Stay Interview คืออะไร ทำไมถึงเป็นเครื่องมือรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร

HIGHLIGHT

  • Stay Interview คือการสัมภาษณ์พนักงานในปัจจุบัน เพื่อจะได้รู้ว่า ทำไมพนักงานผลงานดีถึงยังอยู่กับองค์กร อะไรเป็นจุดดึงดูดให้คนที่ใช่ยังอยู่กับเรา
  • เพราะความท้าทายของโลกแห่งการทำงานวันนี้ คือการรักษาคนที่ใช่ให้อยู่กับทีมกับองค์กรไปนาน ๆ
  • คำถาม Stay Interview สามารถถามได้หลายแบบ เช่น อะไรเป็นสิ่งที่คุณชอบในการมาทำงานที่นี่ คุณอยากพัฒนาในเรื่องอะไรมากที่สุด คิดว่ามีอะไรบ้างที่บริษัทควรปรับเปลี่ยนในการทำงาน

Stay Interview เครื่องมือรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร

ในช่วงนี้ไปที่ไหน ต้องบอกว่าผู้บริหารและ HR ของหลายองค์กรบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกวันนี้วุ่นวายอยู่กับการสัมภาษณ์พนักงานใหม่ สัมภาษณ์เท่าไหร่ทีมก็ไม่ครบสักที พอได้คนใหม่มาเดี๋ยวอีกคนก็ออก 

ความท้าทายที่เกิดขึ้นวันนี้มากกว่าการหาคนคือ การรักษาคนที่ใช่ให้อยู่กับทีมไปนาน ๆ 

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าตลาดแรงงานวันนี้เป็นของลูกจ้างจริง นายจ้างเองก็ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด ยอมทุ่มทุนซื้อตัวคนเก่ง  

เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว สลิงชอท กรุ๊ป มีโอกาสคุยกับ CEO ของบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำแห่งหนึ่งก็บ่นเรื่องนี้ให้ฟังว่า พนักงานเจน Z ที่เข้ามาทำงานได้ไม่เกิน 1 ปี ก็ถูกคู่แข่งดึงตัวไป ท่าน CEO เล่าให้ฟังว่าคะแนน Employee Engagement ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้แย่ แต่ผล Exit Interview บอกว่าสาเหตุหลัก ๆ คือเรื่องเงิน!

ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ ผู้บริหารของธุรกิจขายตรงชั้นนำแห่งหนึ่งก็มาบ่นให้ฟังว่า บริษัทไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน พร้อมจ่ายสูงกว่าตลาด และปัจจุบันนี้หากเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันต้องถือว่าตนเองสามารถดึงคนเก่งมาทำงานได้ แต่ผล Exit Interview บอกว่ากลับต้องเสียคนเก่ง ๆ ไปให้บริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่น ด้วยเหตุผลที่ว่าคนไม่อยากทำงานในธุรกิจขายตรง

ก่อนจะทำอะไร เราขอแนะนำให้ทั้งสององค์กรลองไปทำ Stay Interview กับพนักงานปัจจุบัน

Stay Interview คืออะไร

Stay Interview ทำเพื่อจะได้รู้ว่า ทำไมพนักงานผลงานดีถึงยังอยู่กับองค์กร อะไรเป็นจุดที่เราทำได้ดีจนกลายเป็นจุดที่ดึงดูดให้คนที่ใช่ยังอยู่กับเรา 

การทำ Stay Interview สามารถทำแบบไม่เป็นทางการ ทำได้ตลอดเวลา หัวหน้างานเป็นคนทำในรูปแบบเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยประจำวันระหว่างหัวหน้ากับทีม

ซึ่งต่างจาก Exit Interview ​ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่พนักงานยื่นใบลาออก เพื่อหาว่าอะไรเป็นจุดที่เรายังทำได้ไม่ดีหรือผิดพลาดไปจนไม่สามารถรักษาพนักงานคนนั้นไว้ได้ โดยรูปแบบในการทำมักทำอย่างเป็นทางการ เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนสุดท้ายของวงจรการเป็นพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่ HR จะเป็นผู้รับผิดชอบในการทำ

จากการสัมภาษณ์ผู้นำองค์กร 50 คนในประเทศไทยโดย สลิงชอท กรุ๊ป พบว่า 1 ใน 5 เรื่องที่ผู้นำองค์กรในประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดในปีนี้คือ การสร้างประสบการณ์ให้กับพนักงาน (Employee Experience)

เพราะวันนี้ปัจจัยภายในคือ “คน” ต้องแข็งแรงเพื่อจะไปต่อสู่กับปัจจัยภายนอกได้ นำไปสู่การสร้างประสบการณ์ที่ดีของพนักงานในทุกวัน และนั่นจะนำไปสู่การรักษาพนักงานที่ดีขึ้น การมีส่วนร่วมที่สูงขึ้น ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เพราะเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการรักษาคน

ดังนั้น Stay Interview จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเอาใช้ใน “เชิงรุก” เพื่อให้ได้ข้อมูลในการทำโปรแกรมต่อยอดสร้างประสบการณ์และรักษาพนักงาน ตัวอย่างคำถาม Stay Interview เช่น

  •       อะไรเป็นสิ่งที่คุณให้คุณค่าที่สุดในชีวิตคุณ
  •       ทำไมคุณถึงตัดสินใจมาทำงานที่นี่ และในวันนี้มันยังเป็นสิ่งที่ทำให้คุณอยากอยู่ที่นี่ต่อไปไหม
  •       อะไรเป็นสิ่งที่คุณชอบในการมาทำงานที่นี่
  •       ส่วนไหนของงานที่คุณชอบมันมากที่สุด
  •       ถ้าทำได้ คุณจะทำอะไรให้งานของคุณมันสนุกกว่านี้
  •       คุณอยากพัฒนาในเรื่องอะไรมากที่สุด
  •       คิดว่ามีอะไรบ้างที่บริษัทควรปรับเปลี่ยนในการทำงาน

ยิ่งกว่านั้น วันนี้ Stay Interview ถูกนำมาใช้ในกระบวนการสร้างความแข็งแกร่งให้วัฒนธรรมองค์กร ไม่จำเป็นต้องทำอะไรใหญ่โต โดยเริ่มง่าย ๆ จากสิ่งเล็ก ๆ ที่ผู้นำทุกระดับสามารถเริ่มใช้คำถามเหล่านี้เช็คอุณหภูมิกับพนักงานว่ารู้สึกอย่างไรกับองค์กรได้ทุกวัน 

และผู้นำเองสามารถปรับปรุงประสบการณ์ของพนักงานเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับให้โอกาสในการเติบโตและการพัฒนา การส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน การให้สิทธิออกเสียงแก่พนักงาน และการยกย่องและให้รางวัลแก่พนักงาน

All HR Solutions! มาค้นหา HR Products and Services กับ HREX กันเถอะ

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง