5 TED Talk ที่ HR ควรดู เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง (Part 2)

HIGHLIGHT

  • จงนำความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดากลับคืนสู่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
  • พนักงานทุกคนต่างมีแรงจูงใจเป็นของตัวเอง เรียนรู้และใช้แรงจูงใจนั้นให้เป็นประโยชน์
  • แรงจูงใจภายในทั้งความเป็นอิสระ ความเชี่ยวชาญ และเป้าหมาย มีสร้างผลประโยชน์ได้ดีกว่าแรงจูงใจภายนอก เช่น เงินรางวัล
  • อุปสรรคใหญ่ในการทำงานที่ออฟฟิศคือผู้จัดการและการประชุมที่บ่อยเกินไป
  • ความหลากหลายในการจ้างงานเป็นเรื่องจำเป็น

ต่อเนื่องจากบทความ 5 TED Talk ที่ HR ควรดู เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง (Part 1) เรามาดูอีก 5 TED Talk ที่น่าสนใจที่เราคัดสรรมาให้ในครั้งนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาองค์กรและการพัฒนาตัวเองของพนักงานทุกคน

​​1. Putting the human back into human resources

TED Talk for HR

TED Talk นี้เกี่ยวกับอะไร

หลายครั้งที่พูดถึงทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) เรามักนึกถึงฝ่ายที่จัดการเอกสารหรือกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับคนในองค์กร แต่ในความคิดของ Mary Schaefer บนเวที TEDxWilmington ได้กล่าวว่า เราต้องนำความเป็นมนุษย์มาใส่ในกระบวนการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคล

การใส่ความเป็นมนุษยไม่ใช่แค่คำว่า Humanely (มนุษยธรรม) ซึ่งหมายถึงการให้พนักงานมีเบรกเข้าห้องน้ำหรือมีการตั้งน้ำสำหรับดื่ม แต่สำหรับเธอต้องให้ความสำคัญกับ Humanly (ความเป็นมนุษย์ปุถุชน) ด้วย อันหมายถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งที่พนักงานต้องการ เช่น ความต้องการได้รับการชื่นชม ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และความรู้สึกว่าตัวเองมีความหมายต่อการสร้างประสิทธิภาพขององค์กร

เธอยกตัวอย่างกรณีทำงานเกี่ยวกับซอร์ฟแวร์ SAP ในโรงงานเคมีแห่งหนึ่ง เธอได้ให้โอกาสพนักงานในทีมตัวเองเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง เธอพบว่า 3 ใน 4 คนในทีมของเธอมีการเติบโตที่ก้าวกระโดด คนหนึ่งเดินทางรอบโลกในฐานะที่ปรึกษา SAP อีกคนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ และอีกคนกลายเป็นพนักงานที่มีคุณค่า ซึ่งก่อนหน้านี้คนดังกล่าวเป็นเพียงพนักงานกวาดห้องเท่านั้น

สิ่งที่ Mary Schaefer ทำไม่ได้พิเศษอะไรเลย เพียงแค่เชื่อมั่นในศักยภาพของพนักงานว่าพวกเขามีความสามารถในการพัฒนาตัวเอง และพวกเขาก็ทำได้จริง 

ทำไม HR ต้องดู

สำหรับ TED Talk นี้เน้นให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee Engagement) โดยเธอใช้สถิติของ Gallup ในปี 2013 ที่บอกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานในสหรัฐฯ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีส่วนร่วมกับองค์กร และ 20 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกไม่มีส่วนร่วมโดยสิ้นเชิง สิ่งนี้ทำให้สหรัฐฯ​ เสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 550 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

เธอจึงเน้นย้ำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีวิธีปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นมนุษย์ปุถุชนมากขึ้น เพื่อชื่นชมผลงานในเชิงบวก และจุดประกายการมีส่วนร่วม ซึ่งนั่นนำมาซึ่งวัฒนธรรมการทำงานที่ดีขึ้น

รับชม TED Talk นี้ได้ที่ Putting the human back into human resources

2. Stop Trying to Motivate Your Employees

TED Talk for HR

TED Talk นี้เกี่ยวกับอะไร

มีหลายองค์กรที่ถามตัวเองว่า เราจะสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรได้อย่างไร แต่ก่อนที่จะสร้างการมีส่วนร่วม องค์กรต้องเข้าใจก่อนว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งทำงานเพื่อองค์กรของเรา 

และนั่นก็คือแรงจูงใจ (Motivation)

Kerry Goyette ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาองค์กรได้กล่าวถึงแรงจูงใจใน TEDxCosmoPark ว่า นี่คือองค์ประกอบของความสำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่มีแรงจูงใจเชิงบวกที่เสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน และแรงจูงใจเชิงลบที่จะลดประสิทธิภาพในการทำงาน

เธอยกตัวอย่างคนที่มีศักยภาพในการทำงาน ทว่ามีแรงจูงใจที่ไม่ดี เช่น ติดยา มั่วผู้หญิง ขี้โม้ ซึ่งนั่นทำให้เกิดบรรยากาศ toxic ในการทำงานได้ เพราะไม่ว่าใครก็ตามล้วนต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมนั่นเอง

สอดคล้องกับการทดลองทางประสาทวิทยาที่บอกว่า มนุษย์จะใช้ศักยภาพเต็มที่ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ดี (Healthy group) ซึ่งถ้าหากในกลุ่มมีคนที่มีแรงจูงใจไม่ดีอยู่ ก็จะดึงคนที่มีแรงจูงใจดีให้ต่ำลงมาด้วยเช่นกัน 

นั่นทำให้ทรัพยากรบุคคลไม่ควรเลือกคนที่มีแรงจูงใจไม่ดีเข้าเสริมทัพองค์กร กระบวนการคัดเลือกและสัมภาษณ์งานจึงต้องทำอย่างเข้มข้นมากขึ้น

ทำไม HR ต้องดู

นับเป็นความเข้าใจผิดที่องค์กรสามารถจูงใจพนักงานของคุณได้ เพราะจริง ๆ แล้ว พนักงานทุกคนล้วนมีแรงจูงใจเป็นของตัวเอง Kerry Goyette ยกตัวอย่างคนสองคนที่มีแรงจูงใจต่างกัน คือ แมรี่มีแรงจูงใจด้านความทะเยอทะยาน ส่วนบ็อบมีแรงจูงใจไม่ให้ความผิดพลาดเกิดขึ้น

ถ้าเกิดองค์กรสร้างโปรเจกต์ในการหาลูกค้าใหม่ แมรี่จะมีแรงจูงใจมากกว่าบ็อบ ซึ่งบ็อบไม่ได้ผิดอะไร เนื่องจากเขาไม่ได้มีแรงจูงในการหาสิ่งใหม่ ฉะนั้นสิ่งที่องค์กรต้องบอกบ็อบก็คือ “เราจะทำอย่างไรไม่ให้องค์กรสูญเสียลูกค้าเก่า” แล้วบ็อบก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กล่าวคือ เราไม่สามารถสร้างแรงจูงใจหนึ่งเดียวแล้วใช้กับพนักงานทุกคน กุญแจสำคัญก็คือการปลดปล่อยแรงจูงใจของพวกเขากลายเป็นความจริง ซึ่งมีทั้งแรงจูงใจในการค้นหาสิ่งที่ดีกว่า หรือแรงจูงในการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด 

ฉะนั้น HR จะต้องเลือกพนักงานที่มีแรงจูงใจตรงกับเป้าหมายองค์กร ผ่านการสัมภาษณ์งานที่เข้มข้นนั่นเอง

รับชม TED Talk นี้ได้ที่ Stop Trying to Motivate Your Employees

3. The Puzzle of Motivation

TED Talk for HR

TED Talk นี้เกี่ยวกับอะไร

นักวิเคราะห์ด้านอาชีพ Dan Pink ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งแรงจูงใจของมนุษย์ โดยเฉพาะสิ่งจูงใจภายนอกและสิ่งจูงใจภายในพบว่า การให้รางวัลกับการลงโทษ ซึ่งใช้การได้ดีสำหรับงานในยุคศตวรรษที่ 20 แต่สำหรับงานยุคศตวรรษที่ 21 การใช้รางวัลและบทลงโทษไม่ได้ผลอีกต่อไป แถมยังให้ผลเสียอีกด้วย

เขายกตัวอย่าง การทดลองของนักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอรางวัลเป็นค่าตอบแทนผลงาน มีรางวัลสามระดับ คือรางวัลเล็ก รางวัลปานกลาง และรางวัลใหญ่ ผลปรากฏว่ารางวัลที่ใหญ่กว่าส่งผลให้ผลงานแย่ลง สอดคล้องกับนักเศรษฐศาสตร์ LSD ที่ดูงานวิจัย 51 ชิ้นเกี่ยวกับแผนการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานในบริษัทต่าง ๆ พบว่า สิ่งจูงใจทางการเงินสามารถส่งผลเชิงลบต่อผลงานโดยรวม โดยจะทำให้ความคิดทื่อลงและปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์

เพราะฉะนั้นงานในศตวรรษที่ 21 จะต้องมีแรงจูงใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์แนะนำว่าควรเป็นสิ่งจูงใจภายใน โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ความเป็นอิสระ ความเชี่ยวชาญ และเป้าหมาย 

ยกตัวอย่าง สภาพการทำงานเน้นผลลัพธ์หรือ Results Only Work Environment (ROWE) ที่พนักงานไม่มีตาราง พวกเขามาทำงานเมื่อไหร่หรือที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศก็ได้ ขอแค่ต้องทำงานที่รับผิดชอบให้เสร็จ ผลลัพธ์ก็คือผลิตภาพสูงขึ้น พนักงานมีความผูกพันกับบริษัทเพิ่มขึ้น มีความพึงพอใจในงานมากขึ้น และอัตราการเปลี่ยนงานลดลง

ทำไม HR ต้องดู

หลายครั้งที่องค์กรมักให้ความสำคัญกับแรงจูงใจภายนอก เช่น เงินเดือน/โบนัส มากกว่าแรงจูงใจภายใน ทั้ง ๆ ที่แรงจูงใจสร้างประโยชน์มากกว่า ส่วนแรงจูงใจภายนอกนั้นสามารถใช้การได้เฉพาะบางสถานการณ์ ซึ่งบางครั้งก็มักจะทำลายความคิดสร้างสรรค์ด้วยซ้ำ

สรุปก็คือ ความลับในการสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมจึงไม่ใช่รางวัล แต่เป็นแรงขับจากภายในที่มองไม่เห็น เป็นแรงขับที่เราอยากทำ หรือทำเพราะมีความหมายนั่นเอง

ฉะนั้นถ้าองค์กรนำแนวคิดเรื่องแรงจูงใจมาใช้ในศตวรรษที่ 21 โดยก้าวพ้นเรื่องรางวัลและการลงโทษ แต่หันมาโฟกัสที่แรงจูงใจภายในอย่างความเป็นอิสระ ความเชี่ยวชาญ และเป้าหมาย องค์กรก็จะสามารถทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งกว่าเดิม

รับชม TED Talk นี้ได้ที่ The Puzzle of Motivation

4. Why Work Doesn’t Happen At Work

TED Talk for HR

TED Talk นี้เกี่ยวกับอะไร

Jason Fried นักพัฒนาซอร์ฟแวร์ Basecamp เริ่มต้นตั้งคำถามว่า “คุณไปที่ไหนเวลาที่คุณต้องการทำงานให้เสร็จ?” เขาได้รับคำตอบหลากหลายตั้งแต่ระเบียง ดาดฟ้า ห้องครัว ร้านกาแฟ ห้องสมุด รถไฟ เครื่องบิน รถยนต์ ฯลฯ ซึ่งแทบไม่มีคำตอบว่าเป็นออฟฟิศเท่าไหร่เลย

แล้วทำไมพวกเขาไม่ทำงานที่ออฟฟิศกันล่ะ?

คำตอบก็คือ เพราะการทำงานที่ออฟฟิศเต็มไปด้วย การ ‘ถูกขัดจังหวะ’ มากมาย ทำให้พวกเขาถูกดึงจากสภาวะการทำงาน โดยเฉพาะคนที่มีหัวคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ นักเขียนโปรแกรม นักเขียน วิศวกร หรือนักคิด คนเหล่านี้ต้องการช่วงเวลาทำงานนาน ๆ โดยไม่มีอะไรมาขัดจังหวะ เพื่อทำงานให้เสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ Jason Fried กล่าวถึงปัญหาที่แท้จริงว่าคือ ปัญหา M&M ประกอบไปด้วย Manager (ผู้จัดการ) และ Meeting (การประชุม) การขัดจังหวะจากผู้จัดการเกิดขึ้นเพราะพวกเขาไม่ได้ลงมือทำงานเอง ฉะนั้นพวกเขาจึงต้องมั่นใจให้ได้ว่าคนอื่นกำลังทำงาน เช่น การเข้ามาถามว่า “เป็นยังไงบ้าง? ขอดูหน่อยว่าทำถึงไหนแล้ว” ซึ่งมักจะชอบขัดในจังหวะที่ผิด

ส่วนกรณีการประชุมเป็น toxic ของการทำงานอย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่ขัดจังหวะคนที่ทำงานอยู่อย่างรุนแรง เพราะมันคือการสั่งให้หยุดทำงานทันที แล้วไปรวมตัวในห้องประชุมเพื่อพูดคุยประเด็นเดียว 

นอกจากนี้ การประชุม 1 ชั่วโมง ไม่ได้หมายความว่าการสูญเสียเวลา 1 ชั่วโมง เพราะถ้ามีคนประชุม 10 คน เท่ากับองค์กรกำลังการสูญเสียชั่วโมงการทำงาน 10 ชั่วโมง จากคน 10 คน

นี่คือปัญหาของสำนักงานสมัยใหม่ที่ทุกองค์กรควรจัดการ เพื่อสร้างช่วงเวลาการทำงานโดยไม่มีสิ่งใดมารบกวน

ทำไม HR ต้องดู

การบังคับให้ทุกคนมาทำงานที่ออฟฟิศอาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะออฟฟิศคือแหล่งสร้างการขัดจังหวะที่มากที่สุด ทั้งนี้ Jason Fried แนะนำว่า ลองหาสักวันหนึ่งที่ทุกคนในออฟฟิศไม่ต้องคุยกัน มีแต่ความเงียบเท่านั้น เพื่อให้ทุกคนโฟกัสกับงานอย่างแท้จริง 

ผลลัพธ์คือ พวกเขาจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล เมื่อไม่มีใครคุยกัน ไม่มีใครรบกวน และไม่มีใครมาขัดจังหวะ เช่น การให้เวลา 4 ชั่วโมงแห่งความเงียบสงบที่ทำงาน เป็นสิ่งที่จะมีมูลค่าสูงอย่างเหลือเชื่อ

ต่อมาคือการเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารจากเชิงรุกที่ต้องมาเจอหน้ากัน ทักทายคน หรือนัดประชุม เปลี่ยนมาเป็นการสื่อสารเชิงตั้งรับ เช่น การส่งอีเมลและเมสเสจ เนื่องจากการสื่อสารเหล่านี้พนักงานสามารถเลือกเปิด/ปิดการขัดจังหวะได้เอง ทำให้พนักงานสามารถมุ่งมั่นมีสมาธิทำงาน ก่อนเปิดเช็คอีเมลภายหลัง

สุดท้าย Jason Fried แนะนำว่า ให้ยกเลิกการประชุม ไม่ใช่แค่เลื่อน แต่คือลบออกจากความจำไปเลย สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลพอสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สำหรับผู้จัดการ เจ้านาย เจ้าของธุรกิจ หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลคนเพื่อให้พนักงานทุกคนปล่อยวาง และมีเวลาทำงานให้สำเร็จมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับองค์กร

รับชม TED Talk นี้ได้ที่ Why Work Doesn’t Happen At Work

5. Three Lessons On Success From An Arab Businesswoman

TED Talk for HR

TED Talk นี้เกี่ยวกับอะไร

TED Talk นี้เป็นประสบการณ์ของ Leila Hoteit หญิงสาวชาวเลบานอนที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมวัฒนธรรมที่เข้มงวด ในฐานะผู้หญิงอาหรับและในฐานะคุณแม่ ทำให้เธอเต็มไปด้วยแรงกดดันสังคมโดยเฉพาะการกดขี่จากผู้ชาย

เธอได้รับบทเรียนสำคัญคือ การเปลี่ยนคำพูดบั่นทอนจิตใจมาเป็นกำลังใจ เพราะเธอเคยโดนสบประมาทจากเพื่อนร่วมงานผู้ชายว่า “ผู้หญิงเมื่อมีลูกก็ควรอยู่ที่บ้าน” แต่เธอก็แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่มีลูกแล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง และนำบทเรียนนี้มาปรับใช้กับชีวิตส่วนตัว ซึ่งทำให้เธอแข็งแกร่งขึ้น

เธอยังเรียนรู้ที่จะจัดการชีวิตตัวเองให้อยู่รอดใน 2 บาทบาททั้งผู้หญิงทำงานและคุณแม่ โดยแบ่งเวลาทุกวันทำงานประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง จาก 19.00 น. ถึง 20.30 น. สำหรับช่วงเวลาแห่งครอบครัว เป็นช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เวลากับลูก ๆ เพื่อตรวจทานการบ้าน อ่านนิทานก่อนนอน หรือหอมและโอบกอดพวกเขาให้มากที่สุด

ท้ายที่สุด Leila Hoteit กล่าวว่า ผู้หญิงอาหรับจากที่เคยเผชิญกับสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ พวกเธอพบว่าการช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย กุญแจสู่ความสำเร็จของผู้หญิงจึงเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ผ่านการรวมพลังโดยไม่ชิงดีชิงเด่นกันเอง

และผู้หญิงทั่วโลกก็ยังคงเดินหน้าต่อไปในโลกใบนี้ ถึงจะไม่เร็วมากพอ แต่ทุกคนกำลังดำเนินการในแบบฉบับของตัวเอง

ทำไม HR ต้องดู

 ถึงแม้ TED Talk นี้จะไม่ได้พูดถึงประเด็น HR โดยตรง แต่เป็นการพูดถึงความสำคัญของความหลากหลายของพนักงานที่อยู่ในทีม โดยมุ่งเน้นไปที่ความแข็งแกร่งผู้หญิงในฐานะแม่ที่จะต้องจัดระเบียบชีวิต 2 ด้านทั้งการทำงานและความเป็นครอบครัว

ไม่ต่างอะไรจากกรณีของ Leila Hoteit ที่เป็นผู้หญิงอาหรับที่เข้มแข็ง ไม่ยอมจำนนต่อสายตาคนอื่น และผลักดันขอบเขตจำกัดของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนคำพูดบั่นทอนจิตใจมาเป็นกำลังใจ จัดการชีวิตเพื่อนำงานให้ออกจากชีวิต และรวมพลังไม่ชิงดีชิงเด่นกับใคร

นับเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรให้ความหลากหลายของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ผิวสี หรือเรื่องอื่น โดยมุ่งหวังไปที่คุณค่าความเป็นมนุษย์มากกว่านั่นเอง

รับชม TED Talk นี้ได้ที่ Three Lessons On Success From An Arab Businesswoman

 

บทสรุป

เพราะการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายรูปแบบ การรับชม TED Talk ก็เป็นหนึ่งช่องทางที่ได้รับทั้งความรู้และได้รับแรงบันดาลอย่างเต็มที่ สำหรับ HR แล้ว ทั้ง 10 TED Talk ที่เราคัดสรรมานั้นล้วนเป็นประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เพื่อนำสิ่งที่ได้ไปพัฒนาตัวเองและพัฒนาองค์กร รวมไปถึงการสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งพนักงานและลูกค้าของเราต่อไป

ผู้เขียน

Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง