COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

HIGHLIGHT

  • คำถามใหญ่ที่ใน EP คือ “ตำแหน่งงาน ความต้องการแรงงาน และทักษะการทำงาน ที่จำเป็นในโลกใบใหม่หลังโควิด” จะมีรูปร่างหน้าตา เปลี่ยนไปอย่างไร แล้วเราในฐานะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตลาดแรงงาน และทำงานด้านทรัพยากรบุคคล จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร มองหาคนรูปแบบไหน 
  • แนวโน้มและความน่าจะเป็นของโลกใหม่หลัง COVID-19 ขอบเขตของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตจะมีทั้งหมด 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ Digital Economy (เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล) Care Economy (เศรษฐกิจและสังคมการใส่ใจ) และ Green Economy (เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว) 
  • มีทักษะที่หลากหลายเพื่อรองรับอนาคต เช่น Complex Problem Solving Skills หรือ ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน Self Management การจัดการตนเอง Collaboration การทำงานเป็นทีม และ Technology Application การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน
  • ในส่วนของ HR ก็เช่นเดียวกัน ทักษะต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น HR ในโลกอนาคตก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีเป็นอาวุธติดตัวไว้ เพื่อให้การทำงานบริหารบุคลากรในอนาคตสอดประสานและเข้ากันได้กับทุกตำแหน่งงานเช่นกัน 
  • เพราะ HR จะต้องเป็นด่านแรกในการคัดกรองผู้สมัครที่ Qualified ในตำแหน่งต่าง ๆ ถ้าหากสกิลที่ HR มองหานั้น ตัว HR เองไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ การที่จะไปคัดเลือกผู้สมัครนั้นก็อาจจะฟังดูประหลาดและดูเป็นไปไม่ได้ หรืออาจจะจิ้มคนมาสัมภาษณ์ผิด ๆ สร้างความเสียหายให้กับองค์กร และตัวเองก็อาจจะตุ้บได้เช่นกัน

เมื่อยานขนส่งอวกาศที่สองพ่อลูกโดยสารนั้นเกิดตุ้บ ตกลงสู่พื้นโลกที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่เมื่อหนึ่งพันปีที่แล้ว 

เมื่อโลกไม่เป็นมิตรกับมนุษย์อีกต่อไป และปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าสะพรึงกลัวที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกได้ ไม่ว่าจะทั้งแผ่นดินไหว แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัว ภูเขาไฟ ระเบิด น้ำสะอาดขัดสน และจู่ ๆ บรรยากาศก็กลายสภาวะเป็นพิษต่อมนุษย์ขึ้นมายังงั้น ทำให้รัฐบาลโลกบัญชาการสร้างยานโดยสารเพื่อให้มนุษย์อพยพย้ายถิ่นฐานไปยังดาวดวงอื่น 

เมื่อยานขนส่งอวกาศของเจ้าเจเดน สมิธและพ่อวิลล์ สมิธ ตกลงบนโลกที่เวลาล่วงไปกว่าหนึ่งพันปี โลกจึงกลายเป็นดินแดนรกร้าง เหลือแต่ก็แต่สัตว์ประหลาดกลายพันธุ์แสนอันตรายที่จ้องทำร้ายสิ่งมีชีวิตหน้าไหนก็ตามที่มาเยือน ยังไม่รวมทั้งเอเลี่ยนที่หลบหนีไปได้ระหว่างที่ยานตก ทั้งสองพ่อลูกจึงต้องเอาชีวิตให้รอด

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

เนื้อเรื่องของ After Earth (2013) นี้ฟังดูก็เป็นหนังไซไฟโลกอนาคตที่ฟังดูน่าสนุก และอาจจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ก็ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าถามว่า After Earth ของจริงที่เรา ๆ ท่าน ๆ เจอกันอยู่ทุกวันนี้นั้นก็คือ After Earth แบบที่เรียกว่า COVID-19 Aftermath เนี่ยแหละ คือสิ่งที่มวลมนุษยชาติจะต้องพบเจอแน่ ๆ และเราก็ก้าวเข้าสู่ After Earth ในรูปแบบของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ผสมที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และเอาชีวิตคนไปแล้วหลายล้านคน เทียบเท่ากับจำนวนประชากรทั้งประเทศของบางประเทศได้ และยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายล้านล้านดอลลาร์ และยังคงนับต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันจบ

อ่อ ลืมบอกว่า After Earth อาจจะหมายถึง การไม่มีอยู่ของอารยธรรมและมนุษย์โลก แต่ COVID Aftermath นั้นจะบอกว่า โควิดไม่ได้บ๊ายบายไปไหนนะ มันยังคงแหวกว่ายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง กลายเป็นเชื้อไวรัสประจำเมือง ให้ทุกท่านนั้นต้องคอยรับวัคซีนประจำปี (หรือครึ่งปี) เฉกเช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่นั่นแหละ

คำถามต่อมาก็คือหลังจากที่มหันตภัยโควิดที่พัดวูบเดียว ล้มระเนระนาดกันทั้งโลกเนี่ย หลังจากที่มันสงบ เรารู้จักมัน ตั้งรับมัน เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันแล้ว แน่นอน มันยังได้ทิ้งร่องรอยรักร้าวไว้ให้โลกนี้ให้เปลี่ยนไป แบบที่เรียกได้ว่า เราต้องเกร็งรอการมาของอะไรสักอย่างในทำนองเดียวกันแบบนี้ในอนาคตอีกแน่นอน

คำถามหัวใหญ่ ๆ ที่ใน EP นี้จะเอ่ยถึงก็คือ “ตำแหน่งงาน ความต้องการแรงงาน และทักษะการทำงาน ที่จำเป็นในโลกใบใหม่หลังโควิด” จะมีรูปร่างหน้าตา เปลี่ยนไปอย่างไร แล้วเราในฐานะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตลาดแรงงาน และทำงานด้านทรัพยากรบุคคล จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร มองหาคนรูปแบบไหน 

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

จากงานวิจัยของ Thailand Development Research Institute หรือ TDRI ในงาน Annual Public Virtual Conference 2021 ได้มีการกล่าวถึง งานและทักษะสำคัญในการอยู่รอดในโลกใหม่หลังโควิด 

  • “ในอีก 10 ปี ข้างหน้า งานที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ จะยังมีอยู่ให้เราทำหรือไม่”
  • “สกิลที่เราถือครองตอนนี้ที่ใช้ทำมาหากิน สร้างรายได้ สร้างความสามารถในการแข่งขัน จะใช้ได้อยู่อีกไหม”

ผมขอตัดคำพูดหนึ่งที่เราเคยได้ยินกันมาก่อนหน้านี้แล้วคือคำว่า The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ ในอเมริกา ที่แรงงานนั้นลาออกจากงานที่ทำอยู่ถึง 40% เป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่การลาออกครั้งใหญ่ซะทีเดียว เพราะว่าแรงงานที่ลาออกนั้นส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในระบบ โดย Satya Nadella, CEO ของ Microsoft และ Jeff Weiner, Executive Chairman ของ LinkedIn ก็ได้เคยเอ่ยคำที่คล้าย ๆ กันออกมาว่า มันคือ “The Great Reshuffle” จริง ๆ พวกนางไม่ได้ลาออกแบบบ๊ายบายจากวงการไปพร้อมกัน 40% แต่พวกนางแค่เปลี่ยนสายงาน เพื่อต้องการจะเปลี่ยนวิถีการทำงานต่างหาก ความต้องการในการเปลี่ยนวิถีการทำงาน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิด The Great Resignation ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการหมุนครั้งใหญ่นี้ ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดโลกใหม่และเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเดี๋ยวจะมีบอกในส่วนต่อไป 

เรามาดูแนวโน้มและความน่าจะเป็นของโลกใหม่หลัง COVID-19 กันว่า ขอบเขตของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตจะมีทั้งหมด 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน ฉะนั้นผู้ประกอบการ องค์กร ต้องเกร็งรอให้ดี ถ้าปรับตัวทัน เปลี่ยนก่อน รุ่งแน่ ๆ ถ้าชักช้าก็เตรียมกุสะลาธัมมาได้เลย

1. Digital Economy (เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล)

แหงอยู่แล้ว ตอนนี้อะไร ๆ ก็ผ่านแอพ เอะอะก็ทำบนมือถือ คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต ไม่ว่าจะติดต่อสื่อสาร ทำธุรกรรมทางการเงิน จ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการ จองสิ่งต่าง ๆ ช้อปปิ้ง เอาง่าย ๆ นะ ครั้งสุดท้ายที่จับเงินสดจ่ายเนี่ยเมื่อไหร่ จำได้มั๊ย? ล่าสุดป้าเป้าขายข้าวแกงปากซอยก็ติดคิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์ไว้หน้าร้าน รับเงินโอนไปเรียบร้อย แถมที่เป็นข่าวกันครึกโครมตื่นเต้นกันช่วงก่อนหน้านี้ก็คือ “Metaverse” หรือที่ราขบัณฑิตยสถานให้ความหมายภาษาไทยว่า “จักรวาลนฤมิตร” ก็คือการสร้างโลกเสมือนจริงให้มนุษย์นั้นสามารถใช้ชีวิตได้ในโลกเสมือนนั้น และมีกิจกรรมเหมือนกับโลกจริง 

ดังนั้นสิ่งนี้เรียกได้ว่านอนมาแน่ ๆ กับ เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ทุกคนมีกิจกรรมผ่านระบบดิจิทัลกันหมด ก็ย่อมทำให้เกิดสังคม เศรษฐกิจ และการจ้างงาน เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งตำแหน่งงานและทักษะในกลุ่มเศรษฐกิจนี้ก็เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งไทยและทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะในการทำงานด้านนี้ จนหลายองค์กรต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพวก 

  • กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent Specialist)
  • นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)
  • วิศวกรระบบข้อมูล (Data Engineer)
  • ผู้พัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Developer)
  • กลุ่มงานด้าน Cyber Security หรือความปลอดภัยไซเบอร์ 
  • นักพัฒนา วิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูลทางธุรกิจ
  • และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

โดยแน่นอนว่ากลุ่มงานเหล่านี้ถือว่าเป็นงานที่ต้องใช้ Hard Skills เฉพาะทางมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจในระบบไอที การเขียน Code ด้วยภาษาต่าง ๆ ทักษะทางคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เชิงลึก และรวมไปถึงทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย

2. Care Economy (เศรษฐกิจและสังคมการใส่ใจ)

ชื่อดูน่ารัก กุ๊กกิ๊ก ไม่ดูขึงขังเหมาะจะเป็นระบบเศรษฐกิจเลยใช่มั้ย แต่ว่าระบบเศรษฐกิจนี่แหละที่เกิดขึ้นจาก The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เพราะว่าแรงงานหลังจากที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมา Work From Home ส่วนใหญ่ก็เรียกได้ว่ามีอาการ Burnout ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร่างกาย มาละ คอ บ่า ไหล่ ไหนวอชเชอร์ Health Land หาเจอแต่ก็นวดไม่ได้อีก ร้านนวดปิดอีก อยู่บ้านทำงานหน้าคอม กินข้าวก็สั่งเอาไม่ได้เจอผู้คน เกิดภาวะหดหู่จากการขาดปฎิสัมพันธ์ทางสังคม (อย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ถึงแม้ว่าเราจะชอบการมีพื้นที่ส่วนตัว แต่อยู่คนเดียวไปเลย 24 ชม. ติด ๆ กันหลายเดือนเข้า พวกกลุ่ม Extrovert แห้งเหี่ยวร่วงเป็นใบไม้กันเป็นทิวแถว) นั่นก็ส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตอีก โดยการลาออกครั้งใหญ่นี้เพราะ แรงงานเขาต้องการหาสมดุลใหม่ให้กัชีวิตทั้งเรื่องสุขภาพทางร่างกาย และสุขภาวะทางจิต คนหันมาสนใจเรื่อง Health / Wellbeing ทั้งทางร่างกายและจิตใจกันมากขึ้น ซึ่งนั่นก็ก่อให้เกิดงานใหม่ๆ หรืองานที่เคยมีอยู่ก่อนแต่ว่าต้องพัฒนาทักษะให้ตอบรับความต้องการของ กระแสสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • นักสุขภาพจิตบำบัด (Behavioral Health Specialist)
  • นักกายภาพบำบัดเฉพาะทาง (Physical Therapist Aids)
  • นักรังสีวิทยา (Radiation Therapist)
  • นักสรีระวิทยาและการออกกำลังกาย (Exercise Therapist) อันนี้คือการต่อยอดของอาชีพ Personal Trainer ที่เรารู้จักกัน
  • ผู้จัดการสันทนาการและกิจกรรม (Recreation Manager)
  • ผู้ดูแลส่วนบุคคล (Personal Care Aids) อาชีพนี้เกิดขึ้นเพราะสังคมผู้สูงอายุที่ใกล้จะเข้ามาถึงทั่วทั้งโลก 
  • นักโภชนาการเฉพาะทาง

แรงงานกลุ่มนี้ก็ยังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเป็น Hard Skills เฉพาะทางโดยที่บางตำแหน่งนั้นอาจจะต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพด้วย เพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งย้อนกลับไปดูหลักสูตรที่เรามีในประเทศสิ ยังไม่มีเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อตอบรับสังคมและเศรษฐกิจกลุ่มนี้ สุดปังมั๊ยหล่ะ!

แต่เราก็ยังสามารถศึกษาและหาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง โดยทักษะสำคัญที่ต้องมีก็จำพวกความเข้าในทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข กายวิภาค การดูแลผู้ป่วยเฉพาะทาง การใช้ยารักษาโรค และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

3. Green Economy (เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว)

เศรษฐกิจกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากโมเมนตัมของ Care Economy โดยตรงเลยเพราะคนเข้าใจดีว่า สภาพสิ่งแวดล้อมนั้นส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพกายและจิตใจของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม คนจึงเริ่มมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

สมัยก่อนเราจะได้ยินคำเก๋ ๆ ที่ชอบพูดกันว่า Digital Transformation ซึ่ง ณ เวลานี้นั้น องค์กรส่วนใหญ่ก็คงแปลงร่างเข้าสู่ยุคดิจิทัลกันเกือบจะเต็มรูปแบบแล้ว (ไม่นับระบบราชการ อันนั้นอยู่เหนือทุกจินตนาการและสัจธรรมไปแล้ว) ซึ่งตอนนี้ทั้งโลกกำลังเข้าสู่ยุคของ “Sustainable Transformation หรือการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน” 

ถ้าเราสังเกตหน้าข่าวต่างประเทศดี ๆ เราจะเห็นว่าทั่วโลกนั้นให้ความสำคัญ และจัดการประชุมใหญ่ในหัวข้อสิ่งแวดล้อมกันทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการประชุมรัฐภาคกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ความตกลงปารีส และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดประเทศไทยนั้นเข้าร่วมและลงนามในสนธิสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลดการผลิตคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ (Net Zero Carbon) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการไม่ใช่ถ่านหินในการผลิต (แต่ว่าก็ยังคงมีการอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบรัว ๆ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวย้ำว่าเศรษฐกิจสีเขียวกำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งในเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต โดยสายงานที่เป็นที่ต้องการในเศรษฐกิจกลุ่มนี้ก็คือ

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน
  • ผู้เชียวชาญด้านพลังงานทดแทน
  • นักการตลาดสีเขียว (Green Marketer) โดยเป็นการทำการตลาดเพื่อตอบสนองความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำโฆษณา CSR กิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคม 
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ อันนี้ประเทศไทยจำเป็นมากจริง ๆ ส่วนตัวสงสัยมากว่าทำไมหน้าฝนน้ำท่วม และหน้าร้อนน้ำแล้ง และมันไม่เคยดีขึ้นเลยเป็นมากี่สิบปีแล้วก็ไม่รู้ 
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน
  • นักวางแผนการจัดการขยะ (Waste Management)

สายงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มสายงานเฉพาะทางอีกแล้ว โดย Hard Skills ที่ต้องมีก็เป็นพวก ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ความรู้เรื่องเครื่องมือ วัสดุ และอาคาร รวมไปถึงกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย 

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

จากการประเมินของงานวิจัยของ TDRI ที่ผมได้เล่ามาข้างบน มันมีบางอย่างที่ทุก ๆงาน ทุกสายอาชีพในทุก ๆ เศรษฐกิจนั้นต้องมี เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสายงานใหม่ โอกาสใหม่ในการเข้าถึงสายงานที่เป็นที่ต้องการ และยังเป็นสิ่งที่นายจ้างในอนาคตมองหาในตัว Candidate ในอนาคตอีกด้วย โดยอ้างอิงจาก World Economic Forum : Jobs of Tomorrow 2020, Linkedin และ Burning Glass Technology ผมได้ขมวดรวบตึงได้ว่า

ทักษะที่หลากหลายเพื่อรองรับอนาคต

ในสมัยก่อนผู้ที่จะประสบความสำเร็จนั้นคือผู้ที่รู้ลึก รู้จริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็น Expert ไปเลย ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ (เรียกทักษะแบบนี้ว่า I Shape) แต่อาจจะใช้ไม่ได้อีกแล้วในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะว่าแรงงานที่จะไปรอดในโลกอนาคตนั้นต้องเป็นผู้ที่รู้ลึกในสายงานเฉพาะของตนเอง และรู้กว้างในเรื่องของทักษะที่เกี่ยวข้องกับสายงานของตัวเอง (T Shape) ยังไม่พอ! รู้ลึก รู้กว้างแล้ว ยังต้องสามารถที่จะนำมาบูรณาการกันได้ด้วย (π Shape) นอกจากนั้น เมื่อบูรณาการได้แล้ว ยังต้องมีความสามารถในการสังเคราะห์ได้ (Y Shape) ยังไม่จบจ้า สังเคราะห์แล้ว ต้องคิดวิเคราะห์และวิพากษ์ได้ (X Shape) ฟังแล้วก็เหนื่อยแล้วใช่ไหม #ฮา 

โดยทักษะที่หลากหลายเนี่ย มีความจำเป็นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย 50% ของพนักงานทั้งหมดต้องได้รับการ Reskills ภายในปี 2025 ไม่งั้น ไม่ทันแน่นอน ตกขบวนแน่ ๆ 

โดย Soft Skills ที่ทุกสายงานในอนาคตไม่ว่าจะทำงานอยู่ตรงไหน งานอะไร จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ 

Complex Problem Solving Skills หรือ ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

  • การคิดวิเคราะห์ และการผลิตหรือนำนวัตกรรมมาใช้ในการแก้ปัญหา
  • การคิดเชิงวิพากษ์ Critical Thinking
  • ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา Creative Solution
  • การให้เหตุผลหลายรูปแบบ Complex Rationality

Self Management การจัดการตนเอง

  • การเรียนรู้ด้วยตัวเอง Self Learning
  • พลาดแล้วแก้ไขได้รวดเร็ว Self- Recovery
  • การรับมือกับภาวะกดดัน Agility
  • ความยืนหยุ่น Flexibility 

Collaboration การทำงานเป็นทีม

  • ภาวะผู้นำ Leadership
  • ความสามารถในการมีอิทธิพลต่อกลุ่มหรือสังคม Influencing 

Technology Application การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน

  • การใช้และติดตามเทคโนโลยี
  • การออกแบบเบื้องต้น
  • Programing หรือ Coding เบื้องต้น
  • ความเข้าใจหลักการการเขียนโค้ดดิ้ง Logic 

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

แล้วทางฝั่งนายจ้างหรือผู้ประกอบการล่ะ เขาเน้นย้ำและมองหาอะไรในตัวผู้สมัครงาน โดย TDRI ได้ไปทำ Research แยกมา จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ และการวิเคราะห์ Online Job Post ในประเทศไทยกว่า 500,000 ตำแหน่ง โดยเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังบโควิด พบว่าสิ่งนายจ้างมองหาในตัวผู้สมัคร 3 ลำดับแรกก็คือ

  1. English Comprehension ความเข้าใจและการใช้ภาษาอังกฤษ
  2. Digital Skills 
  3. Critical Thinking การคิดเชิงวิพากษ์

นอกจากนี้ยังมีทักษะ Soft Skills อื่น ๆ ที่นายจ้างยังคงมองหาเพิ่มเติมอีกก็คือ

  • Communication ทักษะในการสื่อสาร ประมาณว่าพูดรู้เรื่อง ฟังจำจับใจความได้ บรีฟตรงประเด็น ไม่น้ำท่วมทุ่ง ประชุมชั่วโมงหนึ่งสุดท้ายไม่เก็ตว่าจะเอาอะไร
  • Team Collaboration ทักษะในการทำงานเป็นทีม เพราะงานมีความซับซ้อน ต้องอาศัยหลายฝ่าย และยังต้อง Distance Working อีก ประชุมทีก็เห็นแค่จอ ทักษะนี้เลยสำคัญมาก
  • Creativity ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึงการนำความคิดสร้างสรรค์ไปปรับใช้ในการทำงาน ให้งานดีขึ้น ลดปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพ ลดเวลาการทำงาน 
  • Professionalism ความเป็นมืออาชีพ มันคงไม่ดีแน่ ถ้าหากหัวหน้ายังคงต้องมานั่งมอนิเตอร์ว่า คนนี้เริ่มทำงานตอนกี่โมงตอน Work From Home 
  • Adaptability ความสามารถในการปรับตัว สามารถปรับตัวในภาวะการทำงานต่าง ๆ รูปแบบงานที่มีข้อจำกัด ต่างบริบท ต่างแวดล้อม 

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

ในส่วนของ HR ก็เช่นเดียวกัน ทักษะต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น HR ในโลกอนาคตก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีเป็นอาวุธติดตัวไว้ เพื่อให้การทำงานบริหารบุคลากรในอนาคตสอดประสานและเข้ากันได้กับทุกตำแหน่งงาน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งงานที่มีอยู่มาก่อน หรือเป็นสายงานใหม่หรือเศรษฐกิจใหม่ โดย HR ก็จะต้องเป็นด่านแรกในการคัดกรองผู้สมัครที่ Qualified ในตำแหน่งต่าง ๆ ถ้าหากสกิลที่ HR มองหานั้น ตัว HR เองไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ การที่จะไปคัดเลือกผู้สมัครนั้นก็อาจจะฟังดูประหลาดและดูเป็นไปไม่ได้ หรืออาจจะจิ้มคนมาสัมภาษณ์ผิด ๆ สร้างความเสียหายให้กับองค์กร และตัวเองก็อาจจะตุ้บได้เช่นกัน 

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q: โครงสร้าง ทักษะของ HR ในยุคหลัง COVID-19 เป็นอย่างไร

มองในภาพกว้างอย่างที่สุด เรื่องนี้จะกระทบพกเราอย่างไรบ้าง

A: ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บทบาท HR ในการขับเคลื่อนองค์กรให้ตอบโจทย์กลยุทธ์นับว่าเต็มไปด้วยความคาดหวังหลายด้าน

ไม่ว่าจะเป็น การยกระดับความผูกพันของพนักงาน การควบคุมและบริหารค่าใช้จ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ แต่ HR ก็ยังเผชิญกับความท้าทายในบทบาทของ HR แต่ละส่วน เช่น,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

 

บางคนเริ่มบ่นแล้วว่า โห! ต้องปรับครั้งใหญ่ ทักษะอะไรก็ไม่รู้เนี่ย ทำยาก เข้าใจยาก โลกมันอยู่ยากขนาดนั้นเลยเหรอ ผมขอตอบเลยว่า “ครับ” โลกอนาคตมันเป็นแบบนั้นแหละ และถ้าหากคุณยังไม่มีทักษะอะไรในหัวข้อไหน ๆ ที่กล่าวมาข้างบนแบบเป็นชิ้นเป็นอันเลย แล้วจะทำยังไงดี 

ผมจะบอกว่า ทักษะที่อยู่ยอดปิรามิดของทักษะทั้งหมด เป็น Soft Skills และ Mindset ชิ้นแรกและชิ้นเดียวที่จะทำให้คุณเป็นเจ้าของทักษะใหม่ๆที่โลกอนาคตกำลังมองหาและเป็นที่ต้องการ นั่นก็คือ “Learn to Learn” หรือ “Ability to Learn” หากคุณเริ่มเปิดประตูการเรียนรู้ ไม่ว่าทักษะไหน ๆ คุณก็เก่ง และเป็นเจ้าของมันได้ และยังสามารถอยู่รอด ไม่ว่าจะเกิด After Earth อีกกี่ครั้ง คุณก็ยังคงเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า ที่ทุกองค์กรต่างก็มองหา เรามาเริ่มเปิดประตูการเรียนรู้ กับทักษะที่คุณสนใจกันวันนี้เลยดีมั้ยครับ เริ่มก่อน ไปไกลกว่านะครับ 

แล้วพบกันใหม่ EP หน้านะครับ สวัสดีครับ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง