Enneagram กับ HR: บริหารจัดการพนักงานผ่าน 9 นพลักษณ์

HIGHLIGHT

  • Enneagram คือบุคลิกภาพพื้นฐานทั้ง 9 แบบ ซึ่งมีความแตกต่างกันทางความคิด ความรู้สึก และการกระทำที่โดดเด่นหรือแตกต่างกันที่เป็นพื้นฐานใน 9 ลักษณะ นพลักษณ์สามารถทำให้บุคคลได้รู้จักตัวตน เรียนรู้ที่จะนำการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์มาสู่ตัวเองได้มากขึ้น และเข้าใจในวิธีการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้นด้วยเช่นกัน
  • นพลักษณ์ทั้งหมด มี 9 ประเภท และในทฤษฎีของ Enneagram จะแบ่งออกไปอีกเป็น 3 กลุ่มแยกออกไป เรียกว่า ‘บ้าน’ คือ บ้านกาย (8,9,1) เป็นบ้านที่เน้นการกระทำ บ้านจิตใจ (2,3,4) เป็นบ้านของอารมณ์ ความรู้สึก และบ้านสมอง (5,6,7) เป็นบ้านของความคิด การวิเคราะห์ ตรรกะต่าง ๆ
  • HR สามารถประยุกต์ Enneagram เรื่องบุคลิกภาพมาใช้บริหารและพัฒนาพนักงานในองค์กรได้ค่อนข้างหลายทาง เพราะบุคลิกภาพและลักษณะพฤติกรรมในการทำงานของแต่ละคนมีผลต่อการทำงาน โดยการเลือกคนให้เหมาะกับงาน การเสริมสร้างความเข้าใจในบุคลิกลักษณะและพฤติกรรมของกันและกัน และการพัฒนาพฤติกรรมด้วยวิธีต่าง ๆ
  • Enneagram บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางการประพฤติปฏิบัติของบุคคล และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของงานด้วย ช่วยให้พนักงานมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยเกิดจากความเข้าใจ ความไว้วางใจ ความเคารพ และการสื่อสารกันอย่างเปิดใจ นำมาซึ่งบรรยากาศที่ดีในการทำงาน

Enneagram กับ HR: บริหารจัดการพนักงานผ่าน 9 นพลักษณ์

จากบทความที่ผ่านมาของ HREX ก็ได้เล่าถึงแบบทดสอบบุคลิกภาพไปแล้วถึงสองประเภทด้วยกัน คือ MBTI และ DISC ซึ่งทั้งคู่ต่างก็มีประโยชน์ในการพัฒนาคนและองค์กรให้ดีขึ้น รวมถึงช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานได้ด้วย

นอกจากแบบทดสอบบุคลิกภาพทั้งสองแบบข้างต้นที่เราได้กล่าวถึงไปแล้วก็ยังมีอีกประเภทที่เป็นที่นิยมและนำมาใช้ในองค์กรใหญ่ ๆ หลายองค์กร แล้วในหลาย ๆ ครั้งก็ยังนำมาใช้ในการฝึกอบรมพนักงานด้วย ซึ่งเจ้าตัวแบบทดสอบนี้เรียก Enneagram (เอนเนียแกรม) หรือชื่อภาษาไทยก็คือ นพลักษณ์ แปลว่า ลักษณ์ทั้ง 9 ที่เป็นตัวแทนบุคลิกลักษณะของคนทั้ง 9 ประเภท

Enneagram คืออะไร

Enneagram คือบุคลิกภาพพื้นฐานทั้ง 9 แบบ ซึ่งมีความแตกต่างกันทางความคิด ความรู้สึก และการกระทำท่ีโดดเด่นหรือแตกต่างกันท่ีเป็นพื้นฐานใน 9 ลักษณะ นพลักษณ์สามารถทำให้บุคคลได้รู้จักตัวตน เรียนรู้ที่จะนำการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์มาสู่ตัวเองได้มากขึ้น และเข้าใจในวิธีการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้นด้วยเช่นกัน

นพลักษณ์ถือเป็นศาสตร์ความรู้โบราณศาสตร์หนึ่งเลยทีเดียวเมื่อหลายพันปีก่อน และถือกำเนิดจากแถบทวีปเอเชียกลาง เป็นคำสอนของกลุ่มซูฟี หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือนักบวชกลุ่มหนึ่งในศาสนาอิสลามซึ่งศึกษาแก่นแท้ของบุคลิกภาพของมนุษย์ จนพัฒนากลายเป็นหลักคำสอน ทำให้มนุษย์ได้รู้จักและเฝ้าสังเกตความรู้สึกนึกคิดภายใน เป็นหลักคำสอนท่ีทำให้รู้จักตนเองทั้งด้านบวกและด้านลบ จนนำไปสู่การยกระดับจิตวิญญาณของตนเอง 

โครงสร้างของนพลักษณ์เราจะใช้เป็นแผนภาพวงกลม ประกอบไปด้วยเส้นรอบวงที่มีตำแหน่งของจุดทั้ง 9 จุดบนเส้นรอบวง และมีการระบุตัวเลขของบุคลิกภาพแต่ละประเภทซึ่งใช้แทนความหมายของ 9 ลักษณ์เอาไว้ด้วย

แนะนำ Enneagram Test ภาษาไทย: https://www.idrlabs.com/th/enneagram/test.php

การแบ่งคนตามลักษณะของ Enneagram ทั้ง 9 ประเภท

ลักษณ์ทั้งหมด มี 9 ประเภท และในทฤษฎีของ Enneagram จะแบ่งออกไปอีกเป็น 3 กลุ่มแยกออกไป เรียกว่า ‘บ้าน’ 

  • บ้านกาย (8,9,1) เป็นบ้านที่เน้นการกระทำ การลงมือลงแรงเป็นหลัก
  • บ้านจิตใจ (2,3,4) เป็นบ้านของอารมณ์ ความรู้สึก 
  • บ้านสมอง (5,6,7) เป็นบ้านของความคิด การวิเคราะห์ ตรรกะต่าง ๆ

ลักษณ์ที่ 1 (Type 1): ผู้รักความสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist)

คนไทป์นี้จะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง มาตรฐานสูงในทุกเรื่อง จริงจัง และมีกรอบหรือมาตรฐานในแบบของตัวเอง มีระเบียบแบบแผนเป็นอย่างมาก ยึดมั่นในขั้นตอนและเป็นคนเข้มงวดมาก หากใครทำอะไรหลุดจากกรอบจะรู้สึกขัดใจหรือหงุดหงิด เพราะธรรมชาติมีนิสัยชอบควบคุมคนอื่น

ลักษณ์ที่ 2 (Type 2): ผู้ให้ (The Giver)

ชาวไทป์ 2 หรือที่เรียกว่าผู้ให้นี้ถือเป็นแม่พระในเหล่าบรรดากลุ่มบุคคลทั้งปวง เพราะเป็นคนที่นึกถึงคนอื่นก่อนตัวเองอยู่เสมอ เอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเสียสละ เป็นสายซัพพอร์ต ใจดี และอบอุ่น แต่ในบางครั้งหากถูกปฏิเสธหรือละเลยก็จะส่งผลทางอารมณ์และจิตใจเป็นอย่างมาก เพราะต้องการการยอมรับจากคนอื่นอยู่ลึก ๆ เหมือนกัน

ลักษณ์ที่ 3 (Type 3): ผู้ไขว่คว้าความสำเร็จ (The Performer)

ทะเยอทยาน มุ่งมั่น เจ้าเล่ห์ และสู้ยิบตา เป็นคำจำกัดความของชาวไทป์ 3 หรือที่เรียกว่าผู้ไขว่คว้าความสำเร็จเลยทีเดียว เพราะว่าคนกลุ่มนี้คลั่งและยึดติดกับความสำเร็จ ต้องการไปสู่จุดที่สูงที่สุดโดยไม่ได้คำนึงถึงวิธีการระหว่างทางว่าจะเป็นแบบไหนหรือได้มาด้วยวิธีไหน แต่จะมุ่งไปที่ผลลัพธ์เท่านั้น ทำให้ไทป์ 3 มีนิสัยปรับตัวเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม มั่นใจในตัวเอง มีภาพลักษณ์ที่ดี และเปี่ยมล้นไปด้วยเอเนอจี้

ลักษณ์ที่ 4 (Type 4): ศิลปิน (The Romantic)

สายติสท์ที่แท้จริง เพราะเป็นตัวของตัวเอง จินตนาการล้ำเลิศ มีความคิดสร้างสรรค์ ความอ่อนไหวง่าย ใช้อารมณ์เป็นหลัก แต่มักจะมาพร้อมอารมณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ใช้อารมณ์นำเหตุผล เจ็บปวดทางใจง่าย อ่อนไหวง่าย ต้องได้รับการดูแลทางจิตใจที่มากกว่าปกติ

ลักษณ์ที่ 5 (Type 5): ผู้สังเกตการณ์ (The Observer)

คนไทป์นี้เน้นใช้เหตุผลเป็นหลัก ตรรกะต้องมาก่อน ทุกอย่างต้องพิสูจน์ได้ ฟีลลิ่งนักวิทยาศาสตร์เพราะเน้นเชื่อแต่เหตุผล มีความแน่วแน่ ฉลาด ไหวพริบดี ชอบการศึกษาหรือค้นหาข้อมูล เข้าใจอะไรที่ซับซ้อนได้ดี แต่เป็นคนที่มีระยะห่างในด้านความสัมพันธ์ เพราะหวาดระแวงและไม่ไว้ใจใคร

ลักษณ์ที่ 6 (Type 6): ผู้ระแวดระวัง (The Guardian)

คนไทป์นี้จะมีลักษณะที่ระแวดระวังอยู่ตลอดเวลาทั้งในด้านความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ความปลอดภัยทางจิตใจ หรือในงานที่ทำ จึงเป็นคนวางแผนและเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ จะเป็นคนประเภทที่ถ้าไปตึกที่ไม่เคยไปครั้งแรก สิ่งที่มองหาอันดันแรกคือบันไดหนีไฟ หรือช่องทางหลบหลีกต่าง ๆ เป็นคนที่ทำงานด้วยความรอบคอบและรับผิดชอบ แต่ก็เข้าถึงยาก เพราะเขาระวังตัวเองอยู่เสมอ

ลักษณ์ที่ 7 (Type 7): นักผจญภัย (The Optimist)

ไทป์นี้เอเนอจี้สูงมาก รักสนุก มองโลกในแง่ดี ชอบท่องเที่ยว เดินทาง ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ตรงข้ามกับไทป์ 6 อย่างมากเพราะไทป์นี้จะชิลล์ ๆ สบาย ๆ ชอบดื่มด่ำกับสรรพสิ่งรอบตัวด้วยความรู้สึกของตัวเอง และไม่ชอบการถูกตีกรอบเพราะรักอิสระ ชอบคิดพลิกแพลง หาประสบการณ์ แต่ก็เบื่อง่ายและไม่มีเป้าหมายชัดเจนในชีวิต

ลักษณ์ที่ 8 (Type 8): ผู้นำ (The Leader)

เป็นกลุ่มคนที่กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ปกป้องคนอื่นได้ ใจกว้าง เฉียบขาด อาจจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางบ้าง หรือชอบการต่อสู้ถกเถียงมากจนเกินไป แต่ใครอยู่ด้วยแล้วก็จะรู้สึกว่าพึ่งพาได้ เพราะจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีเยี่ยม

ลักษณ์ที่ 9 (Type 9): ผู้ใกล่เกลี่ย (The Peacemaker)

สิ่งที่คนไทป์นี้ไม่ชอบมากที่สุดคือความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหมายหลักของผู้ใกล่เกลี่ยคือชอบความสงบสุขและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องการให้เกิดความสามัคคีกันโดยรับฟังความเห็นและสนับสนุนคนอื่นเสมอ ชอบช่วยเหลือ มีความอดทนสูง ประนีประนอม ดื้อเงียบบ้าง หรือบางครั้งยอมคนอื่นมากไป

HR จะบริหารพนักงานตามบุคลิก Enneagram ทั้ง 9 แบบได้อย่างไร

HR สามารถประยุกต์เรื่องบุคลิกภาพมาใช้บริหารและพัฒนาพนักงานในองค์กรได้ค่อนข้างหลายทาง เพราะบุคลิกภาพและลักษณะพฤติกรรมในการทำงานของแต่ละคนมีผลต่อการทำงานค่อนข้างมากเลยทีเดียว วิธีที่ HR นำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารพนักงานได้ เช่น

  • การเลือกคนให้เหมาะกับงาน

ใช้ประโยชน์จากแบบทดสอบบุคลิกภาพได้โดยตรง หรืออาจจะเป็นพวกแบบทดสอบความถนัดทางอาชีพ ความสนใจในอาชีพ ค่านิยม และลักษณะพฤติกรรมในการทำงาน เพื่อใช้ในการบริหารองค์กรและเลือกคนให้เหมาะกับงาน

  • การเสริมสร้างความเข้าใจในบุคลิกลักษณะและพฤติกรรมของกันและกัน 

อาจมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของบุคคล การเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้เกิดการยอมรับในคุณค่าของทุกคนในองค์กร

  • การพัฒนาพฤติกรรม

พฤติกรรมที่พึงปรารถนาสำหรับองค์กรก็เช่น พนักงานจะต้องมุ่งมั่นในความสำเร็จ มีความรับผิดชอบ เปิดใจกว้าง กล้าคัดค้านในสิ่งผิด มีความซื่อสัตย์ กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ ให้ความร่วมมือ ทำงานเป็นทีม ฯลฯ ซึ่งองค์กรจะสามารถระบุได้ว่าพฤติกรรมที่องค์กรต้องการให้บุคลากรของตนประพฤติคืออะไร นโยบาย โครงการ และแนวปฏิบัติจะต้องสอดคล้องและส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น โดยผ่านทางการฝึกอบรม การประเมินผลและการปฏิบัติงานต่าง ๆ

8 วิธีพัฒนา Employee Experience ในระยะยาว

Enneagram หรือ นพลักษณ์จะเน้นให้เราสังเกตการทำงานของ ‘กิเลส’ ประจำตัวเราเอง และหลายคนคงมองไม่ออกว่ากิเลสที่ว่านี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้อย่างไร นอกจากกิเลสของตัวเราเองแล้วก็ยังต้องรับมือกับกิเลสของคนรอบข้างอีก

เลยทำให้บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งเกิดจากกิเลสในตัวเราไปขัดแย้งกับกิเลสในตัวคนอื่น จึงเกิดเป็นปัญหาทางความสัมพันธ์ขึ้นมา เพื่อที่จะทำความเข้าใจกระบวนการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการหัดสังเกตความรู้สึกทางจิตใจของตัวเอง อย่างเช่น ความโกรธ เกลียด กลัว แค้น กังวล เสียใจ อึดอัด ต่อต้าน หงุดหงิด เบื่อ เก็บกด ท้อแท้ หมดกำลังใจ น้อยใจ ฯลฯ  

และอีกเรื่องหนึ่งที่จะมีบทบาทในเรื่องความขัดแย้งคือ ‘กลไกทางจิต หรือที่เรียกว่า ‘การโทษผู้อื่น’ (Projection) ด้วยการ ‘โยน’ ใส่คนอื่น เราจึงต้องเข้าใจความสำคัญของการรู้เท่าทันกลไกการโทษคนอื่น เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรืออย่างน้อยก็ลดความรุนแรงลงได้

8 วิธีพัฒนา Employee Experience ในระยะยาว

ประโยชน์ของ Enneagram ต่อองค์กร

บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางการประพฤติปฏิบัติของบุคคล และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของงานด้วย บุคลิกภาพในด้านสติปัญญา การวิเคราะห์ ความมีเหตุผล ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสนใจใฝ่รู้ และแรงจูงใจ ยิ่งเป็นจุดสำคัญที่ต่อยอดไปสู่การวางแผนงานและการลงทุนลงแรงในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

ส่วนบุคลิกภาพภายนอก เช่น การวางตัว การแต่งตัว กิริยาท่าทาง การพูดและภาษาพูดต่าง ๆ ก็มักเป็นภาพลักษณ์และจุดขายสำหรับแต่ละคนด้วยเหมือนกัน เป็นส่วนที่ช่วยสร้างมนุษย์สัมพันธ์ และสร้างความน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยให้พนักงานมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยเกิดจากความเข้าใจ ความไว้วางใจ ความเคารพ และการสื่อสารกันอย่างเปิดใจ นำมาซึ่งบรรยากาศที่ดีในการทำงาน เมื่อเกิดการพัฒนาตนเองให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเรียนรู้การทำงานร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดได้ก็จะทำให้องค์กรพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

บทสรุป

มนุษย์แต่ละคนมีพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันไปทุกคนอยู่แล้ว จึงส่งผลสู่ความแตกต่างระหว่างบุคคล การทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ศึกษา เข้าใจที่มาและลักษณะของคนในรูปแบบต่าง ๆ จากทฤษฎีบุคลิกภาพ ก็จะช่วยให้คนทำงานได้เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น สร้างสัมพันธภาพและสุขภาพจิตที่ดี ทำให้กลรทำงานราบรื่น ประสบความสำเร็จ และพัฒนาองค์กรไปได้อย่างยั่งยืนด้วยความเข้าใจ

ที่มา

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง