HIGHLIGHT
|
เราเชื่อว่าทุกคนต้องเคยครอบครอง หรืออย่างน้อยก็เคยเล่นเครื่องเกมยอดนิยมอย่าง Game Boy และ Nintendo Switch กันแน่ ๆ แต่รู้ไหมว่าผู้ผลิตนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์นี้มีรูปแบบการบริหารงานที่เข้มข้นและมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลาจนได้รับคำชมทั้งจากรัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานด้านธุรกิจระดับโลก
บริษัทเกม Nintendo พวกเขาสามารถบริหารองค์กรให้ยั่งยืน (Sustainability) กว่า 100 ปีด้วยวิธีแบบใด สร้างความสุขให้พนักงานด้วยสวัสดิการแบบไหน หาคำตอบไปพร้อมกับเราได้ในบทความนี้
Contents
บริษัทเกมนินเทนโด้ (Nintendo) คืออะไร มีจุดเด่นอย่างไร ?
บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1889 ภายใต้ชื่อ มารุฟุกุ (Marufuku Company) โดยเริ่มต้นจากการผลิตไพ่ดอกไม้ หรือฮะนะฟุดะ (Hanafuda Cards) และได้รับความนิยมไปทั่วโลก ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นนินเทนโด้ (Nintendo) ในปี ค.ศ. 1970 โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพื่อเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นแบบดิจิทัล ก่อนจะประสบความสำเร็จอย่างสูงหลังวางขายเครื่องเล่นเกมไม่ว่าจะเป็น Game Boy, Wii หรือ Nintendo Switch ที่มีเกมชื่อดังอย่าง Donkey Kong, Super Mario Bros, The Legend of Zelda, Pokemon ฯลฯ
Nintendo เคยได้รับรางวัลองค์กรที่เหมาะกับการทำงาน (The Great Place to Work) เมื่อปี ค.ศ.2012 โดยจุดที่น่าสนใจคือมีพนักงานถึง 81% ที่พอใจกับการบริหารจัดการและอยากชวนคนใกล้ตัวให้มาร่วมงาน สถิติที่ยอดเยี่ยมนี้เองคือเหตุผลว่าทำไมนินเทนโด้จึงเป็นเครื่องเกมยอดฮิตและส่วนหนึ่งในชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย
ปัจจุบันนินเทนโด้ทำรายได้รวมกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี มีพนักงานอยู่ทั่วโลกรวมกันกว่า 6,000 ชีวิต ซึ่งล้วนเป็นคนระดับหัวกะทิ จนกล่าวได้ว่าบริษัทแห่งนี้คือบริษัทในฝันของคนที่รักเกมโดยแท้จริง
บริษัทเกมนินเทนโด้ (Nintendo) มีวิธีสรรหาพนักงานอย่างไร ?
บริษัทเกมในฝันของใครหลายคนไม่มีทางทำให้ผิดหวัง เพราะพวกเขามีค่าเฉลี่ยเงินเดือนพนักงานอยู่ที่ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.6 ล้านบาท) แถมยังมีอัตราการอยู่ร่วมกับบริษัทนานถึงคนละ 13.5 ปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแรงของวัฒนธรรมองค์กรและวิสัยทัศน์ในการทำงาน ที่ช่วยให้นินเทนโด้สามารถอยู่ในตลาดได้นานกว่า 130 ปี
นินเทนโด้มีวิธีสรรหาพนักงานอย่างไร หาตำตอบได้ที่นี่
ขั้นตอนที่ 1 : สมัครและเข้าร่วมสัมมนาองค์กร
สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการสมัครเข้าไปในเว็บไซต์ขององค์กรโดยตรง และเมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว เราจะได้รหัสใบสมัคร (Application Number) สำหรับใช้เข้าร่วมแบบทดสอบอื่น ๆ ในขั้นตอนสรรหาบุคลากรของโดยตรง
การสัมมนาจะจัดขึ้นในโตเกียวหรือโอซาก้าเป็นระยะ ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่จะย้ำว่าเป็นงานที่ “ไม่ต้องมาร่วมก็ได้” แต่ผู้ที่มีประสบการณ์ก็ต่างแนะนำว่าควรเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างเมื่อมีโอกาส เพราะเชื่อว่าองค์กรจะมีคะแนนพิเศษมอบให้คนที่ทำกิจกรรมหรือแต่งตัวเหมาะสม หรืออาจหักคะแนนหากมีคนที่ทำตัวไม่มีมารยาท เป็นต้น
กิจกรรมภายในงานสัมมนาประกอบไปด้วย
- สุนทรพจน์จากประธาน : ประธานของบริษัทจะกล่าวเปิดงานเป็นเวลาประมาณ 20 นาทีเพื่อพูดให้ผู้ร่วมงานเข้าใจวิสัยทัศน์องค์กรและรายละเอียดอื่น ๆ ในภาพรวม ก่อนที่จะอวยพรให้ผู้สมัครทุกคนประสบความสำเร็จ
- การทำแบบสอบถาม : หลังจากฟังสุนทรพจน์จบลง ผู้สมัครจะต้องทำแบบสอบถามเพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เพิ่งฟังไป โดยมีเวลาให้ทั้งหมด 15 นาที แน่นอนว่าผู้สมัครควรทำให้เสร็จตามกำหนด แม้พนักงานจะบอกว่าไม่จำเป็นก็ตาม
- การพูดคุยเป็นกลุ่มกับพนักงาน : กิจกรรมสุดทัายของงานสัมมนาคือการแบ่งผู้สมัครออกเป็นกลุ่มละ 15-20 คนเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและวิศวกรของนินเทนโด้ ผู้สมัครสามารถตั้งคำถามตามสมควรได้เลย แต่ไม่ควรอวดรู้จนเกินงาม ให้คิดเสมอว่าเราต้องมีภาพลักษณ์เป็นคนกระตือร้น ไม่ใช่เป็นคนอวดดีที่พูดไม่ยอมหยุด
ขั้นตอนที่ 2 : การกรอกใบสมัครอย่างเป็นทางการ
หลังจบขั้นตอนการสัมมนาแล้ว ผู้สมัครจะต้องกรอกใบสมัครอย่างเป็นทางการความยาว 2 หน้ากระดาษด้วยลายมือเท่านั้น วิธีนี้จะช่วยให้องค์กรเห็นว่าพนักงานมีความตั้งใจในการสมัครเข้าทำงานมากแค่ไหน โดยไม่เกี่ยวกับว่าลายมือใครสวยกว่าใคร แต่เป็นเรื่องของความปราณีต, การสะกดคำที่ไม่ผิด ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ HR สามารถแยกคนเบื้องต้นได้อย่างดี ในที่นี้ผู้สมัครควรตรวจสอบความถูกต้องซ้ำหลาย ๆ ครั้ง และส่งกลับมาที่บริษัทให้เร็วที่สุด ไม่ต้องรอให้ใกล้เดดไลน์
ขั้นตอนที่ 3 : การทดสอบทักษะแบบออนไลน์ (Web Test)
การสอบวัดทักษะของนินเทนโด้ในเบื้องต้นจะประกอบด้วย 3 หัวข้อหลักได้แค่ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ภาษาญี่ปุ่น : มีบทความยาว 1 หน้ากระดาษจำนวน 10 ชิ้น ซึ่งผู้สมัครต้องตอบคำถามโดยอ้างอิงเนื้อหาในบทความนั้นในระยะเวลาเฉลี่ยข้อละไม่เกิน 2 นาที ถือเป็นข้อสอบที่ยากมากหากเราไม่ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาหลักหรือผ่านการเรียนมาอย่างเข้มข้น ทั้งนี้เนื้อหาส่วนใหญ่จะครอบคลุมในเรื่องการแพทย์, วรรณคดี, วิทยาศาสตร์ และความรู้รอบตัว
ภาษาอังกฤษ : มีรูปแบบการสอบคล้ายกับวิชาภาษาญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องยากนักสำหรับคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีหรือเคยสอบภาษาอังกฤษในระดับสากลมาก่อน อย่างไรก็ตามคำถามในหัวข้อนี้เป็นเรื่องละเอียดและอาศัยความรู้เฉพาะทาง เช่นเรื่องกลไกการผลิตสินค้า, การเลือกใช้อุปกรณ์ช่าง ฯลฯ
คณิตศาสตร์ : มีคำถามทั้งหมด 10 ข้อ และระยะเวลาทั้งหมด 20 นาที ประกอบด้วยการคำนวนตัวเลขในตาราง ทั้งจำนวนผู้ซื้อ, จำนวนยอดขายในแต่ละสัปดาห์ โดยบางช่องจะถูกเว้นว่างไว้ให้เราใส่คำตอบที่ถูกต้องโดยอ้างอิงจากองค์ประกอบอื่น ๆ
ขั้นตอนที่ 4 : การทดสอบภาคสนาม
การสอบภาคสนามจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่คนที่สมัครด้านฮาร์ดแวร์ และคนที่สมัครด้านซอฟต์แวร์ โดยการทดสอบจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้พนักงานมีโอกาสได้เตรียมตัวล่วงหน้า การทดสอบขั้นตอนนี้ประกอบไปด้วย
- การทดสอบความรู้ความเข้าใจพื้นฐานและการใช้ภาษา C : ผู้สมัครต้องแสดงทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และเขียนโค้ดเบื้องต้นให้ได้ เป็นทักษะพื้นฐานที่โปรแกรมเมอร์ทุกคนต้องทำเป็นอยู่แล้ว
- การตอบคำถามแบบแฟร์มี (Fermi Estimation) : คือการตอบคำถามที่มองวิธีคิดมากกว่าคำตอบ เช่นการถามว่า “คุณคิดว่าประเทศของเรามีแพทย์ทั้งหมดกี่คน” ผู้สมัครต้องลองคิดคำตอบออกมาพร้อมเหตุผลที่ดีควบคู่กันไปว่าทำไมถึงมองแบบนั้น อนึ่งคำตอบที่ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลที่แท้จริงแต่อย่างใด
- การเขียนบทความขนาดสั้น : ผู้สมัครจะต้องเขียนบทความยาว 1 หน้ากระดาษในประเด็นที่สอดคล้องกับข่าวสารบ้านเมืองในขณะนั้น การติดตามสถานการณ์โลกจึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะหากเจอโจทย์ที่เราไม่รู้จัก ก็จะไม่มีโอกาสให้แก้ตัวอีกเลย อนึ่งขั้นตอนนี้เป็นจุดตัดสินสำคัญ มีสถิติระบุว่าอัตราคนสอบผ่านอยู่ที่ 1 ใน 8 เท่านั้น
ขั้นตอนที่ 5 : การสัมภาษณ์
เมื่อผ่านขั้นตอนทั้งหมดแล้ว ผู้สมัครก็จะเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่
- การสัมภาษณ์กับ HR Recruiter
- การสัมภาษณ์กับ Head of HR
- การสัมภาษณ์กับหัวหน้าแผนกที่เราสมัครเข้าทำงาน
การสมัครเข้าบริษัทใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รับรองว่าหากเราเตรียมตัวอย่างดี งานดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปแน่นอน
บริษัทเกมนินเทนโด้ (Nintendo) มีวิธีดูแลพนักงานอย่างไร ?
เมื่อเราเห็นว่าบริษัทหนึ่งอยู่ยงคงกระพันมานานกว่า 130 ปี สิ่งที่จะเกิดขึ้นในหัวเราตามมาทันทีก็คือความคิดว่า “องค์กรต้องดูแลพนักงานและทำธุรกิจได้ดีมากแน่ ๆ” เพราะไม่มีทางเลยที่องค์กรจะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้โดยปราศจากความร่วมมือร่วมใจของพนักงาน ซึ่งการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employees Engagement) โดยส่วนใหญ่นั้น ล้วนเกิดจากการมีสวัสดิการที่ดี
นินเทนโด้มีวิธีดูแลพนักงานอย่างไร ?
นินเทนโด้ (Nintendo) กับการออกนโยบายป้องกันการคุกคามต่อพนักงาน (Harasment Protection)
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2022 นินเทนโด้ได้ออกนโยบายปกป้องพนักงานจากการถูกล่วงละเมิดด้วยการให้พนักงานมีสิทธิ์ปฏิเสธลูกค้าที่ทำตัวไม่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง โดยพฤติกรรมที่เข้าข่ายล่วงละเมิดประกอบด้วย
- การข่มขู่ให้พนักงานกลัว
- การพูดจาหยาบคายและลบหลู่พนักงาน
- การฝ่าฝืนนโยบาย เช่นการขอให้ซ่อมผลิตภัณฑ์ฟรีหลังหมดประกันแล้ว
- การขอให้พนักงานขอโทษ โดยไม่มีเหตุอันสมควร
- การขอร้องหรือต่อว่าในประเด็นเดิม ๆ ซึ่งถูกจัดการไปแล้ว
- การเขียนข้อความหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์
ฮิโรมิ อิเคอุจิ (Hiromi Ikeuchi) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจาก Kansai University ยืนยันว่า การออกนโยบายของนินเทนโด้มาในช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก เพราะปัจจุบันถือเป็นยุคที่คนใช้สื่อเพื่อโจมตีกันง่ายและมากกว่าที่เคย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่นก็ออกมาชื่นชมนินเทนโด้ โดยหวังว่าบริษัทอื่น ๆ จะให้ความสำคัญกับการปกป้องพนักงานเช่นกัน
Nintendo กับสวัสดิการเพื่อชีวิตที่ดีของพนักงาน
นอกเหนือจากสวัสดิการพื้นฐานที่นินเทนโด้ให้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องแล้ว พวกเขายังมีสวัสดิการอื่น ๆ ที่ช่วยให้พนักงานมีความสุขและสนุกยิ่งขึ้น ดังนี้ !
- สวัสดิการด้านการสร้างครอบครัว : นินเทนโด้ให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัวของพนักงานมาก โดยสวัสดิการที่โดดเด่นอย่างหนึ่งคือการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ต้องการรับบุตรบุญธรรม ตลอดจนการให้วันหยุดพิเศษเพื่อช่วยในการปรับตัวหรือเกิดเหตุสำคัญเร่งด่วน
- สวัสดิการด้านส่วนลดสินค้า : ไม่ใช่แค่สินค้าของบริษัทเท่านั้นที่พนักงานจะเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกกว่าปกติ เพราะพนักงานของนินเทนโด้จะได้บัตรส่วนลดในหลากหลายเรื่อง ทั้งร้านอาหาร, การช็อปปิ้ง, กิจกรรมสำหรับเด็ก, การท่องเที่ยว ตลอดจนการไปอีเวนท์ต่าง ๆ เรียกได้ว่าทำงานให้เต็มที่ แล้วใช้ชีวิตให้สุดเหวี่ยงกันได้เลย นอกจากนี้นินเทนโด้ยังมีงานเปิดท้ายขายของ (Garage Sale) ให้พนักงานมาเลือกสินค้าในราคาพิเศษ โดยที่เงินทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ในการกุศลอีกด้วย
- สวัสดิการเพื่อเตรียมเกษียณอายุงาน : นินเทนโด้มีนโยบายใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 ที่เปิดโอกาสให้พนักงานอายุ 50 ปีขึ้นไปเลือกได้เลยว่าจะลดเวลาทำงานลงเหลือสัปดาห์ละ 3 วันหรือปรับรูปแบบงานให้คล่องตัวขึ้นหรือไม่ เพื่อให้สามารถใช้เวลากับงานอดิเรก, อยู่กับครอบครัว หรือแสวงหาเป้าหมายสำหรับวัยเกษียณ
- สวัสดิการเพื่อพนักงานหญิง : ชินยา ทาคาฮาชิ (Shinya Takahashi) หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการของนินเทนโด้ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานินเทนโด้มีพนักงานหญิงในแผนกฮาร์ดแวร์น้อยมากหากเทียบกับจำนวนพนักงานหญิงในแผนกซอฟต์แวร์ สาเหตุเป็นเพราะพนักงานหญิงส่วนใหญ่มีครอบครัวและมีลูก ดังนั้นลักษณะการทำงานของแผนกฮาร์ดแวร์อาจไม่เหมาะกับบริบทดังกล่าว เมื่อทราบเหตุผลแล้ว นินเทนโด้ก็ออกนโยบายปรับปรุงสภาพแวดล้อมในออฟฟิศควบคู่กับการออกสวัสดิการให้ส่งเสริมกันทันที โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานหญิงทุกคนสบายใจกับการทำงานทุกในทุกตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับทั้งตัวและพนักงานและนินเทนโด้เอง
ประโยชน์ของการเล่นเกมกับการทำงาน
“การเล่นเกม” เคยถูกมองเป็นปัญหาและเป็นเหยื่อของสังคมมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ต้องยอมรับเช่นกันว่ามุมมองของคนที่มีต่อการเล่นเกมได้เปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน พิสูจน์ได้จากการเติบโตของอีสปอร์ต ที่ทำเม็ดเงินมหาศาลและกลายเป็นอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่หลายต่อหลายคน นั่นแปลว่าแท้จริงแล้วการเล่นเกมมีประโยชน์มากกว่าที่คิด
เราสามารถสรุปข้อดีของการเล่นเกมออกมาได้ดังนี้
- การเล่นเกมช่วยกระตุ้นให้เรามีความจำดีขึ้น
- การเล่นเกมช่วยให้เราทำงานเป็นทีม และจัดลำดับการทำงานได้ดีขึ้น
- การเล่นเกมทำให้เราตัดสินใจในเรื่องสำคัญได้ดีขึ้น
- การเล่นเกมช่วยลดความเครียด และวิตกกังวล
นอกจากประโยชน์ในแง่ของพัฒนาการแล้ว การเล่นเกมยังถูกนำมาใช้ในการสรรหาและอบรมพนักงานด้วยแนวทาง Gamification ที่แพร่หลายมากในปัจจุบัน ดังนั้นถ้าคุณคิดว่าวิธีหาพนักงานแบบเดิมไม่ได้ผล หรืออยากทดลองแนวทางใหม่ ๆ ดูบ้าง เราแนะนำให้ใช้บริการ HR Recruitment Solutions ที่คุณสามารถเลือกได้ตามใจผ่าน HREX แพลตฟอร์มแรกของไทยที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR ไว้ในที่เดียว
บทสรุป
สิ่งที่ Nintendo สอนเรามากที่สุด คือข้อพิสูจน์ว่าการปรับตัวสามารถช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพได้จริง เพราะหากมองไปรอบ ๆ เราก็จะเห็นบริษัทเทคโนโลยีมากมายที่ยึดมั่นถือมั่นในของเดิมจนไม่เหลือศักยภาพในการแข่งขัน และหายไปจากท้องตลาด
การศึกษาคู่แข่งและพยายามเข้าใจบริบทของโลกอยู่ตลอดเวลา คือเคล็ดลับที่จะช่วยให้เรายังคงสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้อื่นได้อยู่ เฉกเช่นตัวเราเองที่ยังคงสนุกกับการไล่จับโปเกม่อนเหมือนกับตอนเป็นเด็กเมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมาอยู่เลย
อ่านจบแล้ว หยิบเกมขึ้นมาเล่นสักนิดก็ดีนะ !