานเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ ทั้งที่หากเรามองเจาะลึกลงไป การงีบหลับตรงนั้นอาจสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการที่ผิดพลาดขององค์กรก็ได้ ดังนั้นแทนที่เราจะตัดสินคนอย่างรวดเร็ว เราควรปรึกษาพูดคุย เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายดีกว่า

วิธีนี้นอกจากจะทำให้พนักงานมีความพร้อมในการสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ ๆ แล้ว ยังช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงนโยบายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต เรียกว่าแค่เราลองเปิดใจ องค์กรของเราก็จะก้าวไปอีกขั้นได้ง่ายกว่าเดิม

การงีบหลับในออฟฟิศเป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งในการพักผ่อนให้เพียงพอเท่านั้น เราสามารถสร้างสรรค์สวัสดิการในรูปแบบอื่นได้ด้วย เช่นการปรับเวลาทำงานให้ยึดหยุ่นในช่วงที่พนักงานต้องทำงานเยอะเป็นพิเศษเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง ไม่ยึดถือเอากฎเดียวเป็นที่ตั้ง และบังคับให้ทุกคนต้องอยู่ในกรอบเดียวกัน แนวทางแบบนี้ก็จะช่วยให้ทุกคนจัดสรรตารางชีวิตได้ง่ายขึ้น และทำให้การพักผ่อนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง