VUCA ในโลกการทำงานสมัยใหม่ : 4 เทคนิครับมือความไม่แน่นอนสำหรับผู้นำยุคใหม่

HIGHLIGHT
  • VUCA ถูกใช้ครั้งแรกสำหรับนักศึกษาทหารใน U.S. Army War College เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความผันผวน และคลุมเครือที่ยากจะอธิบาย ต่อมาคำนี้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการอื่นๆและเริ่มแพร่หลายในวงกว้าง
  • VUCA เป็นคำย่อที่มาจากคำ 4 คำ คือ V-Volatility ความผันผวน, U-Uncertainty ความไม่แน่นอน, C-Complexity ความซับซ้อน, A-Ambiguity ความคลุมเครือ
  •  VUCA ทำให้ธุรกิจและองค์กรปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทำให้ผู้นำองค์กรได้ใช้ทักษะที่มีมาบริหารคน บริหารองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น และทำให้ได้มองเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่เวิร์คสำหรับโลกปัจจุบันจริงๆ

VUCA เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา นั่นอาจเป็นเพราะในปีที่ผ่านๆมา โลกของเราได้เผชิญกับเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น COVID ที่ทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป , New Norm ที่ทำให้พฤติกรรมของเราเปลี่ยนแปลง และอาจกล่าวได้ว่าขณะนี้คนส่วนใหญ่ก็เริ่มจะคุ้นชินกับ New Norm จนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันไปแล้ว , การเข้ามาของ Generation ใหม่ๆ ที่ได้นำเอาความคิดใหม่ๆและวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ๆเข้ามาด้วย รวมไปถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ๆ ที่ได้เข้ามา Disruption ธุรกิจบางแห่ง และเกิดการ Transformation ของบางองค์กร ทำให้บางอาชีพหายไป ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆขึ้นมา

และนั่นเองที่ทำให้เราต้องให้ความใส่ใจกับคำๆนี้กันมากขึ้น เพราะในอนาคตเราอาจไม่สามารถล่วงรู้ได้อีกแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แน่นอนว่าในอดีตเราอาจจะพอทำนายได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า แต่ในขณะนี้เวลานี้ เราไม่อาจรู้ว่าภายในปีหน้าหรือปีนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงนับจากนี้ไปนั้นล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความผันผวน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้มันหมายความว่า เราทั้งหมดกำลังอยู่ในโลกของ VUCA World นั่นเอง

VUCA คืออะไร ?

คำว่า VUCA นั้นถูกใช้ครั้งแรกใน U.S. Army War College ซึ่งนักศึกษาทหารได้ใช้คำย่อนี้เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความผันผวน ยากจะคาดเดา มีความซับซ้อนสูง และคลุมเครือเกินกว่าจะอธิบายได้ ซึ่งมันก็คำอธิบายสถานการณ์หลังจากเหตุการณ์สงครามเย็น ในปี 1991 ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีสงครามอัฟกานิสถานและอิรักนั่นเอง ซึ่งในเวลาต่อมา คำว่า VUCA ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในวงการอื่นๆด้วย เพื่อนำมาอธิบายสถานการณ์ที่ยากจะอธิบาย คาดเดาไม่ได้ และไม่แน่นอน โดยความหมายของ VUCA นั้นมาจากคำ 4 คำ คือ

V- Volatility ความผันผวน ยากจะคาดเดา เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ทันตั้งตัว

U-Uncertainty มีความไม่แน่นอนสูง ไม่ชัดเจน ยากจะอธิบาย

C-Complexity มีความซับซ้อนสูง มีปัจจัยมากมายที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

A-Ambiguity มีความคลุมเครือ เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยากจะคาดเดาผลลัพธ์ได้

ซึ่งหากนำมาพิจารณาในสถานการณ์โลกปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากทีเดียวที่จะต้องใส่ใจ เพราะการที่องค์กรจะอยู่รอดภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำองค์กรจะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ทบทวนตัวเอง และปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

VUCA มีความสำคัญอย่างไรต่อธุรกิจและองค์กร ?

แน่นอนว่าในโลกของการทำงานและธุรกิจ ทุกการดำเนินงานล้วนสอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงโลก เศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางสังคม จะทำธุรกิจให้รอดได้ก็ต้องรู้จักการปรับตัว หากไม่เรียนรู้วิธีปรับตัวก็อาจทำให้บริษัทไม่สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤต เช่นกันกับคนทำงานและผู้บริหาร และผู้นำองค์กร ต้องเป็นคนแรกที่มีความเข้าใจสภาวะของสถานการณ์ภายนอก ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจหรือบริษัทของตัวเอง

VUCA ทำให้ธุรกิจและองค์กรปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทำให้ผู้นำองค์กรได้ใช้ทักษะที่มีมาบริหารคน บริหารองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น และทำให้ได้มองเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่เวิร์คสำหรับโลกปัจจุบันจริงๆ อะไรที่ที่ควรจะหายไปและควรเลิกทำเพราะยิ่งเป็นการเสียเวลาสำหรับสิ่งใหม่ๆที่ดียิ่งกว่า นั่นเองคือความสำคัญของ VUCA

ผู้นำองค์กรจะบริหารทีมอย่างไรในโลกการทำงานยุค VUCA ?

เป็นความจริงว่าคนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยชอบความเปลี่ยนแปลง หรืออะไรที่เสี่ยง คาดเดาไม่ได้หรือไม่รู้คำตอบล่วงหน้า แต่ในฐานะผู้นำองค์กร หากคุณไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง ชอบอยู่ในความปลอดภัยที่สามารถคาดเดาอะไรได้ง่ายๆ มันหมายความว่าคุณยังไม่กล้าที่จะออกจาก Comfort Zone และหากยังไม่พร้อมที่จะเสี่ยง มันอาจหมายความว่าคุณยังไม่พร้อมที่จะอยู่ในโลกของ VUCA ในฐานะผู้นำองค์กรยุค VUCA จะมีวิธีรับมือหรือแนวทางในการบริหารทีมอย่างไร มาเริ่มกันที่ข้อแรก

V – Volatility สภาวะที่มีความผันผวนสูง

ความผันผวน คือ ความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วในโลกธุรกิจและการทำงาน ซึ่งความผันผวนนั้นมักมาคู่กับอีกปัจจัยที่สำคัญคือ Speed ซึ่งก็คือ การเกิดขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว ข้อนี้ผู้นำต้องคำนึงว่าความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในหลักวินาทีต่อวินาทีเลยทีเดียว หากองค์กรของคุณช้าไปเพียงนิดเดียว ก็อาจตามองค์กรอื่นๆไม่ทันได้ และแนวทางที่ผู้นำองค์กรสามารถนำไปใช้บริหารทีมก็คือ

ให้พนักงานได้รับการเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้และได้พัฒนาตัวเอง

เพราะโลกการทำงานนั้นเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงผันผวน และการแข่งขันที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทักษะหรือ Skills ที่มีในตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะยังจำเป็นอีกหรือไม่ในอนาคตอันใกล้ เพราะฉะนั้นในฐานะผู้นำองค์กรไม่จำเป็นต้องเชื้อเชิญให้ทุกคนต้องหมกมุ่นกับคำว่า Reskill – Upskill เพียงอย่างเดียว แต่เชื้อเชิญให้ทุกคนมาลองออกแบบชีวิตของตัวเอง เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง เพื่อจะได้พัฒนาและเพิ่มทักษะที่จำเป็นได้ โดยที่พนักงานไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้นำมาบอกว่าต้องทำอะไร หากผู้นำสามารถกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และมอบอิสรภาพและความเชื่อใจให้พนักงาน ความรับผิดชอบและกระบวนการที่ถูกต้องจะเป็นสิ่งที่ตามมาเอง เพราะวิธีที่ดีที่สุดคือการเป็นผู้นำที่ทำให้ลูกน้องคิดและทำด้วยตัวเองได้ นั่นคือจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเป็นผู้นำ โดยคุณอาจปลูกฝังให้พนักงานมีวิธีการคิดโดยใช้หลักการ 3Y ซึ่งประกอบด้วย

  • Y1 คือ กรอบคิดแบบ Y Shape ที่หาง Y คือการรู้ลึก รู้จริง ส่วนหัว Y คือ “wide” หมายถึงการรู้กว้าง ไม่ได้รู้เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น แต่สามารถเชื่อมโยงความรู้และบูรณาการเข้าด้วยกันได้
  • Y2 คือ “Why” Start with Why ? เริ่มต้นตั้งคำถามว่า “ทำไม” อยู่เสมอ เพราะสิ่งสำคัญกว่าคำตอบหรือวิธีการนั้นเริ่มต้นมาจากคำถามที่ถูกต้อง การรู้ Why คือการรู้ Pain Point รู้ว่าทำสิ่งๆนั้นไปทำไม ซึ่งการรู้ว่าทำไปทำไมก็คือการรู้ว่าจุดยืนหรือเป้าหมายคืออะไรนั่นเอง
  • Y3 คือการ Think Widely มีความคิดนอกกรอบ โดยใช้หลัก Design Thinking เพราะการมีกระบวนการคิดเชิงออกแบบสามารถช่วยให้แก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ได้ และมองเห็นโอกาสในวิกฤต พลิกแพลงออกมาให้เกิดประโยชน์ได้

มี Learning Agility และเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ 

ในการบริหารทีมท่ามกลางความผันผวน สิ่งที่สำคัญก็คือการเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ และมีแผนสำรองไว้สำหรับทุกๆสถานการณ์ เพราะอะไรก็ไม่แน่ไม่นอน ปัญหาและวิกฤตสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นทักษะที่สำคัญสำหรับผู้นำองค์กรยุคนี้ก็คือ การปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว เตรียมแผนสำรองฉุกเฉิน หา Core Value ขององค์กรให้เจอ และเรียนรู้ ทำความเข้าใจสถานการณ์และหาทางออกไปพร้อมๆกัน

ที่สำคัญคือการทำให้พนักงานได้ทำงานด้วย Process ใหม่ๆ เพื่อ Drive Performance และพัฒนาให้องค์กรไปต่อข้างหน้าได้ ไม่ควรยึดติดกับ Process เดิมๆเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเห็นว่าวิธีในการทำงานใดที่ไม่เวิร์ค ไม่ได้ผล และล่าช้าก็ควรคิด Solution อื่นๆที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่า หากองค์กรของคุณยังคงใช้ขั้นตอนทำงานเดิมๆที่ใช้เวลานาน และไม่มองหาทางแก้ไขใหม่ๆ ก็อาจจะไม่ทัน ไม่ตอบโจทย์การทำงานในยุค VUCA ได้

U – Uncertainty สภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง

สภาวะความไม่แน่นอน คือ ภาวะที่ผู้นำองค์กรไม่สามารถทำนายเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความไม่แน่ใจ สิ่งที่ผู้นำองค์กรสามารถทำได้ที่สุดก็คือ การตั้งคำถามอย่างถูกต้อง เพราะหากตั้งคำถามได้ถูกต้องมันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องตามมา และแน่นอนว่าการตัดสินใจใดๆ ควรปรึกษาผู้อื่นในเรื่องที่จำเพาะเจาะจงจากผู้เชี่ยวชาญ จะยิ่งทำให้การตัดสินใจดียิ่งขึ้น โดยแนวทางที่ผู้นำควรนำมาใช้บริหารทีมก็คือ

ใช้ Insight(ข้อมูล) มากกว่า Instinct (สัญชาตญาณ)

ยิ่งมีความไม่แน่นอนสูงมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งต้องพึ่งพิงข้อมูลในการทำงานและตัดสินใจในแทบทุกๆเรื่องมากขึ้นเท่านั้น และเพราะว่าเรากำลังอยู่ในยุค Big Data หรือ Smart Data ทำให้การเข้าถึงข้อมูลต่างๆง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย แต่กลับมีน้อยองค์กรนักที่ตัดสินใจจาก Data Insight จริงๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะเลือกใช้ข้อมูลที่สนับสนุนความคิดหรือสัญชาตญาณของตัวเอง ด้วยความเชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายสิบปีบอกให้รู้ว่าความคิดนั้นถูกต้องอย่างไม่ต้องสงสัย หรือที่แย่หนักไปกว่านั้นคือบางคนมีชุดข้อมูลแค่เพียงเสี้ยวเดียวแต่กลับเหมารวมว่านี่ต้องเป็น Insight ที่แท้จริงแน่ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ประโยคที่ว่า พี่เคยเห็นคนทำแบบนี้ หนูเคยได้ยินคนพูดแบบนี้ ฉันเคยเห็นกระทู้ในพันทิปบอกว่า…  แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของข้อมูลเท่านั้น เพราะในยุคที่เต็มไปด้วยสภาวะผันผวน และความไม่แน่ไม่นอนเช่นนี้ องค์กรต้องหันมาใช้ Empirical Decision Making ตัดสินใจมากกว่าใช้ Sense หรือสัญชาตญาณ ถ้าคุณยังใช้ Instinct ตัดสินใจอยู่ มันก็จะเป็นรูปประโยคของการคิด “พี่คิดว่า หนูคิดว่า ผมคิดว่า..”  แต่ถ้าคุณใช้ Insight ที่มาจาก Data มันจะเป็นรูปประโยคของการรู้ “ ผมรู้ว่า พี่รู้ว่า หนูรู้ว่า…” เพราะการคิดนั้นมาจากการคิดเองเออเอง แต่การรู้นั้นมาจากความจริงที่พิสูจน์มาแล้วนั่นเอง

Design Thinking อย่างเดียวไม่พอ ต้องรวมกับ Data ด้วย

เพราะ Design Thinking ไม่ใช่แค่การคิดในเชิงออกแบบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการมีความ Empathize , Deep Listening  และ Define Problem เพราะฉะนั้นการจะใช้ Design Thinking อย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องประยุกต์ใช้กับ Data ด้วย และสามารถนำ Data นั้นมา Design algorithm เพื่อแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะบริษัทใหญ่ๆที่เติบโตสูงสุดในปัจจุบัน ต่างก็ล้วนมี Data อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ Grab, Amazon, Spotify ฯลฯ นั่นเพราะบริษัทใหญ่ๆเหล่านี้ไม่ได้มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่ Product อย่างเดียว แต่พวกเขาล้วนให้ความสำคัญกับ Data ด้วยนั่นเอง และนั่นคือเหตุผลที่องค์กรที่มี Data สามารถดำรงอยู่อย่างเฉิดฉายไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความไม่แน่นอนได้

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่กำลังมาแรงในยุค VUCA ก็คือ การเลียนแบบการคิดแบบปัญญาประดิษฐ์ โดยใช้ Algorithm ในการแก้ปัญหา ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ที่จะใช้ Algorithm มาวิเคราะห์ data ให้เป็น โดยมีวิธีการและขั้นตอนที่ชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปจัดการและแก้ปัญหาทั้งหมด เพราะต้องยอมรับว่าหน้าที่นี้คงสู้ AI ไม่ได้ เพราะ AI ทำงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำมากกว่าคน อีกทั้งยังสามารถทำงานได้แบบ 24/7 ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของคนก็คือการออกแบบวงจรและระบบการทำงานโดยอิงจาก Algorithm และนำสิ่งที่ได้นั้นมาป้อนให้ AI ทำงานอีกขั้นหนึ่ง เพราะที่สุดแล้วต่อให้มี AI เข้ามาช่วยจัดการงานต่างๆ มันก็ยังต้องการ “คน” ที่มาควบคุมมันอยู่ดี

C – Complexity สภาวะที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ความซับซ้อน สับสน ยากจะอธิบายนั้นมักมาพร้อมกับปัจจัยมากมายหลายอย่างที่ต้องนำมาพิจารณา ยิ่งมีปัจจัยมากเท่าไหร่ ความซับซ้อนก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น หน้าที่ที่ผู้นำควรทำได้ดีที่สุดคือตัดสินใจพิจารณาบางปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นต่อองค์กรจริงๆ เพราะยิ่งมีตัวเลือกมาก ก็ยิ่งก่อให้เกิดความสับสน และใช้เวลาในการตัดสินใจมาก โดยแนวทางที่ผู้นำสามารถนำไปใช้บริหารทีมได้ก็คือ

Start With Why : ตั้งคำถามที่ทำไมแล้วกระบวนการที่ถูกต้องจะตามมา

หากองค์กรตกอยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการมีสติและควบคุมสถานการณ์ให้ได้ ซึ่งนั่นถือเป็นทักษะและความสามารถที่ผู้นำทุกคนควรมี  และที่สำคัญคือการรู้ Core Value ขององค์กร จุดยืน และคุณค่าที่องค์กรยึดถือ หากสิ่งเหล่านี้เด่นชัดและคุณมองเห็นมันอย่างชัดเจน ต่อให้สถานการณ์ซับซ้อนมากเพียงใด คุณก็ย่อมเจอหนทางที่ถูกต้องได้ ซึ่งมันก็คือการ Start With Why นั่นเอง หลายๆครั้ง เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อน หรือการมีตัวเลือกเยอะกลับยิ่งทำให้ตัดสินใจลำบากมากกว่าเดิม เพราะตัวเลือกที่เยอะนั้นยิ่งทำให้ซับซ้อน

เปรียบไปแล้ว มันก็เหมือนกับการที่คุณไปเดินซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วมีพนักงานมาแนะนำคุณมากมาย
คนที่ 1 บอกว่า ตอนนี้ ครัวซองต์กำลังขายดี
คนที่ 2 บอกว่า ตอนนี้ หมูสามชั้นกำลังขายดี
คนที่ 3 บอกว่า ตอนนี้ ชาไข่มุกกำลังขายดี
คนที่ 4 บอกว่า ตอนนี้ น้ำเต้าหู้กำลังขายดี
คนที่ 5 บอกว่า ตอนนี้ ผักขึ้นฉ่ายกำลังขายดี

จากนั้นคุณก็ซื้อทุกอย่างที่พนักงานแนะนำว่าดี แต่เมื่อชำระเงินเสร็จแล้ว รอบตัวคุณอาจจะไม่รู้ว่าคุณซื้อสิ่งเหล่านั้นไปทำไม ไม่รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร แต่หากคุณซื้อมาแค่สองอย่างคือ น้ำเต้าหู้กับผักขึ้นฉ่าย คราวนี้คนอื่นจะรู้ทันทีว่าคุณน่าจะเป็นคนที่รักสุขภาพ เพราะคุณซื้อไปโดยมีจุดมุ่งหมาย มีจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งมันทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้นมากๆอีกด้วย เพราะคุณไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับตัวเลือกมากมายที่ไม่ได้ตอบโจทย์จุดยืนของตัวเอง

สร้างทีมเวิร์คที่มีประสิทธิภาพ

ยิ่งทำงานท่ามกลางสภาวะที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพราะการดำเนินการจนบรรลุเป้าหมายของทีมโดยรวมไม่ได้เกิดจากสมาชิกที่เก่งที่สุดคนเดียว แต่เป็นเพราะการเปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมได้ทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเพราะความฉลาดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความฉลาดของทีมที่ทำให้บรรลุเป้าหมายได้ แล้วความฉลาดของทีมคืออะไร ? มันก็คือ ความสามารถของการยกระดับความฉลาดของทีมที่มีความสามารถกลางๆออกมาใช้ได้ จากการศึกษาวิจัยพบว่าการสังเกตพฤติกรรมของทีมที่บรรลุเป้าหมาย เกือบทุกทีมจะเปิดโอกาสให้สมาชิกในทีมได้พูดในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ให้เกิดความสมดุลและดึงความสามารถของทีมออกมาใช้ได้ ที่สำคัญผู้นำทีมจะต้องมี sense หรือก็คือความไวต่อความรู้สึก สัมผัสได้ว่าตอนนี้สมาชิกในทีมรู้สึกอย่างไรและหา Solution ที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาได้ อย่าลืมว่าความสำเร็จของใครเพียงคนเดียว และคนๆเดียวก็ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่างเสมอไป เก่งในเรื่องที่ถนัดแล้วมาร่วมมือกันเพื่อทำให้ทั้งทีมเก่งขึ้นไปด้วยกันดีกว่า ยิ่งทีมแข็งแกร่งก็ยิ่งเอาชนะความซับซ้อนได้ หรือทำให้เรื่องยากๆเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นได้

A – Ambiguity สถาวะที่มีความคลุมเครือ เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน ยากจะคาดเดาคำตอบ

ความคลุมเครือมักเกิดขึ้นเมื่อบางสิ่งบางอย่างไม่ชัดเจน และอาจหมายถึง ขาดการความเข้าใจซึ่งกันและกัน บางทีอาจหมายถึงการได้รับข้อมูลบางอย่างไม่ครบถ้วน ทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อน หน้าที่ของผู้นำที่ดีที่สุดก็คือ สื่อสารให้ถูกต้อง เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นได้ ยิ่งสื่อสารเคลียร์ ก็ยิ่งหลีกเลี่ยงความคลุมเครือและความเข้าใจผิดได้ และยิ่งทำให้การดำเนินงานเป็นไปง่ายขึ้น และไม่ต้องใช้เวลามากในการตีความ ซึ่งผู้นำองค์กรสามารถมีแนวทางในการบริหารทีมให้ชัดเจนได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

สื่อสารให้ชัดเจน ตรงประเด็น และเข้าใจง่าย

“The small words are best.”  คำพูดที่น้อยที่สุดนั้นทรงพลังที่สุด คือคำกล่าวของ Winston Churchill อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ และมันก็ยังคงเป็นจริงเสมอ เพราะการสื่อสารนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากหากต้องทำงานร่วมกับคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นผู้นำ การสื่อสารที่ดีนั้นไม่ใช่การเป็นคนพูดเก่ง แต่มันคือการฟังเก่ง รู้จังหวะในการพูด และสื่อสารให้ตรงประเด็น ถ้าคุณเป็นหัวหน้าที่พูดเยอะ แต่คำพูดนั้นเต็มไปด้วยน้ำ ไม่มีเนื้อเลย และยากที่จะจับใจความได้ มันก็ทำให้คนฟังไม่ค่อยอยากฟังเพราะยากที่จะจับใจความ หรืออาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ก็จะทำให้การทำงานนั้นซ้ำซ้อน ล่าช้าและผิดพลาดได้ เพราะฉะนั้น การสื่อสารที่ดีนั้นควรจะตรงประเด็น ชัดเจน ทำให้อีกฝ่ายเข้าใจความหมายของคำตอบ โดยที่ไม่ต้องตีความ ไม่ต้องอ้อมค้อมและไม่ต้องใช้เวลามาก เพื่อเอาเวลาที่มีค่าไปโฟกัสกับงานที่สำคัญดีกว่า

แบ่งงานอย่างเหมาะสมและให้พนักงานเข้าใจหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างถูกต้อง

การมอบหมายงานอย่างถูกต้องนั้นไม่ใช่แค่การแบ่งงานกันทำตามหน้าที่เฉยๆ มันเริ่มต้นจากผู้นำควรทำให้การมอบหมายงานนั้นเคลียร์ก่อนว่า ต้องการให้พนักงานทำอะไร Make sure ว่าพนักงานเข้าใจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องทำดีแค่ไหน ซึ่งผู้นำก็สามารถมีคำแนะนำที่จะ Guide พนักงานได้ว่างานที่ต้องการนั้นควรจะเป็นแบบไหน อะไรคือความคาดหวังของคุณ และสิ่งนั้นจะส่งผลต่อเป้าหมายองค์กรอย่างไร หากคุณสามารถทำให้การมอบหมายงานนั้นเคลียร์และชัดเจนตั้งแต่แรก คุณก็จะสามารถให้ความไว้วางใจในศักยภาพของพนักงานได้อย่างเต็มที่ และพนักงานเองก็จะทุ่มเทกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมากๆเช่นกัน เพราะเขาได้รับความเชื่อใจจากคุณ เป็น Freedom with Responsibility มีอิสรภาพในการออกแบบการทำงานซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบ และหากการมอบหมายงานนั้นชัดเจนและถูกต้องแล้วก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการทำงานซ้ำซ้อนและความคลุมเครือไม่ชัดเจนไปได้

บทสรุป

ท่ามกลางโลกแห่งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกเคว้งคว้าง หรืออาจทำให้บางองค์กรไม่มั่นใจ อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้จาก VUCA World ก็คือนี่คือโลกสมัยใหม่ที่เรากำลังเป็น และกำลังอยู่ เราอาจมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนที่เกิดขึ้นในทุกๆวันมากนัก นั่นอาจเพราะวิธีการคิดและพฤติกรรมของเราได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็เป็นไปได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆเกิดขึ้นโดยที่เราอาจไม่ทันสังเกตและไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่เราได้รับรู้จากโลกการทำงานยุคใหม่ในปัจจุบันนี้ก็คือ ผู้ที่พร้อมจะเรียนรู้และเปิดกว้างสำหรับความท้าทายใหม่ๆอยู่เสมอนั้นจะสามารถเอาชนะความไม่แน่นอนในโลกการทำงานในอนาคตได้อย่างแน่นอน!

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง