Search
Close this search box.

ออกแบบโครงสร้างเงินเดือนพนักงานอย่างไรให้เสริมแรงจูงใจมากกว่าเป็นกรง

HIGHLIGHT

  • หากองค์กรไหนมีโครงสร้างเงินเดือนที่ดี จะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ทำให้พนักงานเชื่อมั่นในองค์กร
  • เพราะคนทำงานล้วนต้องการค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับความสามารถของตนรวมถึงความรู้สึกของการพัฒนาต่อยอดในการทำงาน ซึ่งการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนที่มีประสิทธิภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นั้น
  • โครงสร้างเงินเดือนมีหลากหลายชนิด เช่น โครงสร้างเงินเดือนแบบอิงราคาตลาด, โครงสร้างเงินเดือนแบบดั้งเดิม และโครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadbanding
  • ประโยชน์ของโครงสร้างเงินเดือน ได้แก่ ช่วยให้การวางแผนด้านการเงินง่ายขึ้น, พนักงานรู้สึกถึงความยุติธรรมและลดการเมืองในที่ทำงาน และช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน
  • ธรรมชาติของการสร้างโครงสร้างเงินเดือนคือเพื่อเป็นการลดความซับซ้อนของการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้การบริหารค่าใช้จ่ายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันโครงสร้างเงินเดือนก็สามารถเป็นกรงขังที่ทำให้การจ่ายเงินเดือนมีความยืดหยุ่นน้อยลง

สำหรับในมุมของคนทำงานแล้วทุกคนล้วนต้องการที่จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับความสามารถของตนเอง รวมถึงความรู้สึกของการพัฒนา เติบโตและได้ต่อยอดในการทำงาน ซึ่งทำให้การออกแบบ โครงสร้างเงินเดือน ที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของตลาดแรงงานในปัจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวแยกระหว่างองค์กรที่เต็มไปด้วย Talent ที่มีความสุขในการทำงาน กับองค์กรที่ไม่สามารถหาคนเก่ง ๆ เข้ามาร่วมงานได้

บทความนี้เราจะมาดูกันว่าโครงสร้างเงินเดือนมีกี่ชนิดแบบไหนบ้าง มีประโยชน์อย่างไร และเราจะนำโครงสร้างเงินเดือนไปปรับใช้กับการบริหาร Talen ยุคใหม่ได้อย่างไร

Contents

โครงสร้างและชนิดของโครงสร้างเงินเดือนแบบต่าง ๆ

ความหมายอย่างง่ายของโครงสร้างเงินเดือนคือระบบที่องค์กรเลือกที่จะใช้เพื่อบริหารจัดการค่าตอบแทนของพนักงานในบริษัท โดยจะเป็นระบบที่กำหนดว่าจะมีการจ่ายเงินให้พนักงานในรูปแบบไหน จ่ายมากเท่าไหร่ และจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนอย่างไร ส่วนถัดไปมาดูกันว่าโครงสร้างเงินเดือนมีกี่ชนิดแบบกว้าง ๆ

1. โครงสร้างเงินเดือนแบบอิงราคาตลาด (Market-based)

โครงสร้างเงินเดือนชนิดนี้นับเป็นโครงสร้างเงินเดือนแบบที่แพร่หลายมากที่สุด โดยปริมาณเงินเดือนของพนักงานจะถูกอิงอยู่กับราคาเงินเดือนของตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมเดียวกันในบริษัทอื่น ๆ โดยการทำโครงสร้างเงินเดือนประเภทนี้จะต้องมีการทำการสำรวจตลาดและหาข้อมูลเพื่อที่จะเอามาคำนวนหาค่าเฉลี่ยและใช้อ้างอิงกับการสร้างโครงสร้างเงินเดือนในบริษัทของคุณได้

ข้อดีของโครงสร้างเงินเดือนแบบ Market-based คือการที่พนักงานในบริษัทของท่านจะรู้สึกว่าเงินเดือนที่ได้รับนั้นมีความยุติธรรม เพราะเงินเดือนที่ได้รับอิงจากราคาในตลาดแรงงานและไม่แตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ มากนัก ทำให้โครงสร้างเงินเดือนแบบนี้ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพในการรักษาพนักงานไว้กับองค์กร นอกจากนี้เรายังสามารถใช้มันในการดึงดูด Talent ให้เข้ามาทำงานกับองค์กรได้โดยการเสนอเงินเดือนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

โดยโครงสร้างเงินเดือนส่วนใหญ่นั้นจะมีการแบ่งออกเป็นขั้น ๆ ที่เรียกว่า Pay grade โดยพนักงานจะได้เลื่อนขั้นไปอยู่ในเกรดที่สูงขึ้นเมื่อตรงตามเงื่อนไขบางอย่างที่องค์กรกำหนดขึ้น เช่น ผลการทำงานที่ดี เป็นต้น 

ตัวอย่างโครงสร้างเงินเดือนแบบ Market-based ที่แต่ละ Pay grade ถูกสร้างขึ้นหลังจากมีการศึกษาเปรียบเทียบตัวเลขจากราคาตลาด

  1. Pay grade 01: 45,000 – 49,000
  2. Pay grade 02: 49,000 – 55,000
  3. Pay grade 03:  55,000 – 67,000

2. โครงสร้างเงินเดือนแบบดั้งเดิม (Traditional)

ระบบนี้จะมีการกำหนดช่วงเงินเดือนของแต่ละตำแหน่งออกมา เช่น ตำแหน่งนักเขียนมีช่วงเงินเดือนอยู่ที่ 25000- 35000 จากนั้นจึงทำการแบ่งซอยย่อยช่วงเงินเดือนดังกล่าวออกเป็น Pay grade ย่อย ๆ เพื่อให้พนักงานค่อย ๆ ไต่ระดับ Pay grade สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงระดับที่สูงที่สุดของช่วงเงินเดือนนั้น 

ซึ่งโครงสร้างเงินเดือนแบบนี้อาจทำให้พนักงานเริ่มมองหาโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ จากบริษัทอื่นได้เช่นกัน หากว่าได้ทำงานมาถึงจุดสูงสุดของ Pay grade ของช่วงเงินเดือนในตำแหน่งนั้นแล้วหรือที่เราเรียกกันว่าเงินเดือนตัน 

อีกทั้งอาจจะเป็นระบบที่ไม่ค่อยมีความสามารถในการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานที่เป็น Talent มากเท่าใดนักเนื่องจากแม้ว่าคุณจะพัฒนาตัวเองและทำงานเก่งขึ้นมากขนาดไหน แต่ค่าตอบแทนที่จะได้รับกลับมีการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า 

หากองค์กรของท่านเลือกที่จะใช้โครงสร้างเงินเดือนในรูปแบบนี้ สามารถเริ่มจากการกำหนดว่าจะเรียกแต่ละขั้นของ Pay grade ว่าอย่างไร และจะมีทั้งหมดกี่ขั้น และในแต่ละขั้นเหล่านั้นจะมีช่วงเงินเดือนเป็นอย่างไร มีค่าต่ำสุดและค่าสูงสุดเท่าไหร่ จากนั้นจึงสร้างข้อกำหนดขึ้นมาว่าพนักงานต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อที่เลื่อนชั้นไปอยู่ Pay grade ที่สูงขึ้น เช่น การทำงานในบริษัทถึงช่วงเวลาที่กำหนด หรือการมีผลการทำงานที่เยี่ยมยอด

ข้อดีของโครงสร้างเงินเดือนแบบดั้งเดิมคืออำนาจที่องค์กรสามารถบริหารค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนได้อย่างมีเสถียรภาพ เพราะสามารถใช้การคำนวนทางสถิติในการทำนายค่าใช้จ่ายล่วงหน้าไปยังอนาคตได้ง่ายซึ่งทำให้การวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรล่วงหน้าเป็นไปอย่างแม่นยำ และถึงแม้ว่าในอนาคตพนักงานในบริษัทอาจจะมีการเติบโตมากขึ้น เกิดการขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง แต่ก็จะเป็นไปอย่างมีระบบแบบแผน ไม่ได้ก้าวกระโดด ข้อดีอีกอย่างคือในกรณีที่พนักงานทำงานตำแหน่งเดิมแต่ไม่ได้มีการเลื่อนขั้น แต่พวกเขาก็ยังมีการเลื่อนระดับของ Pay grade ให้สูงขึ้นได้ (เนื่องจากโครงสร้างเงินเดือนแบบนี้มักจะมี Pay grade จำนวนมากและกว่าจะเกิดการตันของเงินเดือนก็ใช้เวลานานในระดับหนึ่ง) ซึ่งสามารถช่วยให้พนักงานส่วนหนึ่งมีแรงจูงใจในการทำงานในระยะยาวมากขึ้นได้

ตัวอย่างโครงสร้างเงินเดือนแบบดั้งเดิม สำหรับตำแหน่งงานที่มีช่วงเงินเดือนระหว่าง 35,000 – 60,000 มี pay grades ดังต่อไปนี้

  1. Pay grade 01: 35,000 – 40,000
  2. Pay grade 02: 40,000 – 45,000
  3. Pay grade 03: 45,000 – 50,000
  4. Pay grade 04: 50,000 – 55,000
  5. Pay grade 05: 55,000 – 60,000

3. โครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadbanding

ระบบนี้เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้ระบบการจ่ายเงินเดือนแบบดั้งเดิมที่ค่อนข้างซับซ้อนเนื่องจากมีหลาย Pay grade ที่เป็นขั้นย่อย ๆ ในช่วงเงินเดือนของแต่ละตำแหน่งงานมีความเรียบง่ายมากขึ้น นั่นคือมี Pay grade น้อยลง แต่มีช่วงของเงินเดือนที่กว้างขึ้น 

พูดอย่างง่ายคือพนักงานอาจจะไม่ได้มีการเลื่อนระดับ Pay grade ถี่เหมือนโครงสร้างเงินเดือนแบบดั้งเดิม แต่การเลื่อนแต่ละครั้งจะมีการก้าวกระโดดของเงินเดือนที่มากกว่าเดิม

ตัวอย่างโครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadbanding

  1. Pay grade 01: 45,000 – 56,000
  2. Pay grade 02: 56,000 – 67,000
  3. Pay grade 03: 67,000 – 80,000

ข้อดีของโครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadbanding คือสามารถทำให้พนักงานโฟกัสไปที่การพัฒนาตัวเองมากขึ้นเพื่อที่จะเลื่อนระดับไปยัง Pay grade ที่สูงขึ้น เนื่องจากการเลื่อนขั้นแต่ละครั้งจะมีรางวัลความตอบแทนที่ก้าวกระโดดมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องใช้ความพยายามในการเลื่อนขั้นมากขึ้นด้วยเนื่องจากเงื่อนไขที่ตั้งไว้ในการเลื่อนขั้นก็จะต้องมีความยากหรือท้าทายมากกว่าการเลื่อนขั้นของโครงสร้างเงินเดือนแบบดั้งเดิม โดยระบบนี้จะค่อนข้างเหมาะกับองค์กรขนาดเล็กที่ไม่ค่อยมีระดับชั้นในองค์กรอะไรมากนัก เช่น Startup หรือบริษัทที่มีจำนวนคนยังไม่มาก ซึ่งจะช่วยให้การบริหารค่าใช้จ่ายซับซ้อนน้อยลง

ประโยชน์ของการมีโครงสร้างเงินเดือน

แน่นอนว่าการทำโครงสร้างเงินเดือนมีประโยชน์อยู่หลายประการ แต่ในขณะเดียวกันโครงสร้างเงินเดือนไม่ว่าชนิดไหนก็ตาม ไม่ใช่งานที่จะทำครั้งเดียวจบอีกทั้งไม่ใช่งานที่จะนั่งทำคนเดียวได้ เพราะเรื่องค่าตอบแทนจะมีการผูกโยงอยู่กับปัจจัยภายนอกองค์กรไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขาดแคลนคนทำงานในบางสาขาอาชีพ หรือสภาวะทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้งานบางตำแหน่งมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ต้องติดตาม ‘โลกภายนอก’ องค์กรตลอดเวลา แม้ว่าเรื่องการทำเงินเดือนจะเป็นโลกภายในองค์กรก็ตาม 

เพราะเมื่อไหรที่โครงสร้างเงินเดือนของพนักงานไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานก็สามารถทำให้เกิดปัญหาเรื่องแรงจูงใจในการทำงาน การสรรหาพนักงานอาจจะยากลำบาก หรือแม้กระทั่งการสูญเสีย Talent ที่เป็น Key Position ขององค์กรไปได้ ในอีกทางหนึ่งโครงสร้างเงินเดือนก็เกี่ยวข้องอยู่กับ ‘โลกภายใน’ องค์กรเช่นกัน 

เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบตำแหน่งงาน การระบุเงื่อนไขในการเลื่อนระดับขั้น การประเมินผลการทำงานจากผู้จัดการของพนักงานในแต่ละทีม แต่ถ้าเราทำทั้งหมดนั้นออกมาได้ดีและสอดคล้องทั้งโลกภายนอกและโลกภายในแล้วล่ะก็ ประโยชน์ของโคงสร้างเงินเดือนดังต่อไปนี้ก็จะตามมา

1. การวางแผนด้านการเงินขององค์กรจะง่ายขึ้นมาก

หนึ่งในหน้าที่หลักของฝ่ายบริหารคือการวางแผนค่าใช้จ่าย เช่น การวางแผนงบประมาณประจำปี ซึ่งหนึ่งในค่าใช้จ่ายหลักขององค์กรก็คือเงินเดือนพนักงาน ทำให้การตัดสินใจในการจ้างพนักงานใหม่ในตำแหน่งต่าง ๆ มีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากเราสามารถรู้ได้ว่าค่าเงินเดือนสูงสุดและต่ำสุดของแต่ละตำแหน่งงานอยู่เท่าใด 

2. พนักงานรู้สึกถึงความยุติธรรมและลดการเมืองในที่ทำงาน

โครงสร้างเงินเดือนที่เสร็จสมบูรณ์แล้วจะทำให้การจ่ายค่าตอบแทนมีความชัดเจนและโปร่งใสอย่างมาก เนื่องจากพนักงานทุกคนจะอยู่ในระบบเดียวกันที่มีการกำหนดเอาไว้แล้วว่าจะต้องได้เงินเดือนเท่าไหร่ การขึ้นเงินเดือนเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงเงื่อนไขที่จะทำให้ได้รับการเลื่อนระดับไปยัง Pay grade ที่สูงขึ้นก็จะใช้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ลดความเคลือบแคลงใจที่พนักงานมีต่อกันถึงความยุติธรรมของเงินเดือนที่จะได้รับ

3. พนักงานจะมีแรงจูงใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น

เราคงได้เคยยินประโยคอย่างเช่น ‘อยู่ผิดที่ 10 ปีก็ไม่โต’ แนวคิดเบื้องหลังนี้คือปัญหาที่เกิดจากการที่ผลการทำงานหรือความพยายามที่พนักงานลงแรงในการทำงานไม่ได้ส่งผลกับค่าตอบแทนหรือการเติบโตที่องค์กรจะมอบให้ ซึ่งโครงสร้างเงินเดือนจะทำให้ปัญหาทั้งหมดนี้หมดไปเมื่อพนักงานรู้อย่างชัดเจนว่าองค์กรได้มีลำดับขั้นที่สามารถต่อยอด เติบโต และได้ผลตอบแทนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พนักงานสามารถวางแผนในการพัฒนาตนเองเพื่อเติบโตขึ้นไปตาม Career path ที่องค์กรได้ออกแบบไว้

5 Step เบื้องต้นในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือน

1. สำรวจโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทอื่น ๆ

ไม่ว่าคุณจะใช้โครงสร้างเงินเดือนแบบ Market based หรือไม่ แต่การเริ่มต้นจากการสำรวจตลาดแรงงานเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนเพื่อดูแนวโน้มคร่าว ๆ เกี่ยวกับเงินเดือนที่บริษัทอื่น ๆ โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันย่อมมีประโยชน์แน่นอน เพราะการเข้าใจราคาตลาดจะนำไปสู่การออกแบบโครงสร้างเงินเดือนที่ ‘มีความสามารถในการแข่งขัน’ ได้

พูดอย่างง่ายคือเงินเดือนที่องค์กรคุณจ่ายพนักงานยังคงมีความสามารถในการดึงดูด Talent ให้เข้ามาทำงานได้ในขณะที่สามารถรักษาพนักงานปัจจุบันไม่ให้ตีจากไปได้เพราะรู้สึกว่าตัวเองได้รับการจ่ายต่ำกว่าราคาตลาด

2. วางแผนอัตราการขึ้นเงินเดือนของหนักงาน

อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าถึงประโยชน์ของการมีโครงสร้างเงินเดือนคือการที่ช่วยให้พนักงานรู้สึกมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการมีระบบ Pay grade ที่พนักงานสามารถที่จะไต่ระดับขั้นขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งนั่นเป็นรางวัลสำหรับพนักงานที่แสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับสิ่งที่องค์กรต้องการ โดยผลตอบแทนอาจจะเป็นในรูปของการเลื่อนขั้นหรือการขึ้นเงินเดือนประจำปี 

สิ่งที่ต้องทำคือการ ‘กำหนดเงื่อนไข’ ในการผูกโยงเอาโครงสร้างเงินเดือนเข้ากับระบบประเมินผล จากนั้นจึงกำหนดว่าความถี่ในการขึ้นเงินเดือนจะมีความถี่เป็นอย่างไร โดยปัจจุบันองค์กรจำนวนมากยังคงใช้วิธีการประเมินผลเป็นแบบรายปีโดยให้ผู้จัดการมีหน้าที่เป็นผู้ประเมินให้กับพนักงานเป็นรายบุคคลว่าจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเท่าไร 

เมื่อประกอบการพิจารณาร่วมกับการศึกษาข้อมูลตลาดในข้อแรกแล้ว องค์กรสามารถพิจารณาต่อได้ว่าจะใช้กลยุทธ์การเพิ่มเงินเดือนแบบไหน เช่น บริษัท A อาจจะให้เงินเดือนเริ่มต้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แต่มีเปอร์เซ็นในการขึ้นเงินเดือนไม่มากนักในแต่ละปี ในขณะที่บริษัท B อาจจะให้เงินเดือนเริ่มต้นเท่ากับราคาเฉลี่ยของตลาด แต่มีมีเปอร์เซ็นในการขึ้นเงินเดือนค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละองค์กรต้องทำการบ้านเพิ่มเติมเองว่าแบบไหนที่น่าจะเหมาะกับบริษัทของตัวเองมากกว่าในการดึงดูดและรักษา Talent ให้อยากเข้ามาทำงาน มีแรงจูงใจในการทำงาน และอยู่ช่วยพัฒนาองค์กรไปอย่างยาวนาน

3. กลับมามองเงินเดือนพนักงานในปัจจุบัน

เมื่อเห็นภาพตลาดแรงงานคร่าว ๆ รวมถึงมีไอเดียในหัวเกี่ยวกับการที่จะสร้างแรงจูงใจให้พนักงานผ่านการออกแบบการเติบโตในองค์กรแล้ว ถึงเวลาที่เราจะมาดูว่าเงินเดือนของพนักงานในแต่ละภาคส่วนในองค์กรของเราสอดคล้องกับโครงสร้างที่เราคิดไว้อย่างไรบ้าง 

เช่น การดูว่ามีพนักงานคนไหนที่เงินมีเงินเดือนหลุดออกจากกรอบที่เราวางไว้ไม่ว่าจะน้อยไปหรือมากเกินไป จากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างคร่าว ๆ ตรงนี้จะทำให้เราวางแผนต่อในการปรับการขึ้นเงินเดือนหรือการจ้างพนักงานคนใหม่เข้ามาได้อย่างถูกต้องและเท่าเทียมกันมากขึ้น

4. เริ่มต้นสร้างโครงสร้างเงินเดือน

หากมาถึงขั้นตอนนี้ ท่านน่าจะพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นการสร้างโครงสร้างเงินเดือน และเริ่มต้นที่จะระบุช่วงเงินเดือนให้กับแต่ละตำแหน่งงานที่จะประกอบไปด้วยขอบบนและขอบล่างของช่วงเงินเดือนนั้นอย่างชัดเจน จากนั้นจึงเริ่มต้นกระบวนการซอยย่อยช่วงเงินเดือนนั้นออกเป็น Pay grade ย่อย ๆ ตามจำนวนที่วางแผนเอาไว้

5. แก้ไขค่าเงินเดือนที่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่

ถึงเวลาแล้วที่จะนำแผนโครงสร้างชิ้นใหม่ของเรามาใช้งานจริง และอย่างแรกที่เราต้องทำก็คือการทำการแก้ไขเงินเดือนพนักงานปัจจุบันโดยโฟกัสไปที่พนักงานกลุ่มที่ได้เงินเดือนน้อยกว่าหรือมากกว่าช่วงเงินเดือนที่กำหนดไว้ 

สำหรับพนักงานกลุ่มที่ที่ได้เงินน้อยกว่าช่วงเงินเดือนในตำแหน่งของตัวเอง เราสามารถที่จะทำการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานนั้นโดยทันทีเพื่อความยุติธรรมกับพวกเขาหรืออาจจะค่อย ๆ วางแผนในการปรับขึ้นอย่างเป็นค่อยไปในรอบการขึ้นเงินเดือนถัดไปก็ได้ 

สำหรับกรณีพนักงานได้ได้เงินเกินกว่าค่าเฉลี่ยอาจจะเริ่มจากการชะลอการขึ้นเงินเดือนประจำปีออกไปก่อนเพื่อรอจนกว่าคุณสมบัติพนักงานจะพัฒนาขึ้นมาอยู่ Pay grade ที่สอดคล้องกับเงินเดือนในปัจจุบัน ซึ่งในกรณีนี้ต้องมีการวางแผนให้รอบคอบเพื่อยังคงรักษา Employee engagement เพื่อให้พนักงานกลุ่มนี้ยังคงมีความสุขในการทำงาน โดยอาจจะมีการพิจารณา Benefit อื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเป็นการชดเชยให้กับพวกเขา

โครงสร้างเงินเดือนกับการบริหาร Talent ยุคใหม่

ในบทความ Why It’s So Hard to Figure Out What to Pay Top Talent จาก Harvard business review ได้ชวนผู้อ่านมาตั้งคำถามว่าทำไมการบริหารการจ่ายเงินเดือนให้กับ Talent ในยุคปัจจุบันมันถึงได้ยากและมีความซับซ้อนมากมายนัก ในทุกวันนี้ที่หลายองค์กรต้องประสบปัญหาในการเสาะหาพนักงานมาทำงานในบางตำแหน่งที่สำคัญแต่ก็หาได้ยากเย็นนั้น และบางครั้งพอหามาได้ Talent เหล่านั้นก็อยู่กับองค์กรได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ จนทุกวันนี้มีการเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ‘War of Talent’ โดยบทความได้เสนอว่ารากของปัญหาเหล่านี้อาจจะเกิดมาจากเหตุผลดังต่อไปนี้

หนึ่ง หลายตำแหน่งงานในปัจจุบันเริ่มต้องอาศัยทักษะที่มีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วทำให้มีงานจำนวนมากที่เกิดขึ้นมาใหม่และต้องการส่วนผสมของชุดทักษะหลาย ๆ อย่างมาประกอบกันที่อาจไม่ได้หาได้ทั่วไป

สอง ตำแหน่งงานบางอย่างเป็นที่ต้องการของหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อาชีพ Software engineer ที่สมัยก่อนอาจจะเป็นที่ต้องการเฉพาะจากบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ที่เป็นผู้นำเช่น Microsoft หรือ IBM แต่ทุกวันนี้เมื่อโลกเข้าสู่ยุค Digital transformation อย่างเต็มตัว อาชีพนี้ก็กลายเป็นอาชีพทองคำที่หลายองค์กรแย่งตัวกัน นั่นทำให้ War of Talent ยิ่งรุ่นแรงมากขึ้นกว่าที่เคย

สาม การสื่อสารในยุคดิจิตอลทำให้คนทำงานประเมินค่าของตัวเองในตลาดแรงงานได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากทุกวันนี้เป็นเรื่องง่ายมากที่ผู้สมัครงานจะทำการ​ Research ข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนของตำแหน่งงานที่ตนเองสนใจ พวกเข้าสามารถที่จะประเมินทักษะและประสบการณ์ของตนเองเพื่อคาดการณ์ว่าเงินเดือนที่ตนเองควรจะได้รับอยู่ในช่วงประมาณเท่าไหร่

จากปัจจัยหลักทั้งสามข้อนี้ทำให้การทำโครงสร้างเงินเดือนด้วยวิธีการและความคิดแบบเดิม ๆ ที่เคยใช้ได้ผลเมื่อหลายสิบปีก่อนอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วสำหรับการวางแผนค่าตอบแทนที่จะสามารถดึงดูดและรักษา Talent ในโลกยุคปัจจุบัน 

หลัก ๆ แล้วสิ่งที่องค์กรควรจะทำคือการทำ Research เกี่ยวกับตำแหน่งงานที่กำลังจะวางโครงสร้างเงินเดือนให้มากขึ้นกว่าที่เคย หมดยุคแล้วที่จะใช้ตัวเลขมาตฐานที่คิดว่าเหมาะสมโดยปราศจากการดูข้อมูลแบบ Realtime จากตลาดแรงงาน 

โดยในบทความได้มีการยกตัวอย่างถึงทักษะด้านโปรแกรมที่มีชื่อว่า ‘Ruby on Rails’ ซึ่งเป็น Framework ในการทำ Web application ชนิดหนึ่ง เราพบว่าตลาดแรงงานต้องการคนที่ทักษะนี้มากขึ้นถึงสี่เท่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา ทำให้ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนสำหรับคนที่มีทักษะนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดแบบปีต่อปีในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งถ้าหากฝั่งนายจ้างไม่ได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์นี้และยึดติดกับตัวเลขจากปีที่ผ่านมาก็อาจจะทำให้กลยุทธ์ในการวางโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานในตำแหน่งนี้ไม่สอดคล้องกับราคาในตลาดแรงงานซึ่งจะทำให้กระทบต่อการจ้างและรักษา Talent ในตำแหน่งนี้ในทันที

โครงสร้างเงินเดือนที่สมดุลกับชีวิตพนักงาน

PMAT หรือ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย มองว่า ระบบการจ่ายค่าตอบแทนที่ดูแลใส่ใจพนักงานอย่างจริงจัง จะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับองค์กร นำไปสู่ความสมดุลที่ช่วยกันขับเคลื่อน ทั้งคนและองค์กรไปสู่ความสำเร็จ โดยหลักใหญ่ ๆ ของระบบค่าตอบแทนที่สมดุลกับชีวิตพนักงาน ประกอบด้วย

  1. ค่าตอบแทนพอเพียง (Adequacy) เป็นการกำหนดค่าตอบแทน ที่ควรตกลงร่วมกันตั้งแต่รับเข้าทำงาน เพื่อให้พึงพอใจทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง โดยค่าใช้จ่ายจะต้องกำหนดอัตราจ้างไม่น้อยกว่าระดับต่ำสุด ที่ลูกจ้างควรได้รับตามมาตรฐานสังคม และตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย ให้พอเพียงสำหรับการดำรงชีวิต ซึ่งบางองค์กร ก็ไม่ได้จ่ายที่ระดับขั้นต่ำ สามารถจ่ายสูงกว่ามาตรฐานได้ ตามลักษณะงาน
  2. ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม (Equity) แน่นอนว่า ค่าตอบแทนที่ได้ แต่ละองค์กรจะต้องให้ความเป็นธรรม ตามสิ่งที่พนักงานควรได้รับ มีความเท่าเทียมกันสำหรับคนที่มีความรู้ ความสามารถ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์เท่ากัน ทำงานในตำแหน่งที่ความยากง่ายใกล้เคียงกัน
  3. ค่าตอบแทนที่สมดุล (Balance) ในการพิจารณาค่าตอบแทนให้กับพนักงาน ที่ประเมินแล้วว่าสมควรได้รับค่าตอบแทนที่ดี ก็ต้องแบ่งสัดส่วนที่สมดุลด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เงินพิเศษ สวัสดิการ ต้องประเมินให้สมดุลทั้งค่าตอบแทน และงานที่ทำ
  4. ค่าตอบแทนความมั่นคง (Security) เป็นค่าตอบแทนที่ควรพิจารณาจ่ายให้พนักงาน ในด้านของสุขภาพและความปลอดภัย สำหรับพนักงานที่มีความเสี่ยงในการทำงาน และควรมีสวัสดิการอื่นๆ เช่น การประกันชีวิต การประกันสุขภาพ เงินสะสมต่างๆ เป็นต้น
  5. ค่าตอบแทนเพื่อให้เกิดแรงจูงใจ (Incentive) การที่จะจูงใจพนักงานให้มีกำลังในการอยากทำงานต่อไปได้ ก็ต้องมีการประเมินคุณภาพ ความรู้ ความสามารถของแต่ละคน และต้องมีกำหนดให้เลื่อนเงินเดือนประจำปี โบนัสประจำปี และเบี้ยขยัน หรือมีการเลื่อนตำแหน่งพร้อมเงินเดือน เมื่อทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย สิ่งเหล่านี้ ก็จะทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองด้วย
  6. ค่าตอบแทนที่ต้องควบคุม (Control) แม้องค์กรจะต้องทุ่มเทจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานอย่างจุใจได้มากเท่าไหร่ แต่ก็ต้องสามารถควบคุมให้อยู่ในกรอบของงบประมาณได้ด้วย ว่ามีความสามารถในการจ่ายประมาณไหน เพื่อให้สอดรับกับต้นทุน กำไร ให้สามารถขยายธุรกิจต่อไปได้

บทสรุป

HREX อยากแนะนำกับคนที่มีบทบาทในการทำโครงสร้างเงินเดือนคือ ‘การลงรายละเอียด’ ของตำแหน่งงานที่เรากำลังวางโครงสร้างให้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น เราจะระบุเงื่อนไขสั้น ๆ แค่ว่า “ตำแหน่งงาน A จะได้รับเงินเดือน XXX บาท” ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่เราอาจจะต้องนำหลาย ๆ ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อตำแหน่งงานนั้นมาคิดให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นคำถามว่า 

  • ทักษะในตำแหน่งงานนี้มีทักษะตัวไหนที่กำลังกลายเป็นทักษะหายากและขาดแคลนในตลาดแรงงาน
  • หากผู้สมัครงานคนนี้มาพร้อมกับ Online Certificate ตัวใหม่ที่เพิ่งออกโดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ ค่าตัวของผู้สมัครคนนี้ควรจะเพิ่มอีกเท่าไหร่
  • ตำแหน่งงานนี้เกิดจากการหลอมรวมของทักษะที่เป็นส่วนผสมที่หาได้ยากหรือไม่ เช่น ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้าน Biosensor อาจหาได้ไม่ยากนัก หรือ การหาคนที่เคยมีทักษะในการสร้างและทำตลาดให้กับ Software product ก็มีอยู่ไม่น้อยในตลาดแรงงาน แต่ถ้าคุณจะหาคนที่มีความรู้ทางด้าน Biosensor อีกทั้งยังเคยมีประสบการณ์ในการสร้างซอฟต์แวร์ในคนเดียวกันเพื่อที่จะให้เขามาเป็นผู้นำทีมในการสร้างโปรดักตัวใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยี Biosensor ออกสู่ตลาดก็เริ่มที่จะเป็นงานที่ไม่ง่ายดายแล้ว นั่นทำให้เราไม่ควรใช้วิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานในตำแหน่งนี้ด้วยวิธีคิดของโครงสร้างเงินเดือนแบบเก่า

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราอยากให้ผู้อ่านลองกลับไปทบทวนในแต่ละแง่มุมที่องค์กรของท่านมีต่อการวางโครงสร้างเงินเดือนในปัจจุบัน เพราะในแง่หนึ่งแล้ว ธรรมชาติของการสร้างโครงสร้างเงินเดือนเราทำไปเพื่อเป็นการลดความซับซ้อนของการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้การบริหารค่าใช้จ่ายมีความง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันนั้นเองโครงสร้างก็สามารถที่จะเป็นกรงขังที่ทำให้การจ่ายเงินเดือนกับพนักงานมีความยืดหยุ่นน้อยลงไป ซึ่งจะเป็นความท้าทายในจุดนี้เองที่แต่ละองค์กรต้องพยายามหาจุดลงตัวให้เจอ เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงาน และทุ่มเทในการทำงานให้สมกับผลตอบแทนที่เขาได้รับ

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง