Search
Close this search box.

Design Thinking : เครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจและคิดอย่างนักออกแบบ

Design Thinking : เครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจและคิดอย่างนักออกแบบ

องค์กรใหญ่ๆ อย่าง Netflix , Facebook , Airbnb และอีกมากมาย สามารถประสบความสำเร็จและยิ่งใหญ่อย่างในทุกวันนี้ได้อย่างไร ? อะไรคือสาเหตุหรือจุดเริ่มต้นของการเป็นองค์กรที่ใครต่อใครก็อยากเข้าทำงาน และยกให้เป็นต้นแบบในการศึกษาเรื่องวัฒนธรรมองค์กร หากลองสังเกตดูองค์กรใหญ่ ๆ เหล่านี้มีจุดร่วมที่คล้ายกันมากข้อหนึ่งคือ “การตั้งคำถามอย่างถูกต้อง” พวกเขาเริ่มต้นจากการตั้งคำถามต่อปัญหาที่เจอก่อน แล้วต่อยอดมันเพื่อออกแบบวิธีแก้ปัญหานั้น ยกตัวอย่างเช่น

Facebook เกิดจากการพยายามแก้ปัญหาของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กที่พบว่า ทำไมรูปประจำตัวของหอพักนักศึกษาของเขาและเพื่อนๆถึงได้ดูน่ากลัวขนาดนี้ ประกอบกับการเป็นคนเข้าสังคมไม่ค่อยเก่งของมาร์ค เขาจึงอยากจัดการปัญหาความกังวลใจในการเข้าสังคม โดยการคิด ต่อยอดจากจุดเริ่มต้นจากหนังสือรุ่นสมัยเรียนของเขาที่เรียกว่า The Facebook (ที่มีแต่รูปเหวอๆ) และพัฒนาให้กลายเป็นสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ ที่ทำให้คนที่ไม่กล้าเข้าสังคมก็สามารถเข้าสังคมได้ง่ายขึ้น มีตัวตนมากขึ้น

ซึ่งการตั้งคำถามอย่างถูกต้องของมาร์คในวันนั้นที่อยากจะสร้างสังคมออนไลน์ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ในวันนี้มันได้กลายเป็นสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่สำหรับคนทั้งโลกไปเรียบร้อยแล้ว

หรือแม้แต่ Airbnb เองก็เริ่มต้นจากการอยากแก้ปัญหาการมีเงินไม่พอจ่ายค่าเช่าบ้านราคาแพง เขาเริ่มตั้งคำถามต่อว่า จะสามารถจ่ายถูกลงกว่านี้ได้ไหม และที่สำคัญจะสามารถเปลี่ยนบ้านอยู่ไปเรื่อยๆเลยได้หรือเปล่า ? หรือ Netflix เองก็เกิดจากการตั้งคำถามว่าเราจะสามารถเช่าหนังดูไม่อั้นในราคาบุฟเฟต์ได้ไหม ? และด้วยการตั้งคำถามจากปัญหาที่เจออย่างถูกต้อง ทำให้ทุกวันนี้เราจึงสามารถมีบ้านพักอาศัยได้ชั่วคราวอยู่ทั่วโลกอย่าง “Airbnb” และมีสตรีมมิ่งหนังที่ดูได้ไม่อั้นอย่าง “Netflix” นั่นเอง

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: กิจกรรมที่ช่วยพัฒนา Design Thinking ของพนักงานที่น่าสนใจ ?

การสร้างทัศนคติให้พนักงานมี Design Thinking  นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถวัดผลได้เป็นรูปธรรมมากนัก และวัดผลได้ยาก โดยเฉพาะเรื่อง Soft Skill ใครมีแนวทางหรือวิธีการที่น่าสนใจ ทำได้แล้วได้ผลไหมคะ

A: Design Thinking  แปลตรง ๆ ก็คือ การคิดเชิงออกแบบ 

หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า ความคิดจะออกแบบได้อย่างไร เรื่องความคิดเป็น Soft Skill  ความคิดมาจากสมองของคน  ยิ่งคิดยิ่งใช้สมอง ระบบการคิดก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

การสงสัย การตั้งคำถาม และการพยายามคิดหาวิธีแก้ปัญหานั้นเป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking นั่นเอง เพราะการทำธุรกิจ เกิดขึ้นเพื่อพยายามหา Solutions พยายามแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และการจะแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพที่สุด ก็ต้องอาศัยการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องออกแบบในเชิงรูปธรรม หรือออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่มันคือการออกแบบในเชิงโครงสร้าง

หมายถึงการออกแบบวิธีคิดและวิธีการทำงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญสำหรับองค์กรและธุรกิจมากๆ ไม่เฉพาะแค่นักออกแบบหรือดีไซเนอร์เท่านั้น โดยขั้นตอนในกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่โด่งดังและเป็นที่แพร่หลายในวงการธุรกิจ ก็คือ Design Thinking’s Phases ที่เป็นที่รู้จักครั้งแรกจาก Hasso-Plattner นักธุรกิจชาวเยอรมันและผู้ก่อตั้ง d.school ใน Stanford University ที่ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางของนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำใน Silicon Valley ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ

Design Thinking #1. Empathize

เข้าใจปัญหา ซึ่งอาจเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไม” เช่น ทำไมองค์กรของคุณจึงเกิดขึ้น องค์กรของคุณพยายามจะแก้ปัญหาอะไร และอะไรคือจุดแข็งขององค์กร ? ขั้นตอนนี้คือการเข้าใจโจทย์ปัญหาขององค์กรของคุณ ซึ่งจะ lead ไปสู่แนวทางในการออกแบบการแก้ปัญหาในขั้นตอนต่อไป

Design Thinking #2. Define

เมื่อเข้าใจปัญหาแล้ว ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนของการระบุปัญหาให้ชัดเจน ซึ่งจะประกอบไปด้วยคำถามว่า ใคร ? อะไร ? ที่ไหน ? และอย่างไร ? นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญเช่นกัน ยิ่งระบุปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้ละเอียดและชัดเจน ก็จะยิ่งหา Solutions ที่เหมาะสมได้มากขึ้นเท่านั้น

Design Thinking #3. Ideate

นี่เป็นขั้นตอนของการระดมไอเดีย ระดมความคิด โดยไม่ต้องแคร์กรอบ หรือความถูกผิดใดๆ ให้เสนอไอเดียอย่างเต็มที่ จนกระทั่งพบไอเดียที่จะเป็นไปได้มากที่สุด ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลามากและอาจต้องอาศัยความร่วมมือของคนในทีมหรือการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

Design Thinking #4. Prototype

สร้างแบบจำลองก่อนดำเนินการจริง ขั้นตอนนี้คือการนำไอเดียสุดท้ายจากขั้นตอนที่แล้ว มาต่อยอดและพัฒนาให้ออกมาเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุด ระยะแรกหากได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก ให้คิดว่าเป็นการทดลองเพื่อรับ Feedback และเพื่อเรียนรู้ว่ามีข้อผิดพลาดตรงจุดไหนที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

Design Thinking #5. Test

กว่าจะมาสู่ขั้นตอนในการทดสอบ ต้องผ่านการตรวจสอบซ้ำๆหลายรอบ จนกว่าจะได้เวอร์ชันที่ดีที่สุด แต่หากทดลองแล้ว พบว่าผลลัพธ์ยังไม่เวิร์คก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องพับโครงการไปเลย คุณสามารถกลับไปเริ่มต้นอีกครั้งในขั้นตอนที่สาม – Ideate ระดมความคิดกันใหม่อีกครั้ง เพราะอาจจะพลาดในบางจุด หรือมองข้ามปัจจัยสำคัญบางอย่างก็เป็นได้

ศาสตร์แห่ง Design Thinking จึงไม่ใช่เรื่องของการออกแบบในวงการศิลปะสำหรับนักออกแบบแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เพราะใครๆก็เป็นนักออกแบบได้ คุณก็สามารถมีทัศนคติคิดอย่างนักออกแบบได้เช่นกัน

HREX ปรึกษา HR Solution

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง