HIGHLIGHT
|
คนทำงานในปัจจุบันคงได้ยินคำว่า “การกำหนดขอบเขต” (Set Boundaries) อยู่บ่อยครั้ง เพราะการเกิดโควิด-19 ได้ทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ทั้งด้านการทำงานและการเข้าสังคม ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการตีกรอบ สร้างขีดจำกัด และกำหนดขอบเขตการทำงานจึงเป็นแนวทางที่ช่วยให้เราแบ่งเวลาทำงาน (Work Time) กับเวลาอยู่บ้าน (Home Time) ได้ดีขึ้น แถมยังช่วยลดการเอาเปรียบ, ยกระดับการสื่อสาร ตลอดจนช่วยจัดลำดับความสำคัญของงานให้เป็นระบบกว่าเดิม
การสร้าง Healthy Boundary มีหลักการอย่างไร หาคำตอบได้จากบทความนี้
การกำหนดขีดจำกัดและขอบเขต (Setting Healthy Boundaries) คืออะไร ?
การกำหนดขีดจำกัดและขอบเขตการทำงานหมายถึงการสร้างจุดสิ้นสุดให้กับสิ่งที่กำลังทำอยู่เพื่อไม่ให้รู้สึกเหนื่อยหรือเสียพลังชีวิตมากเกินไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัวให้ชัดเจน เพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดได้ทำให้คนเกิดอาการหมดไฟ (Burnout) ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างอุ่นใจเหมือนเคย
การสร้างขีดจำกัดและขอบเขตการทำงานไม่ใช่เรื่องของพนักงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายบุคคล (HR), กลุ่มผู้นำและผู้บริหาร (Leaders) เพื่อวางนโยบายให้สอดคล้องกัน หากบริษัทไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็จะไม่สามารถต่อกรกับกระแสโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation), การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ (Methods of Learning) หรือแม้แต่การเลือกสวัสดิการ (Employees Benefits) ให้เหมาะกับความต้องการของพนักงาน ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนองค์กรให้ดีขึ้น ก็ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่าวิธีการทำงานในองค์กรได้ให้ความปลอดภัยทางด้านร่างกายและจิตใจมากพอหรือยัง
คุณเอสเธอร์ เพเรล (Esther Parel) นักจิตบำบัดและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์เจ้าของหนังสือเรื่อง Mating in Captivity: Unlocking Erotic Intelligence กล่าวว่าการกำหนดขีดจำกัดและขอบเขตการทำงานหมายถึงการรู้ว่าเวลาใดที่ควรมีปฏิสัมพันธ์ (Connection) และเวลาใดที่ควรแยกตัวออกมา (Separateness) เพราะทุกครั้งที่เราเปิดโอกาสให้สิ่งใดเข้ามาในชีวิต เราต้องรู้ให้ได้ว่าจะวางมันไว้ตรงจุดไหน และพฤติกรรมแบบใดที่ถือว่าก้าวข้ามข้อจำกัดหรือขอบเขตดังกล่าวไปแล้ว สรุปโดยง่ายว่าการทุ่มเทให้กับสิ่งหนึ่งไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ให้คิดว่าสิ่งนั้นจะเข้ามาอยู่กับเราเพียงชั่วคราว ไม่จำเป็นต้องเสียสละจนทำร้ายตัวเองแต่อย่างใด
ขีดจำกัดและขอบเขตการทำงาน (Working Boundaries) ที่สำคัญ 5 ข้อประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
การกำหนดขีดจำกัดและขอบเขตการทำงานจำเป็นต้องทำอย่างเหมาะสม เพราะเรื่องบางเรื่องก็ควรปล่อยให้ไหลไปตามสถานการณ์โดยควบคุมเพียงหลวม ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เหตุนี้การฝึกอบรมพนักงานจึงเป็นอีกกลไกที่จะช่วยให้เรารู้ว่าสถานการณ์แต่ละอย่างเหมาะกับพฤติกรรมแบบใดและบริบทใดบ้างที่เราควรตั้งขอบเขตขึ้นมาได้แล้ว โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้
ขีดจำกัดและขอบเขตด้านจิตใจ (Mental Boundaries)
หมายถึงการปกป้องตัวเองไม่ให้ใช้พลังไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่นการเข้าร่วมประชุมที่เปล่าประโยชน์, การทุ่มเทเพื่อแก้ไขปัญหาของคนอื่น หรือแม้แต่การอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่มีใครเห็นค่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราไม่สามารถโฟกัสอยู่กับเรื่องที่ควรให้ความสำคัญที่สุด (Valuable Focus) ซึ่งนับเป็นรากฐานของปัญหาและเป็นขีดจำกัดแรกที่เราต้องสร้างขึ้นมา อนึ่งเราสามารถเริ่มตีกรอบให้กับเรื่องนี้ด้วยการ
- กำหนดเวลาทำงานให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ออฟฟิศหรือที่บ้าน
- พูดคุยกับทีมให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้แต่ละฝ่ายรู้หน้าที่รับผิดชอบ และจัดลำดับความสำคัญได้อย่างมีแบบแผนกว่าเดิม
- ปฏิเสธการเข้าประชุมที่ไม่เกิดประโยชน์ทั้งกับตัวเองและองค์กร
- ใช้วันลาอย่างเหมาะสมเพื่อการผักผ่อนและดึงตัวเองออกจากความเครียดในเวลาที่ต้องการ
ขีดจำกัดและขอบเขตด้านกายภาพ (Physical Boundaries)
หมายถึงการสร้างกรอบให้กับทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย ไม่ให้คนหรือสถานการณ์ใดพาคุณไปอยู่ในจุดที่อันตรายหรือรู้สึกไม่สบายใจเด็ดขาด ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harrasment) หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการทักทาย (Greetings) ตามวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อนึ่งเราสามารถเริ่มตีกรอบให้กับเรื่องนี้ด้วยการ
- ใช้การยกมือไหว้สวัสดีหรือใช้การจับมือแทนการสวมกอดหรือจุมพิต แม้จะเข้าใจในวัฒนธรรมการทักทายของฝ่ายตรงข้ามก็ตาม
- ปิดกล้องขณะประชุมออนไลน์ ในสถานการณ์ที่รู้สึกไม่สบายใจ
- ตัดสินใจลางานทันทีเมื่อรู้สึกว่าถูกก้าวล่วงโดยไม่จำเป็นต้องอธิบายสาเหตุมากมายจนกระทบจิตใจ ให้พูดเพียงแค่ประเด็นที่จำเป็นสำหรับการลางาน และส่งผลต่อการทำงานของทีมเท่านั้น
ขีดจำกัดและขอบเขตด้านอารมณ์ (Emotional Boundaries)
ความเจ็บปวดทางอารมณ์เป็นประเด็นที่อ่อนไหว เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เปรียบง่าย ๆ ว่าอารมณ์แง่ลบที่ไม่ถูกแก้ไขโดยเร็วจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต แต่ปัญหาคือในโลกความเป็นจริง มนุษย์มักกลัวที่จะแสดงความอ่อนแอ (Weakness) จึงมักเกิดความรู้สึกที่สะสมกดทับกันไปเรื่อย ๆ ดังนั้นปัจจัยแรกที่เราต้องทำให้ได้ก็คือการยอมรับว่าความเสียใจเป็นเรื่องธรรมดาและไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการดูแลสุขภาพใจของตัวเองอีกแล้ว เมื่อเข้าใจตรงนี้ เราก็จะกล้าแสดงออกตามความเป็นจริง เช่นดีใจเมื่อทำงานสำเร็จ, เสียใจเมื่องานล้มเหลว, โกรธเมื่ออีกฝ่ายไม่ทุ่มเทอย่างที่คิด เป็นต้น
การยอมรับทุกความรู้สึกในชีวิตเป็นเรื่องยาก แต่มนุษย์จะเข้าใจมากขึ้นเมื่อฝึกฝนเป็นประจำ อนึ่งเราสามารถเริ่มตีกรอบให้กับเรื่องนี้ด้วยการ
- ไม่ไหลไปตามอารมณ์ของผู้อื่น เช่นหากเพื่อนร่วมงานอารมณ์เสียและแสดงกริยาหยาบคาย ก็ไม่ควรเอาตัวเองเข้าแลกเพื่อปกป้องใครก็ตาม ให้มองภาพรวมว่าหากเราทำแบบนั้น จะเกิดปัญหาใดตามมาบ้าง
- คุยกับหน้างานให้ชัดเจนว่าเราไม่ชอบพฤติกรรมการทำงานแบบไหน และหาทางแก้ไขร่วมกัน
- ไม่ปล่อยให้ทัศนคติของคนอื่นมีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตของเรามากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงานหรือชีวิตส่วนตัว
ขีดจำกัดและขอบเขตด้านเวลา (Time Boundaries)
เวลาของทุกคนเป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีใครที่ควรเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นการตีกรอบด้านเวลาจึงหมายถึงการบริหารจัดการให้เราสามารถใช้เวลากับทุกเรื่องที่สนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มากหรือน้อยเกินไป โดยอ้างอิงอยู่บนบริบทของความเหมาะสมและการจัดลำดับขั้น (Prioritize) ที่แตกต่างกัน อนึ่งเราสามารถเริ่มตีกรอบให้กับเรื่องนี้ด้วยการ
- กล้าปฏิเสธคำเชิญหากรู้สึกว่าไม่สอดคล้องหรือคุ้มค่ากว่าแผนเดิมที่วางไว้ ทั้งนี้เราอาจใช้วิธีเสนอทางเลือกอื่น ๆ (Solutions) เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับผู้ที่เอ่ยปากชวนก็ได้
- ออกตัวล่วงหน้าว่าเรามีเวลาให้กับเรื่องนั้น ๆ มากน้อยแค่ไหน เช่นการตอบรับคำเชิญแต่แจ้งหมายเหตุว่าเราสามารถอยู่ได้เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น เป็นต้น
- ถามตัวเองว่าคำเชิญที่ได้รับทำให้ชีวิตของเราลำบากหรือไม่ โดยย้อนกลับไปมองบริบทด้านอารมณ์และสภาพจิตใจเป็นที่ตั้ง
ขีดจำกัดและขอบเขตด้านวัตถุ (Material Boundaries)
กรอบสุดท้ายที่เราต้องให้ความสำคัญก็คือเรื่องของวัตถุที่เราครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุขนาดเล็กอย่างปากกา, โทรศัพท์, คอมพิวเตอร์ หรือวัตถุขนาดใหญ่อย่างรถยนต์, บ้าน ฯลฯ เราต้องแยกให้ออกว่าสิ่งของชิ้นใดที่สามารถแบ่งปันกับผู้อื่นได้ และสิ่งของใดที่ควรเก็บไว้ส่วนตัว เพราะในความเป็นจริงเราต่างเคยเจอเพื่อนร่วมงานยืมของเล็ก ๆ น้อย ๆ และนำไปใช้โดยปราศจากความใส่ใจ ดังนั้นการสร้างขีดจำกัดและขอบเขตด้านวัตถุจะช่วยปกป้องความเจ็บปวดอื่น ๆ ที่อาจพบเจอในแต่ละวัน อนึ่งเราสามารถเริ่มตีกรอบให้กับเรื่องนี้ด้วยการ
- ปฏิเสธตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะนำไปสู่ปัญหาใด ๆ หากตั้งอยู่บนหลักของความถูกต้อง เพราะความเกรงใจถือเป็นสิ่งที่อีกฝ่ายต้องมอบให้เราเช่นกัน
- เสนอทางเลือก เช่นปฏิเสธไม่ให้ยืมเงิน แต่ก็ยินดีช่วยในด้านอื่น ๆ แทนตามความเหมาะสม
- ให้ยืมตามคำขอ แต่กำหนดวันคืน (Deadline) ให้ชัดเจน ทั้งนี้ต้องไม่กลัวที่จะติดตามสิ่งของหากผู้ยืมไม่คืนในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้
จะเห็นว่าการสร้างขีดจำกัดและขอบเขตแต่ละประเภทมีความเกี่ยวข้องกันเสมอ การตีกรอบให้เรื่องหนึ่งจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจเรื่องอื่นควบคู่กันไปด้วยเท่านั้น เหตุนี้ HR จึงต้องหาข้อมูลว่าพนักงานในการดูแลของตนมีทักษะด้านนี้มากพอหรือไม่ เพราะท้ายสุดแล้วการตีกรอบให้เป็นคือรากฐานของคำว่า “รักตัวเอง” ที่ทุกคนควรมี
เลิกเป็น Yes Man ! เริ่มกำหนดขีดจำกัดและขอบเขตการทำงานได้แล้ว
การไม่รู้จักสร้างขอบเขตการทำงาน จะทำให้เรากลายเป็นคน “อะไรก็ได้” หรือเรียกเป็นคำคุ้นหูว่า Yes Man โดยคนลักษณะนี้มักมีปัญหาในการทำงานเพราะเพื่อนร่วมงานไม่เกรงใจ แถมการรับผิดชอบหน้าที่แบบเกินตัวจะทำให้ผลลัพธ์ออกมาแย่หรือแค่เสมอตัว และต้องทุ่มเทเพิ่มไปอีกขั้นหากต้องการให้ผลงานออกมาดีซึ่งไม่ใช่วิธีทำงานที่ถูกต้อง อนึ่งการตอบตกลงโดยไม่รู้ตัวมีคำเรียกแบบเจาะจงว่า “Yes Autopilot” เกิดจากความไม่มั่นใจตัวเอง (Lack of Confidence) เพราะขาดความรู้หรือเคยถูกล้ำเส้นในวัยเด็กจนไม่เชื่อในการสร้างขีดจำกัดให้ชีวิตอีกต่อไป
สาเหตุที่น่าสนใจอื่น ๆ ของการเป็น Yes Man คือการเกิดสภาวะ FOMO (Fear of Missing Out) หมายถึงความกลัวที่จะพลาดเหตุการณ์สำคัญ ทำให้ไม่กล้าตั้งขีดจำกัดหรือกำหนดขอบเขตขึ้นมา เพราะเอาแต่คิดว่า “จะทำอย่างไรหากมีเรื่องดี ๆ เกิดขี้นตอนที่ฉันไม่อยู่” เลยเลือกตอบตกลงไว้ก่อนเพื่อการันตีว่าตนจะไม่ถูกมองข้าม ซึ่งดร.นาตาลี คริสทีน ดัตติโล่ (Natalie Christine Dattilo) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) กล่าวว่าความคิดแบบนี้จะนำไปสู่การเป็นโรควิตกกังวล (Anxiety Attack), การย้ำคิดย้ำทำ (Compulsive Disorders) และการเหนื่อยโดยไม่จำเป็น (Overscheduling) เพราะอยากปรากฏตัวในทุกสถานการณ์
ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจาก Entrepreneur จึงสรุปว่าก่อนที่จะตกลงรับงานใดก็ตาม เราต้องเริ่มจากการดูว่าตารางชีวิตเป็นอย่างไร มีช่องว่างมากพอหรือไม่ และไม่รับงานที่ทำให้เราต้องใช้เวลาชีวิตมากขึ้นเด็ดขาดหากไม่มีแนวทางรับมือที่เหมาะสม ที่สำคัญการตอบตกลงพร่ำเพรื่อยังอาจทำให้เราเสียโอกาสที่สำคัญในชีวิตเพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่างานในฝันจะเข้ามาเมื่อใด การสร้างขีดจำกัดและกำหนดขอบเขตการทำงานจึงเป็นวิธี “เตรียมพร้อม” สำหรับการเติบโตในหน้าที่การงานอย่างแท้จริง
บทสรุป Healthy Boundary
ในวัยหนึ่ง เราอาจคิดว่าการทุ่มเทกับงานแบบหามรุ่งหามค่ำเป็นภาพแสดงของความจริงจัง และหวังว่าผลงานดังกล่าวจะทำให้ผู้นำองค์กรพอใจจนนำไปสู่ความก้าวหน้าในอาชีพ แต่ความจริงนั้นความคิดเห็นของคนอื่นเป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ยากหากเทียบกับการปรับทัศนคติตัวเองที่ควบคุมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เหตุนี้การกำหนดขีดจำกัดและขอบเขตการทำงานจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยจัดสมดุลชีวิตให้เราพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น นี่คือจุดที่ HR, หัวหน้าทีม และผู้นำองค์กรต้องให้ความสำคัญ ทั้งด้วยการทำแบบสอบถามเพื่อรับฟังความเห็น (Feedbacks) และการจัดอบรมให้พนักงานมีความรู้เท่าทันกับทุกกระแสที่เกิดขึ้นในโลกการทำงาน
หากคุณยังไม่เคยเข้าสู่โลกของการอบรม หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นใช้บริการและผลิตภัณฑ์ HR อย่างไร เราขอแนะนำ HR Products & Services แพลตฟอร์มค้นหา HR Products & Services ที่ครบเครื่องที่สุดในเมืองไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ เราก็มีตัวช่วยให้คุณแบบคลิกเดียวจบ !