‘เน้น ขั้นตอน ในการทำงานเกินไปไหม’ ความในใจของคนไทยที่ทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่น

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเมื่อคุณต้องทำงานร่วมกับคนต่างชาติคือ ความเข้าใจในวัฒนธรรมของกันและกันระหว่างคนไทยและคนประเทศนั้นๆ เพื่อทำให้ทีมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในครั้งนี้เราจะขอพูดถึงการทำงานของคนไทยร่วมกับคนญี่ปุ่น

เชื่อว่าคนไทยที่เคยทำงานกันคนญี่ปุ่นหลายๆคนน่าจะมีความคิดเห็นคล้ายๆกัน บางครั้งในการทำงานเราก็ไม่เข้าใจชุดความคิดของคนญี่ปุ่น และสำหรับคนญี่ปุ่นเองก็คงมีความไม่เข้าใจในชุดความคิดของคนไทย มีความกังวล หรือมีคำถามที่ค้างคาใจอยู่มากมาย อย่างเช่น ตอนนี้พนักงานของเรากำลังคิดอะไรอยู่ หรือ พวกเขามีแรงจูงใจในการทำงานน้อยลงหรือเปล่า เป็นต้น

ในบทความก่อนหน้านี้ เราได้สัมภาษณ์พนักงานคนไทยถึงความในใจในการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นกันมาแล้ว

ครั้งนี้เราได้สัมภาษณ์ คุณ A และ B (นามสมมติ) ที่ทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งย่านใจกลางกรุงเทพมหานคร สิ่งหนึ่งที่ได้จากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้คือ คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ ขั้นตอน ในการทำงานเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้แล้ว พวกเขามี ความรู้สึก ความคิดเห็นอย่างไรในการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นอีกบ้าง เรามาดูกันเลยครับ

※หมายเหตุ บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราได้เข้าใจคนญี่ปุ่นและคนไทยมากขึ้น

คุณ A | Sales Coordinator

อายุ 20 ตอนต้น จบจากสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ปัจจุบันทำงานเป็น Sales Coordinator ประสานงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งสองปีกว่า ใช้ภาษาญี่ปุ่นในการทำงานเป็นประจำ

คุณ B | Sales Coordinator

อายุ 20 ตอนต้น จบจากสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น เข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นได้ครึ่งปี ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานระหว่างไทยและญี่ปุ่นในการจัดจำหน่ายสินค้า และประสานงานให้กับฝ่ายต่างๆ

‘การทำงานง่ายมากขึ้นเมื่อทำงานกับคนญี่ปุ่นที่เข้าใจวัฒนธรรมไทย’

-ในความคิดของเรา ทำงานกับคนญี่ปุ่นมา มีอะไรที่รู้สึกว่ายากบ้างไหมครับ?

คุณ A:มีนะคะ อย่างเช่นเรื่องภาษา บางทีคนญี่ปุ่นในออฟฟิศชอบคุยเรื่องงานด้วยภาษาถิ่นค่ะ ปกติแล้วคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่น หรือไม่ว่าภาษาอะไรน่าจะเรียนจากภาษามาตรฐานที่เขาใช้กันเป็นภาษาทางการของประเทศนั้นๆ พอเจอภาษาถิ่นเข้าไป ก็จะรู้สึกสับสนนิดหน่อยค่ะ

บางทีก็เจอคนที่พูดเร็วมาก ไม่ก็พูดรวบคำ ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นด้วยกันอาจจะฟังทันนะคะ แต่สำหรับพวกเราที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาจะมีบางครั้งที่ฟังไม่ทัน ไม่เข้าใจ ต้องถามซ้ำอีกรอบค่ะ

–ผมคิดว่า พอเจอคนไทยที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ คนญี่ปุ่นคงจะพูดด้วยสำเนียงปกติตามความเคยชินรึเปล่าครับ

คุณ A:คงเป็นแบบนั้นนะคะ แล้วก็มีอีกเรื่อง คือหัวหน้าของฉัน ด้วยความที่เขาอยู่ไทยมานานหลายปีแล้ว เขาจะเข้าใจวัฒนธรรมและ ความคิดของคนไทยพอสมควร ทำให้เราทำงานด้วยกันง่ายขึ้นค่ะ

แต่ถ้าต้องทำงานติดต่อกับคนญี่ปุ่นที่สำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นนะ จะเป็นอีกเรื่องเลยค่ะ จะเจอปัญหาเยอะ อาจจะเพราะว่าเขาไม่เคยได้คลุกคลีกับวัฒนธรรมของไทย เลยไม่ค่อยเข้าใจคนไทยเท่าไหร่ค่ะ

ในกรณีที่เคยเจอคือ พอเราพูดหรือเสนออะไรไปเขาจะไม่ค่อยฟัง หรือไม่ยอมเข้าใจสถานการณ์ของทางฝั่งไทยเท่าไหร่ค่ะ

คุณ B:สำหรับผม หัวหน้าเป็นคนใจดี คล้ายๆ กับคุณ A อยู่เหมือนกัน
อย่างเช่น ผมจะทำงานเป็นตัวกลางระหว่างคนญี่ปุ่นกับพนักงานคนไทย แล้วจะมีบ้างที่เราต้องติดต่อกับทางโรงงาน พอมันเกิดปัญหาที่โรงงานโดยที่สาเหตุอาจจะไม่ได้เกิดมาจากเรา ทางฝั่งญี่ปุ่นเขาก็ไม่สนใจนะ เขาก็จะถือว่าเป็นความผิดของฝั่งเรา

แต่หัวหน้าคนญี่ปุ่นของเรา เขาจะเข้าใจสถานการณ์และวิธีการทำงานของคนไทย ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดแล้วโดนเคลม โดนว่า เขาจะออกรับหน้าแทน ปกป้องเรานะ ตรงนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้เราสามารถทำงานด้วยกันได้ง่ายขึ้น และไม่ค่อยมีเรื่องไม่พอใจกันและกันครับ

คุณ A:ปกติหัวหน้าของฉันจะเป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนคนญี่ปุ่นค่ะ จะบอกว่าไงดี คือเขาจะไม่ค่อยเข้มงวดมากเหมือนคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเราทำงานผิดพลาด เขาก็จะตักเตือนเรา แต่จะไม่ใช่การเตือนแบบ ดุด่าว่ากล่าวด้วยคำพูดแรงๆนะ เขาจะเรียกเราเข้าไปคุย ถามหาเหตุผลที่ทำผิด เหมือนตักเตือนเพื่อให้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นมากกว่าน่ะค่ะ

จริงๆแล้ว “ HORENSO ” เป็นเรื่องยากกว่าที่คิด

ーมีเรื่องสงสัยหรือเรื่องที่รู้สึกว่าเป็นปัญหาในการทำงานกับคนญี่ปุ่นไหมครับ?

คุณ A:เรารู้สึกว่าชุดความคิดของคนไทยกับคนญี่ปุ่นแตกต่างกันค่ะ อย่างเช่นเรื่อง “ HORENSO ” คนไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยกว่าคนญี่ปุ่นค่ะ

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเจอคือเกิดปัญหาเรื่องวันส่งของให้ลูกค้าค่ะ คือทางโรงงานที่เราติดต่องานไว้มาแจ้งว่า ไม่น่าจะส่งของให้ลูกค้าได้ทันตามที่กำหนด เรากับฝ่ายขายอีกคนเห็นว่าปัญหานี้เราน่าจะแก้กันได้เองเลยโทรไปเลื่อนลูกค้า โดยที่ไม่ได้รายงานหัวหน้า แล้วทีนี้มันก็มีปัญหาเกิดตามมาอีก เราก็ต้องไปเลื่อนลูกค้าอีกรอบ ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ แล้วเรื่องไปถึงหัวหน้าก่อนเรารายงาน เขาก็ถามกึ่งๆ เตือน ว่า ทำไมไม่ยอมรายงานมาก่อน ทำนองนี้ค่ะ

ในความคิดของเรากับฝ่ายขายอีกคนคือ น่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวพวกเราเองได้ แตในความคิดของหัวหน้าคือ อยากให้รายงานเขาตลอด ให้รู้ทุกขั้นตอน เรื่องเล็กๆแค่ไหนก็ตามค่ะ

เลยทำให้เรารู้ว่า สำหรับคนญี่ปุ่น HORENSO เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆเลยค่ะ

-หัวหน้าเขาคงอยากรู้ทุกอย่างเพื่อจะได้เตรียมหาทางรับมือตอนเกิดปัญหาน่ะครับ แล้วคุณ B ล่ะครับ?

คุณ B:พอเรามาทำงานเป็นตัวกลางระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับโรงงานของไทย ทำให้เราเห็นชัดเลยว่า ชุดความคิดของคนไทยกับคนญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเรื่อง HORENSO ที่ตอนทำงานแรกๆ เป็นปัญหามากเลยครับ

อย่างเช่น เวลาที่ทางโรงงานของไทยเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา เราถามเหตุผลจากโรงงาน พอฝั่งโรงงานบอกเหตุผลมา พอเราเขียนไปรายงานคนญี่ปุ่น เขาก็จะบอกมาว่า แบบนี้มันไม่ใช่เหตุผลที่เอามาอ้าง ยังไม่เพียงพอ ต้องมีเหตุผลที่ฟังขึ้นมากกว่านี้

เลยทำให้เวลาที่เราถามฝั่งโรงงานไป เขาตอบกลับมาแบบนี้ แต่ฟังแล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่ เราก็ต้องมาคิด ว่าเราควรไปบอกทางฝั่งญี่ปุ่นอย่างไรดี

เหตุผลที่ได้มา เราต้องเปลี่ยนคำบ้าง เพราะถ้าแปลตรงๆ บอกคนญี่ปุ่นไปเลย เขาคอมเพลนกลับมาแน่นอนครับ (หัวเราะ)

บางทีเราก็สงสัยนะว่าทำไมคนญี่ปุ่นต้องอยากได้เหตุผลอะไรขนาดนั้น ด้วยความที่เป็นคนไทย เราก็ไม่ค่อยเข้าใจชุดความคิดของคนญี่ปุ่น ว่าทำไมเขาคิดแบบนั้น จะมีบางอย่างที่เราคิดว่า มันแปลกสำหรับเรา ซึ่งคนญี่ปุ่นเขาก็คิดเหมือนเราล่ะครับ ชุดความคิดของคนไทยเราก็คงแปลกสำหรับเขาเหมือนกัน

เน้น ขั้นตอน เกินไปไหม ผลลัพธ์สำคัญกว่ารึเปล่า

คนญี่ปุ่นคงอยากรู้ว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากขั้นตอนไหนรึเปล่าครับ?

คุณ B:คงใช่ครับ นั้นเลยทำให้ผมรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นกับคนไทยทำงานด้วยกันได้ยาก เพราะเรื่องนี้
ส่วนตัวงผมคิดว่า คนไทยจะมีความคิดคล้ายๆ กับตะวันตกตรงที่เน้นผลลัพธ์ของงานมากกว่าขั้นตอนในการทำงาน แต่คนญี่ปุ่นจะเน้นที่ขั้นตอนมากกว่า ต่อให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี แต่ถ้าขั้นตอนในการทำงานดีเขาก็โอเค สำหรับคนไทยแล้วมันจะรู้สึกแปลกๆ ขัดๆน่ะครับ (หัวเราะ)

คุณ A:คิดแบบนั้นเหมือนกันค่ะ คนไทยจะให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าจริงๆ

คุณ B:แต่ต้องยอมรับนะว่าคนญี่ปุ่นเขาเก่งเรื่องแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดจริงๆ เช่นสมมติ ปัญหาเกิดที่ขั้นตอนนี้ก็หาวิธีมาแก้ไข

คุณ A:แต่บางครั้ง เราเห็นนายแก้ปัญหา ความรู้สึกของคนไทยที่ทำงานอยู่ จะรู้สึกว่า ทำไมเขาแก้ปัญหากันแบบนี้นะ จริงๆ แล้วน่าจะแก้แบบนี้ หรือแบบอื่นๆ ไม่ดีกว่าเหรอ

สมมติว่าในงานหนึ่ง มีขั้นตอน 3 ถึง 4 ขั้นตอน จากมุมมองของเรานะ บางทีขั้นตอนที่ 2 กับ 3 มันไม่จำเป็น คือสามารถทำ 1 แล้วข้ามไปทำ 4 เลยก็ได้ แต่คนญี่ปุ่นเขาไม่ทำแบบนั้น ไม่ข้าม เขาจะต้องทำตามสเต็ป 1 2 3 ที่วางเอาไว้ ซึ่งบอกตรงๆ ว่า สำหรับเรา มันเสียเวลาน่ะค่ะ (หัวเราะ) บางทีแค่ลองเปลี่ยนวิธี หรือขั้นตอนในการทำงานดู งานอาจจะเร็วขึ้นก็ได้

คุณ B:เข้าใจเลยครับ

คุณ A:อีกอย่างหนึ่งคือ นอกจากเขาจะเน้นไปที่ขั้นตอนการทำงานแล้ว คนญี่ปุ่นที่ทำงานด้วยกันส่วนมาก เขาจะชอบถามหาสาเหตุกันว่า ทำไมปัญหานี้ถึงเกิดขึ้น แต่เขาไม่ได้มองหาวิธีการแก้ปัญหาต่อไป ควรจะเป็นอย่างไร แต่กลับไปมองหาต้นเหตุ หาสาเหตุของปัญหาว่า เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร แต่ไม่ยอมหาทางแก้ไขสักที สำหรับเรารู้สึกว่า ควรจะแก้ปัญหาก่อนดีกว่าไหม แทนที่จะมาดูต้นเหตุแล้วทำให้เรื่องมันบานปลายน่ะค่ะ

คุณ B:นอกจากทำงานกับลูกค้าญี่ปุ่นแล้ว บางครั้งก็มีคุยกับลูกค้าฝั่งยุโรปด้วย ทำให้ผมได้เห็นความแตกต่างพอสมควร

ถ้าเป็นลูกค้าฝั่งยุโรป เขาก็จะส่งออเดอร์สินค้ามา ให้เราผลิตเท่านี้ มีใบสเป็คให้ ก็ทำมาตามสเป็คนี้เลย ผลิตเสร็จแล้วค่อยรายงานลูกค้าทีเดียว

แต่ของลูกค้าญี่ปุ่นคือ เราต้องคอยติดต่อ รายงานเขาเรื่อยๆ เพราะเขาจะคอยถามมาตลอดว่า คุณมีปัญหาอะไรไหม ของพอไหม ทำตัวอย่างออกมาแล้วมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ส่งตัวอย่างมาให้ดูด้วย กำลังการผลิตพอใช่ไหม ประมาณนี้ครับ

ซึ่งคนที่ทำงานอยู่ที่โรงงานก็บอกมาเหมือนกันว่า ลูกค้ายุโรปรายงานเขาทีเดียวตอนงานเสร็จก็พอแล้ว แต่ถ้าเป็นลูกค้าญี่ปุ่นต้องคอยรายงานตลอดจนงานเสร็จ เรื่องมากพอสมควรครับ (หัวเราะ)

สรุป

การสัมภาษณ์ในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นความแตกต่างในการทำงานระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่นพอสมควรเลยนะครับ

บางทีที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับขั้นตอนในการทำงานขนาดนี้ คงเป็นเพราะต้องการเผื่อไว้ ในกรณีที่อาจเกิดปัญหาตามมาภายหลัง สิ่งที่สำคัญคือการความเข้าใจในวิธีการทำงานของทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่น หรือการปรับเปลี่ยนวิธีให้เข้ากันกับทั้งสองฝ่าย คงจะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นได้ไม่มากก็น้อยครับ

และบทความในครั้งนี้คงไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นความคิดเห็นจากพนักงานคนไทยร้อยเปอร์เซ็น แต่ความคิดเห็นทั้งหมดนี้จะทำให้คนไทยและคนญี่ปุ่นเข้าใจวัฒนธรรมในการทำงานของกันและกันมากขึ้น เพิ่มความเป็นหนึ่งเดียวกัน และทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ผมหวังว่า บทความในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนได้นะครับ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง