HIGHLIGHT
|
ทุกวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีคือ วันแรงงานแห่งชาติ (National Labor Day) เป็นวันหยุดงานที่ทุกคนแทบทั้งโลก ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น จะได้ระลึกถึงความเหนื่อยยากของผู้ใช้แรงงาน และการต่อสู้อันยากลำบาก
และวันนี้ไม่ใช่แค่การระลึกถึงแรงงานคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่การรวมตัวกันที่แข็งแกร่ง เกิดเป็นสหภาพแรงงาน (Labor Union) เพื่อผลักดันให้พนักงานได้รับผลประโยชน์ที่พวกเขาควรได้รับ สมกับสิ่งที่พวกเขาลงมือลงแรงลงไป
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้สหภาพแรงงานกลายเป็นของแสลงที่ผู้บริหารองค์กรทั้งหลายไม่ค่อยปลื้ม และทำให้ HR เองก็อยู่ในสถานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหมือนกันว่าควรทำอย่างไรดี
HREX จึงขอถือโอกาสนี้นำท่านผู้อ่าน ซึ่งจำนวนมากเป็น HR ไปลองไล่เรียงกันดูเริ่มจากนิยามของแรงงานว่าหมายถึงอะไร การมีสหภาพแรงงานสำคัญอย่างไรต่อองค์กร แล้วถ้าไม่มีสหภาพล่ะ ถือเป็นเรื่องดีหรือแย่ และ HR คือศัตรูของสหภาพแรงงานจริงอย่างที่หลายคนคิดหรือไม่
Contents
นิยามความหมายชัด ๆ แรงงาน คืออะไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2545 ให้ความหมายของคำว่า แรงงานไว้ 2 แบบด้วยกัน
(๑) น. คนงาน, ผู้ใช้แรงในการทำงาน, เช่น การพัฒนาชนบทต้องอาศัยแรงงานจากท้องถิ่น งานก่อสร้างต้องการแรงงานเพิ่ม, ประชากรในวัยทำงาน ไม่รวมถึงคนพิการ คนวิกลจริต นักเรียน นักศึกษา แม่บ้าน นักบวช ทหาร ผู้ต้องขัง และผู้ประกอบกิจการเพื่อหากำไร เช่น วันแรงงาน, แรงที่ใช้ในการทำงาน เช่น ถนนนี้สร้างสำเร็จด้วยแรงงานของชาวบ้าน
(๒) น. ความสามารถในการทำงานเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ, กิจการที่คนงานทำในการผลิตเศรษฐทรัพย์.
ส่วนสำนักงานราชบัณฑิตยสภา กล่าวไว้ว่า ตามแนวคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์ แรงงานเป็นคำรวม หมายถึง ความพยายามของมนุษย์หรือการออกแรง ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผู้ที่ดำเนินการจะได้รับค่าตอบแทน
ขณะที่ อ.ปฤณ เทพนรินทร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิยามความหมายแรงงานไว้ว่าสามารถมองได้ 2 แบบ โดยแรงงานแบบแรกคือแรงงานที่ชีวิตอาจไม่มีราคาค่างวดสูงมากนัก ต้องใช้แรงกำลังมาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนมูลค่า เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ซึ่งหากกล่าวให้เห็นภาพที่สุด ก็คือคนที่ยังชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำนั่นเอง และผู้คนจะนึกภาพของคนกลุ่มนี้มากที่สุด เมื่อพูดถึงคำว่าแรงงาน
ขณะเดียวกัน แรงงานแบบที่ 2 นั้นครอบคลุมถึงทุกคนที่มีการเอาแรงที่มีในชีวิต แปรเปลี่ยนออกมาเป็นมูลค่า เป็นนิยามใหม่ที่กำลังมาแรงในระยะหลัง เพื่อเน้นย้ำว่าคนทุกคนถือเป็นแรงงานเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร คนทำงานบริการ พนักงานออฟฟิศ หรือผู้บริหารระดับสูง หรือผู้เป็นนายจ้างก็ตาม
ทั้งนี้ ภายใต้ระบอบการปกครองที่เชิดชูเสรีภาพในการแสดงออก อ้างอิงจากหมวด 3 มาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประชาชนย่อมมีสิทธิ์ในการรวมตัวกัน และเข้าเป็นสมาชิกชมรม กลุ่ม หรือสหภาพได้ ซึ่งนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้คนที่เป็นแรงงานได้รวมตัวกัน เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ
และหนึ่งในนั้นก็คือการก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา เพื่อปกป้องและเรียกร้องสิทธิ์ที่พวกเขาควรได้รับจากการทำงานแลกเปลี่ยนมูลค่า ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญา ILO ฉบับ ที่ 87 และ 98 ด้วย
ประโยชน์ของสหภาพแรงงาน (Labor Union) คืออะไร
เว็บไซต์ของกระทรวงแรงงาน ให้นิยามความหมายของ สหภาพแรงงาน ไว้ว่า หมายถึงองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518) เพื่อสร้างประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อหลักดังนี้
- แสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง เช่น เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลา ทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน
- ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
- ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้างด้วยกัน
กระทรวงแรงงานยังระบุไว้ด้วยอีกว่า “นายจ้างต้องเปิดโอกาสให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการคิด ป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง เพื่อสร้างสรรค์ความสัมพันธ์อันดี นำไปสู่ความเข้าใจและการร่วมแรงร่วมใจเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน”
หากถามว่า ประโยชน์ของการมีสหภาพแรงงานคืออะไรบ้าง สามารถสรุปโดยคร่าว ๆ ได้ดังนี้
1. ช่วยให้พนักงานได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น
การมีสหภาพแรงงาน จะช่วยให้แรงงานรวมตัวกันเจรจากับนายจ้างเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น และมีสวัสดิการด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้น โดยจากข้อมูลของ American Federation of State, County and Municipal Employees (AFSCME) ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกา คนที่ทำงานในองค์กรที่มีสหภาพแรงงาน จะมีรายได้สูงกว่าคนในองค์กรที่ไม่มีสหภาพแรงงานถึง 18% และยังรวมถึงการมีสวัสดิการที่ดีกว่าด้วย
2. ช่วยสร้างสภาพการทำงานที่ปลอดภัยต่อพนักงานมากขึ้น
เมื่อสหภาพแรงงานรวมตัวพนักงานอย่างเหนียวแน่น ก็จะช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างความปลอดภัยต่อแรงงาน ปกป้องภัยที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ มากขึ้น เช่น เกิดการคุ้มครองแรงงาน ช่วยวางมาตรการการทำงานที่ลดอันตราย ลดอุบัติเหตุ ป้องกันปัญหาบาดเจ็บหรือล้มป่วยจากการทำงานได้ รวมไปถึงความปลอดภัยทางจิตใจด้วยเช่นกัน
3. สหภาพแรงงานสร้างความเป็นปึกแผ่น และเพิ่มความมั่นคงในการทำงาน
การรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่งของสหภาพแรงงาน ช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพ และอำนาจของพนักงานด้วยกันเอง หรือที่เรียกว่า ประชาธิปไตยในที่ทำงาน (Workplace Democracy) เกิดเป็นระเบียบแบบแผนในการทำงาน ที่ป้องกันไม่ให้นายจ้างสามารถไล่คนออกจากงานโดยปราศจากเหตุผลอันควร นำมาซึ่งความมั่นคงในอาชีพ และหากพบว่านายจ้างประพฤติโดยมิชอบ ก็สามารถเรียกร้องและโต้แย้งได้
จัดตั้งสหภาพแรงงาน (Labor Union) ต้องทำอย่างไร
หากพนักงานองค์กรไหนต้องการรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งสหภาพแรงงาน จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ดังนี้
- จัดตั้งคณะผู้ก่อการ ประกอบด้วยลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการเดียวกันอย่างน้อย 10 คน
- จัดทำข้อบังคับของสหภาพแรงงาน โดยระบุวัตถุประสงค์ ที่ตั้งสำนักงาน วิธีการรับสมาชิก สิทธิหน้าที่ของสมาชิก เป็นต้น
- จัดประชุมชี้แจงและรับรองร่างข้อบังคับ โดยต้องมีจำนวนลูกจ้างเข้าร่วมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด
- จดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงานต่อนายทะเบียนแรงงานจังหวัด โดยยื่นคำขอพร้อมหลักฐานต่างๆ เช่น รายชื่อสมาชิก ข้อบังคับที่ได้รับรองแล้ว ฯลฯ
- เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนแล้ว สหภาพแรงงานจึงจะมีสถานะเป็นนิติบุคคล และสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้
สำหรับกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทย นั้นมีหลายฉบับ โดยกฎหมายที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีก็คือพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งจะระบุรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดตั้ง การบริหารจัดการ รวมถึงสิทธิและหน้าที่ของสหภาพแรงงาน
แต่นอกจากนั้นยังมี พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการจัดตั้งสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจ, พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร พ.ศ. 2559 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สหภาพแรงงาน เช่น ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
นอกจากนี้ ยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง ซึ่งสหภาพแรงงานมีบทบาทในการเจรจาและผลักดันให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้
สหภาพแรงงาน (Labor Union) ศัตรูตัวฉกาจของนายจ้าง ?
สหภาพแรงงานดูจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อคนเป็นพนักงาน แต่รู้หรือไม่ว่าจำนวนของคนที่เข้าร่วมสหภาพแรงงานนั้นกลับมีน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่เป็นแรงงานในระบบทั้งหมด
ข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไทรายงานจากสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่า ช่วง 5 ปี (2562-2566) จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานในกิจการเอกชนเคยพุ่งขึ้นสูงถึง 509,020 คน ในปี 2565 กลับลดจำนวนลงมาต่ำสุดที่ 388,059 คน ในปี 2566
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ถ้าสหภาพแรงงานมีการรวมตัวกันที่แข็งแกร่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่จะเป็นปฏิปักษ์กับแรงงานที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นบรรดานายจ้าง ผู้บริหารองค์กร นั่นเอง
แฮรี่ บล็อดเก็ต Co-Founder ของ Business Insider เขียนบทความใน LinkedIn อธิบายว่า เขาเองเกลียดความคิดที่ว่าจะต้องมีสหภาพแรงงานด้วยหลายเหตุผล แต่ว่าสหภาพแรงงานก็อาจจำเป็นต้องมี เช่น
- สหภาพแรงงานสร้างแนวคิดที่เรียกว่า “พวกเรา vs พวกเขา” เป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกภายในองค์กร แทนที่จะทำให้ทุกคนเกิดความเป็นปึกแผ่นกันจริง ๆ
- การมีสหภาพแรงงาน ลดทอนความยืดหยุ่นในการทำงาน และลงเอยด้วยการทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับผู้อื่นลดน้อยลง
- สหภาพแรงงานบังคับให้ต้องปฏิบัติกับพนักงานในสหภาพอย่างเท่าเทียมเกินไป ถึงแม้ทักษะในการทำงาน และคุณค่าที่พนักงานแต่ละคนมอบให้กับองค์กรจะไม่เท่ากัน และนั่นจะส่งผลให้คนที่ทำงานได้ดีได้รับผลกระทบไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเขาพบว่า นับวันสหรัฐอเมริกายิ่งเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทหลายแห่งที่มีกำไรสูง กลับไม่ได้จ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมต่อพนักงาน ซึ่งไม่เพียงส่งผลเสียต่อพนักงาน แต่ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงลึกด้วย
นั่นเป็นจุดที่ทำให้เขาเริ่มมองเห็นว่า ประโยชน์ของการมีสหภาพแรงงานนั้น จะช่วยเรียกร้องค่าจ้างที่พนักงานควรได้ ช่วยให้คนที่เป็นแรงงานได้มีความมั่งคั่งจากการทำงานอย่างหนักที่มากขึ้น ได้สมน้ำสมเนื้อกับแรงที่พวกเขาลงไปมากขึ้นด้วย
การเก็บสถิติของ European Economic and Social Committee ยืนยันตรงกันว่า ประเทศที่มีสถิติ Union Density หรือจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานสูง เช่น สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ล้วนเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มีความเหลื่อมล้ำต่ำ รัฐมีความโปร่งใส-เป็นประชาธิปไตยสูง และที่สำคัญประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากด้วย
HR คือศัตรูของสหภาพแรงงาน (Labor Union) จริงหรือไม่
ไม่เพียงแค่นายจ้าง / ผู้บริหารองค์กรเท่านั้นที่ถูกมองเป็นปฏิปักษ์กับแรงงาน แต่ HR เองก็ถือเป็นศัตรูรายสำคัญของสหภาพแรงงานด้วยเช่นกัน แม้หากว่ากันตามตรงแล้ว HR ก็เป็นแรงงานคนหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปอยู่ในสหภาพแรงงาน เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตัวเองจากองค์กร เช่นเดียวกับพนักงานกลุ่มอื่น ๆ
แต่เนื่องจากหน้าที่ของ HR นั้น ไม่เพียงแค่ดูแลความเป็นอยู่ของพนักงาน แต่ยังมีอีกด้านที่ต้องดูแลความเป็นอยู่ขององค์กร และบ่อยครั้งที่ต้องขึ้นตรง ทำหน้าที่เพื่อนคู่คิดที่ดีของผู้บริหาร ทำให้หลายคนมักจะมองว่า HR ไม่ใช่พวกเดียวกัน และอยู่ฝั่งที่เป็นปรปักษ์กับแรงงาน
อย่างไรก็ตาม เราอาจไม่สามารถสรุปอย่างนั้นได้เสียทีเดียวว่า HR คือศัตรูของสหภาพแรงงาน แต่จริงอยู่ว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายค่อนข้างซับซ้อน เพราะบทบาทหลักของ HR คือการบริหารจัดการและสนับสนุนพนักงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร ขณะที่บทบาทของสหภาพแรงงาน คือการเป็นตัวแทนปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกคนงาน
ทั้งนี้ ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เมื่อผลประโยชน์ขององค์กรและผลประโยชน์ของพนักงานแตกต่างกัน แต่ ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร HR Expert Partner ของ HREX ให้มุมมองว่า HR ที่ดีควรจะเป็นตัวกลาง ประสานงานร่วมกับสหภาพแรงงานและนายจ้างเพื่อหาจุดพบกลางที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
และหาก HR และสหภาพแรงงานมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จะช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น ลดความขัดแย้ง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร
กรณีศึกษา ไทยฮอนด้า “สหภาพแรงงาน ต้องทำงานร่วมกับทุกส่วนขององค์กร”
HREX ได้พูดคุยกับคุณ ไตรภพ จันทร์งาม ผู้จัดการฝ่ายพนักงานสัมพันธ์ บริษัท ไทย ฮอนด้า จำกัด ผู้ทำหน้าที่คนกลาง ต้องอยู่ระหว่างสหภาพแรงงานกับองค์กร และคอยประสานงานให้ความสัมพันธ์ของแต่ละฝ่ายดำเนินไปอย่างราบรื่น
คุณไตรภาพ เล่าย้อนความว่า สหภาพแรงงานของ ไทย ฮอนด้า ก่อตั้งมานานกว่า 48 ปีแล้ว โดยจุดเริ่มต้นอาจคล้ายคลึงกับสหภาพแรงงานแห่งอื่นๆ ก็คือ ลูกจ้างขององค์กรต้องการรวมตัวกันเพื่อต่อรองเรื่องผลประโยชน์และความเป็นอยู่ในบริษัท
“สหภาพแรงงานเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพนักงาน ตัวแทนของลูกจ้าง คอยพูดคุยกับนายจ้างเพื่อนำประเด็นปัญหาต่าง ๆ มาหารือเพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นในแต่ละยุคสมัย สหภาพแรงงานจะช่วยสะท้อนปัญหาที่อาจเกิดขึ้นว่า สภาพแวดล้อมตรงไหนที่ยังไม่ดีพอ หรืออยากจะพัฒนา สวัสดิการต่างๆ ที่ได้รับควรต้องเป็นอย่างไร และเป็นอีกช่องทางให้บริษัทสามารถสื่อสารโดยตรงไปถึงพนักงานได้ครับ”
ผู้จัดการฝ่ายพนักงานสัมพันธ์ ไทย ฮอนด้า ยืนยันว่าจากประสบการณ์ที่ทำงานมา สหภาพแรงงานของ ไทย ฮอนด้า ไม่ได้มีปัญหากระทบกระทั่งร้ายแรง แต่บางครั้งลูกจ้างอาจมีข้อสงสัย มีความเข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วไม่รู้จะเข้าไปพูดคุยหรือสอบถามหัวหน้า ผู้บริหาร และ HR อย่างไร ก็สามารถมาพูดคุยกับสหภาพแรงงานแทนได้ แล้วสหภาพแรงงานก็จะเอาประเด็นที่คาใจนั้นไปสะท้อนต่อได้ว่า เพื่อร่วมกันแก้ไขและช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้น
“คนในสหภาพแรงงานก็คือพนักงานขององค์กรนั่นแหละครับ ไม่ว่าอย่างไรเขาก็ต้องทำงานร่วมกับองค์กร ใช้ชีวิตอยู่ในองค์กร สุดท้ายเราทุกคนก็ต้องช่วยเหลือกันและกันเพื่อนำพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และถึงเป้าหมาย เราต้องเป็นพาร์ทเนอร์ของกันและกัน สนับสนุนกันและกันครับ” คุณไตรภพ ทิ้งท้าย
พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย แหล่งรวมประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อและหยาดน้ำตา
สำหรับใครที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ของแรงงานไทย ประวัติศาสตร์สหภาพแรงงานไทย มีสถานที่แห่งหนึ่งที่ขอแนะนำให้ไปเยี่ยมชมกันนั่นคือ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พิพิธภัณฑ์เพียงไม่กี่แห่งในแถบอาเซียน ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนที่เป็นแรงงานทั้งปวงไว้อย่างครบครัน
ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีการจัดนิทรรศการแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ 7 โซน เริ่มจากการไล่เรียงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคสมัยที่แรงงานยังเป็นเพียงทาส ไม่เคยได้รับค่าจ้าง มาจนถึงยุคแรกจริง ๆ ที่มีแรงงานได้ค่าจ้างนั่นคือคนจีนอพยพ และไล่เรียงมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ ต้องผ่านการต่อสู้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ทั้งวันหยุด วันลา สิทธิ์ในการทำงานอย่างปลอดภัย เป็นต้น
ซึ่งแน่นอนว่า กว่าจะได้สิ่งเหล่านี้มา ไม่เคยมีคำว่าง่าย มันเต็มไปด้วยหยาดเหงื่อ หยาดน้ำตา รวมถึงการเสียเลือดเสียเนื้ออันน่าเศร้าด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจอยากมาพิพิธภัณฑ์แรงงาน สามารถเดินทางมาได้ตามที่อยู่นี้ 503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพ โดยพิพิธภัณฑ์จะเปิดให้เข้าชมฟรีวันพุธ – อาทิตย์ เวลา 10.30 น. ถึง 16.30 น. และมีเจ้าหน้าที่คอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมงานทุกคน
สรุป
สหภาพแรงงานดูเผิน ๆ จะเป็นศัตรูกับนายจ้าง ผู้บริหาร และ HR แต่จริง ๆ แล้วทุกฝ่ายเหล่านี้เมื่ออยู่ในรั้วขององค์กรเดียวกัน ต่างก็เป็นฟันเฟืองที่ช่วยกันสอดประสาน และนำพาองค์กรไปสู่ความก้าวหน้าเหมือนกันทั้งสิ้น
HR เองมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องทำงานร่วมกับสหภาพแรงงาน อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้ว คนที่อยู่ในสหภาพแรงงานก็เป็นพนักงานขององค์กรเหมือนกัน และหากประสานความสัมพันธ์กันได้ ก็มั่นใจเลยว่าจะช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่จุดหมายได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ หาก HR ต้องการดูแลกายและใจพนักงานให้ดี สร้างแรงจูงใจด้านบวกไปพร้อมกัน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถมาค้นหา HR Solutions ประเภท Employee Engagement, Health & Wellness, Training & Coaching เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตพนักงานในด้านต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม HR Products & Services ของ HREX ได้เลย
Sources
|