Search
Close this search box.

Political Quotient : ว่าด้วยเรื่องความฉลาดทางการเมืองในที่ทำงาน และวิธีเล่นมันอย่างขาวสะอาด

Political Quotient : ว่าด้วยเรื่องความฉลาดทางการเมืองในที่ทำงาน และวิธีเล่นมันอย่างขาวสะอาด

ทำไมต้องมีการเมืองในที่ทำงาน ?

องค์กรส่วนใหญ่และรวมไปถึงใครหลายๆคน ต่างก็ไม่อยากให้มีการเมืองหรือเรื่องดราม่าเกิดขึ้นในที่ทำงาน เพราะทั้งเสียบรรยากาศในการทำงานและสภาวะจิตใจ รวมถึงเหน็ดเหนื่อยกับการต้องทำงานด้วยการระวังหน้าระแวงหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถูกขโมยเครดิตผลงาน ซุบซิบนินทา สรรเสริญเยินยอ หรือระดับหัวหน้าและผู้นำ เช่นกลยุทธ์การล็อบบี้ยิสต์ เป็นไปได้ไหมที่เราจะหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน ก่อนจะไปสู่คำตอบนั้น เรามาทำความเข้าใจการเมืองในที่ทำงานกันสักนิด…

การเมืองในที่ทำงานเกิดขึ้นเพราะอะไร ?

เหตุผลก็เพราะทุกคนมาทำงานต่างก็นำเอาอารมณ์ส่วนตัว ความต้องการ ความทะเยอทะยาน ความต้องการความปลอดภัยและความมั่นคงมาด้วย และเพราะทุกคนต่างก็อยากประสบความสำเร็จเหมือนกัน แต่องค์กรอาจไม่ได้มีความสำเร็จเพียงพอให้สำหรับทุกคน เพราะฉะนั้นการกระทำอย่างเดียวจึงไม่อาจนำไปสู่ความสำเร็จได้ การเห็นด้วยกับคนที่มีอิทธิพลต่างหากที่ทำให้เข้าใกล้ความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้ การเมืองในที่ทำงานจึงเกิดขึ้น

จริงๆแล้ว การเล่นการเมืองนั้นเป็นเรื่องของการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการของผู้คนจำนวนมาก เพื่อให้พวกเขาสามารถตัดสินใจร่วมกันได้และสร้างพันธมิตร รวมถึงเสาะหาว่าคุณต้องการอะไร อีกฝ่ายต้องการอะไร และตกลงว่าจะสนับสนุนอะไร ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการซึ่งกันและกันได้ คำถามก็คือเราไม่เล่นการเมืองในที่ทำงานได้ไหม ? หลายคนอาจเคยได้ยินคำตอบว่า ถ้าคุณไม่เล่นการเมือง วันหนึ่งการเมืองก็เล่นคุณอยู่ดี แต่เราอยากบอกคุณว่า การเล่นการเมืองไม่ใช่เรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว เพราะทุกคนสามารถได้รับประโยชน์ร่วมกันได้

Political Quotient : ว่าด้วยเรื่องความฉลาดทางการเมืองในที่ทำงาน และวิธีเล่นมันอย่างขาวสะอาด

ความหมายของการเล่นการเมืองจึงอาจหมายถึงการบริหารความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวเหมือนกันหมด จะทำอย่างไรให้อำนาจนั้นบรรลุผลและทุกคนในองค์กรอยู่ร่วมกันได้ และที่สำคัญการเมืองไม่ใช่เรื่องลบเสมอไป บางครั้งการเกิดการไม่เห็นด้วยบ้าง ก็อาจช่วยให้งานดีขึ้นได้และเก่งขึ้นได้ ในฐานะหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ จะมีวิธีเล่นการเมืองอย่างไรเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งองค์กร

1. ความฉลาดทางการเมือง (Political Quotient) เริ่มจากการเข้าใจโครงสร้างองค์กรและสังเกตจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคน

อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่าทุกคนมีอำนาจติดตัวเหมือนกัน แต่บางคนอาจไม่รู้ว่าจะบริหารอำนาจนั้นอย่างไร หากคุณเป็นผู้จัดการหรือผู้บริหารที่ต้องคุมทีมใหญ่ แน่นอนว่าคงไม่มีเวลาบริหารผลงานหรือมอบหมายงานรายคน สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือให้อำนาจในการตัดสินใจอย่างถูกคน อย่าลืมว่าตำแหน่งอาจไม่สำคัญเท่า ใครคือผู้มีอิทธิพลตัวจริง บางคนอาจมีตำแหน่งใหญ่แต่ไม่สามารถบริหารผลงานได้ ไม่สามารถมอบหมายงานให้คนอื่นได้ หรือตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆได้ หากโครงสร้างองค์กรเป็นเช่นนั้นควรหันมาโฟกัสที่จุดแข็งและส่งเสริมศักยภาพนั้นให้มากยิ่งขึ้น จุดอ่อนของบางคนอาจช่วยส่งเสริมจุดแข็งของบางคนได้ และท้ายสุดมันจะเป็นการร่วมมือศักยภาพของคนในทีมให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

2. มีแผนสำรองเสมอและคิดแผนอย่างสร้างสรรค์

ในฐานะผู้นำองค์กร ควรมีแผนสำรองรวมถึงมีขั้นตอนที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาเสมอ วิธีนี้รวมไปถึงการมีทักษะในการคิดอย่างสร้างสรรค์ มีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คิดนอกกรอบ และมองหาทางเลือกใหม่ๆที่คนอื่นนึกไม่ถึง ทักษะนี้จะช่วยให้คุณเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในที่ทำงาน หรือภาวะวิกฤตขององค์กร

หากคุณได้ดูซีรีย์ดังเรื่อง Vincenzo ในตอนที่ทนายทั้งคู่ต้องไปว่าความในชั้นศาลโดยไม่มีหลักฐานและพยานสักคนเดียว ในขณะที่ฝ่ายโจทก์มีหลักฐานพยานครบถ้วนแน่นหนา และหากคาดการณ์สถานการณ์แล้ว ไม่มีวิธีที่ฝ่ายจำเลยจะชนะคดีนี้ได้เลย แต่เพราะ Vincenzo คิดแผนสำรองมาอย่างดี และมีแผนสำรองมากกว่า 1 แผน ทำให้แม้แผนแรกไม่สำเร็จเพราะข้อมูลยังอ่อนไป ก็งัดเอาแผนที่สองมาใช้ด้วยการอาศัยความบกพร่องของสถานที่เพื่อทำให้การว่าความถูกเลื่อนไป แต่แผนนี้ก็ยังไม่สำเร็จ Vincenzo ใช้แผนที่สามนั่นคือการทำให้ศาลเกิดความวุ่นวายขึ้นจนอยู่เหนือการควบคุม ทำให้การว่าความจำเป็นต้องเลื่อนการพิจารณาไปในที่สุด แม้จะไม่ชนะคดีแต่อย่างน้อยก็ทำให้เลื่อนการพิจารณาออกไปได้เพื่อเตรียมแผนรับมืออย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้อาศัยความรอบคอบ วางแผนซ้อนแผน และการคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์นั่นเอง

3. เป็นมืออาชีพและไม่เล่นการเมืองอย่างสกปรก

จริงอยู่ว่าการเมืองเป็นเรื่องของการบริหารอำนาจ แต่หากใช้อำนาจนั้นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว นั่นแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพ และยิ่งแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนและความไร้ความสามารถของตัวเองมากยิ่งขึ้น อำนาจเป็นสิ่งที่มีติดตัวทุกคน แต่มันก็คู่ควรกับคนที่มีความสามารถในการบริหารมันได้ในระยะยาว โดยไม่ใช้วิธีทำให้คนอื่นดูแย่ หรือการใส่ร้ายป้ายสี เพราะหากคุณทำเช่นนั้น จะยิ่งทำให้สูญเสียความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ สูญเสียเครดิตและไม่สามารถเรียกมันกลับมาได้อีกครั้ง อำนาจที่แท้จริงย่อมมาจากเจตนาและเป้าหมายที่ดี ที่หากเมื่อคุณได้อธิบายให้ลูกน้องหรือคนในทีมฟัง มันจะทำให้พวกเขาเชื่อใจคุณ รู้ว่าจุดประสงค์คืออะไรและพวกเขาจะพร้อมทำด้วยความเต็มใจ

ในการทำงาน นอกเหนือจากการมี IQ : Intelligence Quotient ความฉลาดด้านสติปัญญา EQ : Emotional Quotient ความฉลาดทางอารมณ์ ยังมีอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ PQ : Political Quotient ความฉลาดทางการเมือง หรือความฉลาดในการใช้ทักษะเอาตัวรอดจากการเมืองในที่ทำงานนั่นเอง

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง