Search
Close this search box.

Effective Rest ชาร์จแบตช่วงวัยหยุดยาวอย่างไร ให้กลับมาทำงานอย่างไฟลุก! 

HIGHLIGHT

  • มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานในช่วงหลังวันหยุดยาวจะไม่เต็มที่มากนัก เหตุเพราะสมองของเราไม่มีการตื่นตัวเกิดขึ้นในช่วงวันหยุด
  • มีการทดลองให้พนักงาน 240 คน ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ระยะเวลา 2 เดือน ผลปรากฏว่าประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 18-20 เปอร์เซ็นต์
  • การนอนมากขึ้นจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสมอง ทำให้ได้ทำงานพักผ่อนอย่างเต็มที่ ซ่อมแซมส่วนที่เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และทำให้สมองเราพร้อมรับต่อการทำงานที่จะมาถึงต่อไปในวันเปิดทำงาน 
  • การกินมากเกินไปคือศัตรูคู่อาฆาตของวันพักผ่อน เราทุกวันต้องมีวัน Cheat day อยู่แล้ว แต่การกินมากไปทำให้ร่างกายอึดอัด เผาผลาญได้ช้า รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา และซึมเซาจนถึงวันเปิดทำงานได้ อาจทำให้ความกระตือรือร้นลดลง
  • ให้ลุกทันทีที่นาฬิกาปลุก หากเลื่อนเวลานอนต่อไปอีกเพราะกดปุ่ม snooze ร่างกายจะยิ่งรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้สมองสับสน และส่งผลให้ทั้งวันนั้นเรารู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สดชื่น ไม่มีพลังงาน 

Company Outings : เสียเวลา เปลืองงบ หรือ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าขององค์กร

เมื่อเทศกาลหยุดยาวมาถึง เป็นช่วงเวลาแสนสุขสำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือนและพนักงานทั้งหลายเพราะจะได้หยุดพักผ่อนอยู่บ้านกันไปยาว ๆ หรือบางคนก็ไปเที่ยวยิงยาวจนกว่าจะถึงวันเปิดทำงาน แต่การได้พักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อชาร์จพลังจนกว่าจะถึงวันทำงาน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จริง ๆ แล้วต้องทำอย่างไร เพราะสิ่งที่เราทำในช่วงวันหยุดยาวนี้เองจะส่งผลต่อสมองของเราในการทำงานในสัปดาห์ถัดไป HR NOTE จะพาทุกท่านไปหาคำตอบกันในบทความนี้

ยิ่งหยุดยาว ยิ่งมีประสิทธิภาพ (Effective Rest)จริงหรือ?

มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานในช่วงหลังวันหยุดยาวจะไม่เต็มที่มากนัก เหตุเพราะสมองของเราไม่มีการตื่นตัวเกิดขึ้นในช่วงวันหยุด และแน่นอนว่าในช่วงวันหยุดก็คงไม่มีใครคิดถึงเรื่องงานอยู่แล้ว การหยุดพักมากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไปจะทำให้เอื่อยเฉื่อยและสมองไม่ตื่นตัว 

ถ้าอย่างนั้นหยุดกี่วันถึงจะดี?

นักจิตวิทยาชาวสเปน สาขาจิตวิทยาการทำงาน K. Anders Ericsson ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน พบว่าการทำงาน 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เพราะความจริงแล้วสมองคนเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้เพียงวันละ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น จึงเริ่มมีหลายองค์กรจากหลายประเทศทั่วโลกเสนอวิธีทำงาน 4 หยุด 3 หรือทำงานเพียงสัปดาห์ละ 32 ชั่วโมง เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานว่าดีกว่าแบบเดิมจริงหรือไม่ และยังช่วยเรื่อง Social Distancing ลดการพบปะกันในช่วงของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นวัฒนธรรมของการทำงานรูปแบบใหม่อีกด้วย ผลงานวิจัยหลายงานก็ได้มีการวิจัยออกมาแล้วว่า การทำงานเพียง 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่ก็ควรเป็นวันหยุด 

การได้หยุด 3-4 วันต่อสัปดาห์ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น เห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจาก Perpetual Guardian บริษัทจัดการมรดกและอสังหาริมทรัพย์ ประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีการทดลองให้พนักงาน 240 คน ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ระยะเวลา 2 เดือน โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวิจัย ผลปรากฏว่าประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 18-20 เปอร์เซ็นต์ มีแรงกระตุ้นเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ มีความเป็นผู้นำเพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์ การเคารพซึ่งกันและกันในที่ทำงานเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญที่สุดคือ พนักงานมีสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 24 เปอร์เซ็นต์ 

แต่ใคร ๆ ก็อยากหยุดยาวจริงไหม งั้นเรามาดูวิธีที่จะทำให้การได้พักผ่อนยาว ๆ ไม่ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน และยังส่งผลดีต่อตัวคนทำงานอีกด้วย

พักผ่อนหยุดยาวอย่างไรให้มีประสิทธิภาพแบบเต็มสูบ (Effective Rest)

  • ‘นอน’ คำเดียวช่วยแก้ปัญหาทุกอย่าง อย่างแรกที่สำคัญคือการนอนมากขึ้นจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสมอง ทำให้ได้ทำงานพักผ่อนอย่างเต็มที่ ซ่อมแซมส่วนที่เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และทำให้สมองเราพร้อมรับต่อการทำงานที่จะมาถึงต่อไปในวันเปิดทำงาน 
  • นอกเหนือจากการนอนให้มากขึ้นแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นอีกมากที่หากทำในช่วงวันหยุดยาว ก็จะช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองเราให้ดียิ่งขึ้น คือการออกกำลังกาย การใช้เวลากับงานอดิเรก หรือการเสพสื่อเอนเตอร์เทนที่ทำให้สมองและจิตใจเราได้พักผ่อนอย่างแท้จริง
  • กินอาหารให้ดีและดื่มน้ำให้เยอะเท่าที่จะทำได้ เพราะในวันไปทำงานอันแสนเร่งรีบอาจจะทำให้เราละเลยการได้รับอาหารที่ดี ดื่มแต่ชาหรือกาแฟเพื่อช่วยให้ทำงานหนัก ๆ ได้แต่กลับดื่มน้ำเปล่าน้อยมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว น้ำเปล่านั้นดีที่สุด ไหน ๆ ก็ได้หยุดพักผ่อนยาว กลับมาฟิตร่างกายในช่วงนี้ให้แข็งแรงกันดีกว่า
  • ขยับร่างกาย ออกกำลังกายเบา ๆ หลังจากเผชิญกับปัญหาออฟฟิศซินโดรมมานาน ช่วงที่หยุดพักผ่อนยาว ๆ แบบนี้ก็ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ออกไปเดินในสวน สูดอากาศดี ๆ เดินสักวันละสองสามกิโลก็ช่วยได้มากแล้ว สำหรับพนักงานเงินเดือนที่แทบจะไม่ได้ออกกำลังกายและวัน ๆ ต้องจ้องอยู่แต่กับหน้าคอม ที่สำคัญอย่าลืมยืดเหยียดร่างกายให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายด้วย
  • พักสายตาให้ได้มากที่สุด เพราะการใช้สายตาจ้องหน้าจอที่มีแสงสีฟ้า หรือเพ่งตัวหนังสือมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันไม่เป็นเรื่องดีต่อสายตาเลย อาจจะทำให้สายตาสั้น พร่ามัว ตาแห้ง และอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เวลาที่เราได้พักจากการทำงานก็ควรหากิจกรรมที่จะทำให้ได้พักสายตา เช่น ปลูกต้นไม้ในสวน มองสีเขียวให้ชื่นตาชื่นใจ 
  • นั่งสมาธิวันละ 5-10 นาที จริง ๆ แล้วข้อนี้เป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุดและไม่ใช่แค่เฉพาะวันหยุดเท่านั้น แต่วันทำงานปกติเราก็ควรจะนั่งสมาธิเพื่อสงบจิตสงบใจ ทำให้มีสติมากขึ้น ได้ทบทวนเรื่องราวในแต่ละวัน และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองดีขึ้นด้วย
Digital Fatigue ภาวะเหนื่อยล้าจากดิจิทัล และวิถีการช่วยเหลือพนักงานให้หายเหนื่อย

หยุด! ทำสิ่งเหล่านี้ในช่วงหยุดยาว เพื่อให้เกิด Effective Rest

ออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง

จุดสำคัญของวันพักผ่อนคือการปล่อยให้ร่างกายได้พักจริง ๆ เพื่อให้สามารถฟื้นตัวเองได้ และผ่อนคลายจากวันหนัก ๆ ในการทำงาน การออกกำลังกายหนักขึ้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการพักผ่อน ทำให้ร่างกายต้องเสียพลังงานหนักมาก  

กินมากเกิน

การกินมากเกินไปคือศัตรูคู่อาฆาตของวันพักผ่อน เราทุกวันต้องมีวัน Cheat day อยู่แล้ว แต่การกินมากไปทำให้ร่างกายอึดอัด เผาผลาญได้ช้า รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา และซึมเซาจนถึงวันเปิดทำงานได้ อาจทำให้ความกระตือรือร้นลดลงอย่างมาก เรามี Cheat day ได้ แต่ก็ควรรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอจะเป็นการดีกว่า

ทำตัวสบายเกินไป

วันหยุดทั้งที เตียงมันจะดูดเป็นพิเศษ ตื่นสาย นอนดึก กินอาหารไม่เลือก เอื่อยเฉื่อยมากไปแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะเราไม่ได้หยุดไปตลอดชีวิต อย่าลืมว่าในสัปดาห์หน้าเราต้องกลับไปทำงานเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นจงทำตัวให้กระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอ เป็นผลดีกับตัวเองทั้งร่างกายและสุขภาพจิตด้วย

Effective Rest สเต็ปชาร์จแบตช่วงสงกรานต์ ให้กลับมาทำงานอย่างไฟลุก! 

เคล็ดลับปลุกพลังก่อนวันไปทำงานหลังช่วงหยุดยาว

หลังจากที่ทำตัวสบายมาหลายวัน ช่วงก่อนเปิดงานก็อย่าลืมลุกขึ้นมาทำตัวให้กระปรี้กระเปร่า เติมพลังให้พร้อมก่อนไปทำงานด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ แต่ได้ผลจริง

ไม่กดเลื่อนนาฬิกาปลุก

ถึงแม้จะเป็นวันหลุดก็ควรตั้งเวลาที่จะตื่น เพราะหากเรานอนยืดยาวไปจนถึงเที่ยงวัน หรือบ่ายแก่ ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ ร่างกายจะเสียระบบ หรือที่เรียกว่า ‘นาฬิกาชีวิต’ ก็จะพัง เพราะวันทำงานเราก็จะต้องตื่นเช้าไปทำงานอยู่ดี ดังนั้นลองเลื่อนจากเวลาตื่นเดิมให้ยาวขึ้นสัก 2 ชั่วโมง แล้วลุกทันทีที่นาฬิกาปลุก หากเลื่อนเวลานอนต่อไปอีกเพราะกดปุ่ม snooze ร่างกายจะยิ่งรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะเราสะดุ้งตื่นขึ้นมาแล้วในตอนแรก ทำให้สมองสับสนและส่งผลให้วันทั้งวันเรารู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สดชื่น ไม่มีพลังงาน 

วันหยุดก็คือวันหยุด

วันหยุดก็ต้องได้หยุดพักผ่อนอย่างจริงจัง เพราะร่างกายและจิตใจของมนุษย์มีระบบของมัน ไม่เหมือนระบบจักรกลเครื่องจักรที่จะให้เปิดปิดตอนไหนก็ได้ หรือแอคทีฟอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเวลาที่พักผ่อนอย่างเต็มที่จริง ๆ ก็เพื่อชาร์จแบตให้พร้อมกลับไปทำงานอีกครั้ง ปล่อยให้สมองได้ว่างเปล่า ทำกิจกรรมที่อยากทำมานาน ปล่อยวางความเครียดเรื่องงาน เรื่องจริงจังทุกอย่างให้สมองและร่างกายได้พักอย่างเต็มที่จริง ๆ  จะทำให้มีพลังกลับมาทำงานในวันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จัดตารางชีวิตให้ดี

ยิ่งไม่เป็นระเบียบก็ยิ่งทำให้ชีวิตวุ่นวาย เมื่อทุกอย่างมากองรวมกันตรงหน้า ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องนู่นนี่เต็มไปหมด ก็ยิ่งทำให้ไม่อยากจะทำไร เหนื่อยหน่าย ไม่รู้จะเดินไปทางไหนก่อนดี หากเรารู้จักจัดการชีวิตโดยวางทุกอย่างให้มีตารางที่ชัดเจน มีแบบแผน รู้ว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง เมื่อเคลียร์จบไปทีละอย่างก็จะทำให้รู้สึกมีกำลังใจ ค่อย ๆ โล่งไปทีละอย่าง พร้อมลุยสิ่งใหม่ต่อได้ และยังมีแรงกระตุ้นให้อยากจะทำสิ่งต่อไปให้เสร็จไปด้วย ควรโฟกัสไปทีละเรื่อง ทำให้เสร็จทีละอย่าง เมื่อทำอะไรประสบความสำเร็จสักอย่างแล้วก็จะมีแรงทำอย่างอื่นต่อไปอีกเรื่อย ๆ 

บทสรุป Effective Rest

ไม่ว่าจะวันหยุดยาวหรือสั้นก็เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับพนักงานเงินเดือนอย่างเรา ๆ ที่ต้องทำงานเป็นกิจวัตรแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมา แค่เพียงได้หยุดจากการคิดเรื่องเครียด ๆ หรือได้เปลี่ยนบรรยากาศซ้ำซากจำเจก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาดี ๆ ในชีวิตแล้ว ซึ่งเราสามารถใช้เวลาวันหยุดที่มีไม่ว่าจะน้อยหรือมากให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดได้ วิธีของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไป แต่เชื่อว่าหากมีความตั้งใจที่จะดูแลรักษาร่างกายและจิตใจของตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ว่าจะทำวิธีไหนย่อมเกิดผลดีอย่างแน่นอน

Sources

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง