The Great Resignation การลาออกครั้งใหญ่ เทรนด์ที่ไทยยังมองข้าม

HIGHLIGHT

  • รูปแบบการทำงานแบบไฮบริด (Hybrid) หรือการผสมผสานระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศ และการทำงานจากที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ คือแนวทางการทำงานที่กำลังมาแรง
  • แต่มีหลายองค์กรที่กังวลว่า ประสิทธิภาพในการทำงานแบบไฮบริด (Hybrid) จะลดน้อยลง เมื่อเทียบกับการทำงานในออฟฟิศเพียงอย่างเดียว
  • ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้บริหารและพนักงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่กังวลเรื่องการลาออกระลอกใหญ่ หากมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับเข้าออฟฟิศ และสามารถประสานความร่วมมือกับพนักงานได้ จะช่วยให้งานราบรื่นอย่างแน่นอน

The Great Resignation เทรนด์ที่ไทยยังมองข้าม

เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่เพียงเกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก แต่ก็ยังเกิดการลาออกครั้งใหญ่ หรือ The Great Resignation เมื่อพนักงานจำนวนมากกลับเป็นฝ่ายชิงยื่นใบลาออกก่อนแทน

แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย หลายออฟฟิศก็เริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากการสำรวจเทรนด์ระดับโลกกลับพบว่า…

มีพนักงานสัดส่วนถึง 2 ใน 3 อาจยื่นใบลาออกถ้าบริษัทมีนโยบายให้พนักงานเข้าออฟฟิศเต็มเวลา

สำหรับกระแสในประเทศไทยนั้นเป็นไปตามเทรนด์เดียวกับเทรนด์โลกหรือไม่ ?

ในปี 2565 บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด ได้สำรวจความคิดเห็นของลูกค้าจำนวน 189 ท่าน พบว่ามีผู้บริหารและพนักงานเป็นจำนวนมากที่เห็นด้วยกับรูปแบบการทำงาน Work From Home แต่ในขณะเดียวกัน มีผู้บริหารและพนักงานอีกจำนวนมากที่เชื่อว่าการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาในแง่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน

ประเด็นสำคัญจากการสำรวจ สามารถสรุปออกมาได้ดังต่อไปนี้

1.องค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทยเริ่มให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศแล้ว

รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid และการกลับสู่ออฟฟิศ 100% เป็นทางเลือกสำหรับองค์กรหลังจากนี้ การสำรวจพบ 49% ใช้รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid และ 40% กลับเข้าสู่การทำงานที่ออฟฟิศเต็มรูปแบบ จากกรณีที่เคยมีประเด็นคุยกันว่าการทำงานแบบ Remote Work จะกลายเป็น New Normal หรือไม่ พบว่า มีองค์กรเพียง 1% ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นแบบ Remote

2.ทำงานที่ออฟฟิศ ประสิทธิภาพต่างกับทำงานที่บ้าน

The Great Resignation เทรนด์ที่ไทยยังมองข้าม

เมื่อถามถึงประสิทธิภาพในการทำงานแบบ Hybrid และ Remote เมื่อเทียบกับการกลับเข้าออฟฟิศพบว่ามุมมองในเรื่องแตกต่างกัน 38% ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าประสิทธิภาพการทำงานแบบ Hybrid และ Remote ไม่แตกต่างจากการไปทำงานที่ออฟฟิศ​ในขณะที่ 32% มองว่าประสิทธิภาพดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการเงิน และ 30% มองว่าประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมบริการ

3.องค์กรกลัวพนักงานไม่ให้ความร่วมมือ

การประสานความร่วมมือระหว่างพนักงานเป็นสิ่งที่องค์กรเป็นกังวลมากที่สุดหลังจากนี้ หากต้องการให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น สิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องทำคือการวางแผนดังต่อไปนี้

  • สื่อสารเจตจำนง (Purpose) อันเป็นเป้าหมายร่วมกันทั้งองค์กร
  • ทำให้เห็นความสอดคล้องระหว่างเป้าหมายองค์กร ทีม บุคคล และการประสานระหว่างแผนก
  • พัฒนาทักษะด้านการทำงานเป็นทีมให้พนักงานทุกระดับ
  • สร้างประสบการณ์และแรงจูงใจในออฟฟิศที่สนับสนุนการทำงานแบบเจอตัวและประสานความร่วมมือ

4.อยากให้พนักงานเข้าออฟฟิศ นโยบายการทำงานต้องยืดหยุ่น

องค์กรส่วนใหญ่เตรียมความพร้อมสำหรับการกลับเข้าออฟฟิศ โดยจำเป็นต้องวางนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น และพัฒนาทักษะคนในเรื่องการทำงานเป็นทีม การสร้างนโยบายความยืดหยุ่นและสัมพันธ์ภาพในการทำงานประกอบด้วย

  • สร้างนโยบายความยืดหยุ่นของเวลาเข้า-ออกงาน
  • ลดขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่เกินความจำเป็น โดยเฉพาะกระบวนการที่ต้องใช้กระดาษ
  • หาเทคโนโลยีช่วยในการสื่อสาร การทำงาน อนุมัติ และติดตามผลลัพธ์ผ่านระบบออนไลน์
  • จัดสถานที่ทำงานที่ตอบโจทย์ทั้งการทำงานคนเดียวและการทำงานเป็นทีม
  • ปรับรูปแบบการจ้างงานและสวัสดิการให้มีความยืดหยุ่น

5.การลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) จะไม่เกิดขึ้นที่ไทย

ผู้บริหารและพนักงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่กังวลเรื่องการลาออกระลอกใหญ่ (Great Resignation) ผลสำรวจที่ออกมาพบว่า 51% ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทย แม้คนจะรู้ว่าทำงานที่ไหนก็ได้แต่ไม่ใช่ทุกคนในบ้านเราที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานจากบ้าน อีกทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นสิ่งที่มนุษย์ต่างโหยหาในช่วงไม่ได้เจอกันตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ 85% ขององค์กรทำการสำรวจจะทยอยเรียกพนักงานกลับอย่างเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไปในระยะยาว และใครจะไปรู้ ในอนาคตอันใกล้มันอาจเกิดขึ้นที่เมืองไทยจริง ๆ ก็เป็นได้

All HR Solutions! มาค้นหา HR Products and Services กับ HREX กันเถอะ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง