HIGHLIGHT
|
เชื่อว่าหลายคนสนใจเรื่อง Personality Type กันค่อนข้างมาก เพราะทำให้เรารู้จักตัวเองและรู้จักคนอื่นได้ดีขึ้น ซึ่งโมเดลที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในหมู่คนทั่วไปก็คงเป็น MBTI แต่น้อยคนที่จะรู้จักกับ DISC Model คือแบบทดสอบบุคลิกภาพอีกอย่างหนึ่ง แต่จะเน้นไปในด้านการทำงาน การอยู่กับเพื่อนร่วมงาน จุดเด่นและจุดด้อยของคนแต่ละประเภทในการงาน
โดย DISC เริ่มต้นขึ้นมาจาก ดร. วิลเลียม มาร์สตัน (Dr. William Marston) ศาตราจารย์ชื่อดัง จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สาขาจิตวิทยา และเป็นนักทฤษฏีเกี่ยวกับความเสมอภาค ที่สำคัญเป็นเจ้าของทฤษฏี DISC Model ที่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือ ‘Emotion of Normal People’ ซึ่งได้พูดถึงกระบวนการทำงานของอารมณ์ความรู้สึกในคนปกติที่นำไปสู่ลักษณะพฤติกรรมที่มีความหลากหลาย
และจากทฤษฏีของ ดร.วิลเลียม ดังกล่าว วอลเตอร์ คลาร์ก (Walter Clark) นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมก็ได้นำทฤษฏีนี้ไปสร้างเป็นแบบทดสอบโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่องค์กร ซึ่ง 4 รูปแบบพฤติกรรมที่วอลเตอร์ใช้เรียกในแบบทดสอบคือ Aggressive, Sociable, Stable และ Avoidant และจากจุดเริ่มต้นตรงนี้ก็มีอีกหลายคนที่ได้พัฒนา ได้ทำการวิจัยต่อยอดจนกลายมาเป็นแบบทดสอบ DISC ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
Contents
DISC Model คืออะไร
DISC คือลักษณะบุคลิกภาพของคนแต่ละประเภทที่สังเกตได้จากนิสัยการทำงานและสภาพแวดล้อมของคนแต่ละประเภท จะประกอบไปด้วย 4 ลักษณะ คือ Dominance, Influence, Steadiness และ Compliance ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกคนอาจมีหลายลักษณะอยู่ในตัวเองก็ได้ แต่จะมีอย่างเดียวที่ปรากฎออกมาชัดเจน นั่นก็คือ ‘จุดเด่น’ ของเรา สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมการทำงานว่าแต่ละคนมีจุดเด่นในการทำงานอย่างไร หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง
โดย DISC Model หรือ DISC Personality Test คือสิ่งที่สามารถวัดพฤติกรรมการทำงานของมนุษย์ได้ และเรานำมาใช้ต่อยอดเพื่อพัฒนาตัวเองต่อไปได้
ทำแบบทดสอบได้ที่: แบบทดสอบ DISC Model ฉบับภาษาไทย 1 หรือ ฉบับภาษาไทย 2 / ฉบับภาษาอังกฤษ
ลักษณะของ DISC Model ทั้ง 4 ประเภทคืออะไรบ้าง
อย่างที่ได้กล่าวถึงไปด้านบนแล้วว่า DISC ทั้ง 4 ประเภทมี Dominance, Influence, Steadiness และ Compliance ซึ่งเราจะแยกชัดเจนเป็นแต่ละประเภทว่ามีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร และแตกต่างกันอย่างไร
มนุษย์กลุ่ม D (Dominance)
ชาว Dominance แน่นอนว่ามีลักษณะนิสัยตามชื่อกลุ่ม จะมีพฤติกรรมการทำงานประเภทชอบความท้าทาย ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ความมั่นใจในตัวเองสูง ไม่ชอบการบังคับ หรืออยู่ในกฎเกณฑ์มากเกินไป เป็นคนเด็ดขาด ชอบความรวดเร็ว และไม่ชอบงานที่มีระบบระเบียบขั้นตอนเยอะ ด้วยพฤติกรรมการทำงานแบบนี้จึงทำให้ขาดความรอบคอบ จึงอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในส่วนเล็กส่วนน้อยเสมอ
ข้อควรระวัง: ด้วยความที่เป็นคนมั่นใจสูงก็จะมีอีโก้สูง ไม่ยอมฟังใคร มองว่าตัวเองเป็นผู้นำ แต่ลักษณะของผู้นำที่ดี นอกจากพาทีมไปยังเป้าหมายได้สำเร็จแล้ว ก็ยังต้องฟังคำเตือน หรือข้อเสนอแนะของคนอื่นด้วย
Dominance Checklist
- มั่นใจสูง
- หัวร้อนง่าย
- ตัดสินใจไว
- ใจร้อน
- ไม่ชอบถูกบังคับ
- ไม่ชอบการอยู่ในกรอบ
วิธีการมอบหมายงานให้ Dominance
- D เป็นคนมุ่งผลลัพธ์ในการมอบหมายงานหัวหน้าจึงควรบอกผลลัพธ์ที่ต้องการให้พวกเขาทราบอย่างชัดเจน
- บอกกําหนดเวลาของงาน เพื่อพวกเขาจะสามารถส่งมอบงานได้ตรงตามกําหนดเวลาที่หัวหน้าต้องการ
- หัวหน้าต้องชี้แจงของเขตอํานาจและทรัพยากรที่พวกเขามีเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาไปสั่งการหรือใช้ทรัพยากรของผู้อื่นเกินอํานาจที่
มี - D ชอบควบคุมสถานการณ์ดังนั้น การมอบหมายงานใด ๆ ควรให้พวก
เขากําหนดวิธีการทํางานเองและให้อิสระในการทํางาน
มนุษย์กลุ่ม I (Influence)
ชาว Influence คือมนุษย์โลกสวย เดินเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์อย่างแท้จริง มีความคึกคัก สนุกสนาน ชอบสร้างสีสันและเข้าสังคม และจะมีความกระตือรือร้นมาก มองโลกในแง่ดีและเป็นที่รักของทุกคนในออฟฟิศ เรียกได้ว่ามีพฤติกรรมการทำงานที่ไม่เน้นการทำงาน เพราะเน้นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับออฟฟิศ ทำให้เพื่อนร่วมงานสนุกอยู่เสมอ
ข้อควรระวัง: เป็นคนที่มักจะปฏิเสธคนไม่เก่ง และมักจะไว้ใจคนอื่นมากเกินไป ด้วยสกิลการโน้มน้าวใจคน อาจจะโดนหมั่นไส้เพราะเป็นจุดเด่นอยู่เสมอ
Influence Checklist
- กระตือรือร้น
- ชอบเข้าสังคม
- มองโลกในแง่ดี
- สนิทกับคนง่าย
- มนุษย์สัมพันธ์ดี
วิธีการมอบหมายงานให้ Influence
- ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนเสมอว่าพวกเขาเข้าใจตรงตามผลลัพธ์ที่คุณคาดหวัง เพราะคนที่เต็มไปด้วยจินตนาการความคิดสร้างสรรค์แบบ I มีแนวโน้มที่คิดในแบบของตัวเองมากกว่า
- ตอกย้าถึงกรอบเวลาที่แน่นอนที่ต้องการให้ส่งมอบงาน จินตนาการที่บรรเจิดของพวกเขา มักจะทําให้ควบคุมเวลาไม่ค่อยได้
- ช่วยพวกเขากําหนดขั้นตอนของการทํางานและตัวชี้วัดที่ต้องทําให้สําเร็จภายในกําหนดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานที่มีความซับซ้อน แม้ว่าพวกเขาจะเก่งกาจในการมองภาพใหญ่ แต่ก็มีจุดอ่อนในเรื่องรายละเอียด
มนุษย์กลุ่ม S (Steadiness)
ชาว Steadiness ผู้รักความสงบจะมีพฤติกรรมนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว ใจเย็น เป็นผู้รับฟังที่ดี เสมอต้นเสมอปลาย ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์พาไป ยืนหนึ่งเรื่องมีไหวพริบดี ชอบความเป็นขั้นเป็นตอนของการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นเพื่อนร่วมงานกลุ่มที่ควรเอามาร่วมทีมด้วยที่สุด
ข้อควรระวัง: เนื่องจากชาว Steadiness ไม่ชอบความวุ่นวาย ชอบอยู่ในเซฟโซนของตัวเอง และไม่ชอบความขัดแย้ง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอะไรที่กะทันหัน และมักถูกมองว่าเป็นคนเอื่อย ๆ ไม่พัฒนาตัวเอง ชอบยึดติดกับอะไรเดิม ๆ
Steadiness Checklist
- เป็นผู้ฟังที่ดี
- ค่อนข้างเป็น Introvert
- มีไหวพริบ ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน
- นิ่งไว้ก่อน
- เป็นคนสบาย ๆ อะไรก็ได้
วิธีการมอบหมายงานให้ Steadiness
- การมอบหมายงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานใหม่ ๆ ที่พวกเขาไม่เคยทํามาก่อน ให้อธิบายทีละขั้นตอนเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทํา พร้อม
เอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อพวกเขาจะสามารถกลับไปทบทวนได้ - อธิบายให้ทราบถึงทรัพยากรที่มีให้ในการทํางาน เพราะพวกเขามีแนวโน้มที่จะไม่กล้าเอ่ยปากขอ
- กําหนดการติดตามผลเป็นประจํา เพื่อช่วยให้พวกเขามั่นใจว่ายังทํางานได้ตรงตามความต้องการและเป็นโอกาสที่จะตอบคําถามของ
พวกเขา - เพราะพวกเขาเป็นคนขี้เกรงใจ หัวหน้าจึงควรช่วยพวกเขาในการขอความร่วมมือจากผู้อื่นในกรณีที่จําเป็น
มนุษย์กลุ่ม C (Compliance)
นักวิเคราะห์และ perfectionist อันดับหนึ่งอย่างชาว Compliance จะมีนิสัยเหมือนเป็นนักวางแผน ทำอะไรต้องวางแผนเสมอ และต้องเป็นขั้นเป็นตอน มีความรอบคอบ ช่างสังเกต ชอบอะไรที่ซับซ้อน และทุกอย่างต้องเป๊ะ จะเป็นกลุ่มที่คิดล่วงหน้าเสมอเพื่อจะประเมินความเสี่ยงที่จะเกิด และชอบวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ
ข้อควรระวัง: หลายคนอาจะมองว่าคนกลุ่มนี้จู้จี้จุกจิกเกินไป และการที่ต้องวางแผนให้ชัดเจนทุกกระเบียดนิ้วก่อนที่จะทำอะไรอาจจะทำให้พลาดโอกาสดี ๆ ได้เช่นกัน บางครั้งก็ควรจะลองเสี่ยงดูบ้าง จริง ๆ เพราะการขี้ระแวงก็เป็นข้อดี และก็เป็นข้อเสียได้เช่นกัน
Compliance Checklist
- ยึดกฎระเบียบ
- ทำอะไรต้องออกมาดีทุกกระเบียดนิ้ว
- ชอบความถูกต้อง
- ไม่ชอบความเสี่ยง
- ใส่ใจกับรายละเอียด
วิธีการมอบหมายงานให้ Compliance
- ขณะมอบหมายงานให้อธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล คํานึงถึงความถูกต้อง แม่นยําในสิ่งที่คาดหวัง รวมถึงมาตรฐานในเชิงคุณภาพ
- อธิบายเหตุผลสําหรับการทํางานที่มอบหมาย งานดังกล่าวมีผลต่อองค์กรโดยรวมอย่างไร
- ตอกย้ากับกําหนดเวลา เพราะ C มีแนวโน้มที่จะพลาดการส่งงานตามกําหนดเวลาทั้งที่ทําเสร็จแล้ว เพราะงานดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์
แบบตามมาตรฐานของพวกเขา
ประโยชน์ของ DISC Model คืออะไร
ในแง่มุมของพนักงาน
การได้เรียนรู้จุดเด่นจุดด้อยและลักษณะนิสัยของเพื่อนร่วมงานก็เหมือนเป็นการได้รู้จักตัวตนของเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ทำให้เข้าใจและยอมรับในลักษณะนิสัยของกันและกัน ส่งผลให้การทำงานราบรื่นมากขึ้นเพราะเกิดความเข้าใจกันในหมู่เพื่อนร่วมงาน ลดปัญหาความขัดแย้ง สร้างบรรยากาศทำงานเป็นทีมให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยในการพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และสามารถพัฒนาตัวเองให้ถูกจุดอีกด้วย บางทีมก็อาศัยการทำแบบทดสอบ DISC เพื่อวางตำแหน่งงานตามความถนัดของแต่ละคน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีมให้ดีขึ้นได้ด้วย
ในแง่มุมของ HR
HR สามารถใช้ DISC Model ในการบริหารดูแลพนักงาน เพิ่มศักยภาพ และพัฒนาประสิทธิภาพของบุคลากร เพราะเมื่อรู้จุดแข็งของพนักงานก็จะสามารถดึงจุดนั้นมาใช้งานได้มากขึ้น ส่วนจุดไหนที่เป็นจุดอ่อนก็ควรหลีกเลี่ยงเพื่อรักษาสัมพันธภาพในการทำงานที่ดีของพนักงานเอาไว้ นอกจากนี้ยังใช้เพิ่มคุณภาพในการบริหารงานสำหรับผู้บริหาร ในส่วนของผู้บริหารที่รู้จักและสนใจในการใช้โมเดลนี้ก็จะทำให้เข้าใจลูกน้องและบริหารงานในองค์กรได้มีคุณภาพมากขึ้น
บทสรุป
การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมใหญ่ในสถานที่หรือองค์กรเดียวกันย่อมมีปัญหาตามมาอยู่แล้วไม่มากก็น้อย เพราะมากคนก็มากความ เนื่องจากแต่ละคนมาจากต่างที่ ต่างสังคม ลักษณะนิสัยก็ต่างกัน อาจจะเกิดปัญหาเรื่องความขัดแย้งหรือความสัมพันธ์ได้ ดังนั้นการที่เราได้เรียนรู้ตัวตนของคนที่อยู่ร่วมกันผ่าน DISC Model ก็จะทำให้เราเข้าใจในการกระทำแต่ละอย่างของกันและกัน
เมื่อเรารู้นิสัยว่าเพื่อนร่วมงานคนไหนเป็นอย่างไร มีพื้นฐานอย่างไร ก็จะทำให้เรายอมรับและเปิดใจกับการกระทำของคนอื่น ความขัดแย้งก็จะลดน้อยลง เกิดการทำงานเป็นทีมมากขึ้น และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จมากขึ้นนั่นเอง