เจอ Perfectionist ในที่ทำงาน รับมือยังไงดี?

HIGHLIGHT

  • ชาว Perfectionist ผู้รักความสมบูรณ์แบบ เป๊ะตึงเวอร์ มักถูกมองว่าเป็นอาการทางจิตเวช มีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาท และถูกมองในแง่ลบมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950s แม้ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ก็ยังมองแบบนั้น แต่ในยุคนี้คนก็เริ่มเข้าใจว่าอาการแบบนี้เป็นเรื่องของสุขภาพจิต แบ็กกราวน์สมัยเด็ก หรือแรงกดดันจากภาวะรอบข้าง
  • ศาสตราจารย์ทั้งสองท่านที่ศึกษาเรื่อง Perfectionism อย่างจริงจัง ได้แก่ กอร์ดอน เฟล็ตต์ (Gordon Flett) และ พอล เฮวิตต์ (Paul Hewitt) ได้ทำการวิจัยและแบ่งประเภทของ Perfectionist หรือคนที่รักความเป๊ะ และความสมบูรณ์แบบไว้ทั้งหมด 3 ประเภทด้วยกัน
  • คนที่เป็น Perfectionist จะมีคุณสมบัติที่จะพาตัวเองไปถึงเป้าหมาย ทำให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ได้ และยังเป็นคนเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว รอบคอบ และสมบูรณ์แบบในเรื่องของการทำงานมาก
  • คนที่มีอาการรักความสมบูรณ์แบบมาก ๆ อาจจะมีปัญหาในเรื่องของความสัมพันธ์ เพราะคนที่อยู่ด้วยไม่มีความสุข รู้สึกกดดันตลอดเวลา จนตีตัวออกห่าง หรืออาจทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า Perfectly Hidden Depression (PHD)
  • หลายคนอาจจะหงุดหงิดใจหรือรำคาญที่จะต้องอยู่ใกล้กับ Perfectionist ยิ่งทำงานด้วยยิ่งแล้วใหญ่ แต่สิ่งแรกที่เราควรทำคือการยอมรับและให้โอกาส อย่าเพิ่งตัดสินหรือมองพวกเขาในแง่ลบ

Nobody is perfect, but here I am! ชาวเพอร์เฟคชั่นนิสต์ผู้รักความสมบูรณ์แบบ ผู้รักความสมบูรณ์แบบ เป๊ะตึงเวอร์จะต้องชอบ quote นี้แน่ ๆ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็อยากจะให้สมบูรณ์แบบไปหมดทุกเรื่องในชีวิต แต่มันจะเป็นไปได้จริง ๆ หรือ?

เพราะความสมบูรณ์แบบในโลกใบนี้นั้นไม่มีอยู่จริง ถึงอย่างนั้นคนที่รักความสมบูรณ์แบบหรือพวก perfectionist แม้จะทำอะไรได้เป๊ะและออกมาดีทุกกระเบียดนิ้ว แต่ลักษณะนิสัยแบบนี้ก็สร้างความ “รำคาญ” ให้คนอื่นรอบตัว ที่สำคัญยังส่งผลเสียทางจิตต่อเจ้าตัวอีกด้วย

ในบทความนี้ HREX จะพาชาวเราไปรู้จักกับคนที่รักความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist และวิธีการอยู่กับพวกเขาอย่างเข้าใจ รวมถึงแนะนำชาว Perfectionist เองด้วยว่าจะทำยังไงเพื่อฮีลใจตัวเองจากอาการ “เป๊ะ” ให้ไม่ต้องกระทบจิตใจตัวเองและคนอื่น

ความเป๊ะ สมบูรณ์แบบของ Perfectionist เป็นยังไงในสายตาคนอื่น?

ชาว Perfectionist ถูกมองว่าเป็นอาการทางจิตเวช มีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาท และถูกมองในแง่ลบมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950s แม้ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ก็ยังมองแบบนั้น แต่ในยุคนี้คนก็เริ่มเข้าใจว่าอาการรักความเป๊ะ รักความสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างต้องเพอร์เฟค ของชาว Perfectionist นี้เป็นเรื่องของสุขภาพจิต แบ็กกราวน์สมัยเด็ก หรือแรงกดดันจากภาวะรอบข้าง

จึงทำให้ชาว Perfectionist ชอบตั้งความหวังกับตัวเองและเรื่องอื่น ๆ รอบตัวสูงมากจนเกินไป โดยที่อาจมองข้ามความเป็นไปได้ พวกเขาจะมองแค่เป้าหมายเท่านั้น ซึ่งหากเกี่ยวกับตัวเองคนเดียวก็จะกระทบสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก แต่ถ้าการตั้งเป้าหมายสูงนั้นมีเอฟเฟคต่อคนอื่นด้วย ก็จะยิ่งสร้างความรำคาญและอึดอัดให้คนรอบข้าง แต่จงเข้าใจเถอะว่าพวกเขาก็คงไม่ได้อยากเป็นคนแบบนี้ แต่มันเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยที่ได้เล่าไปแล้วด้านบน 

ทำความรู้จัก Perfectionist คนเป๊ะทั้ง 3 ประเภท

ศาสตราจารย์ทั้งสองท่านที่ศึกษาเรื่อง Perfectionism อย่างจริงจัง ได้แก่ กอร์ดอน เฟล็ตต์ (Gordon Flett) และ พอล เฮวิตต์ (Paul Hewitt) ได้ทำการวิจัยและแบ่งประเภทของ Perfectionist หรือคนที่รักความเป๊ะ และความสมบูรณ์แบบไว้ทั้งหมด 3 ประเภทด้วยกัน 

Self-oriented Perfectionism

คนเป๊ะประเภทนี้จะตั้งความหวังไว้สูงมาก ๆ กับตัวเอง รักความสมบูรณ์แบบเฉพาะกับตัวเองเท่านั้น แต่จะไม่ได้ไปกดดันคนอื่น ซึ่งก็จะกระทบกับสภาพจิตใจตัวเองโดยตรงเลยหากไม่สำเร็จตามเป้าที่ตั้ง

Other-oriented Perfectionism

ประเภทที่สองนี้จะเริ่มกระทบคนอื่นแล้ว คือการตั้งความคาดหวังไว้กับคนอื่น ทำตัวเป็นไม้บรรทัดไปวัดคนอื่น โดยเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน เรียกได้ว่าเป็น Perfectionist ประเภทที่แย่ที่สุด เพราะต้องการให้คนอื่นเป๊ะ ไร้ที่ติ สมบูรณ์แบบไปทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้ทำงานกับคนอื่นได้ยาก หรืออาจจะไม่ค่อยมีเพื่อน

Socially Prescribed Perfectionism

Perfectionist ประเภทสุดท้ายคือคนที่เข้าใจ (ไปเอง) ว่าการที่ตัวเองเป็นคนสมบูรณ์แบบนั้นจะทำให้สังคมยอมรับ ทุกคนชอบใจ การเป็นคนแบบนี้ค่อนข้างเป็นดาบสองคมในการใช้ในสังคมและการทำงานมากทีเดียว เพราะไม่มีใครหรอกที่จะเป๊ะไปทุกกระเบียดนิ้วได้ตลอดเวลา

ความสมบูรณ์แบบของ Perfectionist มีข้อดีและข้อเสีย ยังไงบ้างนะ?

คนที่เป็น Perfectionist จะมีคุณสมบัติที่จะพาตัวเองไปถึงเป้าหมาย ทำให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ได้ และยังเป็นคนเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว รอบคอบ และสมบูรณ์แบบในเรื่องของการทำงานมาก มีเปอร์เซ็นต์ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานสูง สามารถประคับประคองโปรเจกต์ต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ แก้ไขปัญหาได้เก่ง

แต่ในทางกลับกัน คนที่มีอาการรักความสมบูรณ์แบบมาก ๆ อาจจะมีปัญหาในเรื่องของความสัมพันธ์ เพราะคนที่อยู่ด้วยไม่มีความสุข รู้สึกกดดันตลอดเวลา จนตีตัวออกห่าง หรืออาจทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า Perfectly Hidden Depression (PHD) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการซึมเศร้าที่มาจากการเสพติดความสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ยังเป็นคนที่สุดโต่งในทางความคิด สรุปเร็วเกินไป ไม่ยืดหยุ่น และไม่เปิดใจ เพราะยึดแต่ตัวเองเป็นบรรทัดฐาน

อยากเลิกเป็น Perfectionist ต้องทำยังไง?

การเป็นคน Perfectionist มาก ๆ ก็ไม่ได้มีความสุข หลายคนที่มีอาการแบบนี้จึงอยากเลิกเป็นคนเป๊ะ รักความสมบูรณ์แบบแบบนี้สักที จะทำยังไงดีหนอ?

ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้

พยายามลดเป้าหมายลง จากที่เคยตั้งไว้สูงถ้าเราลดให้มันง่ายขึ้นก็จะทำให้ไม่ต้องกดดันตัวเองมากจนเกินไป ต้องยอมรับว่าทุกคนไม่ใช่ยอดมนุษย์ที่จะทำอะไรยาก ๆ ได้สำเร็จไปซะทุกเรื่อง ถ้าเรารู้ว่าตัวเองเป็นคนรักความสำเร็จ ต้องทำอะไรให้สำเร็จให้ได้ ก็ควรลดเป้าหมายลงจะดีกว่า

ลองท้าทายสัญชาตญาณตัวเอง

อย่าปล่อยให้แรงขับเคลื่อนความเป็น Perfectionist มาทำให้เราเป็นทุกข์ ลองฝืนตัวเองดูให้พยายามปล่อยวางให้ได้ มองโลกในแง่ดีแล้วยอมรับกับสิ่งที่จะเกิด

ให้ความสำคัญกับตัวเองก่อน

ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด หันมาดูแลและรักตัวเองให้มากขึ้นจะดีกว่าการไปวิ่งไล่ตามเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้

เชื่อว่าทุกอย่างจะเสร็จทันเวลา

เดี๋ยวมันก็เสร็จ อย่าไปคิดมากว่ากลัวจะไม่ทัน ต้องรีบทำ ต้องกดดันตัวเองขนาดนั้น ปล่อยใจสบาย ๆ แล้วค่อย ๆ ทำไปตามที่มันควรจะเป็นดีกว่า

ปล่อยวาง

ไม่มีอะไรเพอร์เฟคไปหมด และเราไม่ใช่ยอดมนุษย์ที่จะทำได้ทุกอย่าง หันหน้ามามองความเป็นจริงของโลกแล้วจงใช้ชีวิตให้มีความสุข รักตัวเองให้มาก เรื่องอื่นไว้ทีหลังบ้างก็ได้

HR และเพื่อนร่วมงานจะรับมือกับ Perfectionist ในที่ทำงานยังไงดี?

หลายคนอาจจะหงุดหงิดใจหรือรำคาญที่จะต้องอยู่ใกล้กับ Perfectionist ยิ่งทำงานด้วยยิ่งแล้วใหญ่ แต่สิ่งแรกที่เราควรทำคือการยอมรับและให้โอกาส อย่าเพิ่งตัดสินหรือมองพวกเขาในแง่ลบ เพราะถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นแบบนี้ ในหลายครั้งคนที่เป็น Perfectionist ก็เกิดมาจากภูมิหลังวัยเด็ก สภาพแวดล้อม หรือเคมีในสมอง ซึ่งก็ถือเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนเลือกไม่ได้อยู่แล้วว่าจะให้เกิดหรือไม่เกิดขึ้นมา

คนรอบควรเอาใจ่ใส่และทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับพวกเขาได้อย่างเห็นอกเห็นใจ หากในบางเรื่องที่เรามองว่าเกินไป เราอาจจะใช้วิธีพูดคุยเปิดใจกันไปเลยก็จะไม่ต้องกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ด้วย

บทสรุป

ในโลกนี้มีความแตกต่างมากมาย อยู่ที่เราจะมีมุมมองอย่างไร ในหลาย ๆ ครั้งเราอาจไม่พอใจที่คนนี้เป็นแบบนั้น คนนั้นเป็นแบบโน้น แต่เชื่อว่าทุกคนมีเหตุผลเป็นของตัวเองทั้งนั้น หากเราเปิดใจและยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะองค์กรไหน ๆ ก็จะสามารถร่วมมือกันและพาองค์กรไปได้ไกลอย่างยั่งยืน

ที่มา

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง