HIGHLIGHT
|
ความสุขคืออะไร เป็นคำถามที่ดูเหมือนจะตอบง่าย แต่ก็ตอบยาก เพราะขณะที่ใครหลายคนดูเหมือนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่คนเหล่านั้นก็กลับค้นหาและพยายามไขว่คว้ามันใหม่อยู่เสมอ ท่ามกลางแนวคิดการค้นหาความสุขมากมาย จึงเกิดคำถามใหม่เกิดขึ้นมาว่า เราจะสร้างความสุขที่ยั่งยืนได้อย่างไร เช่นเดียวกับ ความสุขในการทำงาน (Workplace Happiness) ที่จะเป็นตัวสร้างความผูกพันและแรงจูงใจในองค์กร โดยจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน การสร้างความจงรักภักดีของพนักงาน และลดอัตราการลาออกให้น้อยลง หลายคนองค์กรจึงหันมาใส่ใจการสร้างความสุขในที่ทำงานมากขึ้น ต่อจากนี้คือแนวทางการสร้างความสุขในการทำงานให้ยั่งยืน เพื่อให้ทุกองค์กรสามารถนำไปปรับใช้กัน
Contents
ความสุขในการทำงานคืออะไร
ความสุขในการทำงาน คือการรับรู้ทางอารมณ์ของพนักงานในทางที่ดีต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมาย สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับการยกย่อง การยอมรับ ความมั่นคง ความก้าวหน้า หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยในการทำงาน รวมไปถึงปัจจัยทางด้านบุคคล เช่น เพื่อนร่วมงานที่ดีหรือหัวหน้างานที่เมตตา ซึ่งทั้งหมดเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ โดยความสุขในที่ทำงานประกอบไปด้วย
- ความรื่นรมย์ในการทำงาน (Arousal) เป็นความรู้สึกสนุกขณะทำงานโดยไม่มีความรู้สึกวิตกกังวลใดๆ
- ความพึงพอใจในงาน (Pleasure) เป็นความรู้สึกพอใจขณะทำงาน โดยไม่มีความทุกข์ใจในการปฏิบัติตน
- ความกระตือรือร้นในการทำงาน (Self-validation) เป็นความรู้สึกอยากทำงาน เต็มไปด้วยความตื่นตัวและมีชีวิตชีวา
Did You Know?
ถ้าไม่มีความสุขในการทำงานก็จะเกิดขึ้นอาการ Burnout Syndrome มีข้อมูลจาก วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ที่สำรวจผู้บริโภควัยทำงานในกรุงเทพมหานครช่วงปลายปี 2562 จํานวน 1,280 คน พบว่า 12% ของคนวัยทำงานอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) และ 57% กำลังตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงสูง ซึ่งกลุ่ม Gen Z เป็นวัยที่ตกอยู่ในภาวะหมดไฟมากที่สุดถึง 17% รองลงมาคือกลุ่ม Gen Y ที่ 13% และกลุ่ม Baby Boomer ที่ตกอยู่ในภาวะหมดไฟ 7% ผลสำรวจนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า การดูแลสุขภาพจิตใจของพนักงานในองค์กรเป็นเรื่องจำเป็น หลายองค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับความสุขในการทำงานมากขึ้น
ความสำคัญของความสุขในการทำงาน
ทุกวันนี้การวัดผลธุรกิจไม่ได้มองแค่การเติบโตทางตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความท้าทายในการสร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ ซึ่งตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นมาได้นั้น ก็คือคนหรือพนักงานขององค์กรนั่นเอง ทว่าการดึงศักยภาพของคนออกมาให้ได้มากที่สุดต้องแลกมาด้วยแรงกดดันมหาศาล องค์กรยุคใหม่จึงไม่สามารถมองข้ามประเด็นความสุขในการทำงานของพนักงานได้เลย ทั้งนี้มีงานวิจัยสารพัดที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสุขในการทำงานกับประสิทธิภาพองค์กรอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น
- พนักงานที่มีความสุขจะอยู่กับองค์กรนานกว่าพนักงานที่ไม่มีความสุข 4 เท่า
- พนักงานที่มีความสุขจะมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น 12%
- พนักงานที่มีความสุขจะทุ่มเทในการทำงานมากขึ้นเป็น 2 เท่า
- พนักงานที่มีความสุขจะมีพลังงานในการทำงานมากกว่าพนักงานที่ไม่มีความสุข 65%
ปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน
มีหลายปัจจัยที่ทำให้พนักงานความสุขในที่ทำงาน โดยในที่นี้เราขอสรุปออกมาทั้ง 5 ปัจจัยครอบคลุมความสุขในการทำงาน ดังนี้
1. มีรายได้ที่เพียงพอ
แน่นอน ค่าแรงที่สูงขึ้นส่งผลต่อความพึงพอใจของพนักงานที่สูงขึ้นตาม มีรายการของ World Happiness Report (WHR) ที่บอกว่า คนทำงานที่มีรายได้สูงจะมีความสุขและพอใจในชีวิตหรือการทำงานมากกว่าคนที่มีรายได้ต่ำ อย่างไรก็ตาม การแสวงหาความสุขในที่ทำงานไม่จำเป็นต้องเท่ากับการแสวงหารายได้ที่มากขึ้น เพราะการเพิ่มเงินไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มความสุขเสมอไป ยกตัวอย่าง การเพิ่มเงินเดือน 100 ดอลลาร์ (ประมาณ 3200 บาท) จะทำให้คนที่รายได้ต่ำมีความสุขมากกว่าคนที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว สอดคล้องกับอีกหนึ่งผลการวิจัยที่บอกว่า เงินไม่ได้สร้างความสุขสำหรับคนที่มีรายได้เกิน 75,000 ดอลลาร์ต่อปี (2 ล้านบาทขึ้นไป) สรุปก็คือ การมีเงินมากไม่มีผลต่อความสุข แต่การมีความมั่นคงทางการเงินต่างหากที่ทำให้มีความสุขมากกว่า
2. มีเจ้านายที่ดี
มีหลายงานวิจัยที่บอกว่า หัวหน้าที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสุขในที่ทำงาน เหมือนที่ เบนจามิน อาร์ทส์ (Benjamin Artz) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินและคณะ ได้ศึกษาความสามารถของหัวหน้างานแล้วพบว่า การมีหัวหน้าที่มีความสามารถและมีความรอบรู้สูงมีอิทธิพลเชิงบวกเป็นอย่างมากต่อระดับความพึงพอใจของพนักงาน โดยเฉพาะหัวหน้างานสามารถกำหนดสภาวะการทำงานของพนักงานได้เหมือนกัน ฉะนั้นการมีหัวหน้าที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในแต่ละสาขาขององค์กร ก็จะเพิ่มความสุขและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ถึง 12%
3. มีเพื่อนร่วมงานที่ยอดเยี่ยม
การทำงานคือการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่การฉายเดี่ยว ความสามัคคีจึงเป็นปัจจัยให้การทำงานประสบความสำเร็จอย่างราบรื่น หากมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานย่อมส่งผลเสียต่อกระบวนการแน่นอน ขณะเดียวกัน ถ้าหากมีความสัมพันธ์อันดี ทุกคนก็จะร่วมมือร่วมใจฝ่าฟันอุปสรรคนั้นไปด้วยกัน
4. มีความอิสระ
หัวหน้าที่ให้ความอิสระจะทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น มากกว่ามีหัวหน้าที่ชอบควบคุมทุกอย่างทุกขั้นตอนจนกลายเป็นเผด็จการ โดยมีงานวิจัยที่บอกว่า การบริหารงานแบบย่อยเฝ้าดูทุกขั้นตอน (micromanagement) ทำให้ขวัญกำลังใจของพนักงานต่ำลง อัตราการลาออกสูงขึ้น และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ขณะที่ความอิสระ (แม้กระทั่งความอิสระในช่วงเวลา Work From Home) ก็จะช่วยลดความเครียด และเพิ่มความสบายใจในการทำงานมากขึ้น
5 มีชีวิตและการทำงานที่สมดุล (Work Life Balance)
ถึงแม้จะมีความอิสระ มีความหลากหลายของงาน แต่สิ่งสำคัญที่สุดของความสุขพนักงานคือการได้หยุดงาน เพราะการทำงานมากเกินไป ไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตแล้ว แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพกายด้วย ซึ่งไม่มีผลงานวิจัยใดๆ เลยที่บอกว่า ยิ่งทำงานนานเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดี ฉะนั้นการสร้าง Work Life Balance จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดต่อความสุขในที่ทำงาน
HR จะส่งเสริมการสร้างความสุขในการทำงานได้อย่างไร
เพราะคนคือหัวใจขององค์กร การรักษาความสุขของพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหาร หัวหน้างาน รวมไปถึงทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ควรให้ความสำคัญ ซึ่งจะว่าไปแล้วการสร้างความสุขในการทำงานนับเป็นหนึ่งในหน้าที่ของ HR ด้วย โดยสามารถส่งเสริมได้ ดังนี้
1. ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในองค์กร
การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรจะช่วยให้พนักงานมีความผูกพันกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ภายในทีม หรือระหว่างแผนก สิ่งนี้จะช่วยให้ทุกคนในองค์กรรู้จักกัน และเข้าใจกระบวนการทำงานซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ระบบการทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น โดย HR มีเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์มากมายให้เลือกใช้ เช่น การสร้าง Team Building ผ่าน Company Outings เป็นต้น
2. ใช้ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น
การทำงานแบบยืดหยุ่นเป็นที่ถกเถียงในหลากหลายองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่หลายคนจำเป็นต้อง Work From Home ทำให้กฎระเบียบข้อบังคับแบบเดิมๆ ไม่สามารถใช้ได้ในสถานการณ์นี้ HR จึงมีหน้าที่ช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจทางเลือกในการทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงให้เหมาะสมกับแต่ละคน รวมถึงพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปด้วย ฉะนั้นองค์กรใดที่สามารถปรับเปลี่ยนข้อจำกัดเพื่อรองรับการทำงานให้สะดวกที่สุด องค์กรนั้นก็จะได้คนที่มีศักยภาพเข้าไปร่วมงานได้มากที่สุด
3. ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในเส้นทางอาชีพ
ด้วยรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เส้นทางอาชีพ หรือ Career Path ก็ค่อยๆ เลือนลานลง พนักงานคนหนึ่งอาจไม่ได้มีแค่เส้นทางเดียวในเลือกเดิน แถมยังมีงานหลากหลายให้รับผิดชอบ สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารและ HR ควรตระหนักก็คือการวางแผนพัฒนาอาชีพ (Career Development) ให้ก้าวหน้า องค์กรจึงต้องพร้อมให้ข้อเสนอแนะหรือช่วยออกแบบความก้าวหน้าทางอาชีพของพนักงานด้วย
4. ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่
การเรียนรู้ในที่นี้ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในองค์กรอย่างเดียว แต่คือการเรียนรู้ภายนอกด้วยเช่นกัน เนื่องจากทุกวันนี้โลกการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดงานใหม่และทักษะใหม่ๆ ตามมา ซึ่งบางครั้งเป็นทักษะที่ไม่ได้มีสอนตามหลักสูตรปกติทั่วไป หากมีการส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาตัวเอง ผลประโยชน์ก็จะกลับมาสู่องค์กร ขณะที่พนักงานก็จะรู้สึกดีที่ได้อัพเกรดความสามารถของตัวเองแบบฟรีๆ
5. ชื่นชมและให้ฟีคแบคกับพนักงาน
คงไม่มีการกระทำใดๆ ที่สร้างความสุขได้ดีไปกว่าการเอ่ยปากชื่นชม สิ่งนี้จะช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจพนักงานได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยสามารถทำผ่านการประเมินผลงานประจำปี ซึ่งจะช่วยให้พนักงานทราบถึงความคาดหวังขององค์กร ลำดับความสำคัญ ขอบเขตการทำงาน และคุณค่าของงานที่ทำอยู่ ทั้งนี้ข้อเสนอแนะหรือ Feedback มีได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ อย่าให้แต่คำชม และไม่กล้าให้คำติ เพราะข้อมูลทุกอย่างล้วนสามารถนำไปวิเคราะห์และแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นได้
6. มอบผลตอบแทนและสวัสดิการที่ดี
นอกเหนือจากเงินเดือนแล้ว สวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความสุขให้คนทำงานได้เหมือนกัน ซึ่งไม่เพียงการมอบสวัสดิการพื้นฐาน เช่น สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ แต่รวมไปถึงสวัสดิการด้านความปลอดภัยและความสะดวกสบายใจองค์กร ถ้าทุกอย่างตอบโจทย์คนทำงานก็จะเพิ่มความสุขในระยะยาวได้เลย
สถิติความสุขในที่ทำงานของไทยปี 2021 จาก Milieu Insight
Milieu Insight ได้สำรวจความสุขในที่ทำงานของพนักงานทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 6,800 คน ทั้งจากประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนามและไทย พบว่า คนไทยกว่า 44% รู้สึกว่าปีนี้ไม่มีความสุขมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีความสุขสูงที่สุดในกลุ่มตัวอย่างอีกด้วย
โดย ความสุขในที่ทำงาน ของคนไทยเกิดจาก เงินเดือน 48% ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน 45% การจัดการงานปัจจุบัย 36% และความหมายในการทำงาน 33%
ขณะที่ การไม่มีความสุขในที่ทำงาน ของคนไทยเกิดจาก ปริมาณงานที่มากเกินไป 23% การไม่มีโอกาสในการเติบโต 21% เงินเดือน 21% และสวัสดิการบริษัท 20%
ตัวอย่างโมเดลการสร้างความสุขในการทำงาน
BAMBA Model
BAMBA Model เป็นแนวคิดของ ราช รักกุนาธาน (Raj Raghunathan) ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความสุข If You’re So Smart, Why Aren’t You Happy? ซึ่งถ้าหากผู้บริหารหรือ HR โฟกัสสิ่งเหล่านี้ ก็จะสร้างความสุขให้กับพนักงานได้เพิ่มขึ้น โดยแต่ละตัวมีความหมายดังนี้
- B – Basic needs คือความต้องการพื้นฐานที่สุดในการทำงาน นั่นคือความต้องการทางร่างกายและความต้องการทางอารมณ์ เช่น ได้เงินเดือนเพียงพอต่อการค่าใช้จ่ายหรือเปล่า การนั่งทำงานเหมาะสมกับสรีระหรือไม่ บรรยากาศในออฟฟิศปลอดโปร่งไหม เป็นต้น
- A – Autonomy คือความอิสระในการทำงานโดยไม่ถูกควบคุม ความอิสระในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องทางกายภาพอย่างเดียว แต่คือความอิสระในการแสดงความคิดเห็นด้วย
- M – Mastery คือความชำนาญในทำงาน โดยเฉพาะความชำนาญที่เกิดจากงานที่ตัวเองที่ชอบ มากกว่าการทำตามใบสั่งอย่างเดียว สิ่งนี้จะช่วยให้เกิดความกระตือรือร้นและการเติบโตทางอาชีพ องค์กรจึงควรส่งเสริมให้เกิดเรียนรู้ทักษะนั้นๆ ด้วย
- B – Belonging คือการเป็นส่วนหนึ่งในที่ทำงาน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมความรู้สึกแปลกแยกนับเป็นผลร้ายต่อสภาพจิตใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง Work From Home ที่การรักษาความสัมพันธ์เป็นเรื่องยาก มันก็เหมือนประโยคที่ใครหลายคนบอกว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้ลาออกเพราะงาน แต่ลาออกเพราะคน
- A – Abundance Culture คือวัฒนธรรมองค์กรที่สมบูรณ์ บางทีการสร้างวัฒนธรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เช่น CEO ของ Campbell Soups เคยเขียนการ์ดแสดงความขอบคุณ 5 ใบต่อวัน ตลอดอาชีพจึงขอบคุณพนักงานกว่า 3 หมื่นฉบับ เปลี่ยนจากองค์กรที่ประสบปัญหาให้ยอดขายเอาชนะคู่แข่งได้สำเร็จ
PERK Model
Greater Good Magazine เว็บไซต์บทความวิทยาศาสตร์แห่งความสุขได้แนะนำ PERK Model ในการสร้างความสุขในที่ทำงานไว้ 4 เสาหลัก ซึ่งผู้บริหารและ HR ควรให้การส่งเสริม ดังนี้
- P – Purpose คือเป้าหมายในการทำงาน เพราะพนักงานจะรู้สึกมีคุณค่า หากรู้ว่ากำลังทำประโยชน์อะไรให้กับองค์กรหรือคนอื่นอยู่ และจะเกิดผลดีมาก ถ้าเป้าหมายขององค์กรสอดคล้องกับเป้าหมายของพนักงานเช่นกัน
- E – Engagement คือการส่วนร่วมกับองค์กรซึ่งจะช่วยสร้างให้เกิดความผูกพัน ทำให้พนักงานอยากร่วมงานในระยะยาว และเกิดความจงรักภักดีต่อองค์กรในที่สุด
- R – Resilience คือความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการรับมือ ปรับตัว หรือเรียนรู้จากความล้มเหลว ความยืดหยุ่นไม่ได้หมายถึงการหนีปัญหา แต่คือการเผชิญหน้าความท้าทายด้วยความจริงใจต่างหาก
- K – Kindness คือความเมตตา ทั้งความเมตตาในตัวเองและความเมตตาต่อผู้อื่น ผ่านการปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม การสร้างความเชื่อใจ การแบ่งปันความรู้ เช่นเดียวกับผู้นำที่จะต้องเป็นผู้ฟังที่ดีหรือมีความสุภาพ โดยจะพัฒนาสู่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ต่อไป
Happy Workplace
องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการจัดการความสุขของมนุษย์ โดยมุ่งเน้นไปที่ความสมดุลระหว่างความสุขของตัวเอง ครอบครัว และสังคม โดยมี 8 หลัก ดังนี้
- Happy Body – สุขภาพดี คือการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั่วไป
- Happy Heart – น้ำใจงาม คือความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน รวมถึงมีความชื่นชมยินดีและเข้าใจในผู้อื่น
- Happy Relax – การผ่อนคลาย คือสภาวะไร้ความเครียดที่ส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน มีการพักผ่อนที่เพียงพอ อารมณ์ดีและยิ้มแย้มแจ่มใส
- Happy Brain – หาความรู้ คือความใฝ่รู้ที่จะแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาตนให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
- Happy Soul – การมีคุณธรรม คือการมีจิตใจที่ดีตามหลักศีลธรรม มีความเกรงกลัวต่อการทำบาป รวมถึงการทำสมาธิให้มีจิตวิญญาณอันสงบสุข
- Happy Money – การปลอดหนี้ คือการมีรายรับรายจ่ายที่มั่นคง สามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างเหมาะสม รู้จักการออมและลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
- Happy Family – ครอบครัวดี คือการมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่อบอุ่น เต็มไปด้วยความสุข ไม่มีการทำงานที่เบียดบังช่วงเวลาแห่งความครอบครัว
- Happy Society – สังคมดี คือการร่วมสร้างสังคมและชุมชนที่ดีในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างกัน สามารถไว้วางใจกัน และมีความรักความสามัคคีต่อกัน
Did You Know?ปัจจุบันมีการเพิ่ม Happy ตัวที่ 9 Happy Work Life – การงานดี คือความสุขจากประสบการณ์การทำงานกับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการมีความสุขกับสภาพแวดล้อมโดยรวม ความพึงพอใจกับสวัสดิการ รวมไปถึงการได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น และการได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่าด้วย
บทสรุป
“Out of every goal human beings want to attain, happiness is usually the greatest.” – Tom Miles
เพราะความสุขเป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา ความสุขในการทำงานของพนักงานจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรควรให้ความใส่ใจ เห็นได้จากงานวิจัยสารพัดที่บ่งบอกว่า ความสุขส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งนั่นนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าขององค์กรต่อไป นอกจากกระบวนการที่อยู่ในบทนี้ ยังมีแนวคิดและกระบวนการสร้างความสุขในที่ทำงานอีกมากมาย อยู่ที่องค์กรของคุณเหมาะสมกับแนวคิดไหนมากกว่ากัน ถึงกระนั้นสิ่งหนึ่งที่ทุกแนวทางมองเห็นเหมือนกัน ก็คือการให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล และมองคนทำงานให้เห็น “คน” มากขึ้น ซึ่งนั่นก็สร้างความสุขพื้นฐานที่ยั่งยืนให้พนักงานของคุณแล้ว