HIGHLIGHT
|
HR (Human Resources) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อว่า “ฝ่ายบุคคล” แต่หากจะเรียกอย่างเป็นทางการและให้ดูดีหน่อย ก็อาจจะเรียกได้ว่า “ฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์” ถือเป็นอีกหนึ่งแผนกที่มีความสำคัญกับองค์กรเป็นอย่างมากทีเดียว เพราะ HR ถือเป็นด่านแรกในการคัดสรรบุคลากรเข้ามาทำงาน นอกจากนี้ยังคอยคิดคำนึงถึงผลประโยชน์ของบุคลากร พัฒนาศักยภาพการทำงานของพนักงานอีกด้วย แล้วการเป็น HR มืออาชีพ หรือฝ่ายบุคคลที่ดี ต้องทำยังไงบ้างหนอ? ในบทความนี้ HREX จะมาแถลงไขให้ทุกคนเอง!
Contents
การเป็น HR Professional (HR มืออาชีพ) สำคัญอย่างไร?
เมื่อก่อนใคร ๆ ก็ชอบคิดว่าแผนก HR วัน ๆ ทำอะไรบ้างนะ หรือไม่ก็แค่สัมภาษณ์งาน ดูแลเรื่องคนเข้า คนออก คนลาป่วย ลากิจ อะไรทำนองนี้ แม้แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังมีหลายคนที่คิดแบบนี้อยู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น HR ไม่ได้มีหน้าที่แค่ดูแลคนแบบผิวเผินอย่างที่ใครคิด แล้วจริง ๆ HR มืออาชีพต้องทำอะไรบ้าง?
ปัจจุบันเทรนด์การทำงานเปลี่ยนไปเยอะมากจนหลายคนก็คาดไม่ถึง HR จึงไม่ได้เป็นแค่คนที่อยู่เบื้องหลังพนักงานทุกคนในองค์กร แต่ยังต้องเป็น “เพื่อนคู่คิด” ให้กับผู้บริหารด้วย เพราะ HR มืออาชีพจำเป็นต้องเป็นนักธุรกิจ คือรอบรู้เรื่องธุรกิจไปด้วย ต้องเข้าใจว่าบริบทกับธุรกิจคืออะไร ในขณะเดียวกันก็จะต้องบาลานซ์ความเป็นที่พึ่งที่ดีให้กับพนักงานให้ได้ด้วย
ถ้าถามว่า HR ต้องดูแลผลประโยชน์ของใครระหว่างองค์กรและพนักงาน ก็ตอบได้เลยว่า HR ต้องดูแลผลประโยชน์ขององค์กรก่อน แต่หนึ่งในผลประโยชน์ขององค์กรก็คือการดูแลพนักงานในองค์ให้มีสวัสดิการที่ดี มีความสุขในการทำงาน เพราะหากพนักงานไม่อยากทำงานให้องค์กรเมื่อไหร่ ก็ถือว่าองค์กร (และ HR คนนั้น) ตกอยู่ในสภาวะล้มเหลวเสียแล้ว
ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง? ถ้าอยากเป็น HR Professional (HR มืออาชีพ)
โดยมาก HR จะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่เรียกได้ว่าใครเห็นเป็นต้องรู้ว่าคนนี้แหละทำงานเป็น HR เช่น ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี วางแผนเก่ง มีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังจะต้องเป็นผู้ให้คำปรึกษากับคนอื่นได้ดีด้วย อาจจะเป็นคนที่ open-minded และที่สำคัญต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาด้วย
แต่ว่า! คุณสมบัติของ HR มืออาชีพ (ที่ไม่ใช่ HR มือสมัครเล่นทั่วไป) จะเห็นได้ว่าค่อนข้างพิเศษและเฉพาะตัว เพราะเป็นงานที่จะต้องมีการติดต่อและสื่อสารกับพนักงานคนอื่นในองค์กรทุกภาคส่วนจริง ๆ จึงจำเป็นต้องมี
ทักษะการสื่อสาร
ทักษะนี้จำเป็นอย่างมากสำหรับ HR ในบางครั้งยังต้องมีการพูดคุยถึงเรื่องผลประโยชน์ของพนักงาน เช่น เรื่องการปรับเงินเดือน การลงโทษต่าง ๆ ส่งผลให้ฝ่ายบุคคลจะต้องรับมือกับอารมณ์ของพนักงานขณะนั้นให้ได้ และจำเป็นที่จะต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเอง เพราะหากอามรมณ์ร้อนไปกับพนักงานที่อารมณ์เสียไปด้วยทุกอย่างก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก
ทักษะด้านจิตวิทยา
ในขณะเดียวกันสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกอย่างคือการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเฉพาะหน้า เพราะไม่ว่าจะขาด ลา มาสาย เบิกเงินล่วงหน้า ก็ล้วนต้องติดต่อกับฝ่ายบุคคลด้วยกันทั้งสิ้น อาจมีพนักงานบางคนมาระบายปัญหาบางอย่าง ทำให้ฝ่ายบุคคลนอกจากจะต้องรับฟังปัญหาเหล่านี้แล้ว ยังต้องคอยให้คำแนะนำในทิศทางที่ดีได้ รวมไปถึงการไม่หยุดยั้งพัฒนาตนเองให้เท่าทันต่อเทคโนโลยี สังคม ข่าวสารใหม่ ๆ ตลอดเวลา
ทักษะด้านธุรกิจ
และที่สำคัญที่ได้พูดถึงไปในหัวข้อแรก สิ่งสำคัญมาก ๆ สำหรับการเป็น HR มืออาชีพในยุคนี้ต้องเรียกได้ว่าเป็นงานที่หนักหน่วงมาก เพราะ HR ต้องเข้าใจเรื่องธุรกิจอย่างถ่องแท้ เป็นพาร์ทเนอร์ด้านการดูแลกลยุทธ์ของบริษัทในยุคนี้ ทั้งผู้บริหารและตัว HR เองจำเป็นต้องคิดว่าตัวเองเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์กับบริษัท ไม่ใช่แค่เป็นพนักงานทั่วไป เพราะ HR มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาและทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายตามแผนธุรกิจและวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กร เหตุผลหลักที่ HR จำเป็นต้องรู้เรื่องธุรกิจก็เพื่อที่จะซัพพอร์ตแผนทางธุรกิจให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตำแหน่งงาน การจ้างงาน การโปรโมท การทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า ดูแลด้านระบบการพัฒนาและประเมินผลงาน การวางแผน Career Path และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานด้วย เมื่อ HR เชี่ยวชาญด้านธุรกิจก็จะสามารถจัดระบบเกี่ยวกับคนในองค์กรได้เป็นอย่างดี
HR Professional (HR มืออาชีพ) สร้างรายได้ให้กับบริษัทได้อย่างไร?
หากบอกว่า HR สามารถสร้าง ‘ประโยชน์’ ให้กับองค์กรได้ ทุกคนย่อมไม่ปฏิเสธ เพราะทุกฝ่ายในบริษัทต่างก็มีคุณประโยชน์แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าบอกว่าฝ่ายบุคคลก็สามารถสร้าง ‘รายได้’ ให้กับองค์กรได้ หลายคนก็เริ่มเกิดคำถามขึ้นมาแล้ว เพราะฝ่ายบุคคลทำงานอยู่เบื้องหลัง เนื้องานไม่ได้เกี่ยวข้องกับพวกผลิตภัณฑ์ สินค้า จะไปสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้ยังไง? ที่จริงแล้ว ฝ่ายบุคคล สร้างประโยชน์ และรายได้ให้กับองค์กรในทางอ้อม ไม่ใช่ทางตรงนั่นเอง ดังนี้
การคัดเลือกพนักงาน
หนึ่งในหน้าที่หลักของ HR หรือฝ่ายบุคคล นั่นคือการค้นหาพนักงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ในองค์กร ยิ่งฝ่ายบุคคลคัดเลือกพนักงานมาสัมภาษณ์ได้ตรงกับความต้องการ ฝ่ายงานนั้น ๆ ก็จะยิ่งได้พนักงานใหม่เร็วขึ้น ส่งผลให้การทำงานในฝ่ายนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันหากองค์กรต้องการปรับโครงสร้างพนักงาน ต้องการลดภาระค่าใช้จ่าย HR มืออาชีพยังสามารถหารือกับหน่วยงานแต่ละฝ่ายได้ เพื่อดูว่าตำแหน่งไหนหากขาดไปแล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างโดยรวมมากนัก
การหาหลักสูตรอบรม หรือ Training
ไม่เพียง HR มืออาชีพต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แต่บางครั้งยังต้องจัดหาหลักสูตรอบรมให้กับพนักงาน การอบรมในที่นี้ก็ยังแบ่งเป็นสองแบบคือ อบรมภายใน กับอบรมภายนอก การอบรมภายในอาจขอความร่วมมือกับพนักงานเก่งที่มีความสามารถ แล้วมาแบ่งปันความรู้ให้กับพนักงานคนอื่น ๆ ส่วนการอบรมภายนอกก็คือการให้พนักงานหาสิ่งที่ตัวเองสนใจ ต้องการพัฒนา และเกี่ยวข้องกับเนื้องาน แล้วไปอบรมรมด้วยตัวเอง จากนั้นค่อยมาเบิกเงินได้
จูงใจสร้างความจงรักภักดีให้กับองค์กร
การลาออกของพนักงาน ถือเป็นสิ่งที่ HR มืออาชีพ ต้องพบเจอเป็นประจำ สาเหตุในการลาออกนั้นมีมากมาย หากตัดปัญหาในเรื่องส่วนบุคคลไป องค์กรควรมีวิธีจูงใจให้พนักงานเกิดความภักดีในองค์กร เช่น การปรับเงินเดือนในทุก ๆ ปี ท่องเที่ยวประจำปีของบริษัทหรือของรางวัลพิเศษมอบให้กับพนักงานที่มีความโดดเด่น และเมื่อพนักงานมีความรู้สึกร่วมกับองค์กร ก็จะเกิดความภักดี การลาออกก็จะน้อยลง องค์กรก็ไม่ต้องไปสรรหาพนักงานใหม่ การทำงานทุกส่วนก็จะต่อเนื่อง ไม่สะดุด
บทสรุป
ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับส่วนหนึ่งที่ HR NOTE ได้รวบรวมเอาไว้ ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเราชาว HR แล้ว คนภายนอกหรือพนักงานในแผนกอื่น ๆ ที่สนใจก็ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย
ซึ่ง HR มืออาชีพจะค้นหาบริการที่ดีที่สุดให้กับองค์กร HR Explore ได้รวบรวมมาให้คุณแล้ว! เพียงแค่เข้าไปที่เว็บไซต์ของเรา เป็นพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลและบริการ ด้าน HR เอาไว้มากที่สุดในประเทศไทย! ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาพนักงาน ค้นหาหลักสูตรอบรมที่เหมาะสมกับพนักงาน รวมไปถึงยังสามารถให้คำแนะนำสินค้า และบริการให้กับคุณได้ด้วย
ที่มา |